การเจรจาญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เรื่องภาษีทรัมป์ “การเปิดตลาดข้าว” เป็นเรื่องตกลงกันยากที่สุด

รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : nippon.com

หนังสือพิมพ์ Japan Times รายงานข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะใช้การนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือในการเจรจาเรื่องอัตราภาษีกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวปีหนึ่งประมาณ 770,000 ตัน โดยไม่เก็บภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ญี่ปุ่นทำไว้กับ WTO เนื่องมาจากมีเสียงวิจารณ์ว่าญี่ปุ่นกีดกันการค้า เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้กรอบความตกลง WTO ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ 346,000 ตัน ทำให้สหรัฐฯเป็นแหล่งที่ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวรายใหญ่สุด

สหรัฐฯกล่าวหาญี่ปุ่นเก็บภาษีข้าว 700%

คาโรลีน ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าววิจารณ์ เรื่องญี่ปุ่นเก็บภาษีข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ 700% ว่า รัฐบาลสหรัฐฯต้องการเห็นการปฏิบัติทางการค้าที่ยุติธรรม ประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อในเรื่อง การแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์แก่สองฝ่าย (reciprocity) จุดนี้แสดงว่า เรื่องข้าวญี่ปุ่นจะมีส่วนกำหนดอัตราภาษี ที่รัฐบาลทรัมป์จะนำมาใช้กับญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มโควต้าการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯอีก 70,000 ตัน เพื่อเป็นอำนาจต่อรองอย่างหนึ่งในการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ในการเจรจาเรื่องภาษีที่ผ่านมา สหรัฐฯสนใจที่จะส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้นมาญี่ปุ่น เช่น ข้าว มันฝรั่ง และเนื้อวัว ปัจจุบัน ข้าวจากต่างประเทศที่เกินโควตาที่ทำไว้กับ WTO ญี่ปุ่นจะเก็บภาษี 341 เยนหรือ 2.43 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ระบบโควตาที่ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวของ WTO เปิดกว้างแก่สมาชิก WTO แต่ในปี 2024 ข้าวสหรัฐฯมีส่วนแบ่งประมาณ 45% และข้าวจากไทย 43%

ปี 2013 องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ “วะโชกุ” (washoku) หรืออาหารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างหนึ่งของโลก แบบเดียวกับอาหารดั้งเดิมของเม็กซิโกเรียกว่า Michoaca และอาหารเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับญี่ปุ่น การขึ้นทะเบียนของยูเนสโกหมายถึงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ “ความเป็นญี่ปุ่น” และความพยายามอนุรักษ์ “วะโชกุ” ไว้ให้คนรุ่นต่อไป รัฐบาลญี่ปุ่นยังสามารถนำมาเป็นข้ออ้างทางวัฒนธรรม ที่คัดค้านการเปิดตลาดข้าว

วะโชกุ วัฒนธรรมการกินอาหารดั่งเดิมญี่ปุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่มาภาพ : UNESCO

ข้าวในโลกปัจจุบัน

หนังสือ Rice as Self ให้สถิติเกี่ยวกับข้าวไว้ว่า ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด เป็นพืชธัญญาหารที่สำคัญสุดของโลก สัดส่วนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมดของโลก ข้าวสาลีมีสัดส่วน 29% ข้าว 26% และข้าวโพด 25% ประชากรโลก 1 ใน 3 บริโภคข้าวเป็นอาหารประจำวัน ส่วนข้าวสาลี 10% สถิติปี 1986 ประเทศที่ปลูกข้าวรายใหญ่คือ จีน 36% อินเดีย 20% อินโดนีเซีย 8% บังคลาเทศ 5% ไทย 4% ญี่ปุ่น 3% บราซิล และสหรัฐฯ 1.3%

ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคแรกของโลกที่เพาะปลูกข้าวขึ้นมา โดยมีข้าว 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวอินดิกา (indica) หรือข้าวเจ้าที่มีเม็ดยาว ปลูกในแถบมรสุม และสายพันธุ์จาปอนิกา (japonica) มีเม็ดสั้น เมื่อหุงสุกจะมีความเหนียว ในญี่ปุ่น การปลูกข้าวระยะแรกในช่วงสั้นๆเป็นพันธุ์อินดิกา ต่อมาการปลูกเป็นพันธุ์จาปอนิกาที่คนญี่ปุ่นนิยมทาน

ข้าวเป็นธัญพืชอาหารหลักที่แตกต่างจากอาหารหลักอื่นๆ ก่อนนำมาหุงให้สุกและบริโภค ไม่ต้องแปรรูป นอกจากการนวดข้าวและการสีข้าวเท่านั้น ส่วนข้าวสาลีและข้าวโพดต้องนำไปแปรรูปเป็นขนมปังหรือแผ่นแป้งก่อนรับประทาน เพราะเหตุนี้ ประเทศที่ประชากรบริโภคข้าวเป็นหลัก จึงต้องการข้าวที่มี “คุณภาพ” ในแง่ของรสชาติ ตัวเม็ดข้าว และกลิ่นที่หอม คนญี่ปุ่นไม่นิยมข้าวเม็ดยาว ส่วนคนไทยนิยมข้าวที่มีกลิ่นดอกมะลิ

ที่มาภาพ : pinterest

ข้าวเป็นเรื่องตกลงกันยากที่สุด

บทความของ Time Magazine เรื่อง Why Rice Is a Sticking Point in US-Japan Trade Talk กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะถูกเก็บ “ภาษีตอบโต้” จากรัฐบาลทรัมป์ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เพราะปี 2024 ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้า 64 พันล้านดอลลาร์ สิ่งที่สหรัฐฯต้องการคือญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น รวมทั้งข้าว ที่รัฐบาลทรัมป์บอกว่า ญี่ปุ่นมีนโยบายที่กีดกันการค้า มีการกำกับควบคุมสูงจากรัฐบาล และไม่โปร่งใส

แต่การเจรจาเรื่องข้าว หากมีความคืบหน้าเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายภาคส่วนของญี่ปุ่น Yuka Fukunaga อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Waseda กล่าวว่า ข้าวมักได้รับการปกป้องและกีดกันออกจากการเจรจาการค้าเสมอมา การเปิดเสรีเรื่องข้าวเป็นสิ่งต้องห้ามทางการเมืองของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่เป็นพรรครัฐบาล

การที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ญี่ปุ่นเก็บภาษีข้าว 700% ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายญี่ปุ่นบอกว่า ตัวเลขไม่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าได้ตัวเลขมาจากไหน ปี 1995 ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับ WTO โดยนำเข้าข้าวที่ปลอดภาษีในแต่ละปี 700,000 ตัน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ส่วนที่เกิดโควตา ญี่ปุ่นจะเก็บภาษี 341 เยนต่อกิโลกรัม

ในปี 2005 กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับราคาข้าวในตลาดโลกช่วงปี 1999-2001 อัตราภาษีข้าวของญี่ปุ่นจะเท่ากับ 778% ทางกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นเสนอตัวเลขนี้ในช่วงเจรจากับ WTO แต่เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์ Japan Times ได้คำนวณออกมาว่า ถ้าใช้ตัวเลขในปัจจุบัน อัตราภาษีข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 227%

แต่ไม่ว่าอัตราภาษีข้าวจะเป็นตัวเลขระดับไหน แรงกดดันที่ต้องเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่อเรื่องข้าว พรรครัฐบาล LDP มีนโยบายคัดค้านตลอดมาเรื่องการเพิ่มโควตาพิเศษแก่ข้าวจากสหรัฐฯ

