ThaiPublica > สัมมนาเด่น > “วิรไท สันติประภพ” แจงพันธกิจธปท.ในสภาวะปกติใหม่ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม”

“วิรไท สันติประภพ” แจงพันธกิจธปท.ในสภาวะปกติใหม่ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม”

5 กันยายน 2016


เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในสภาวะปกติใหม่ (New Normal)” ในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายละเอียดดังนี้

“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ โดยเฉพาะในโอกาสที่สำนักงานได้ก่อตั้งครบรอบ 48 ปี หากเทียบกับชีวิตคนคนหนึ่ง นับว่าอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งกำลังความคิด และประสบการณ์ที่สะสมขึ้นจากความชำนาญในพื้นที่ผ่านการช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชน จนทำให้สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะสมองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจภูมิภาค และพร้อมที่จะเป็นเสาหลักหนึ่งร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆที่จะนำความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนตามวิสัยทัศน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย”

ผมหวังว่าเนื้อหาที่เราจะได้รับฟังจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและแลกเปลี่ยนกันในการสัมมนาวันนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจถึงโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีศักยภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนทั้งภูมิภาคด้วย

สภาวะปกติใหม่ หรือ New normal เป็นอย่างไร

ในส่วนแรกของการสัมมนาวันนี้ ผมขอเล่าถึงบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในสภาวะปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งจะต่างจากลักษณะที่เราคุ้นชินในหลายมิติ อาทิ เช่น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ระบบการเงินโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากจากสภาพคล่องส่วนเกิน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันทั้งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงมากและกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อีกลักษณะประการหนึ่งของสภาวะปกติใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยทั้งในประเทศไทยและประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมีผลต่อทั้งพฤติกรรมการบริโภค การออม และตลาดแรงงาน

ตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ผลกระทบในสภาวะปกติใหม่แผ่ขยายออกไปได้รวดเร็ว คือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วก็มีส่วนทำให้ราคาสินค้าอยู่ในระดับต่ำ เพราะประสิทธิภาพและกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเร็วมาก ในขณะที่อุปสงค์ของตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าทดแทนผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิม ๆ ได้ในวงกว้าง และส่งผลให้พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น การใช้ Uber แทนแท็กซี่ การรับข่าวสารจากโทรศัพท์มือถือหรือ social media แทนช่องทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ที่เราคุ้นชินแต่เดิม ตลอดจนถึงการพิมพ์ 3 มิติ และการใช้หุ่นยนต์แทนคนในการผลิตและบริการต่าง ๆ

ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในสภาวะปกติใหม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในหลายด้าน โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่สภาวะที่มี ความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูงคาดเดาได้ยาก (Uncertainty) มีความซับซ้อนมากขึ้น (Complexity) และมีความไม่ชัดเจนของผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น (Ambiguous) หรือที่เรียกกันอย่างง่ายๆว่าเป็นภาวะ VUCA

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ในสภาวะเช่นนี้อาจเปรียบเศรษฐกิจไทยได้เหมือนเรือลำใหญ่หนึ่งลำ ที่กำลังเดินหน้าในทะเลกว้างมีกระแสคลื่นจากเรือลำอื่น ๆ ที่แล่นไปข้างหน้า บางลำพยายามจะแล่นแซงเรา หรือบางลำแล่นตัดไปตัดมา นอกจากนี้ เรายังต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีพายุต่าง ๆ เกิดถี่ขึ้น ด้วยขนาดที่รุนแรงขึ้น ภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้เรือเศรษฐกิจไทย อาจจะโคลงเคลงเป็นช่วง ๆ และถ้าเราไม่สามารถเดินเครื่องเร็วพอแล้ว ก็อาจจะโดนคลื่นลมจากสภาพอากาศแปรปรวน และจากเครื่องยนต์ของเรือลำอื่นที่แล่นได้เร็วกว่าซัดให้เราถอยหลังกลับไปอยู่ที่เดิมได้

ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการเรือเศรษฐกิจไทย ให้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้โดยสารชาวไทยและธุรกิจไทยประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่อย่างน้อยในสองมิติสำคัญคือ รักษาเสถียรภาพ (Stability) ของเรือไม่ให้ถูกกระทบจากสภาวะภายนอกรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นจากเรือลำอื่นที่ใหญ่กว่า แล่นเร็วกว่า หรือจากคลื่นลมที่เกิดขึ้นตามสภาวะภูมิอากาศ และสองต้องมีหน้าที่ช่วยยกเครื่องเรือเศรษฐกิจไทย (Development) ในส่วนที่รับผิดชอบหลัก พร้อม ๆ ไปกับหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ถ้าจะให้การเดินทางของเราไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงแล้ว ผู้โดยสารในเรือทุกภาคส่วน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวพร้อมรับมือกับสภาวะปกติใหม่ด้วยเช่นกัน

