ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู circular economy รุกจัดการขยะ-น้ำ ด้วยเทคโนโลยี และ bioeconomy สู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลง

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู circular economy รุกจัดการขยะ-น้ำ ด้วยเทคโนโลยี และ bioeconomy สู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลง

13 กรกฎาคม 2018


คุยเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของไทย กับ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู circular economy รุกจัดการขยะ-น้ำ ด้วยเทคโนโลยี และ bioeconomy สู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลง

  • “สุวิทย์ เมษินทรีย์” กับภารกิจ reinvent “มหาวิทยาลัย-งานวิจัย” เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษ 21-ปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมฐาน “นวัตกรรม” รองรับไทยแลนด์ 4.0
  • บทสัมภาษณ์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ตอนที่แล้ว นอกจากฉายภาพของการออกแบบกระทรวงใหม่ ด้วยการจัดทัพ ปรับระบบ มหาวิทยาลัยและงานวิจัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสังคมฐานนวัตกรรมและเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษ 21 แล้ว

    ดร.สุวิทย์วาดเป้าหมายที่จะเชื่อมโลกของวิทยาศาสตร์ที่ประชาชนจับต้องได้มาสู่โลก “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นภารกิจอันท้าทายของกระทรวงใหม่ว่า ท้ายที่สุดแล้วจะต้องกลับมาตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่จะนำประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้โจทย์ระบบเศรษฐกิจ 3 ส่วน คือ 1. innovation-driven economy 2. distributive economy และ 3. circular economy

    ขับเคลื่อนประเทศด้วย “bioeconomy”

    ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมุ่งมาที่ circular economy แต่ภายใต้บริบทของประเทศไทยดร.สุวิทย์เล็งเห็นว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ bioeconomy หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ” เพราะตอบโจทย์เศรษฐกิจทั้งสามส่วน  เนื่องจากเสน่ห์ของไทยเป็น bio-based อยู่แล้ว bioeconomy มันตอบโจทย์ distributive ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) ที่สำคัญคือ bioeconomy โดยตัวมันเองจะเป็น circular ในตัวมันเองด้วย เอาแค่ zero waste เรื่องเดียวมาทำก็เล่นได้มากมาย

    มากไปกว่านั้น bioeconomy ถึงวันหนึ่ง เล่นได้ทั้งแบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คือ biodiversity  และเศรษฐกิจขนาดเล็กคือ biotech เช่น จีโนมิกส์ (genomics)  เจเนติก (genetic) แค่นี้ก็นวัตกรรมมากมายแล้ว  ดังนั้น bioeconomy สำหรับผมคือพระเจ้าให้ประเทศไทยมา แต่ที่ผ่านมาเราก็ poor management

    “bioeconomy จะ circular ก็ได้, distribute ก็ได้, innovative ก็ได้ เอาวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับชาวบ้านได้หมด  มหาวิทยาลัยก็มาเล่นได้ หรือมิติทางสังคมก็เล่นได้หมด ดังนั้น ถ้าจัดทัพกระทรวงใหม่บนสามอีโคโนมีของไทยแลนด์ 4.0  แค่นี้ก็เกิดพลังมหาศาล”

    โดยเชื่อว่า bioeconomy หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ” จะเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสำคัญที่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจทั้งสามส่วน และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

     “…ผมมองว่า bioeconomy มันใหญ่กว่า bioindustry เพราะมันเป็นเรื่อง sustainability มันเป็นเรื่อง distribution

    ดร.สุวิทย์เล่าว่า  “‘..ผมไปงาน Bioeconomy Summit 2018 ที่ประเทศเยอรมัน ไปพูดเรื่อง bioeconomy พบว่ามีคน respect ประเทศไทยจำนวนมาก โดยเขาบอกว่าจัดประชุมครั้งต่อไปหากไม่ใช่ที่เยอรมัน จะเป็นประเทศไทย เพราะเขามองว่าประเทศเรามี best practice มีความหลากหลาย มีศาสตร์พระราชา และมีเรื่องที่ควรจะเป็นต้นแบบ”

