ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ก.ล.ต. ยึด พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล รับคลังออก G-Token เปิด Hearing หลักเกณฑ์

ก.ล.ต. ยึด พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล รับคลังออก G-Token เปิด Hearing หลักเกณฑ์

26 พฤษภาคม 2025


จากซ้าย นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต, ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ในงาน ก.ล.ต. พบสื่อ เรื่อง โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล วันที่ 26 พฤษภาคม 2568

วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงาน ก.ล.ต. พบสื่อ เรื่อง โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) โดย ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต., นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. และนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต

ย้ำหลักการคุ้มครองผู้ลงทุน

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า การจัด ก.ล.ต. พบสื่อวันนี้เพื่อเล่าให้ฟังถึง ลักษณะของ Token Digital หรือ G-Token การมีส่วนร่วมของประชาชน และบทบาทของ ก.ล.ต. ใน G-Token รวมถึงประเด็นที่สำนักงานกำลังพิจารณา

ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำนักงานต้องการที่จะสื่อสารเกี่ยวกับมติ ครม. ในเรื่อง G-Token ซึ่งสำนักงานได้ทำการศึกษาในประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายอาจจะมีคำถาม หรือมีเรื่องที่กังวลกัน แต่ก็เชื่อว่าหลายๆ คำถามก็อาจจะมาจากการที่เป็นสิ่งใหม่ เป็นเรื่องในเชิงนโยบายที่กระทรวงการคลังต้องการที่จะใช้นวัตกรรม การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการออมของประชาชน

”ในฐานะเลขาธิการของสำนักงานก็บอกว่า ไม่ว่านโยบายนั้นจะมาจากภาครัฐหรือภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการออม การลงทุน บทบาทของสำนักงานเหมือนกัน คือ การกำกับภายใต้การมุ่งเน้นในเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุน เป็นหัวใจหลักของสำนักงาน” ดร.พรอนงค์กล่าว

ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงทิศทางและแนวนโยบายของสำนักงานในด้านโทเคนดิจิทัลว่า บทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. มีทั้งในด้านการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และบทบาทในการพัฒนา โดยมุ่งหวังให้เพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ให้ผู้ลงทุนในระดับรายย่อยสามารถที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ ได้ โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนและการลงทุนในตลาด ในขณะเดียวกันสำนักงาน ก.ล.ต. พยายามที่จะส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม (Level Playing Field) ให้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลสามารถที่จะแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม

“เราพยายามระวังให้ทุกคนจะต้องทำหน้าที่ด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิด regulatory arbitrage (การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎระเบียบที่แตกต่างกัน) หรือว่าการไหลไปสู่การทำอะไรที่กฎเกณฑ์อ่อนกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม เราจะกำกับดูแลด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด รวมไปถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราเน้นคุ้มครองผู้ลงทุน ในลักษณะที่ว่าผู้ลงทุนของเราจะต้องมีกลไกในการคุ้มครองที่เพียงพอและเหมาะสม ก็จะเป็นกลไกในการทำหน้าที่หลักๆ ของสำนักงาน ก.ล.ต.” นางสาวจอมขวัญกล่าว

คลังออก G-Token ในตลาดแรกได้ไม่ต้องขอ ก.ล.ต.

สำหรับ G-Token นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติกระทรวงการคลัง ออก G-Token ซึ่งตามมติ ก็คือ เป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ และอนุมัติในหลักการของตัวร่างประกาศที่จะออกมา เป็นประกาศของกระทรวงการคลังในเรื่องของหลักเกณฑ์วิธีการแล้วก็เงื่อนไขในการออก G-Token ส่วนสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ให้ข้อมูลว่า การกู้เงินด้วยวิธีการออกโทเคนนี้ อยู่ในกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นความชัดเจนจากกระทรวงการคลังและมติ ครม.

“อาจจะมีคำถามที่ออกมาตามสื่อต่างๆ อยู่หลายคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออก การซื้อขาย ระบบมีความปลอดภัยหรือไม่ การกำกับดูแลจะทำให้เกิดเรียกว่า regulatory arbitrage หรือไม่ หรือเมื่อออกเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโทเคนแล้วจะนำไปสู่การเก็งกำไรไหม หรือเอาไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการตามที่ทางแบงก์ชาติมีความเป็นห่วงหรือไม่ วันนี้ขอตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึง 3 ส่วนหลัก และขอบข่ายที่สำนักงานเปิดให้ผู้เล่นประเภทใดบ้างที่เข้ามาได้ แต่กระทรวงการคลังจะเลือกใคร ต้องรอหนังสือชี้ชวน” นางสาวจอมขวัญกล่าว

