เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนประสบการบริหารจัดการน้ำจาก 3 ประเทศต้นแบบ ได้แก่ อิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์
อิสราเอลในวันที่ชุ่มน้ำ กับสโลแกน “Always been a drop ahead”
อะไรที่ทำให้ประเทศอิสราเอล ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศค่อนข้างแห้งแล้งห้อมล้อมด้วยทะเลทราย มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 20-50 นิ้ว หรือน้อยกว่า 33 มิลลิเมตร/ปี และมีอัตราการระเหยของน้ำสูง เคยประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องสั่งซื้อน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกีในปี 2547 สามารถอยู่ได้โดยมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกในปัจจุบัน

Dr.Weinberger Gavriel ผู้อำนวยการสถาบันอุทกวิทยา อิสราเอล กล่าวว่า “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามีความสำคัญมากเพราะน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดสรรสิ่งนี้ให้เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งประเทศ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมานโยบายการจัดการน้ำของอิสราเอลมีคีย์เวิร์ดอยู่ที่ “จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ และเกิดความยั่งยืน”
“น้ำในความหมายของเราคือ น้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำทะเล น้ำในชั้นหิน น้ำบาดาล น้ำที่ใช้แล้ว น้ำเสียที่ต้องบำบัด การวางนโยบายจึงต้องทำความเข้าใจวัฏจักรน้ำทั้งระบบ และจัดการให้สัมพันธ์กัน เพราะน้ำในชั้นหิน น้ำที่ซึมซับสู่พื้นดิน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน การใช้น้ำบาดาลต้องมีการวิเคราะห์แร่ธาตุและสารเคมีในดินด้วย หากนำน้ำใต้ดินมาใช้มากๆ ก็อาจส่งผลให้ความเค็มซึมเข้ามาจนเกิดผลกระทบตามมา ซึ่งหากเข้าใจวัฏจักรของน้ำทั้งระบบก็จะทำให้สามารถใช้น้ำได้อย่างถูกวิธีแลยั่งยืน”
จากวิกฤติการขาดแคลนน้ำในปี 2547 อิสราเอลได้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งองค์กรที่จัดการน้ำโดยเฉพาะขึ้น มีกฎระเบียบชัดเจน การจัดการน้ำทุกประเภทในประเทศต้องผ่านองค์กรนี้ ในภาพรวมอิสราเอลพึ่งพิงน้ำใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ ได้พัฒนานำเทคโนโลยีวิศวกรรมด้านการจัดการน้ำเข้ามาช่วย ทำให้ปัจจุบันปริมาณน้ำ 50% ที่ใช้ในประเทศมาจากน้ำที่เขาผลิตใช้เองโดยอาศัยภูมิประเทศที่ติดทะเล มีชายฝั่งยาว 230 กิโลเมตร ผันน้ำจากทะเลมาแปลงเป็นน้ำจืดใช้ภายในประเทศ
Dr.Weinberger กล่าวว่า มีการบริหารจัดการเชื่อมโครงข่ายน้ำจืดด้วยระบบท่อใต้ดิน เพื่อนำน้ำจืดจากทางเหนือลงมาทางใต้ของประเทศ รวมระยะทางประมาณ 6,500 กิโลเมตร ปริมาณน้ำทั้งระบบประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภคและผลิตกระแสไฟฟ้า และเชื่อมกับแหล่งผลิตน้ำตามชายฝั่งต่างๆ โยงเป็นผังใยแมงมุมเพื่อส่งน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
“น้ำเสียและน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดทั้งจากโรงบำบัดขนาดใหญ่และโรงบำบัดระดับชุมชน จะถูกเติมน้ำลงสู่ใต้ดินบริเวณพื้นที่ทะเลทรายช่วงฤดูหนาว ช่วยป้องกันการระเหย คืนน้ำสู่ชั้นดินและนำกลับมาใช้เป็นน้ำชลประทาน เรียกว่าไม่เสียน้ำสักหยด และเราจะลดสัดส่วนการใช้น้ำดีในภาคเกษตรลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสัดส่วนน้ำเสียที่เอามาใช้ในภาคเกษตรมีถึง 86%”
นอกจากนี้ อิสราเอลได้ปรับวิถีเกษตรเป็นแบบใช้น้ำน้อย โดยพื้นที่เพาะปลูกกว่า 70% ของประเทศ เป็นระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) และอีกร้อยละ 30 เป็นการปลูกพืชด้วยระบบสปริงเกอร์ ซึ่งระบบชลประทานน้ำหยดสามารถจ่ายน้ำให้กับพืชไร่ได้มากกว่า 90% เมื่อเทียบกับการสูบน้ำเข้าไร่นา ช่วยลดปัญหาการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จัดการน้ำอย่างสิงคโปร์ ทุกหยดต้องไม่เหลือทิ้ง
สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำไม่ดี ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสำหรับอุปโภคและบริโภค ขณะที่ลักษณะภูมิประเทศ 2 ใน 3 เป็นที่ลุ่ม มีทางระบายน้ำเพียง 50% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ทำให้เมื่อถึงฤดูฝนต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเสมอ
