ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

16 พฤษภาคม 2025


ดร.วิรไท สันติประภพ

ท่ามกลางความท้าทายหลากหลายด้านที่โลกกำลังเผชิญอยู่และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development หรือ sustainability) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี พ.ศ. 2558 และประเทศสมาชิกได้นำกรอบ SDGs ไปกำหนดเป้าหมาย และแผนพัฒนาประเทศของตน แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ SDGs ไม่ได้ถูกนำไปกำหนดเป้าหมายและแผนการทำงานเฉพาะในแผนพัฒนาระดับประเทศ หรือองค์กรภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแผนการทำงานขององค์กรในภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมอีกด้วย

การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามความหมายขององค์การสหประชาชาติ หมายถึงการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เบียดบังความสามารถของคนรุ่นต่อไปที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง (development that meets the needs of the present, without compromising the ability of future generations to meet their own needs)

การดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs มีระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะครบในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเมื่อดำเนินงานผ่านมาเกินครึ่งทางกลับพบว่าประเทศส่วนใหญ่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ตามที่กำหนด และผลการดำเนินงานหลายเรื่องยังห่างไกลจากเป้าหมายมาก ในบางเรื่องผลที่เกิดขึ้นจริงกลับถอยหลังลงเมื่อเทียบกับในช่วงแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น (United Nations (2024))

ที่น่าเป็นห่วงคือการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องกำลังก้าวข้ามจุดหักเห หรือ tipping points ที่จะส่งผลให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงขึ้นไปอีก และจะไม่สามารถย้อนกลับไปสู่สภาวะปกติแบบเดิมได้ ซึ่งจะมีผลกระทบที่กว้างไกลมากต่อความอยู่รอดของคนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ในปี พ.ศ. 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งโลกสูงกว่าที่เคยบันทึกไว้ในอดีตทุกเดือน และนักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ณ สิ้นศตวรรษ

การที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกำลังส่งผลให้ปริมาณน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกละลายเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะมีผลให้อุณหภูมิโลกสูงเร็วขึ้นไปอีก เนื่องจากปกติบริเวณพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งจะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปชั้นบรรยากาศ ในขณะที่พื้นที่ทะเลสีเข้มจะดูดความร้อนไว้มากขึ้น รวมทั้งเมื่อน้ำแข็งที่คลุมพื้นดินละลายลง ก๊าซเรือนกระจกที่เคยสะสมอยู่ในดินจะถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลเป็นลูกโซ่กระทบต่อสภาวะภูมิอากาศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนของกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเข้มข้นของน้ำทะเล ปริมาณความชื้นในอากาศที่ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องในบางจุด (rain bomb) รวมทั้งเกิดภัยแล้งรุนแรงและไฟป่าเป็นประจำในบางพื้นที่ และเกิดโรคอุบัติใหม่ในคน สัตว์ และพืช

ในด้านสังคม หลายประเทศกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวข้าม หรือกำลังจะก้าวข้าม tipping points เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทรัพย์สิน หรือโอกาส ที่จะถ่างขึ้น ส่งผลให้คนรวย หรือธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจ SMEs ธุรกิจเกิดใหม่ หรือคนที่มีฐานะยากจนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือไม่มีกลไกที่จะยกระดับฐานะทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นอีก ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น ขาดความไว้ใจกัน ระบบประชาธิปไตยมีแนวโน้มเป็นประชานิยมมากขึ้น มุ่งตอบผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น มากกว่าที่จะเกิดนโยบายปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง

แม้ว่าหลายประเทศจะมุ่งมั่นดำเนินการตามกรอบของ SDGs แต่ผลของพัฒนาที่เกิดขึ้นกลับไม่เท่าทันกับความท้าทายหลายด้านที่รุนแรงมากขึ้น

ทำให้เกิดคำถามว่ากรอบ SDGs มีปัญหาอย่างไร และถ้าจะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริงแล้ว มีหลักคิดการพัฒนาอื่นที่จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาได้ยั่งยืนกว่า SDGs หรือไม่

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีกรอบการพัฒนาหลายแนวคิดที่ถูกนำเสนอและนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น กรอบ ESG (environment, social, and governance) BCG (bio economy, circular economy, and green economy) Triple Bottom Lines (people, planet, and profit) หรือ Sustainability Stewardship ที่เน้นภาวะผู้นำที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า “ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา” (Sufficiency for Sustainability: SforS) เป็นกรอบแนวคิดหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ปัญหาของการทำงานภายใต้กรอบ SDGs

SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลัก ครอบคลุมมิติด้านสังคม (people) เศรษฐกิจ (prosperity) สิ่งแวดล้อม (planet) สันติภาพและสถาบัน (peace) และหุ้นส่วนการพัฒนา (partnership) ภายใต้ 17 เป้าหมายหลักประกอบด้วยตัวชี้วัด 244 ตัว เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาแต่ละด้าน

ทั้ง 17 เป้าหมายได้ถูกหารือและเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ ต่อเนื่องหลายปี ก่อนที่จะได้รับการรับรองในที่ประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 อาจจะกล่าวได้ว่ากระบวนการเจรจาต่อรองจัดทำ SDGs ได้ใช้เป้าหมายเป็นตัวนำ และการให้ความสำคัญกับเป้าหมายแต่ละด้านขึ้นอยู่กับความสนใจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ SDGs ไม่ได้มีกรอบความคิดที่เป็นองค์รวม ที่จะช่วยจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการพัฒนา ไม่มีการพิจารณาถึง tradeoffs ที่จะเกิดขึ้นระหว่างเป้าหมายต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัด (constraints) ค่าเสียโอกาส (opportunity costs) และผลข้างเคียงที่การดำเนินการตามเป้าหมายหนึ่งอาจจะกระทบกับการดำเนินงานตามเป้าหมายอื่น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรจำกัด

เมื่อ SDGs ได้ถูกกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ รัฐบาลมักมอบหมายให้กระทรวงที่รับผิดชอบแต่ละเรื่องกำหนดเป้าหมายของประเทศทั้ง 17 ด้าน ขาดการจัดลำดับความสำคัญและการพิจารณาความเหมาะสมของเป้าหมายทั้งหมดในองค์รวม ทั้งที่งบประมาณและทรัพยากรของแต่ละประเทศมีจำกัด แผนการดำเนินงานตาม SDGs ในระดับประเทศจึงมีลักษณะที่แยกส่วนกันตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน และเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบรุนแรง (เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ) ก็ขาดกรอบความคิดที่จะใช้พิจารณาทบทวนเป้าหมายและแผนการดำเนินงานตาม SDGs ขาดกลไกที่ใช้พิจารณา tradeoffs ระหว่างกัน

กระบวนการพัฒนาเพื่อให้บรรลุ SDGs ยังขาดหลักคิดนำทางสำหรับการดำเนินงาน (how-to guiding principles) ในแต่ละด้าน แต่ละประเทศต้องคิดหาวิธีการดำเนินงานด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงกับรูปแบบและวิธีที่แต่ละหน่วยงานคุ้นเคย ในหลายประเทศเป้าหมายและวิธีการดำเนินงานมีลักษณะเน้นไปที่กิจกรรมมากกว่าผลลัพธ์ มักจะเป็นการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป (incremental) มากกว่าที่จะเป็นการเปลี่ยนใหญ่ ในขณะที่ปัญหาหลายมิติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องการแนวคิดและวิธีการดำเนินงานแบบใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนใหญ่ ในลักษณะที่เป็นการปฏิรูป (reform) หรือพลิกโฉม (transformation)

เนื่องจาก SDGs เน้นที่การบรรลุเป้าหมาย โดยขาดกรอบความคิด และหลักคิดนำทางสำหรับการดำเนินงาน ทำให้ SDGs อาจจะมองข้ามมิติของ “ใจคน” ที่จะต้องเป็นผู้ผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง “ใจคน” ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม สังคม และคนรุ่นต่อไป

การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนแต่ละคนสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมของตัวเองกับสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ และตระหนักรู้ถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของตัวเอง

ในช่วงที่ผ่านมา แนวคิด Inner Development Goals (IDGs) ได้รับการยอมรับกันแพร่หลายมากขึ้น โดย IDGs เชื่อว่าการจะบรรลุ SDGs ได้นั้น คนแต่ละคนจะต้องตระหนักรู้จากภายในเกี่ยวกับตัวของตนเอง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของตน ตระหนักรู้ถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างสิ่งต่างๆ (interconnectedness) รวมทั้งเห็นความสำคัญของเรื่องความยั่งยืน จึงจะเกิดพลังที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนใหญ่ (transform) เพื่อบรรลุ SDGs และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริง

IDGs มีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน คือ 1. Being (การตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง) 2. Thinking (ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในเรื่องที่ซับซ้อน) 3. Relating (ความสามารถในการเชื่อมโยงกับคนอื่น ใส่ใจในเรื่องของโลก) 4. Collaborating (ทักษะด้านสังคม ที่จะช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้) และ 5. Acting (ความกล้า ความเพียรอดทน และความสามารถที่จะลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลง) อาจจะกล่าวได้ว่าองค์ประกอบของ IDGs ทั้ง 5 ด้านนี้เป็นคุณลักษณะทางใจของผู้นำที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจาก IDGs แล้ว ยังมีอีกหลากหลายแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าและคุณลักษณะภายใน (inner values) ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง เช่น Sustainability Stewardship

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา (Sufficiency for Sustainability: SforS)

แนวคิดเรื่องศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาหลักคิดและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งพระบรมราโชบายที่ทรงใช้วางแนวทางการพัฒนาประเทศและการทรงงานผ่านโครงการพระราชดำริ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมากในช่วง 70 ปีของการครองราชย์

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาที่ได้ผ่านการทดลอง ทดสอบทั้งในช่วงสภาวะปกติและสภาวะวิกฤติ และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ทรงเริ่มศึกษา และทรงงานพัฒนาโดยยึดหลักความยั่งยืนมานานก่อนที่แนวคิดด้าน sustainability และ sustainable development จะได้รับความนิยมในโลกตะวันตก และก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะประกาศ SDGs

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา มีองค์ประกอบหลักอย่างน้อยสามประการ คือ

1. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economic Philosophy) เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้แก่ประชาชนไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 เป็นหลักปรัชญาที่ประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิตของคนแต่ละคน การบริหารจัดการองค์กรแต่ละองค์กร ตลอดจนถึงการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเป็นหลักปรัชญาที่ไม่มีสูตรสำเร็จ คนแต่ละคนหรือองค์กรแต่ละองค์กรพึงประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงเป้าหมาย ข้อจำกัด และบริบทของตนเป็นหลัก

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับสามปัจจัย คือ ความสมเหตุสมผล (reasonableness) ความพอประมาณ (moderation) และการสร้างภูมิคุ้มกัน (immunity) โดยตั้งอยู่บนฐานของความรู้ และคุณธรรม ถ้ากำหนดแนวทางการดำเนินชีวิต หรือแนวทางการพัฒนาโดยยึดสามปัจจัยนี้เป็นที่ตั้งแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะสมดุล ไม่สุดโต่ง ไม่เปราะบางจนอาจทำให้สะดุดหรือล้มลงได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับความผันผวนหรือแรงกระแทกจากภายนอก การยึดมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เกิดความทนทาน (resilience) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

การสร้างภูมิคุ้มกันและความทนทานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกปัจจุบันและโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน และความซับซ้อน

ทั้งสามปัจจัยของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของแนวคิดเรื่องความยั่งยืน เป็นกรอบความคิดที่ส่งเสริมให้คำนึงถึงบริบทของตัวเองอย่างสมเหตุสมผล ไม่ลอกเลียนแบบจากคนอื่นหรือจากประเทศอื่นโดยขาดการพิจารณาตนเองอย่างรอบด้าน ส่งเสริมให้มองไกลและมองกว้างแทนที่จะมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนตนในช่วงสั้นๆ ส่งเสริมให้พิจารณาความพอประมาณที่ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสีย (tradeoffs) เพราะทุกการกระทำมีต้นทุน มีข้อดีและข้อเสีย ส่งเสริมให้กระจายความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง และส่งเสริมให้สะสมภูมิคุ้มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยต่อเนื่อง พร้อมที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการวิเคราะห์พิจารณาในเรื่องเหล่านี้จะต้องใช้ทั้งความรู้และคุณธรรม ตระหนักถึงผลข้างเคียงเพื่อจะไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และคนรุ่นต่อไป การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องมีลักษณะเป็นพลวัต (dynamic) สอดคล้องกับบริบทของตนและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นก่อนหลากหลายแนวคิดการบริหารเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุล (เช่น Balanced Scorecard หรือ Triple bottom lines) หรือการบริหารความเสี่ยงองค์กร (เช่น Enterprise Risk Management หรือ Business Continuity Plan) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนกรอบแนวคิดที่เป็นร่มใหญ่ครอบคลุมแนวคิดการบริหารเพื่อความยั่งยืนที่แต่ละแนวคิดอาจจะมีจุดเน้นต่างกันออกไป

ถ้าคิดตามหลักวิชาเศรษฐศาตร์จุลภาคแล้ว หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นที่ความพอประมาณอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งสอดคล้องกับหลัก optimization ภายใต้ข้อจำกัด (constraints) รวมทั้งคำนึงถึงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ (externality) ที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะต่างจากแนวคิด Sufficiency Economy ในโลกตะวันตก ที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด (minimization) จนอาจจะมีลักษณะไม่สนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (de-growth) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นได้ยากเพราะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต และต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตโดยต่อเนื่อง

2. หลักการทรงงาน มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริได้ถอดบทเรียนหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยประมวลข้อมูลจากท่านผู้ใหญ่ที่เคยถวายงานใกล้ชิด ทั้งจากการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศและจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ หลักการทรงงานเป็นหลักคิดนำทางสำหรับงานพัฒนา (how-to guiding principles) ที่ทรงใช้ออกแบบโครงการต่างๆ กำหนดวิธีการแก้ปัญหา และจัดลำดับขั้นตอนการทำงาน (sequencing) เพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน โดยได้สังเคราะห์ออกมาเป็นหลักการทรงงาน 23 ข้อ และต่อมาได้ปรับปรุงเป็น 27 ข้อ

หลักการทรงงานเป็นหลักคิดนำทางที่สามารถใช้ออกแบบกระบวนการทำงานพัฒนา รวมถึงกำหนดนโยบายสาธารณะได้เป็นอย่างดี โดยอาจจะจัดหลักการทรงงานได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การออกแบบกระบวนการพัฒนา ทรงให้ความสำคัญกับ การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การทำความเข้าใจในภูมิสังคม การทำตามลำดับขั้น (การพัฒนาไม่มีทางลัด ต้องเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา หรือการพัฒนาที่ต้องเริ่มจากช่วยให้ชาวบ้านอยู่รอด (survive) พออยู่พอกิน (sufficient) แล้วจึงสร้างเสริมความเจริญผ่านเศรษฐกิจขั้นสูงต่อไป (sustainable)) การมุ่งประโยชน์ส่วนรวม และการมององค์รวม (โดยเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นที่ตั้ง ตอบโจทย์ทุกมิติที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชน เกิดเป็น area-based development ต่างจากการพัฒนาแบบแยกส่วนที่นิยมเอากิจกรรมของแต่ละหน่วยงานเจ้าของเรื่องเป็นที่ตั้ง หรือเป็น activity-based development ที่มักเกิดขึ้นในระบบราชการไทย)

กลุ่มที่ 2 การเตรียมประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงประโยชน์และพร้อมรับการพัฒนา ทรงให้ความสำคัญกับ การระเบิดจากข้างใน (ทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์ และต้องการที่จะลุกขึ้นมาพัฒนา มากกว่าที่จะยัดเยียดการพัฒนาลงไปจากส่วนกลาง) ปลูกป่าในใจคน (ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของป่าและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนอยู่กับป่า และช่วยรักษาป่า มากกว่าที่จะกันคนออกมาจากป่า)

กลุ่มที่ 3 การกำหนดวิธีที่ใช้พัฒนา ทรงให้ความสำคัญกับ การแก้ปัญหาที่จุดเล็ก (ในการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความมั่นคง หรือปัญหายาเสพติด จะทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับจุลภาค หรือ micro foundations of macro problems เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืน) การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา การแก้ปัญหาโดยไม่ยึดติดตำรา (สามารถปรับให้สอดคล้องกับบริบทของภูมิสังคม และสภาวะหน้างานตามข้อเท็จจริง) การทำให้ง่าย (เพื่อที่ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ สามารถซ่อมแซมและแก้ไขปรับปรุงได้เอง) การประหยัดเรียบง่ายได้ประโยชน์สูงสุด การบริการที่จุดเดียว (เพื่อลดความซับซ้อนและการขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นปัญหาของระบบราชการไทย ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก) การใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

กลุ่มที่ 4 วัฒนธรรมของการทำงาน ทรงให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง การทำงานอย่างมีความสุข การส่งเสริมความสามัคคี ตลอดจนยึดถือคุณธรรม ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน และความเพียร

อาจจะกล่าวได้ว่าหลักการทรงงานทั้งสี่กลุ่มข้างต้นสะท้อนมุมมองด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระราชา ที่ทรงยึดเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยเป็นที่ตั้ง

สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงเห็นว่าความยั่งยืนของประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวสยามหลากหลายกลุ่ม หลากหลายเชื้อชาติ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความยากจน เปราะบาง และห่างไกลยากลำบาก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมองปัญหาต่างๆ ของประเทศในภาพใหญ่ด้วยมุมมองของพระราชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา การสาธารณสุข หรือความมั่นคงของประเทศ

แต่วิธีการแก้ปัญหาของพระองค์ท่าน จะเน้นที่การพัฒนาลงไปในระดับจุลภาค ในระดับชุมชน ทรงเอาโจทย์ของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทรงหาวิธีแก้ปัญหาหลากหลายด้านแบบเชื่อมโยงกัน

ซึ่งวิธีการทรงงานนี้แตกต่างจากวิธีการทำงานของระบบราชการ หรือรัฐบาล ที่นิยมการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกมหภาค เช่น การออกกฎหมาย หรือการออกนโยบายแบบเหวี่ยงแหจากส่วนกลางโดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทของภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ และผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากแต่ละนโยบาย

มุมมองของพระราชาที่สะท้อนจากหลักการทรงงานนั้น เป็นมุมมองที่แสดงให้เห็นว่าทรงมองไกล ทรงมองรอบด้านแบบเชื่อมโยงกัน และทรงเน้นเรื่องความยั่งยืนในระยะยาวอย่างแท้จริง อาจจะเป็นเพราะรัชสมัยของพระราชาไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน ต่างจากมุมมองของรัฐบาล หรือข้าราชการ ที่มุมมองมักจะถูกตีกรอบตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตน จึงยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

หลักการทรงงานทั้งสี่กลุ่มสามารถใช้เป็นหลักคิดนำทางในการออกแบบวิธีการพัฒนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระดับพื้นที่ หลักการทรงงานหลายเรื่องได้ถูกถอดบทเรียนออกมาเป็นคู่มือการทำงานโดยละเอียด และเกิดองค์ความรู้ ซึ่งชุมชน หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจ และประเทศต่างๆ ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการดิน ป่า น้ำ การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันหลายองค์กรที่ทำงานพัฒนาในระดับพื้นที่ยังใช้หลักการทรงงานเป็นหลักคิดนำทางเพื่อออกแบบการทำงาน และยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างประเทศมาศึกษาดูงานโดยต่อเนื่อง

3. หลักคุณธรรม (ethical virtues) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา ที่พระองค์ท่านได้ทรงแสดงให้เห็นผ่านการทรงงานตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

หลักคุณธรรมที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ ส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานที่ท่านผู้ใหญ่ที่เคยถวายงานใกล้ชิดได้สังเคราะห์ออกมา อีกส่วนหนึ่งได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นต้นแบบ และทรงเน้นย้ำในพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง โดยอาจจะแบ่งหลักคุณธรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างน้อยสองกลุ่มด้วยกัน คือ (1) ต้องมีใจที่พอเพียง ซึ่งประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต การรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว การรู้รักสามัคคี การเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความมีเมตตา ความเรียบง่ายสมถะ และ (2) ต้องมีใจที่มุ่งมั่น ซึ่งประกอบด้วย ฉันทะในการทำงาน การทำงานอย่างมีความสุข ความมุ่งมั่น อดทน ความเพียร การพึ่งตนเอง

หลักคุณธรรมของผู้นำที่ทรงให้ความสำคัญ และทรงแสดงให้เห็นเป็นต้นแบบเหล่านี้ เป็นคุณลักษณะของ “ใจ” ที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะการพัฒนาต้องอาศัยความตั้งใจ ความไว้วางใจ ความร่วมมือร่วมใจ การใส่ใจ และการเห็นอกเห็นใจ คุณลักษณะของ “ใจ” จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เกิดฉันทะในการทำงาน และเกิดความเพียรที่จะฝ่าฟันแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริง

ความท้าทายของการใช้ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สาเหตุที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็น SDGs ในระดับประเทศ หรือเป้าหมายความยั่งยืนในระดับธุรกิจ และชุมชน รวมทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่าทันกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น จนบางเรื่องมีแนวโน้มที่จะก้าวข้าม tipping points และกระทบกับความอยู่รอดของคนรุ่นต่อไปนั้น อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดกรอบความคิด (conceptual framework) ที่จะช่วยกำหนดเป้าหมาย วางแผนการพัฒนา และจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ องค์กร หรือชุมชน อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดหลักคิดนำทางสำหรับออกแบบและดำเนินงาน และขาดองค์ความรู้ในการทำงาน และอีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ใจ” และคุณค่าหลักของคนที่จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาประกอบด้วยทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกรอบความคิดร่มใหญ่ หลักการทรงงานที่เป็นหลักคิดนำทางสำหรับออกแบบกระบวนการพัฒนาและกำหนดวิธีการดำเนินงาน และคุณค่าหลักของผู้นำและคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนา ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริง

โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพื้นที่จากล่างขึ้นสู่บน (bottom up) สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่ประเทศโดยเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

อย่างไรก็ดี มีคำถามและความท้าทายหลายประการเกี่ยวกับการนำศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาไปปฏิบัติซึ่งเราต้องช่วยกันหาคำตอบ รวมทั้งกำหนดปัจจัยเบื้องต้น (prerequisites) เพื่อให้ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์กว้างไกล ซึ่งสามารถสรุปเป็นโจทย์สำคัญได้อย่างน้อย 3 เรื่องดังนี้

1. รัฐบาลและนักการเมืองในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะทำนโยบายประชานิยมมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การเมืองในระยะสั้นมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายนโยบายขาดการคิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล มีแนวโน้มที่หวังผลสุดโต่งมากกว่าพอประมาณ และบั่นทอนภูมิคุ้มกันในหลายระดับ ทั้งฐานะการคลังของภาครัฐ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ผู้มีอำนาจรัฐขาดคุณธรรมหลักส่งผลให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นทั้งทางตรงและคอรัปชั่นทางนโยบาย

ทำอย่างไรที่การพัฒนาตามศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาจะได้รับความสนใจ และถูกนำไปใช้ออกแบบนโยบายและกระบวนการพัฒนาให้เกิดผลได้จริง

2. ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา และตัวอย่างความสำเร็จของโครงการพระราชดำริ เป็นการทำงานในระดับพื้นที่หรือระดับชุมชนเป็นหลัก ทำอย่างไรจึงจะประยุกต์ให้เกิดผลกว้างไกลได้ในระดับประเทศที่ระบบราชการมีโครงสร้างแบบรวมศูนย์ นโยบายและมาตรการหลายอย่างของภาครัฐไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับบริบทของสังคมแต่ละพื้นที่ ทำอย่างไรที่จะเกิดการกระจายอำนาจ อย่างแท้จริงเพื่อให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ (area-based development) เกิดผลได้อย่างกว้างไกลและยั่งยืน

เพื่อให้แนวทางการพัฒนาตามศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาไม่ได้เป็นเพียงแนวทางการพัฒนาทางเลือก (alternative development) เท่านั้น แต่ควรเป็นแนวทางการพัฒนากระแสหลักในระดับประเทศด้วย

3. จะสร้างคุณค่าหลักและคุณลักษณะทางใจในกลุ่มผู้นำและผู้มีอำนาจรัฐได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความเสียสละ และการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก รวมทั้งจะต้องจัดโครงสร้างแรงจูงใจและผลตอบแทนอย่างไร ถึงจะไม่ขัดกับหลักการของระบบทุนนิยมและความต้องการของมนุษย์ และสอดคล้องกับศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชาให้เกิดขึ้นได้แบบสอดประสานกัน

บทสรุป

ท่ามกลางหลากหลายความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะมีความสำคัญมากขึ้น และจะต้องถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง แต่กรอบ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ได้รับการยอมรับและถือปฏิบัติกันทั่วโลกไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะ SDGs เน้นที่เป้าหมายเป็นหลัก ขาดกรอบความคิด หลักคิดนำทางการดำเนินงาน และขาดมิติเรื่องคุณค่าและ “ใจ” ของคนที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ศาสตร์แห่งความพอเพียงของพระราชา (Sufficiency for Sustainability) ผ่านการสังเคราะห์จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน ประกอบด้วยอย่างน้อยสามองค์ประกอบหลัก คือ (1) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกรอบความคิด (conceptual framework) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (2) หลักการทรงงานที่สามารถใช้เป็นหลักคิดนำทางสำหรับออกแบบและดำเนินการพัฒนา และ (3) หลักคุณธรรมของผู้นำ ทั้งสามองค์ประกอบนี้ได้ผ่านการทดสอบจริงจากการทรงงานแก้ปัญหาของประเทศ และโครงการพระราชดำริต่างๆ โดยมีพระองค์ท่านเป็นต้นแบบผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานก่อนที่แนวคิดด้านนี้ได้รับความนิยมในโลกตะวันตก

ทั้งสามองค์ประกอบมีรายละเอียดที่ทับซ้อนกัน เพราะแต่ละองค์ประกอบถูกสังเคราะห์มาแบบแยกส่วนกัน และแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกัน ต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่สำคัญทั้งสามองค์ประกอบสะท้อนถึงคุณค่าร่วมที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง คือ “ความพอเพียง” ซึ่งอยู่ในพระทัยของพระองค์ท่านตลอดมา อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าผู้นำไม่เริ่มต้นจากมี “ความพอเพียง” ในใจ

โจทย์สำคัญที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ คือทำอย่างไรที่จะให้เกิดการยอมรับในวงกว้างโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ ว่าศาสต์แห่งความพอเพียงของพระราชาเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

บรรณานุกรม

เกษม วัฒนชัย (2555). หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง. สถาบันดำรงราชานุภาพ.

มูลนิธิชัยพัฒนา (2567). หลักการทรงงาน ประมวลคำสอนพ่อแห่งแผ่นดิน. PaperMore.

วิรไท สันติประภพ (2559). เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 21 ตุลาคม 2559. https://thaipublica.org/2016/10/veerathai-towards-sustainability/
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. ปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงคืออะไร. http://www.rdpb.go.th/th/Sufficiency

Avery, G.C. & Bergsteiner, H. (2016). Sufficiency Thinking: Thailand’s Gift to an Unsustainable World. Routledge.

Kantabutra, S. & Ketprapakorn, N. (2024). Sufficiency Economy as a Sustainability Strategy: Frontier Knowledge and the Future Research Agenda. http://preprints.org.

United Nations (2024). The Sustainable Development Goals Report 2024.