ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Oxfam (องค์กรระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนจากทั่วโลกที่ทำงานร่วมกันเพื่อขจัดปัญหาความยากจน) ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ Ripe for Change: Ending human suffering in supermarket supply chains พร้อมแคมเปญใหม่ เรียกร้องให้ยุติการเอารัดเอาเปรียบในห่วงโซ่อุปทานของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน การเพิ่มความโปร่งใสเรื่องที่มาของอาหาร ลดการกีดกันทางเพศ และการแบ่งส่วนรายได้จากราคาขายอย่างเป็นธรรมให้กับผู้ผลิต
Oxfam เริ่มแคมเปญนี้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศรายได้ปานกลาง โดยเริ่มที่ไทยเป็นแห่งแรก ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา Oxfam ทำงานร่วมกับเครือข่ายกว่า 20 แห่งในกว่า 90 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะใช้ชื่อแคมเปญที่ต่างกัน เช่น Behind the Barcodes หรือ Behind the Price ขึ้นอยู่กับบริบทของซูเปอร์มาร์เก็ตและห่วงโซ่อาหารในประเทศนั้น
Oxfamระบุว่า ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำกระจายวงกว้างไปทั่วในทุกระบบเศรษฐกิจของโลก รวมไปถึงภาคการเกษตร โดยในระดับบนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และธุรกิจด้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีบทบาทหลักในตลาดอาหารโลก จึงทำให้มีข้อได้เปรียบ สามารถทำกำไรได้มากจากห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ที่กระจายไปทั่วโลก ขณะที่ระดับล่างอำนาจต่อรองของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ที่เป็นแหล่งป้อนสินค้าให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจอาหาร
ผลที่เกิดขึ้นคือ แรงงานชายและหญิงหลายล้านคนที่ผลิตอาหารป้อนซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนและสภาพการทำงานที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประมงที่ถูกบังคับกดขี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงแรงงานไร่ชาที่ค่าแรงต่ำในอินเดีย และแรงงานที่หิวโหยในไร่องุ่นที่แอฟริกาใต้ ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ซึ่งกลับเป็นเรื่องปกติในห่วงโซ่อาหาร
ในยุคแห่งความเหลื่อมล้ำและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โมเดลธุรกิจแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป แต่รัฐบาล ธุรกิจอาหาร เกษตรกรรายย่อย แรงงาน และพลเมืองทั่วโลกสามารถช่วยกันปรับสมดุลอำนาจในห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหาร และถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตต้องปรับเปลี่ยน
รายงาน Ripe for Change นำเสนอถึงต้นตอปัญหาความทุกข์ยากของคนในห่วงโซ่อาหารและพร้อมเรียกร้องให้คนทั่วโลกรวมพลังเพื่อยุติสิ่งเหล่านี้ โดยเริ่มจากบทบาทของซูเปอร์มาร์เก็ต
ซูเปอร์มาร์เก็ตมีทั้งเงิน-อำนาจ
รายงานให้ข้อมูลว่าในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โลกประสบกับภาวะวิกฤติด้านความเหลื่อมล้ำโดยธุรกิจขนาดใหญ่และเจ้าของเงินทุนกลายเป็นผู้ได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปสูญเสีย ซึ่งรวมไปถึงคนที่ปลูกและผลิตอาหาร ในตลาดอาหารเกษตร การกระจุกตัวเกิดขึ้นทุกช่วงของห่วงโซ่อาหาร เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกอาหารทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศกำลังพัฒนา มียักษ์ใหญ่ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตไม่กี่รายที่คุมตลาดอาหาร และมีผลกระทบต่อร้านค้าย่อยและตลาด หลังจากที่มีบทบาทในประเทศรายได้สูงแล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตขยายตัวแทบทวีคูณในประเทศรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ลาตินอเมริกาไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนหนึ่งของแอฟริกาเหนือและแถบทะเลทรายซาฮารา
ด้วยอำนาจเหนือตลาดทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีอำนาจมากพอที่จะกำหนดรูปแบบการผลิตอาหารทั่วโลก และในฐานะที่เป็นข้อต่อสุดท้ายในห่วงโซ่อาหาร จึงกลายเป็นนายประตูแห่งการค้าอาหารโลก ซึ่งมีผลให้สามารถกำหนดผู้ผลิตและผู้แปรรูปให้กระจายที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ กำหนดห่วงโซ่การผลิตหลายขั้นและพิเศษสุดเพื่อให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน สำหรับสินค้าหลายพันชนิดทุกวันตลอดทั้งปี
รูปแบบธุรกิจทำให้สินค้ามีราคาต่ำ มีให้เลือกตลอดปีและทันเวลา สะดวกสำหรับผู้บริโภค แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการใช้อำนาจของซูเปอร์มาร์เก็ตที่กดดันผู้จัดส่งสินค้า (supplier) ให้ลดต้นทุนและรับความเสี่ยงจากการผลิตสินค้าเกษตรเอง แม้เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด โดยการค้าที่ไม่เป็นธรรมมีหลายรูปแบบตั้งแต่เงื่อนไขสัญญา โครงการการกำหนดราคาและชำระเงิน รวมไปถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้มากสำหรับบริษัทชั้นนำ โดยค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก วอลมาร์ทที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีรายได้ราว 486 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 สูงกว่ารายได้ประชาชาติของนอร์เวย์หรือไนจีเรียเสียอีก ขณะที่ค้าปลีกอันดับแปดของโลกซึ่งเป็นบริษัทมหาชนมียอดขายกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์และมีกำไรราว 22 พันล้านดอลลาร์ และแทนที่จะนำไปลงกับ supplier แต่จ่ายปันผลเป็นเงินสดคืนผู้ถือหุ้นถึง 15 พันล้านดอลลาร์
เมื่อหันมามองรายได้ของผู้บริหารค้าปลีก ก็พบว่ามีรายได้แต่ละปีจำนวนสูงมาก โดยมีตั้งแต่ 3.1 ล้านดอลลาร์สำหรับซีอีโอของมอร์ริสันในอังกฤษ ไปจนถึง 19.8 ล้านดอลลาร์ที่วอลมาร์ท ซึ่งผลตอบแทนของซีอีโอและผู้ถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ นั้นผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 59% รายได้ของซีอีโอเพิ่ม 74% ค้าปลีกจึงเป็นภาคธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนไม่ว่าที่ไหนในโลก ทั้งไทย สหรัฐฯ
ความเดือดร้อนจากห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ต
ราคาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจ่ายให้ supplier น้อยลง เป็นผลจากอำนาจของซูเปอร์มาร์เก็ตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลไม่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและแรงงานมากนัก ความเสี่ยงที่การฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานจะเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่อาหาร ตัวอย่างเช่น
- เกษตรกรรายย่อยที่ถูกบีบด้านต้นทุนมากๆ อาจจะหันไปใช้แรงงานเด็กหรือใช้แรงงานผู้หญิงโดยไม่จ่ายค่าแรง
- นายจ้างของแหล่งเพาะปลูก หรือโรงงานแปรรูป หรือเรือประมง อาจจะปรับรูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เลี่ยงกาจ้างงานแบบถาวร ลดค่าแรงลง หรือจ่ายค่าแรงตามชิ้นงานแต่มีชั่วโมงทำงานนานขึ้น
- แรงงานหญิงที่กระจุกตัวในหน้าที่ที่ไม่เป็นทางการ และมีผู้ชายเป็นหัวหน้า อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเจอการคุกคามทางเพศมากขึ้นและถูกใช้ความรุนแรงมากขึ้น
- การบังคับใช้แรงงานยังเป็นเรื่องปกติ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าปี 2017 จะมีแรงงานตกเป็นเหยื่อจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านคนในภาคเกษตร
เกษตรกรรายย่อย-แรงงานพลังถดถอย
อำนาจของซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับแรงหนุนจากการนโยบายเปิดเสรีการค้าและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในภาคเกษตรและตลาดแรงงานของรัฐบาลในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน มีผลให้อำนาจต่อรองของเกษตรรายย่อยและแรงงานลดลง บางประเทศมีการยุบองค์การการตลาดเพื่อเกษตรกร งบประมาณรัฐด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรถูกตัดทอน มีการยกเลิกภาษีสินค้าข้ามแดนซึ่งเคยคุ้มครองเกษตรกรรมในประเทศไป ส่วนด้านแรงงานนั้นพลังของสหภาพแรงงานและอำนาจต่อรองลดลง แม้มีการกำหนดค่าจ้างงานขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ก็ต่ำกว่าระดับที่สหภาพการค้าในประเทศเรียกร้อง และไม่เพียงพอต่อการครองชีพพื้นฐานสำหรับตัวแรงงานและครอบครัว