รัฐบาลญี่ปุ่นยังเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มต่างๆในประเทศ จากการที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เดือนเมษายน ราคาข้าวสูงขึ้น 98% เทียบกับปีก่อนหน้านี้ เพราะเกิดการขาดแคลนข้าว อันเป็นผลจากนโยบายปกป้องเกษตรกร ที่เป็นฐานเสียงให้พรรค LDP ปัญหาอากาศร้อนปี 2023 และการบริโภคข้าวมากขึ้น เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศล้นญี่ปุ่น จนรัฐบาลต้องนำข้าวในสต๊อกออกมาระบายสู่ตลาด เดือนเมษายน ญี่ปุ่นยังนำเข้าข้าวจากเกาหลีใต้

ที่มาภาพ : Japan Forward

ข้าวเป็นพืชการเมืองมากที่สุด

ภาคการเกษตรมีสัดส่วน 1% GDP ของญี่ปุ่น แต่ชาวนาทุกคนเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับ และควบคุมการเพาะปลูกข้าว สหกรณ์ยังเป็นองค์กรกดดันเพื่อผลประโยชน์ชาวนา เป็นองค์กรที่รวบรวมคะแนนเสียงชาวนา เพื่อลงคะแนนให้กับผู้สมัครพรรค LDP ที่กลายเป็นกลุ่มการเมืองภายใน LDP ผลักดันให้ราคาข้าวสูง รวมทั้งคัดค้านการเปิดเสรีตลาดข้าว

Hanno Jentzsch ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเกษตรญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัย Vienna กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์แล้ว หากชาวนาญี่ปุ่นทุกคนปลูกข้าว จะมีผลผลิตข้างมากพอ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้การกำหนดเป้าหมายการผลิต และการอุดหนุนทางการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตล้นเกิน และราคาตกต่ำลง จนเสียหายแก่ชาวนา แต่ปีสองปีที่ผ่านมา การจัดการเรื่องอุปสงค์และอุปทานของข้าว ไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ

การยอมตามทรัมป์จะคุ้มหรือไม่

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า แรงกดดันจากสหรัฐฯสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปเรื่องข้าว ที่ล่วงเลยมานานแล้ว Tatsuo Hatta จาก Asia Growth Research Institute กล่าวว่า การเปิดตลาดข้าวญี่ปุ่นจะเป็นผลดีแก่ผู้บริโภค พรรค LDP อาจคัดค้าน แต่ก็มีข้ออ้างคือแรงกดดันจากสหรัฐฯ แน่นอนว่า ชาวนาญี่ปุ่นไม่ชอบเรื่องนี้ แต่ก็มีหลายหนทางที่จะให้การชดเชยแก่พวกชาวนา

แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า การเปลี่ยนนโยบายเรื่องข้าวจะได้ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้ามกับที่ต้องการ Mark Cogan จากมหาวิทยาลัย Kansai Gaidai อธิบายว่า นโยบายการค้าสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่มักเปลี่ยนแปลง เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ แต่การตอบสนองของญี่ปุ่นจะทำให้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่จะอยู่ไปอีกยาวนาน ในระยะยาว การพึ่งพาการนำเข้าข้าวมาแทนการผลิตข้าวในประเทศ ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

Hanno Jentzsch ก็ให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมากขึ้น จะทำให้ชาวนาญี่ปุ่นมีจูงใจน้อยลง ที่จะปลูกข้าว การนำเอาเรื่องสินค้าเกษตรออกจากการเจรจาการค้า จะไม่ทำให้สหรัฐฯและญี่ปุ่นเสียหายอะไรมาก คิดว่าสหรัฐฯจะไม่สูญเสียอะไร หากจะบอกญี่ปุ่นว่า “เรามาให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่เราสามารถค้าขายกันได้จะดีกว่า”

เอกสารประกอบ

Japan weighs using US rice imports as tariff negotiation tool with Trump, April 23, 2025, The Japan Times.
Rice as Self, Japanese Identities Through Time, Emiko Ohnuki-Tierney, 1993, Princeton University Press.
Why Rice Is a Sticking Point in US-Japan Trade Talk, May 8, 2025, time.com