Mr.Ridzuan Bib Ismail ผู้อำนวยการด้านแหล่งน้ำและลุ่มน้ำของหน่วยงาน PUB สิงคโปร์ กล่าวว่า จากปัญหาที่ประเทศประสบ ภาครัฐจึงตั้งนโยบายที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้ทุกหยด รวมถึงน้ำที่ใช้ไปแล้วก็ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 1 ครั้ง โดยหน่วยงาน PUB จะทำหน้าที่จัดการน้ำทั้งวัฏจักรไม่ให้เหลือทิ้ง (คลิกภาพเพื่อขยาย)

เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นว่าน้ำคือความมั่นคงของประเทศ จึงได้ประกาศลดการซื้อน้ำจากต่างประเทศ และหันมาดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการการอนุรักษ์น้ำ 3 กลยุทธ์ คือ 1) กำหนดกลไกสร้างราคาและเพิ่มมูลค่าน้ำ เช่น ค่าบริการส่วนเพิ่มของการใช้น้ำ (Water Tariff) และภาษีอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation Tax) เพื่อบวกรวมเข้ากับค่าน้ำ เมื่อใช้น้ำมากยิ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริการและภาษีที่สูงขึ้น 2) กำหนดข้อบังคับ อาทิ ต้องมีฉลากประหยัดน้ำ (Water Efficiency Labeling Scheme: WELS) ติดกำกับเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในครัวเรือนทุกชนิด และ 3) ใช้ความสมัครใจ โดยให้ประชาชนคิดหาวิธีประหยัดน้ำในชุมชน ใช้การจูงใจโดยให้รางวัลชุมชนที่สามารถประหยัดน้ำได้มากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนทุนให้นำไปสร้างโครงการในแต่ละพื้นที่ที่สนใจ
“น้ำที่นี่ยังคงต้องมีราคาสูง มีการเก็บภาษี เพื่อคนจะได้เห็นคุณค่าของน้ำ และใช้อย่างประหยัด เพราะหากเขารู้สึกว่าได้น้ำมาง่ายๆ ทุกคนก็จะไม่ให้ความสำคัญกับน้ำ”
และดังที่กล่าวไปข้างต้น สิงคโปร์ประสบปัญหาน้ำท่วมเพราะที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล Mr.Ridzuan กล่าวว่า ประเทศของเขาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยพัฒนาพื้นที่อ่างเก็บน้ำจากเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติเพียง 3-4 แห่ง ปัจจุบันมีถึง 17 แห่ง พื้นที่ใหญ่ที่สุดบริเวณปากแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 6 ของประเทศ (Marina Reservoir) และกำหนดให้การก่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยทุกแห่งต้องก่อสร้างตามมาตรฐานป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งทำเส้นทางระบายน้ำไว้โดยเฉพาะ
“เราทำทั้งการปรับปรุง บำรุงรักษาระบบระบายน้ำ สร้างเพิ่ม และทำแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ภายใน 1 ชั่วโมงก็สามารถระบายน้ำออกได้ทั้งหมด เราทุ่มทุนไปในเรื่องบริหารจัดการน้ำกว่า 470 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาและทำวิจัยเรื่องน้ำผ่านบริษัทเอกชนจำนวน 180 แห่ง และสถาบันวิจัยอีก 26 แห่ง”
นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้นำเทคโนโลยีรีไซเคิลน้ำเสียมาใช้ ภายใต้ชื่อ NEWater โดยนำน้ำเสียจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมาผ่านกรรมวิธีการกรองแบบ Microfiltration, Reverse Osmosis และฆ่าเชื้อด้วยอัลตราไวโอเลต จนได้น้ำดิบคุณภาพดี และนำกลับเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตและการหล่อเย็นของภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือถูกนำไปรวมกับแหล่งน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาสู่ประชาชนอีกครั้ง รวมทั้งทำระบบแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด (Desalination) ซึ่งมีโรงผลิตขนาดใหญ่อยู่บริเวณเขื่อนปากแม่น้ำโดยสร้างคู่กับโรงงานเผาขยะ เพื่อนำพลังงานที่ได้จากการเผาขยะไปใช้ในโรงงานแปลงน้ำทะเลดังกล่าว ซึ่งยุทธศาสตร์การจัดหาแหล่งน้ำนี้ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำของภาคอุตสาหกรรมกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
เนเธอร์แลนด์กับระบบรับมือน้ำ

เนเธอร์แลนด์ ประตูสู่ยุโรป ประเทศในฝันที่หลายคนอยากไปเยือน แต่กว่าจะสร้างตัวได้ดังในทุกวันนี้ ประเทศนี้ต้องทุ่มทุนมหาศาลเพื่อรับมือ “น้ำ” เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เนเธอร์แลนด์ประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านยูโร
