ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกร้อนทำรายได้ต่อหัวประชากรของโลกลดลง 19% ภายในปี 2049 : แต่ของไทยลดลงมากกว่า

โลกร้อนทำรายได้ต่อหัวประชากรของโลกลดลง 19% ภายในปี 2049 : แต่ของไทยลดลงมากกว่า

10 พฤษภาคม 2025


ประสาท มีแต้ม

ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ปี 2024 ที่ผมจะนำมาเล่าในที่นี้ได้ค้นพบสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “โลกร้อน/โลกเดือด” จะทำให้รายได้ในอนาคตต่อหัวประชากรของโลกลดลง 19% ภายในปี 2049 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีปัญหาโลกร้อน หรือที่นักสื่อสารท่านหนึ่งเรียกว่า “โลกในนิยาย” ความเสียหายดังกล่าวรวมกันทั้งโลกประมาณปีละ 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สองความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับประเทศยากจน เพราะในบริเวณที่ประเทศยากจนอยู่ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนเพียงน้อยนิด แต่ในบริเวณที่ประเทศร่ำรวยอาศัยอยู่และปล่อยก๊าซจำนวนมากกลับได้รับความเสียหายน้อยกว่าประเทศยากจนถึง 61%

สามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการไม่ทำอะไรเลย นอกจากต้องจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน ภายในปี 2050 มีการคำนวณต้นทุนการบรรเทาผลกระทบ เช่น การยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าความเสียหายเฉลี่ยในปีนั้นซึ่งอยู่ที่ 38 ล้านล้านดอลลาร์ถึงหกเท่า

“ขึ้นอยู่กับเราที่จะตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงของเรา และจะช่วยประหยัดเงินของเรา การดำเนินไปในเส้นทางที่เรากำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ จะนำไปสู่ผลที่ตามมาคือความหายนะ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะคงที่ได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดเผาเชื้อเพลิงน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน” นักวิจัยท่านหนึ่งกล่าว

ขอย้ำอีกทีว่า ต้นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อนมีจำนวนน้อยกว่าค่าความเสียหายจากโลกร้อนถึง 6 เท่า

ผมได้นำสาระสำคัญทั้ง 3 ประการนี้มาแสดงไว้ในภาพต้นฉบับของผู้วิจัยตามข้างล่างนี้ครับ

ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของงานวิจัยต่อไป ผมขออธิบายวิธีการทำความเข้าใจกับภาพก่อนนะครับ

ผลวิจัยนี้แสดงอยู่ในแผนที่โลกซึ่งระบายด้วย 2 โทนสี คือโทนสีฟ้าหมายถึงประเทศที่ได้รับประโยชน์(ผลดี) จากการเกิดสถานการณ์โลกร้อน กับสีน้ำตาลหมายถึงประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์โลกร้อน โดยมีสเกลบอกระดับอยู่ด้านล่างของภาพมีเพียง 5 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากโลกร้อน คือ แคนาดา รัสเซีย ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้ประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างตามโทนสีในสเกล ที่เหลือทั้งหมดของโลกต่างก็ได้รับความเสียหาย

รายงานวิจัยไม่ได้ระบุถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ดังนั้นผมจึงได้ค้นหามาจากแหล่งอื่นของบางประเทศมาประกอบในทางซ้ายมือล่างของภาพ

จากภาพชาวรัสเซียปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2023 เฉลี่ย 18.5 ตันต่อคนต่อปี แต่รายได้ในอนาคต(ปี 2049) จะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-20% เมื่อเทียบกับโลกในนิยาย

ชาวอเมริกันซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 12.7 ตันต่อคนต่อปี แต่รายได้ในอนาคตจะลดลง 11% (รายงานระบุชัดเจน)

ชาวสหราชอาณาจักรซึ่งปล่อย GHG พอๆกับคนไทย คือ 5.7-5.8 ตันต่อคนต่อปี แต่รายได้ชาวอังกฤษจะลดลง 7% (รายงานระบุ) แต่ของคนไทยเราจะลดลงถึง 20-25% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกที่ 19%

ชาวศรีลังกาซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากคือ 1.7 ตันต่อคนต่อปี แต่ได้รับความเสียหายถึง 10-20%

สำหรับรายได้ของประเทศอื่นๆ จะลดลงดังนี้ เช่น เยอรมนี (-11%) ฝรั่งเศส (-13%) สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากได้แก่ Botswana (อยู่ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ปล่อยก๊าซ 2.9 ตันต่อคน เสียหาย 25%) Mali (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา -25%) อิรัก (-30%) กาต้าร์ (-31%) ปากีสถาน (-26%) และ บราซิล (-21%)

ที่เป็นเช่นนี้ขึ้นอยู่กับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่ซับซ้อนที่เราเลือกไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถเลือกได้คือ เรา-คนไทยในฐานะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับความเสียหายมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกจะยอมจำนนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่

ข้อความข้างต้นนี้เป็นความเห็นของผมเองนะครับ ไม่ใช่ของผู้วิจัย

ยังมีข้อมูลตัวหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยคือ 38 ล้านล้านดอลลาร์นั้น มันมากสักขนาดไหนกันเชียว

เอาอย่างนี้ครับ จีดีพีของประเทศไทยในปี 2567 เท่ากับ 18.58 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 0.546 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ดังนั้นรายได้ในอนาคต $38 ล้านล้านของชาวโลกที่จะลดลงจากปัญหาโลกร้อนถึงประมาณ 70 เท่าของจีดีพีของประเทศไทย

ปัจจุบัน(2024) จีดีพีทั้งโลกรวมกันประมาณ 105 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(ข้อมูลธนาคารโลก) และมีผู้พยากรณ์ว่าในปี 2050 จะเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 210 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(ผมเข้าใจว่าคิดบนพื้นฐานที่ไม่มีโลกร้อน) ถ้ามันลดลงไป 19% จาก 210 ล้านล้านดอลลาร์ก็ประมาณ 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าใกล้เคียงกันนะครับ

ข้อมูลอีกตัวหนึ่งที่ผู้อ่านอาจจะสงสัย คือก๊าซเรือนกระจก 1 ตันนั้นมันมากน้อยขนาดไหน จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานไทย ในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.4 กิโลกรัม ดังนั้น ใครที่ใช้ไฟฟ้าปีละ 4,000 หน่วยต่อคน ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.6 ตัน นี่คิดเฉพาะการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวนะ

การศึกษาครั้งนี้ยังพิจารณาถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ หากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ ผู้วิจัยคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยจะสูญเสียมากกว่า 60% ของจีดีพี(เมื่อเทียบกับโลกในนิยาย) ภายในปี 2100 แต่หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในกลางศตวรรษ (ตามข้อตกลงปารีส) รายได้ที่ลดลงจะคงที่ภายในกลางศตวรรษนี้ที่ประมาณ 20% ที่ว่ารายได้ลดลงคงที่ 20% ต่อปี ก็เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมีอายุนานต่อไปถึง 300-1,000 ปี แม้ว่าเราได้หยุดปล่อยแล้วก็ตาม

ผู้วิจัยเป็นใคร

เป็นผลงานวิจัยของ Potsdam Institute For Climate Impact Research ประเทศเยอรมนี ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเมษายน 2567 ภายใต้ชื่อ “The economic commitment of climate change” คณะผู้วิจัยมี 3 คน คือ Maximilian Kotz, Anders Levermann, และ Leonie Wenz (เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม) เราจะเห็นว่าผลงานวิจัยกับชื่อของสถาบันสอดคล้องกันอย่างชัดเจน

วิธีวิจัย

ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลย้อนหลังนานกว่า 40 ปีจากกว่า 1,600 แห่งจากทั่วโลก ข้อมูลดังกล่าวได้แก่อุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศสุดขั้ว พร้อมกับข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้สถานการณ์ต่างๆที่ IPCC กำหนด จากนั้นก็พยากรณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยตัวแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ โดยที่ความเสียหายคิดเป็นร้อยละของจีพีดีที่ลดลงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่เกิดโลกร้อน

ความเห็นอื่นของคณะผู้วิจัย

Jonathan Watts ผู้เขียนบทความในสื่อ The Guardian ได้ให้ความเห็นต่อผลงานวิจัยชิ้นนี้ว่า รายได้ที่ลดลงจะเลวร้ายกว่าผลงานวิจัยของคณะอื่นๆก่อนหน้านี้มาก แต่คณะผู้วิจัยชุดนี้ได้ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าและไม่สมบูรณ์ มีผลกระทบต่อสภาพอากาศที่สำคัญหลายประการที่ยังไม่ได้รวมอยู่ในผลการวิเคราะห์ ได้แก่ คลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุหมุนเขตร้อน จุดพลิกผัน และความเสียหายต่อระบบนิเวศธรรมชาติและสุขภาพของมนุษย์ ผู้เขียนกล่าวว่าปัจจัยเหล่านี้จะถูกเพิ่มเข้าไปในแบบจำลองในอนาคต”

กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือความสูญเสียรายได้จากโลกร้อนจะมากกว่าที่ผู้วิจัยคณะนี้คนพบ เพราะยังไม่ได้นำปัจจัยต่างๆมาพิจารณาอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคนสำคัญของโลก คือ Dr. James Hansen มีข้อมูลว่า “โลกกำลังร้อนขึ้นในอัตราเร่ง” นั่นหมายความว่า มนุษย์ได้คาดการณ์สถานการณ์โลกร้อนต่ำกว่าความเป็นจริง หากโลกร้อนขึ้นในอัตราเร่งจริง ยิ่งนานวัน ความเสียหายจริงจะมากกว่าที่งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบเยอะเลย ลองคิดเทียบกับกรณีสูตรดอกเบี้ยทบต้นที่ผมเคยเขียนมาก่อนนี้แล้ว