ผมจะขออนุญาตเริ่มต้นด้วยการแบ่งปันมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินในสภาวะปกติใหม่ ก่อนที่จะเล่าถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย และท้ายที่สุดก็จะเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันคิดถึงบทบาทของประชาชนและธุรกิจในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ตัวเอง

ระบบการเงินโลกในสภาวะปกติใหม่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ภาคการเงินไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินนำสภาพคล่องส่วนเกินไปเร่งปล่อยสินเชื่อ หรือให้ประชาชนและนักธุรกิจ หันมาใช้จ่ายและลงทุนแทนการออม ซึ่งแม้ว่าอาจจะได้ผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ แต่ก็จะกระทบกับโครงสร้างระบบการเงินซึ่งถูกออกแบบมาให้ผลตอบแทนของการออมต้องเป็นบวกและเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ลงทุน การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาก ๆ เช่นนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก นักลงทุนย่อมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นนี้ อาจทำให้สถาบันการเงิน ธุรกิจและประชาชนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง ได้เพิ่มวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงเข้าสู่ตลาดทุน (หรือ QE) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้นและเกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนอยู่ในภาวะกล้าเสี่ยง (risk on) เงินทุนเหล่านี้ก็จะไหลมาสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่เราต้องไม่หลงคิดว่าเงินทุนเหล่านี้จะอยู่กับเราตลอดไป เพราะตลาดการเงินโลกอ่อนไหวต่อกระแสข่าวและข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจจะชี้นำการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ได้ สภาวะกล้าเสี่ยง (risk on) อาจจะเปลี่ยนเป็นสภาวะกลัวเสี่ยง (risk off) ได้รวดเร็ว นักลงทุนจึงพร้อมที่จะดึงเงินกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำแม้จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่ามาก

ตามที่ผมได้เรียนไว้เบื้องต้นเรื่องพัฒนาการด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็เป็นตัวเร่งหนึ่งในภาคการเงินที่นำมาสู่ภาวะปกติใหม่ FinTech หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน บริการ FinTech จะแยกส่วนผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้บริการที่รวดเร็วได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน (Unbundle Banking Product) ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อ การลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย หรือการชำระเงิน

นอกจากภาคการเงินแล้ว ภาคเศรษฐกิจจริงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายด้าน ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตทำได้ง่ายขึ้น และการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานเดิมอาจจะไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่าในอดีต ทั้งนี้ ผมขอหยิบยกการเปลี่ยนแปลงบางด้านมาเป็นตัวอย่าง เริ่มจาก

(1) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีน จากการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นจำนวนมากในอดีต มาเป็นการผลิตภายในประเทศครบทั้งกระบวนการ รวมทั้งการลดบทบาทการลงทุนมากระตุ้นการบริโภค จนส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงและเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งโลกอยู่ในระดับต่ำ

(2) ประเทศอุตสาหกรรมหลักย้ายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมกลับไปยังประเทศของตน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เคยเป็นฐานการผลิตเดิม

(3) หลายประเทศอยู่ระหว่างผลัดเปลี่ยนเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการมากขึ้น และเป็นภาคบริการสมัยใหม่ เช่น e-Commerce โลจิสติกส์ หรือธุรกิจเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และท้ายที่สุดที่เราเห็นได้ชัดเจน คือ

(4) การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานพลังงานในโลก โดยมีการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีแหล่งผลิตพลังงานประเภทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงกดดันให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของหลายประเทศปรับลดลงรุนแรง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากด้านราคา เพราะราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง ในกรณีของประเทศไทยนั้น แม้ว่าเราจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่จะเป็นฐานตลาดสินค้าที่สำคัญให้เราในช่วงของการปรับตัว อย่างไรก็ดีเราต้องไม่ชะล่าใจว่าเราจะรักษาตลาดนี้ได้ตลอดไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้รวดเร็วในสภาวะปกติใหม่ เช่น เวียดนามและเมียนมาอาจจะพึ่งพาไทยน้อยลงเพราะฐานการผลิตในประเทศขยายตัวขึ้นเร็ว และได้รับการลงทุนโดยตรงในปริมาณที่สูง