Mr.Tjitte A Nauta ตัวแทนจากองค์กร Deltares องค์กรไม่แสวงกำไรที่ดูแลเรื่องน้ำใน เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 1917 เนเธอร์แลนด์เริ่มแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนและทำทะเลสาบกลางประเทศ แต่ในปี 1953 ก็ประสบปัญหาเขื่อนแตก จึงเริ่มทำระบบริหารจัดการน้ำแบบเปิดปิดซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ในปี 1995 แม้ป้องกันภัยจากมวลน้ำที่มาจากมหาสมุทรได้ แต่แม่น้ำไรน์ก็เกิดเอ่อท่วมสร้างความเสียหายใหญ่อีกครั้ง
“เราเรียนรู้ว่าไม่ควรสร้างหรือจัดการน้ำในแบบที่ต้านธรรมชาติ เราเริ่มศึกษาคลื่น และให้ธรรมชาติคุ้มครองประเทศ ดังนั้น นอกจากการบริหารจัดการด้วยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบ สร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศประสบภาวะอุทกภัย ต้องสร้างสมดุลระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด และน้ำใต้ดินด้วย”
Mr. Tjitte กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างครอบคลุม ตรงจุด และทันต่อสถานการณ์ จึงได้สร้างแบบจำลองการเกิดอุทกภัยขึ้น รวมทั้งวางทางเลือกทั้งหมดที่เป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะเลือกทางออกที่ประหยัดงบประมาณ เกิดความคุ้มค่า และเหมาะสมที่สุดมาใช้
“ภาพจำลองช่วยให้เราเตรียมพร้อม ระบบสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อเขื่อนแตกเราจะมีเวลารับมือเท่าไร ถนนเส้นใดยังใช้ได้ นอกจากนี้ ยังนำมากำหนดผังเมืองให้สามารถกักน้ำได้เมื่อฝนตกหนัก รวมทั้งนำสิ่งก่อสร้างที่ปรับตัวได้ อาทิ บ้านลอยน้ำมาใช้”
Climate Change กับความท้าทายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศต้นแบบทั้ง 3 จะสามารถปรับตัวและประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในประเทศของตนเองแล้ว แต่ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่ทั้งหมดต่างเป็นกังวล
โดย Dr.Weinberger กล่าวว่าทุกวันนี้แม้อิสราเอลจะไม่ขาดแคลนน้ำเลย แต่การนำน้ำเค็มไปทำน้ำจืดก็ต้องดูผลกระทบในอนาคต เพราะภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยน
ดังนั้น หน่วยงานอุทกวิทยาได้จัดทำระบบพยากรณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งล่วงหน้า โดยคำนวณจากอัตราการตกของฝนในแต่ละพื้นที่ตามแผนที่อากาศที่ประกอบกับ Flood Animation แล้วจะทำการแจ้งเตือนประชาชนผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งต้องพัฒนาระบบอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ต้องคิดล่วงหน้าและคิดอย่างต่อเนื่อง เพราะเราต้องการความยั่งยืนมากกว่าแค่มีน้ำใช้
ด้าน Mr.Ridzuan กล่าวว่า สำหรับสิงคโปร์เพื่อเตรียมตัวรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การหาทางออกจึงต้องทำอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นทางและหาทางรับมือโดยการออกแบบและปรับปรุงการระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะประเทศสิงคโปร์เองมีพื้นที่จำกัดที่จะเพิ่มการระบายน้ำ
“เราใช้ Strom Surge ร่วมกับการเกิดเอนโซ (ENSO: El Niño–Southern Oscillation) และระดับน้ำทะเล เพื่อคำนวณหาวิธีรับมือ ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามสร้างความรับรู้ให้ประชาชนทำแอปพลิเคชันเตือนภัย ทำระบบ SMS Alert รวมทั้งสามารถเฝ้าดูพื้นที่เปราะบางจากภาพบันทึกโดย CCTV ผ่านแอปพลิเคชันได้ คือให้ประชาชนมีข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้เขาดูแลตัวเองและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้” Mr.Ridzuan กล่าว
Mr.Tjitte กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่เนเธอร์แลนด์ทำในตอนนี้คือการวางแผนสำหรับอนาคต ไม่ใช่แค่ 10 ปี แต่เป็นเพื่ออีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจากที่ตนเคยได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศไทยเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยปี 2554 ก็เห็นว่าไทยเองก็ควรวางแผนในระยะยาว ซึ่งแนวทางที่ประเทศเขาใช้ไทยก็สามารถทำได้ ด้วยอาศัยการร่วมมืออย่างบูรณาการจากทุกฝ่าย ทำอย่างยืดหยุ่น ไม่ฝืนธรรมชาติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนเพื่อให้ได้ทางเลือกที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด
หมายเหตุ : โพสต์ใหม่วันที่ 11 มกราคม 2563