
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ศาลปกครอง องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่ง “ไม่รับคำร้อง” กรณีที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก รวม 7 คน ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 791/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 18, 20902/2555 ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าเสียหายให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG กรณียกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ พื้นที่ อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ (โครงการคลองด่าน) หรือที่เรียกกันว่า “คดีค่าโง่คลองด่าน” ใหม่ รวมทั้งขอให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวไว้จนกว่าการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่จะแล้วเสร็จ
โดยคำร้องระบุว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ คพ. จ่ายค่าเสียหายให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้ร้องทั้ง 7 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยกเลิกสัญญาโครงการคลองด่าน ก็ถูกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และอาจจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการยกเลิกสัญญาโครงการคลองด่าน ผู้ร้องทั้ง 7 คน จึงถือเป็น “ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบ” จากคำพิพากษาคดีดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ร้องทั้ง 7 คน ยังอ้างว่า ได้มี “พยานหลักฐานใหม่” ซึ่งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดไม่ได้หยิบมาพิจารณา ที่อาจทำให้สาระสำคัญในคดีเปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย
- คดีฉ้อโกง ที่ศาลแขวงดุสิตตัดสินให้กิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิด กรณีไม่แจ้งต่อ คพ. ว่า บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำเสีย ตามคุณสมบัติของ TOR ในการเข้าร่วมประมูลโครงการคลองด่านจาก คพ. ได้ถอนตัวก่อนทำสัญญา
- คดีทุจริต ที่ศาลอาญาตัดสินให้จำคุกนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. (ผู้ทำสัญญาจ้างกิจการร่วมค้า NVPSKG ทำโครงการคลองด่าน) กับพวก รวม 3 คน เป็นเวลา 20 ปี โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า การที่ คพ. ลงนามในสัญญาจ้างกิจการร่วมค้า NVPSKG ให้ทำโครงการคลองด่าน หลังจากบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัว ทำให้สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น”
ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้ง 7 คน ยังไม่เกินกรอบเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิพากษาใหม่
อย่างไรก็ตาม องค์คณะตุลาการศาลปกครองได้มีคำสั่ง “ไม่รับคำฟ้อง” ดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องทั้ง 7 คน “ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่” และ “หากได้รับความเดือดร้อนเสียหายก็มิใช่ผลโดยตรงจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด”
“เหตุที่อ้างมาในคำร้อง จึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ร้องทั้ง 7 คน เป็นบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดีที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อไม่อาจรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณาได้ จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำของดการบังคับคดีตามมาตรา 292 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด” คำสั่งขององค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางระบุ
สำหรับผู้ร้องทั้ง 7 คนประกอบด้วย 1. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2. นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดี คพ. 3. นายสิรภพ ดวงสอดศรี 4. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ 5. นายเสมอ ลิ้มชูวงศ์ 6. นายธิติ กนกทวีฐากร และ 7. นายยงยุทธ ศรีสัตยาชน (ผู้ร้องที่ 3-7 เป็นอดีตประธานและกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการคลองด่าน)
(อ่าน ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน”)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีส่วนได้เสีย ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้พิจารณาพิพากษาคดีค่าโง่คลองด่านใหม่ โดยอ้าง “พยานหลักฐานใหม่” คือคำพิพากษาของศาลอาญาที่ตัดสินให้จำคุกนายปกิตกับพวกเป็นเวลา 20 ปี
“วิษณุ” เชื่อให้คลังฟ้อง ศาลรับแน่ เพราะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวหลังจากศาลปกครองไม่รับคำฟ้องขอให้พิจารณาพิพากษาคดีคลองด่านใหม่ ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีชาวบ้านที่คลองด่านไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ปรากฎว่าศาลก็ไม่รับคำร้องเช่นกันเนื่องจากถือว่าไม่ได้มีส่วนได้เสีย ต่างกับที่ ครม. จะให้กระทรวงการคลังไปร้อง ที่มีส่วนได้เสียตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ อย่างแน่นอน เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่สื่อเรียกกันว่า ค่าโง่ ทั้งนี้ เดิมคิดกันว่าจะให้ คพ. เป็นผู้ยื่นคำร้อง แต่คิดไปคิดมาก็แปลกๆ เพราะ คพ. เพิ่งแพ้คดีในศาลปกครองทั้ง 2 ศาล ที่สุด จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ฟ้อง
เมื่อถามว่า นายประพัฒน์ออกมาเรียกร้องอยู่ตลอดว่า การยกเลิกสัญญาโครงการคลองด่าน เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับชาติ เหตุใดถึงต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดด้วย รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพราะต่อไปอาจไม่มีใครที่กล้ายกเลิกสัญญากับเอกชน แม้อาจพบว่ามีการทุจริต นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว เห็นวิธีที่จะช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการก่อน รัฐบาลจะขอประสานเป็นการภายใน น่าจะดีกว่ามาประกาศออกสื่อว่าจะทำอย่างไร
เมื่อถามว่า นายมั่น พัทโนทัย คนสนิทของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเปิดเผยว่ามีข้อมูลใหม่ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำตุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี จนนายวัฒนาต้องหนีออกนอกประเทศ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนก็ติดตามสิ่งที่นายมั่นพูดจากสื่ออยู่ แต่มองไม่เห็นว่าจะไปรื้อฟื้นคดีที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจบไปแล้วได้อย่างไร หากจะถามว่ามีช่องทางหรือไม่ ตนขอปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เพราะไม่อยากตอบอะไรที่เป็นการผูกมัด