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยต้องเร่งยกระดับศักยภาพอย่างจริงจัง เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจและวางรากฐานสำคัญหลายเรื่องที่จะเกิดผลในระยะปานกลางและระยะยาว เช่น การส่งเสริมการลงทุน BOI ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ใหม่ที่ตั้งเป้าสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของประเทศ การส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economics Corridor Development-EEC) เป็นต้น

พันธกิจ“จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม”

ในสภาวะปกติใหม่ เรือเศรษฐกิจไทยจะอ่อนไหวจากกระแสคลื่นลมภายนอกและโคลงเคลงได้ง่าย และสภาวะคลื่นลมก็จะมีลักษณะรุนแรงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพของเรือ จึงต้องทำหน้าที่หลายด้านเพื่อลดผลกระทบจากคลื่นลมต่าง ๆ ให้ผู้โดยสารในลำเรือได้รับผลกระทบน้อยลง พร้อมทั้งพัฒนากลไกใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เรือเศรษฐกิจไทยรองรับแรงปะทะได้ดีขึ้น ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการยกเครื่องยนต์เรือของเรา เพื่อให้สามารถเดินเครื่องไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เวลาที่เครื่องยนต์เรือของเรามีสมรรถนะสูง สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ เราก็จะรับผลกระทบจากคลื่นที่เกิดจากเรือลำอื่นน้อยลงด้วย

สำหรับหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเรือเศรษฐกิจไทยไม่ให้โคลงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้โดยสารนั้น เปรียบได้กับพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งผมคิดว่ามีหน้าที่หลักอย่างน้อย 4 มิติด้วยกัน

มิติแรก ต้องคอยตรวจตราเฝ้าระวังไม่ให้เรือมีรูรั่วหรือจุดเปราะบางจนจะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระบบ ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจะต้องสามารถทนทานต่อแรงกดดันต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกได้อย่างดี และป้องกันไม่ให้ความเปราะบางในจุดหนึ่ง ลามไปเกิดปัญหาทั้งระบบ (Systemic Risk) ถ้าเกิดรูรั่วขึ้น จะต้องอุดรูรั่วได้ทัน หรือปิดประตูกั้นน้ำได้เร็วไม่ให้น้ำที่รั่วเข้ามาไหลไปทำความเสียหายให้กับส่วนอื่นของเรือ ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยกระดับงานด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพื่อให้การทำงานของเราสามารถ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม”

ในขณะนี้ เสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีเห็นได้จากเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง เช่น มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 8 ของ GDP ในปีที่ผ่านมาและจะยังคงเกินดุลต่อเนื่องในปีนี้ สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นถึงกว่า 3 เท่า เรื่องเหล่านี้จะเป็นกันชนรองรับแรงปะทะที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกได้เป็นอย่างดี

เสถียรภาพของสถาบันการเงินไทยก็อยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนในระดับสูงที่ร้อยละ 17.5 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง และมีเงินสำรองหนี้เสียที่ร้อยละ 161 ของเงินสำรองพึงกัน สามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงบ้างในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวอยู่ ตัวเลข NPL แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังอยู่เพียงร้อยละ 2.7 ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับดีแม้ว่าจะปรับลดลงบ้าง เมื่อมองในภาพรวมแล้ว สถานะด้านเสถียรภาพการเงินของไทยยังเข้มแข็ง แต่เราเริ่มเห็นความเปราะบางในบางจุด เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงครัวเรือนเกษตร ที่ความสามารถในการชำระหนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา

มิติที่สอง ต้องพัฒนากลไกการออกนโยบายหรือมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (Macroprudential Policy) ให้แน่ใจว่าเรามีเครื่องมือพร้อมรับกับความเสี่ยงใหม่ ๆ และสามารถหยิบใช้ได้ทันท่วงที เพื่อมุ่งป้องกันการก่อตัวของความเสี่ยงเชิงระบบ และสามารถออกใช้กับเฉพาะกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มได้ เพื่อจำกัดไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่นที่ผ่านมา เกณฑ์การกำกับสินเชื่อบัตรเครดิตได้กำหนดยอดผ่อนชำระและรายได้ขั้นต่ำ หรือการกำหนดวงเงินของสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ให้เกิน 5 เท่าของรายได้ เป็นต้น

มิติที่สาม ต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ แบบมองไกลและรอบด้าน ให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยใหม่ ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มใช้กรอบ Scenario Analysis ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) หรือโอกาสที่จะเกิดปัญหาของสถาบันการเงินในประเทศจีน เป็นต้น ทำให้เข้าใจถึงโอกาส ความเสี่ยง นัยต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจน มองเห็นผลของความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย

มิติสุดท้าย ต้องวางระบบเตือนภัยและสื่อสารกับคนในเรือให้เตรียมพร้อมระวังตัว รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยป้องกัน/บรรเทาผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมุ่งพัฒนาการใช้งานข้อมูลในเชิงลึก ประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big Data สร้างดัชนีชี้นำที่จะเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งในการดูแลสภาพเศรษฐกิจมหภาค และสถานการณ์ของระบบสถาบันการเงิน

ดร.วิรไท

บทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนและภาคธุรกิจ

ในส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนและภาคธุรกิจนั้น ตัวอย่างหนึ่งที่ผมขอเล่าให้ฟัง คือ มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งพัฒนาตลาดการเงินและปรับกฎเกณฑ์ให้ภาคเอกชนสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้นดีขึ้น เช่น ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงที่หลากหลาย เข้าถึงง่าย ราคาเป็นธรรม ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท เงินหยวน และเงินริงกิต ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่ค่าเงินสกุลหลักผันผวนสูงขึ้น ตลอดจน ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออก ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าและออกประเทศไทย มีความสมดุลมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศทั้งในรูปการดำเนินธุรกิจ และในรูปการลงทุนในหลักทรัพย์

บทบาทในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เปรียบได้กับการดูแลเครื่องยนต์ของเรือให้ขับเคลื่อนได้ด้วยสมรรถนะสูง แล่นไปข้างหน้าได้แม้เมื่ออยู่ท่ามกลางกระแสคลื่นลมแรง ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ๆ ที่จะขอเล่าให้ท่านผู้มีเกียรติรับทราบในวันนี้

เรื่องที่หนึ่ง การดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อให้เรือเศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องหรือสินเชื่อเป็นน้ำมันหล่อลื่นในระดับที่เหมาะสม ไม่น้อยเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเครื่องยนต์ หรือมากเกินไปจนจะทำให้เครื่องยนต์เกิดอุบัติเหตุได้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมุ่งดำเนินนโยบายการเงินและรักษาสภาพคล่องในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำเกือบที่สุดในประวัติการณ์ และอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอาจส่งผลลบด้วยการเพิ่มพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เราควรต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม (Policy Space) ไว้เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกในอนาคต

เรื่องที่สอง การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งพัฒนาระบบการเงินไทยให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวไปพร้อมกับการสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค ความเชื่อมโยงทางการเงินจะช่วยเอื้อให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น เราจึงสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ไทยขยายบทบาทการให้บริการทางการเงินไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศใช้ไทยเป็นฐานในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคด้วย

ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยสามารถปล่อยกู้ในสกุลเงินบาทให้แก่ธุรกิจที่จัดตั้งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้โดยตรง และได้ปรับเพิ่มเพดานการนำเงินสดข้ามชายแดนเป็น 2 ล้านบาทต่อครั้ง และได้มีข้อตกลงในระดับทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ได้หารือกับธนาคารแห่ง สปป.ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือในการให้บริการทางการเงิน รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย

เรื่องที่สาม การยกระดับระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้คนไทยมีบริการการชำระเงินที่สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน และสามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ ตอบโจทย์ของภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน โดยจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารเงินสดของประชาชน ภาคธุรกิจ และสถาบันการเงิน โดยในขั้นแรกจะดำเนินการเพิ่มทางเลือกการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งทำให้การรับและโอนเงินสะดวกขึ้น ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก เพื่อให้การทำธุรกรรมการชำระเงินของประชาชนหรือร้านค้าขนาดเล็ก มีความสะดวกมากขึ้น และในระยะต่อไปจะสนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Debit Card) ผ่านอุปกรณ์รับบัตรอย่างแพร่หลาย เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายประจำวันด้วยบัตรแทนการใช้เงินสด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดให้ทุกภาคส่วน

ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ จะต่อยอดจากระบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งมีสมรรถนะสูง มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธนาคาร มีธุรกรรมเฉลี่ยสูงถึง 3.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้เรามีจำนวนบัญชี Internet Banking สูงถึง 12.9 ล้านบัญชี และ Mobile Banking อยู่ที่ 11.6 ล้านบัญชี และมี debit card อยู่ถึง 47 ล้านใบ

ที่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ การเพิ่มทางเลือกการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เช่น ระบบพร้อมเพย์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้บริการในปัจจุบัน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสำหรับผู้ใช้บริการใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ตัวเอง