    ดร.สุวิทย์มองว่า “…จริงๆ แล้ววัฒนธรรมคนไทยยังเป็นเกษตร ไม่ใช่วัฒนธรรมอุตสาหกรรม คนบ้านเรายังสบายๆ real of life มีชีวิตธรรมชาติ  ซึ่งผมคิดว่าเราใช้ตัวตนของเรานี่แหละ แต่ใส่เทคโนโลยีลงไป ใส่การจัดการลงไป เพราะประเทศไทยไม่ได้เริ่มจากติดลบเหมือนหลายประเทศ  แต่ที่ผ่านมาศักยภาพเรายังไม่มากพอ ทำแบบลุ่มๆ ดอนๆ”

    “ดังนั้น based on สิ่งที่เรามี คือ bioeconomy แต่บวกด้วยการจัดการ บวกเทคโนโลยี บวกนโยบายที่ชัดเจน บวกด้วยการเปลี่ยน mindset” 

    ประเทศต้องมี “รากแก้ว” พึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเอง

    ดร.สุวิทย์กล่าวย้ำว่า “bioeconomy เป็นหนึ่งเรื่องที่ประเทศไทยจะสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้  “..ผมเชื่อว่า เราสู้กับเขาได้ เราจะไปสู้โรบอทเหรอ สู้อุตสาหกรรมการบินเหรอ ของพวกนั้นต้องมี แต่ตามเขาไปดู”

    “แต่เศรษฐกิจพอเพียงสอนเราว่า ในทางเทคโนโลยีเราต้องมีรากแก้วของตัวเอง ณ วันนี้ เรามีแต่รากแขนง มีแต่ปักชำ เราไปยืม FDI (Foreign Direct Investment) แต่เขามาแล้วเขาก็ไป เขาไม่มีทางให้เรา 100% อยู่แล้ว แล้วในอดีตเราไม่คิดที่จะซึมซับเทคโนโลยีเขาด้วยซ้ำ ไม่ transfer เท่าไหร่

    “แต่ ณ วันนี้ กระทรวงใหม่ที่ตั้งขึ้นมาคือ คุณต้องมีรากแก้วของตัวเอง ผมถึงบอกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ มาสู่การการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง คือยืนอยู่บนขาตัวเอง นั่นก็คือรากแก้ว แต่รากแก้วเกิดจากสถาบันวิจัยกับมหาวิทยาลัย interact กัน แล้วตั้งโจทย์ให้ชัด เดี๋ยวรากแก้วจะโผล่ออกมาเอง โดยเอาเรื่องง่ายๆ ก่อน เช่น bioeconomy  เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส  แล้วโอกาสจะทำเรื่องพวกนี้มันกระจายตัว ไม่กระจุก ไม่เหมือนกับโรงงานเครื่องบินหนึ่งโรง แต่นี่มันกระจายทั่วประเทศ”

    แต่หากจะทำให้แอดวานซ์มากกว่านั้น คือ precision agriculture  เรื่อง precision medicine หรือเรื่อง bio-energy เพราะเราจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน แล้วถ้าเล่นให้ครบวงจร มันก็คือ zero waste ในระดับหนึ่งนั่นเอง

    แล้วในทางความเป็นจริง บริษัทที่เป็นบรรษัทข้ามชาติของไทย 4-5 ราย อยู่ใน bio-based อยู่แล้ว ซีพี, เบทาโกร, มิตรผล ฯลฯ เหล่านี้อยู่ในระดับโลกแล้ว ดังนั้นถ้าต้องสู้กับโลก อย่างน้อยเรามี based พวกนี้

    แต่การสู้กันในประเทศ หน้าที่ของกระทรวงนี้ก็คืออย่าให้มีการตัดตอนหรือเอาเปรียบกัน เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่เราทำ บางอย่างจะต้องให้ราชภัฏทำ ขณะที่เทคโนโลยีบางอย่างให้มหาวิทยาลัยทำที่ต้องเบสิกพอ ที่ประชาชนจะสามารถเอาไปใช้ ซึ่งมันจะบาลานซ์กัน

    ดร.สุวิทย์ยกตัวอย่างว่า “…ประเทศคิวบา ฟีเดล กัสโตร วิสัยทัศน์เขาสูงมาก ประเทศเขามีอ้อย แต่ไม่ทำน้ำตาล แต่จะทำเรื่องเดียวคือ biopharma วันนี้คิวบาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในอุตสาหกรรม biopharma อุตสาหกรรมยาที่ใช้ชีวะ แต่ประเทศไทยไม่ต้องขนาด biopharma แต่ bioeconomy นี่แหละ เพราะ หนึ่ง agriculture food, food for the future สองคือ health กับ wellness และสามคือ bioenergy หรือ biomaterial”

    ดังนั้น แค่ทำ bioeconomy  3 เรื่อง คือ 1. food agriculture บนความหลากหลาย ถ้าลึกกว่านั้นเป็นเชิงเทคโนโลยี ก็เป็น precision agriculture ไปเลย หรือใช้เอไอไปเล่นในเกษตร ทำได้อีกมาก 2. health กับ wellness เล่นได้ตั้งแต่สมุนไพร ไปจนถึง precision medicine หรือ bio farma  และ 3. biomaterial, energy

    ฉะนั้น แค่ทำเรื่องพวกนี้ก็กินไม่หมดแล้ว ทำได้ทั้งลึก แอดวานซ์ ทั้งกว้าง ซึ่งแบบนี้ก็แจกโจทย์ให้ราชภัฏ แจกโจทย์ให้มหาวิทยาลัยแต่ละแบบ หรือบางเรื่องให้ วว. ไปจัดการ ส่วนที่แอดวานซ์หน่อยให้ สวทช. ไปจัดการ ก็โยกไปโยกมาได้โดยตัวของมันเอง

    “คือไหนๆ จะรีฟอร์มแล้ว ผมอยากให้รีฟอร์มแล้วมองไปข้างหน้า future setting แต่มันต้องเซ็ตติ้งบนสิ่งที่เราพอเห็นลู่ทาง  ไม่ใช่เซ็ตติ้งบนอากาศ  เราไม่ได้ reinvent จากศูนย์  แต่เริ่มจากสิ่งที่เรามี และแมนเนจให้มันดี ทำนโยบายให้ชัด” ดร.สุวิทย์กล่าว

    ดร.สุวิทย์เล่าต่อว่า  “…ล่าสุดได้พูดคุยกับกลุ่มมิตรผล สถาบันวิจัยเยอรมัน และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงทุนทำงานร่วมกันเรื่อง bioeconomy ที่อีอีซี (โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) แต่จะเน้นเรื่อง zero waste จากอ้อย เป็นต้น”

    ดร.สุวิทย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงวิทย์ฯ กำลังวางคอนเซปต์เรื่อง zero waste 3 เรื่อง คือ

      1. zero waste สำหรับอุตสาหกรรม หากขยะเป็นศูนย์ โรงงานก็จะได้มูลค่าเพิ่มอีกมาก

      2. zero waste สำหรับ “biotourism” ขณะนี้ ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) พยายามจะโปรโมท “local tourism” แต่ไหนๆ จะโปรโมทแล้ว ก็ใส่เรื่อง biotourism ลงไปด้วย เช่น จัดแคมเปญรณรงค์ไม่เอาพลาสติก เป็นต้น

      3. zero waste สำหรับชุมชนท้องถิ่น โดยทำเรื่องน้ำกับขยะ เปลี่ยน waste to wealth

    “เพราะฉะนั้น เรื่อง circular economy สามารถทำได้ทั้งมิติชุมชน มิติเอกชน และอีกมากมาย ถ้างานปรับโครงสร้างกระทรวงเรียบร้อย ผมจะทำเรื่องนี้ต่อ”  ดร.สุวิทย์กล่าว

    พร้อมเล่าต่อว่า “คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เสนอไอเดียว่าทำเรื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร” บอกว่าอย่าไปคิดแทนเกษตรกร แต่ให้ชาวบ้านคิดเอง แล้วโปรโมทเขา ซึ่งผมก็เกิดไอเดียว่า หากทำหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร ในบริบทของ bioeconomy ก็น่าจะทำได้มหาศาล ทั้ง distributive หรือ innovative เป็นการนำเรื่องโซเชียลแคมเปญ โซเชียลมูฟเมนต์ มาประกวดกัน  ทุกคนเอาสิ่งที่ดีที่สุดออกมา แล้วมันก็จะ commit  เพราะชาวบ้านจะรู้สึกว่าเป็นผลงานของเขา ไม่ใช่ให้ข้าราชการมายัดเยียดให้เขาทำ  แต่เขาคิดเอง นี่คือการผสมผสานคอนเซปต์ bioeconomy กับโซเชียลมูฟเมนต์เข้าด้วยกัน และถ้าเป็น bioeconomy ที่ประชาชนคิดเองได้ มันก็จะเกิดพลัง”