แรงงานหญิงกระทบมากสุด
จากข้อมูลรายงานใหม่นี้แรงงานผู้หญิงแบกรับการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยมีจำนวนหลายล้านคนทั้งที่เป็นครอบครัวเกษตรกรขนาดเล็กและผู้ใช้แรงงานในห่วงโซ่ธุรกิจอาหาร ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นทางเพศ ผู้หญิงไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน ไม่สามารถเป็นตัวแทนสหภาพแรงงาน ต้องทำงานโดยแทบจะไม่ได้ค่าแรงเลย รวมทั้งถูกแบ่งแยกด้านค่าแรงและความก้าวหน้าในตำแหน่งสูงขึ้น ตลอดจนถูกคุกคามทางเพศและใช้ความรุนแรง งานของหญิงในห่วงโซ่อาหารถูกมองข้ามและความคิดเห็นไม่ได้รับการตอบสนอง
สิ่งเหล่านี้ไม่น่าแปลกใจ ดังนั้น ผู้หญิงที่กระจุกตัวในงานที่มีค่าแรงต่ำสุด มีความมั่นคงน้อยมากในธุรกิจอาหารเกษตร กลายเป็นแหล่งแรงงานที่มีค่าแรงถูก ยืดหยุ่น ที่สร้างห่วงโซ่อาหารยุคใหม่
รายได้ไม่พอกิน
รายงานยังพบว่า เกษตรกรรายย่อยและแรงงาน รวมทั้งครอบครัวมีรายได้ไม่พอกิน แม้จะเป็นผู้ผลิตอาหาร โดยจากการสำรวจเกษตรกรรายย่อยและแรงงานในห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 459 คน ใน 5 ประเทศคือ อิตาลี ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และไทย ในปี 2017 ด้วยการใช้ตัวชี้วัด Household Food Insecurity Access Scale (HFIAS) ระดับความไม่มั่นคงทางอาหารของครัวเรือนด้านการเข้าถึง ซึ่งผลการสำรวจชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ตอบว่ามีความมั่นคงเล็กน้อยหรือไม่มั่นคงมาก หมายถึงว่าแรงงานและครอบครัวไม่มีอาหารเพียงพอในเดือนที่ผ่านมา
- ในแอฟริกาใต้ แรงงานหญิงในไร่องุ่นในสัดส่วนมากกว่า 90% ให้คำตอบว่า ไม่มีอาหารเพียงพอในเดือนที่ผ่านมา และสมาชิกครอบครัวเกือบ 1 ใน 3 ต้องเข้านอนทั้งที่ท้องหิวอย่างน้อย 1 ครั้งในเดือนนั้น
- แรงงานหญิง 72% ในสวนกล้วยที่ฟิลิปปินส์ ตอบว่ามีความกังวลต่อการหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวในเดือนที่ผ่านมา
- ที่อิตาลี แรงงานหญิงที่ทำงานในสวนผักและผลไม้ 75% บอกว่าตัวเองและครอบครัวต้องลดจำนวนมื้ออาหารลดในเดือนที่ผ่านมาเพราะไม่มีอาหารเพียงพอ
- ในประเทศไทย แรงงานหญิงกว่า 90% ในโรงงานอาหารทะเลตอบว่าไม่มีอาหารเพียงพอในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วน 54% ของกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า หลายครั้งที่บ้านไม่มีอะไรกินเลยในเดือนนั้น
รายได้ไม่เพียงพอ
แม้ผลสำรวจนี้จะเป็นการฉายภาพแบบเร็วๆ แต่ก็สะท้อนภาพใหญ่ถึงการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ โดยผลวิจัยใหม่ของ Oxfam ที่จัดทำโดย Bureau for the Appraisal of Social Impacts for Citizen Information (BASIC) ซึ่งวิเคราะห์ สินค้าปกติ 12 ชนิดที่มีจำหน่ายทั่วไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกจัดหามาจากประเทศผู้ผลิตตั้งแต่เอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา รวมไปถึงตัวอย่างของผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็ก
สินค้า 12 ชนิดได้แก่ กาแฟ ชา โกโก้ น้ำส้ม กล้วย องุ่น ถั่วแขก มะเขือเทศ อโวคาโด ข้าวสาร กุ้งแช่แข็ง และทูน่ากระป๋อง จากผลการวิเคราะห์พบว่าไม่มีสินค้าชนิดไหนที่สร้างรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกรและแรงงานเพียงพอต่อมาตรฐานการครองชีพ หรือให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากพอ ในบางกรณีรายได้น้อยกว่ามาตรฐานเสียอีก ซึ่งระดับรายได้นี้ยากที่จะยอมรับได้ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ข้อต่อสุดท้ายของห่วงโซ่อาหารได้รับ ตามตัวอย่างดังนี้