ที่ผมได้เล่าให้ทุกท่านฟังมาทั้งหมดนั้น เพื่อให้ทุกท่านมั่นใจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะรักษาเสถียรภาพหรือดูแลระบบรับแรงปะทะของเรือเศรษฐกิจไทย ไปพร้อมกับการยกระดับสมรรถนะของเครื่องยนต์ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจที่เป็นผู้โดยสารเดินทางไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ และได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากความผันผวนภายนอก แต่ในสภาวะปกติใหม่ ผู้โดยสารจะวางใจไม่ได้และต้องมีหน้าที่ปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ตัวเองอีกด้วยซึ่งมีหลายมิติ

มิติแรกคือ ความรู้ความเข้าใจทางการเงินจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตและทักษะการทำธุรกิจสมัยใหม่ ผู้ออมและนักลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินเมื่อมองหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและมีสภาพคล่องล้นระบบ ทั้งนี้ เพื่อระมัดระวังไม่ให้มุ่งแต่เพียงผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างที่ควร ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินใดก็ตามที่เสนอให้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาก ขอแนะนำให้ท่านถามตัวเองว่าท่านเข้าใจหรือไม่ว่าเขาจะนำเงินของท่านไปหาผลตอบแทนอย่างไร ความเสี่ยงที่ต้องรับเพิ่มขึ้นมีอะไรบ้าง และผลิตภัณฑ์การเงินเหล่านั้นใครกำกับดูแล

มิติที่สอง สำหรับท่านที่ทำธุรกรรมข้ามประเทศ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นทักษะสำคัญ ในสภาวะปกติใหม่ที่ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนต่อเนื่อง ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกจึงไม่ควรชะล่าใจว่า อัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงด้านเดียว และต้องบริหารความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานี้เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในบางช่วงไม่ได้ต่างจากค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะชะล่าใจเพราะค่าเงินบาทผันผวนน้อยกว่าเงินภูมิภาคหลายสกุล ในอนาคตผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาทักษะในการบริหารจัดการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เช่น การอนุญาตให้ทำและยกเลิกธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น การอนุญาตให้คนในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชีธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเงินเหล่านั้นจะมีที่มาจากต่างประเทศหรือในประเทศก็ตาม

มิติที่สาม ประชาชนและผู้ประกอบการต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมทันการณ์ ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการทางการเงินต้องตื่นตัวและป้องกันความเสี่ยงทาง Cyber หลายกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากช่องโหว่ของกระบวนการทำงานของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และตัวผู้ใช้บริการเอง มีหลายเรื่องที่ผู้ใช้บริการพึงระมัดระวังเมื่อใช้บริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น รักษาข้อมูลส่วนตัวให้เป็นความลับ ยากแก่การเข้าถึง การหมั่นเปลี่ยนรหัสหรือ Password การสอดส่องดูแลสถานะทางบัญชีของเราอย่างสม่ำเสมอ การตรวจเช็คไวรัส หรือ malware ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านเป็นประจำ ตลอดจนระมัดระวังไม่ใช้ Wifi สาธารณะเมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากการบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสบายใจและปลอดภัย

และมิติสุดท้ายที่ผมจะขออนุญาตเรียนฝากทุกท่านไว้ คือ ธุรกิจและประชาชนพึงดูแลสุขภาพทางการเงินด้วยการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ ในภาวะที่ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำประชาชนต้องระมัดระวังไม่ใช้จ่ายด้วยเงินในอนาคตที่หยิบยืมได้ง่าย เราต้องเตรียมความพร้อมด้วยการสำรองเงินออมให้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ในยามเกษียณอายุ เพราะเราคงไม่อาจพึ่งพาเพียงการดูแลจากภาครัฐ ภายใต้ภาระด้านงบประมาณที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยของสังคมไทย ในส่วนของภาคธุรกิจ พึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นได้ในอนาคต

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอเน้นย้ำว่าสภาวะปกติใหม่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีลักษณะ ผันผวน/ไม่แน่นอน/ซับซ้อน และไม่ชัดเจน เพิ่มขึ้นมากกว่าสภาวะที่เราคุ้นชินในอดีต พวกเราทุกคนมีหน้าที่ดูแลเรือเศรษฐกิจไทย ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพต่อเนื่องและยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยึดมั่นในการเป็นองค์กรที่ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน สร้างกันชนรองรับแรงปะทะจากภายนอก ไปพร้อม ๆ กับ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินไทยให้มีประสิทธิภาพ มีสมรรถนะและศักยภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน