
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดกิจกรรมเสวนาสำหรับหลักสูตรผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD Program) รุ่นที่ 2 ในหัวข้อ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” หรือ “Culture of Lawfulness”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเปิดประเด็นนี้ด้วยการอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการเคารพกติกาว่า หลักนิติธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้สังคมสงบสุข และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การจะทำให้สังคมนิติธรรมเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาให้เกิดขึ้นควบคู่กันด้วย กล่าวคือ ต้องทำให้คนเคารพกฎหมาย ซึ่งต้องผสานมิติของ “คน” เข้ากับมิติทาง “วัฒนธรรม” ไม่ใช่มองแค่เรื่องตัวบทกฎหมายและองค์กรบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ เรื่องหลักนิติธรรมและวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา มีความเกื้อกูลและสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน สังคมที่มีนิติธรรมที่ดี ที่คนเชื่อถือศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม จะส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา และวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาจะช่วยส่งเสริมหลักนิติธรรมเช่นกัน
วัฒนธรรมในระบบของสังคมไทย
ด้าน ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Culture ในที่นี้อาจไม่ได้มีความหมายถึงวัฒนธรรมเสียทีเดียว แต่เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่สั่งสมสืบเนื่องกันมา การเข้าใจ Culture of Lawfulness หรือวัฒนธรรมการเคารพกติกา จำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการของคนในสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่ปฐมภูมิ จนถึงสังคมสมัยใหม่ ตามแผนผังดังนี้
ความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวกับหมู่บ้านเป็นความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดผูกพันระหว่างคนในสังคม มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นลักษณะ kinship-based society ต่อมาสังคมขยายใหญ่ขึ้น พัฒนาขึ้นไปสู่ระดับอาเขตและคาราวาน คนในสังคมผูกพันกันน้อยลง ไว้เนื้อเชื่อใจกันน้อยลง จึงต้องอาศัยกฎเกณฑ์มากำกับดูแล นำไปสู่ rule-based society
สำหรับประเทศไทยเป็นสังคมแบบผสมระหว่าง kinship-based และ rule-based คือแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ (rule-based) แต่ก็มี culture บางอย่างสอดแทรก ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์แบบ kinship-based เช่น การต่อรองราคาสินค้าที่ราคาอาจขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือการต่อรองดอกเบี้ย ค่าปรับ เป็นต้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยมี competing force ระหว่างความเป็น rule-based และ kinship-based
ในอดีต รัฐพยายามให้ law อยู่เหนือ culture โดยการออกฎหมายมาบังคับใช้ แต่เนื่องจาก culture เป็นสิ่งที่สะสมสืบเนื่องมายาวนาน การนำ law มาแทนที่ culture โดยสิ้นเชิงจึงไม่ใช่จะกระทำได้โดยง่าย สังคมที่ดีควรเป็นสังคมที่ culture ช่วยส่งเสริมการเคารพกฎหมาย หรือสังคมที่มี culture of lawfulness นั่นเอง

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม วิถีชีวิตของคนในสังคมต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จเชิงเกษตรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศ การก่อตัวของวัฒนธรรมไทยจึงเริ่มจากการถ่ายทอดประสบการณ์ในการสังเกตสภาพดินฟ้าอากาศ จากการถ่ายทอดในครอบครัว เครือญาติ คนคุ้นเคย ตลอดจนคนรุ่นถัดไป เป็นสังคมที่เรียกว่า สังคมแบ่งปัน (แบ่งปันประสบการณ์) และต่อมาพัฒนาเป็นระบบศักดินา เพราะในสังคมแบ่งปัน ผู้มีต้นทุนทางสังคมต่ำกว่า (มีประสบการณ์น้อยกว่า) ต้องเคารพผู้ที่สั่งสมต้นทุนมามากกว่า (ประสบการณ์มากกว่า) ระบบนี้ต่อมาพัฒนาโดยมีปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำของต้นทุนทางสังคมในด้านอื่นมาเพิ่มมากขึ้น
สังคมไทยมีรากของระบบศักดินา พัฒนาต่อมาเป็นสังคมอุปถัมภ์ ผู้น้อยพึ่งพาผู้ใหญ่ การที่ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ก็เป็นปัจจัยตอกย้ำให้เกิดวัฒนธรรมของการไม่เคารพกติกา เพราะคนที่มีต้นทุนในสังคมดีกว่าจำนวนหนึ่งมักใช้อภิสิทธิ์เพื่อให้พ้นจากกฎข้อบังคับ เพราะอภิสิทธิ์เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงอำนาจและสถานภาพทางสังคม ในขณะที่คนที่มีต้นทุนต่ำบางส่วน ก็ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามกฎ โดยมองว่าตนเองอยู่ในระดับที่ด้อยกว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น การทำผิดก็ควรจะละเว้นบ้างเพราะสังคมไม่ยุติธรรมกับตน
“อาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายในไทยเป็นสิ่งที่ท้าทายเพราะขัดกับวัฒนธรรมเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น การเคารพกฎจราจร การเลี่ยงไม่จ่ายค่าปรับเมื่อกระทำผิด ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ ชุมชม สังคม และประเทศชาติ”
ผศ. ดร.ธานี กล่าวย้ำว่า การสร้างวัฒนธรรมในการเคารพกติกาเป็นสิ่งที่สร้างได้ โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนมีความเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน สร้างการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายเพื่อให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของกฎหมายนั้น สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเคารพกฎหมาย เน้นยึดถือมาตรฐานมากกว่าการใช้ดุลยพินิจ เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎคนกระทำผิดจะถูกลงโทษในระยะเวลารวดเร็ว ไม่ปล่อยปละเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดโอกาสในการต่อรอง เช่น ใช้กล้อง CCTV จับการละเมิดกฎจราจร และมุ่งสร้างความเท่าเทียมกันทางโอกาสและสังคม
ดังนั้น การสร้างสังคมแห่งหลักนิติธรรมที่ยั่งยืนและเป็นจริงต้องเริ่มจากการสร้าง “วัฒนธรรมการรักษากติกา” เสียก่อน หากเราประสบความสำเร็จในการทำให้สังคมมีวัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา คนในสังคมจะตระหนักถึงความสำคัญของ “กติกา” และการมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้มาซึ่งกติกาที่มีความยุติธรรม รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับระบบที่นำกติกานั้นมาใช้อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการรักษากติกาจึงเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการสร้างสังคมนิติธรรมหรือสังคมที่มีกฎหมายเป็นใหญ่นั้นเอง
สำหรับวงเสวนา พล.ต.ต. ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ให้ข้อมูลที่ตอกย้ำความจริงในข้อนี้ว่า ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คดีจำนวนไม่น้อยจะมีคนฝากฝังให้ดูแลเป็นพิเศษ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความกดดันอย่างสูง การทำงานอย่างตรงไปตรงมาและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดก็อาจถูกต่อต้าน หรือมีความพยายามแทรกแซงจากภายนอก หนทางแก้ปัญหาทางหนึ่งคือตำรวจต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นให้ชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง ช่วยกันดูแลคุ้มครองกฎกติกาของสังคมอย่างจริงจัง จึงจะทำให้เกิดวัฒนธรรมในการเคารพกติกาอย่างยั่งยืน มองว่า informal social control เป็นรูปแบบการควบคุมทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ
นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ เจ้าของรายการโทรทัศน์ออนไลน์ “Toolmorrow” ทำการทดลองผ่านรายการแล้วพบว่า เมื่อเห็นผู้อื่นปฏิบัติผิดกฎก็มีแนวโน้มที่จะกระทำตาม หนึ่งในทางแก้จึงควรใช้สื่อเข้ามาชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงลบเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎ และสอดแทรกเนื้อหาเชิงบวกถอดบทเรียนผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้สำเร็จ
ทั้งนี้ การจะสร้างชุมชนที่เข้มแข็งได้ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้ง “ชุมชนมีชีวิต” มองว่าต้องสนับสนุนให้คนตระหนักในคุณค่าของชุมชนของตน ส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน เพื่อสร้าง culture เชิงบวกขึ้นมา
ส่วน ผศ. ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน มีผลต่อการรักษากติกา เพราะคนแวดล้อมเป็นคนกลุ่มเดิมๆ จึงต้องรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล รู้สึกละอายต่อชุมชนที่จะไม่ทำตามกฎระเบียบ นอกจากนี้ การปฏิวัติสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยกเลิกระบบศักดินา ทำให้คนญี่ปุ่นกลับมามองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมในการเคารพกติกา
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมของการเคารพและรักษากติกาตั้งแต่วันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้หลักนิติธรรมมีโอกาสได้สถาปนาอย่างแข็งแรงในสังคมไทย และถักทอให้สังคมกลายเป็นสังคมนิติธรรมได้อย่างแท้จริง”