- แรงงานหญิงที่ใช้แรงงานในฟาร์มเลี้ยงกุ้งในอินโดนีเซียหรือไทยต้องใช้เวลามากกว่า 4,000 ปีถึงจะมีรายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยหนึ่งปีของซีอีโอของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในสหรัฐฯ
- รายได้ที่แรงงานหญิงในไร่องุ่นที่แอฟริกาทำได้ตลอดชีวิตมีค่าเท่ากับรายได้ไม่ถึง 5 วันของซีอีโอที่ค่าตัวแพงที่สุดในอังกฤษ
- สัดส่วนเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นของวอลมาร์ท ค้าปลีกยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ คอสท์โก และโครเกอร์รวมกัน 10% ในปี 2016 ก็มากพอที่จะยกระดับค่าจ้างที่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของแรงงาน 600,000 คนในธุรกิจฟาร์มกุ้งและแปรรูปกุ้งในประเทศไทย
- สัดส่วนเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นของซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ คือ เซนส์บูรี่ เทสโก้ และมอร์ริสัน รวมกันในปี 2016 มากพอที่จะเป็นเงินที่ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของแรงงาน 30,000 คนในไร่องุ่นในแอฟริกาใต้
เกษตรกรรายย่อยถูกบีบไปชายขอบ
สำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนหลายล้านคนแล้ว มีคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตว่าจะอดทนได้นานแค่ไหน ซึ่งผลวิเคราะห์สินค้า 12 ชนิดของ BASIC พบว่า ราคาส่งออกของสินค้าหลายชนิดมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว โดยในช่วงระหว่างกลางทศวรรษ 1990 ถึงกลางทศวรรษ 2010 ถั่วแขกจากเคนยามีราคาลดลง74% ส้มจากบราซิลราคาลดลง 70%
แนวโน้มนี้กดดันให้ราคาที่จ่ายให้กับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตลดลงในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตเล็กน้อยเท่านั้น จึงส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยโดนบีบให้ออกจากห่วงโซ่อาหารระดับโลกและต้องหลุดจากที่ดินทำกิน ในทางกลับกัน เกษตรกรอาจจะถูกบีบให้ทำงานที่ล่อแหลมในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่เพื่อให้ได้สินค้าที่มีราคาและคุณภาพตามซูเปอร์มาร์เก็ตกำหนด หรืออาจจะต้องไปอาศัยในสลัม
ซูเปอร์มาร์เก็ตถ่างความเหลื่อมล้ำ
ความไม่สมดุลทางอำนาจที่เอียงไปด้านห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น โดยผลวิจัยพบว่าในช่วง 1995 และ 2011 ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เพียงครอบส่วนแบ่งรายได้หลักในห่วงโซ่อาหารจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเท่านั้นแต่สัดส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นจาก 27% เป็น 30% ด้วยขณะที่ส่วนแบ่งของเกษตรกรลดลงจาก 16% ในปี 1995 เป็นต่ำกว่า 14% ในปี 2011 และมีบางประเทศได้ส่วนแบ่งเพียง 7%
ผลการวิเคราะห์ของ BASIC ยังพบว่าส่วนแบ่งของซูเปอร์มาร์เก็ตจากราคาที่ผู้บริโภคจ่าย เฉลี่ยจากสินค้า 12 ชนิดและ 7 ประเทศที่สำรวจ (เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย แอฟริการใต้ ไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา) เพิ่มขึ้นจาก 43.5% ในปี 1996 เป็น 48.3% ในปี 2015 ขณะที่ส่วนแบ่งของเกษตรรายย่อยและแรงงานลดลงจาก 8.8% เป็น 6.5% ในช่วงเดียวกัน ผลสำรวจยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตและคนที่ผลิตอาหาร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตถูกบีบมากขึ้นเป็นมากกว่า 70% ช่วงปี 1996-2015 ในบางสินค้าส่วนแบ่งของซูเปอร์มาร์เก็ตสูงถึงเกือบ 50% ขณะที่เกษตรกรรายย่อยและแรงงานต่ำกว่า 5%
ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นนี้ คืออุปสรรคในการที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยและเพิ่มค่าแรงให้แรงงานในระดับที่น่าพอใจ จึงมีผลให้ไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ การกระจายรายได้ที่บิดเบี้ยวนี้มองได้สองมุม มุมแรก เกษตรกรรายย่อยและแรงงานจะต้องใช้เวลานานขึ้นที่จะมีรายได้หรือมีค่าแรงที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่มุมที่สอง คือ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายติดอยู่ในกับดักห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ตและอยู่ในหล่มความยากจน ตราบใดที่ส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานยังไม่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะกว้างขึ้น การแก้ไขปัญหาความยากจนก็จะชะงักงัน