    ส่วนในเรื่องการจัดการน้ำ ดร.สุวิทย์กล่าวว่า  กระทรวงวิทย์กำลังจะทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่งมีข้อมูลเรื่องน้ำจำนวนมาก และมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ดี

    “วันนี้เวลาพูดเรื่องน้ำ เราชอบไปคิดภาพใหญ่ว่าจะต้องมีลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ  บริหารเขื่อนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าเป็นเพียงส่วนเสริม แต่ส่วนหลักคือจะทำอย่างไรให้พื้นที่ไหนก็ตาม สามารถจัดการน้ำเองได้ ซึ่งเป็นคอนเซปต์ของในหลวงรัชกาลที่ 9  และปัจจุบัน สสนก. ใช้คอนเซปต์นี้”

    “สสนก. เขาสามารถใช้เทคโนโลยีจีพีเอสจับทิศทางการไหลของน้ำ คือใช้เทคโนโลยีจับธรรมชาติ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในชุมชนที่ทำให้พออยู่ได้และเลี้ยงตัวเองในเรื่องเกษตร คอนเซปต์ สสนก. น่าจะเอาอยู่ ผมจึงมองว่าจะลองทำเรื่องน้ำที่ภาคอีสานทั้งภาค โดยมีเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากกองทุนหมู่บ้านเอามาทำเรื่องน้ำด้วย จับมือกับท่านสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และอุทกพัฒน์ มาทำด้วยกัน” ดร.สุวิทย์เล่า

    ปัจจุบัน สสนก. ใช้โทรมาตรจับความชื้น รู้ปริมาณน้ำฝน บันทึกเป็นบิ๊กดาต้าในพื้นที่ รู้เลยว่ามีปริมาณน้ำอย่างไร แล้วบันทึกเป็นข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวของชาวบ้าน ที่สำคัญคือลงทุนไม่มาก

    “ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเทคโนโลยีการจัดการน้ำ บวกกับเรื่องดาวเทียม บวกกับการบริหารจัดการ มันสามารถซ่อมปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ได้

    หรือยกตัวอย่างจิสด้า (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ก็มีประโยชน์มาก  แค่ดาวเทียมวิ่งไปวิ่งมา ต่อไปในอนาคตใครทิ้งขยะในทะเล มันจับได้เลย เพราะมันมีดาต้าในมือ อยู่ที่ว่าจะสั่งมันทำอะไร มันคือบิ๊กดาต้าธรรมชาติที่มันเกิดขึ้นทุกวัน อยู่ที่คำสั่งเราว่าต้องการให้มันทำอะไร”

    ดร.สุวิทย์เล่าด้วยว่า ขณะนี้กำลังนำเครื่องมือของจิสด้าที่เรียกว่า “AIP” (Actionable Intelligence Policy Platform) หรือ “การบริหารจัดการโดยใช้ดาวเทียม” ไปบริหารจัดการที่อีอีซี และป่าที่จังหวัดน่าน

    “นี่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้กับบริบทของสังคมและบริบททางเศรษฐกิจ อย่างในส่วนอีอีซีก็จะจับในลักษณะของพื้นที่ แล้วสามารถบอกได้ว่านโยบายของคุณต้องการให้โซนไหนเป็นยังไง  แล้วก็จะบอกว่าถ้า simulate เปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่”

    “ดังนั้นเรื่อง SDG สำหรับประเทศไทย ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย โดยเฉพาะในส่วนสำคัญอย่างเช่นเรื่องขยะ และเรื่องน้ำ” ดร.สุวิทย์ กล่าว

    ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

    [pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2018/07/Bioeconomy-conceptual-idea_11_06_2018.pdf” title=”Bioeconomy conceptual idea_11_06_2018″]