ทางแยกของซูเปอร์มาร์เก็ต
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ก็มีสัญญานว่าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตกำลังอยู่ในทางแยกว่าเดินหน้าไปทิศทางใด เพราะการแข่งขันที่รุนแรง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มค้าปลีกราคาถูก อย่าง Aldi North, Aldi South และ Lidl กำลังขยายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่กลุ่มค้าปลีกโลว์คอสต์อย่างแอมะซอนได้เข้าซื้อกิจการโฮลฟู้ดส์ พร้อมประกาศกลยุทธ์ใหม่ ราคาถูกกว่า ซึ่งจะยิ่งทำให้แข่งขันตัดราคาที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก รวมทั้งมีผลกระทบต่อมาตรฐานห่วงโซ่สังคมและสิ่งแวดล้อม
ในอีกด้านหนึ่งวิกฤติความเหลื่อมล้ำในโลกและภาวะ climate change ทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจปัจจุบันมีความเปราะบาง เพราะเพียงแค่มาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบที่กำลังแพร่หลายกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากพอที่จะทำให้ทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคให้ความสนใจต่อที่มาของอาหารมากขึ้น และแนวโน้มนี้จะเป็นพลังให้ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตต้องพิจารณาทางเลือกใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้นและยึดความยั่งยืนมากขึ้น
“ทั้งหมดนี้หมายความว่าเวลาสุกงอมแล้วที่จะประเมินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเสียใหม่ แต่คำถามก็คือ ธุรกิจค้าปลีกจะเลือกแนวทางไหนระหว่าง การเพิ่มเงินลงทุนหรือเพิ่มความพยายามมากขึ้นกับโมเดลธุรกิจปัจจุบันที่มีความเสี่ยงในการสร้างความเดือดร้อนให้กับคน หรือจะหาแนวทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจ”
ปฏิวัติธุรกิจค้าปลีก
ผลการวิเคราะห์ของ BASIC ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เกษตรกรรายย่อยและแรงงานจะมีส่วนแบ่งรายได้จากห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงตัวเอง โดยซูเปอร์มาร์เก็ตหรือผู้ที่อยู่ห่วงโซ่รายอื่นใช้เงินลงทุนเล็กน้อยเพื่อปิดช่องว่างรายได้และค่าแรงงานในปัจจุบันเมื่อเทียบกับราคาสุดท้ายที่ผู้บริโภคจ่าย ซึ่งไม่เกิน 5% เมื่อคำนวณจากสินค้า 12 ชนิดและส่วนใหญ่แล้วน้อยกว่า 1%
ขณะเดียวกัน ราคาที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคก็ไม่ต้องปรับขึ้นตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยในสินค้าแต่ละชนิดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่นี้น้อยกว่าส่วนแบ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือธุรกิจอื่นได้รับมากขึ้นจากราคาสุดท้ายที่ผู้บริโภคในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา
การปรับสมดุลของอำนาจระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตกับเกษตรกรและแรงงาน จะส่งเสริมการจัดสรรส่วนแบ่งที่เป็นธรรมมากขึ้น และเปิดพื้นที่ให้เป็นทางเลือกซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้โมเดลธุรกิจปัจจุบันเติบโต ขณะที่ไม่มีแนวทางไหนที่จะแก้ปัญหาได้แบบรวดเร็ว การดำเนินการจากรัฐบาล จากเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน จากซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีความสำคัญ และหากดำเนินการร่วมกันได้ก็จะนำไปสู่การปฏิวัติธุรกิจค้าปลีก
Supermarkets Scorecard
แม้การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นจากภาครัฐและเกษตรกรกับแรงงานที่มีอำนาจมากขึ้น มีความสำคัญต่อการปรับสมดุลในห่วงโซ่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่มีแนวทางที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเองก็สามารถดำเนินการหรือควรดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ที่สอดคล้องกับ UNGPs และความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เพื่อเคารพสิทธิมนุษยชนที่ทำงานป้อนสินค้าให้
ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งได้เริ่มดำเนินการแบบสมัครใจแล้วในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากพอ รายงาน Ripe for Change ยังเผยผลประเมินนโยบายและแนวปฏิบัติของซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาพร้อมให้คะแนน (Supermarkets Scorecard)
Supermarkets Scorecard มีเป้าหมายที่จะสร้างเกณฑ์มาตรฐาน(Benchmark) ให้กับธุรกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในห่วงโซ่ธุรกิจ
จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดและโตเร็วที่สุดในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ จำนวน 16 แห่ง ปรากฏว่าได้คะแนนต่ำมากในทุกประเด็น ทั้งการปฏิบัติต่อเกษตรกรรายย่อย แรงงาน ผู้หญิงและผู้ผลิตใน supply chain ของธุรกิจตัวเอง ความโปร่งใส
ทุกซูเปอร์มาร์เก็ตได้คะแนนศูนย์ ในการสนับสนุนให้ supplier จ่ายค่าแรงที่เหมาะสม และมี 4 แห่งที่ได้คะแนนเกินศูนย์ในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น โดยให้แรงจูงใจกับ supplier ในการขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศ
แนวทางของรัฐบาลในประเทศผู้ผลิต
ผลการวิเคราะห์ของ BASIC จากตะกร้าสินค้า 12 ชนิด พบว่าการแทรกแซงของรัฐบาลในการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้าเกษตรแล้ว ส่วนแบ่งที่เกษตรกรรายย่อยจะได้รับจากราคาสุดท้ายของผู้บริโภคจ่ายจะเพิ่มขึ้น 2 เท่ามากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้รับการสนุนสนุนด้านราคา
ผลที่คล้ายกันในประเทศเวียดนาม เอกวาดอร์ โมรอกโก เปรู การที่รัฐบาลกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูง(เกิน 50% ของจีดีพีรายเดือนต่อหัว) ก็มีผลให้รายได้ของแรงงานยกระดับไปใกล้เคียงกับเกณฑ์ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
แม้การแทรกแซงของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน ให้ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจากกรณีของเอกวาดอร์และโกตดิวัวร์ ยังมีปัญหาในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรและค่าแรงงานขั้นต่ำ เนื่องจากมีแรงกดดันจากกลไกตลาดโลก
ความร่วมมือของเกษตรกร-แรงงาน-ผู้หญิงในประเทศผู้ผลิต
การร่วมมือกันสร้างอำนาจการต่อรองของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานมีความสำคัญอย่างมาก จากผลวิเคราะห์ของ BASIC พบว่า เกษตรกรรายย่อยได้ส่วนแบ่งจากราคาสุดท้ายของผู้บริโภคจ่ายสูงถึง 26% เมื่อมีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันและมีการประหยัดต่อขนาดในการผลิตเพื่อการส่งออก หากเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการร่วมมือซึ่งได้เพียง 4%
แนวทางของรัฐบาลในประเทศค้าปลีก
รัฐบาลมีเครื่องมือหลายชนิดที่จะนำมาใช้กับซูเปอร์มาร์เก็ตที่กำลังเติบโต โดยการขจัดการค้าที่ไม่เป็นธรรมอาจจะต้องใช้กฎหมาย เช่น ที่มีการเสนอในสหภาพยุโรป หรือใช้กฎหมายการแข่งขันเพื่อลดการกระจุกตัวของอำนาจซื้อ
หลายประเทศจัดทำแผนระดับชาติโดยยึดหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ควบคู่ไปกับการตรวจสอบเชิงลึกด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายใหม่ ที่กำหนดให้ธุรกิจดำเนินการมากขึ้นลงลึกไปถึงต้นตอของปัญหาและการแก้ไขในห่วงโซ่ธุรกิจ
ขณะเดียวกันมีการเจรจาเพื่อนำเครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนของโลกมากำกับธุรกิจ ประกอบการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน จะช่วยให้ห่วงโซ่ค้าปลีกมีความโปร่งใสมากขึ้นและป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดต่อไป