นางสาวจอมขวัญอธิบายว่า ส่วนแรก เป็นส่วนของการออกโทเคน โดยผู้ออกคือ กระทรวงการคลัง เพียงแต่ออกในรูปของโทเคนเป็นเหรียญแทนการออกเป็นพันธบัตร ซึ่งในการออกตรงโทเคน กระทรวงการคลังต้องไปเลือกเชนหรือบล็อกเชน นั่นเอง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการออกเหรียญ (mint) ออกมาเพื่อเอาไปขาย แล้วกระทรวงการคลังก็จะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน มีการจ่ายเงินต้นผลตอบแทนคืนตามกำหนดเวลาเหมือนพันธบัตร แต่กระทรวงการคลังจะเลือกเชนไหน ต้องไปดูที่หนังสือชี้ชวน

“ถ้าจะให้เห็นภาพชัดก็คืออย่าง Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) ที่มีการออกเหรียญเสนอขาย Investment Token เรามี ICO Portal ทำหน้าที่เป็นเชนหลังบ้านอยู่ในการ mint เหรีญออกมา” นางสาวจอมขวัญกล่าว

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต.

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการจองซื้อและการจัดสรรในตลาดแรก โดยที่สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนได้ ไม่เฉพาะ G-Token แต่เป็นผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป เพราะฉะนั้น ในส่วน G-Token เอง สำนักงานก็จะเปิดให้ผู้เล่นทั้งในฝั่งของสินทรัพย์ดิจิทัลและในฝั่งของธุรกิจหลักทรัพย์สามารถเข้ามาให้บริการผู้ลงทุนได้ เพื่อผู้ลงทุนทั้งที่มีบัญชีอยู่กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วมีการเปิด wallet และผู้ลงทุนที่มีบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์

โดยผู้ลงทุนทั้งที่มีบัญชีอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะไปติดต่อจองซื้อผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ส่วนผู้ลงทุนที่อาจจะไม่มีบัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่มี Wallet ก็สามารถที่จะไปใช้ช่องทางผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น เป็น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อจองซื้อ G-Token เพราะฉะนั้น ผู้ลงทุนหรือประชาชนจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับคำจองซื้อมาแล้ว รวมทั้งชื่อผู้จองซื้อ จำนวนที่จองซื้อและบัญชีธนาคารของผู้จองซื้อ ก็ส่งต่อข้อมูลไปยังกระทรวงการคลัง จากนั้นกระทรวงการคลังจะจัดสรร G-Token ให้กับผู้ลงทุน

วิธีการจัดสรรก็คือ ในกรณีที่เป็นผู้ลงทุนที่มี Wallet ที่เปิดกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว G-Token ก็จะเข้า Wallet ของผู้ลงทุน แต่ในทางกลับกัน สำรับผู้ลงทุนที่ไม่มี Wallet ซึ่งจองซื้อผ่าน บล. G-Token จะเข้าไปอยู่ที่บัญชีของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เก็บไว้ใน Wallet ให้ผู้ลงทุน แต่ระบบงานของ บล. จะมีระบบบันทึกข้อมูล G-Token

“การจะจองซื้อ G-Token ขึ้นอยู่กับความถนัดของประชาชน ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองฝั่ง มี Wallet หรือไม่มี Wallet ก็ได้ ตัวกลางเหล่านี้จะจัดการให้” นางสาวจอมขวัญกล่าว

เมื่อจัดสรรเสร็จแล้ว ขั้นตอนก็จะเหมือนกรณีปกติ คือ จะมีการนำมาจดทะเบียนซื้อขาย(List) ในตลาดรองคือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการถือระยะยาวรอเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด ก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร รอกระทรวงการคลังจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นเข้าบัญชี

สำหรับผู้ลงทุนที่อาจจะต้องการเงินก่อนครบกำหนด และต้องการขาย G-Token ออก รวมทั้งผู้ลงทุนที่ไม่ได้จองซื้อในช่วงเสนอขายหรือ จองซื้อแล้วแต่ต้องการจะซื้อเพิ่ม ก็สามารถมาซื้อหรือขาย โทเคนในตลาดรอง หรือศูนย์ซื้อขายสินค้าดิจิทัลได้ โดยการส่งคำสั่งยังผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากมี Wallet หรือส่งคำสั่งที่ บล. ได้

นางสาวจอมขวัญกล่าวถึงแนวทางการกำกับดูและของ ก.ล.ต. ว่า โดยที่ลักษณะของโทเคนนี้ เป็นโทเคนที่ไม่ใช่พันธบัตร และไม่ใช่ตราสารหนี้ จึงไม่ใช่หลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และโทเคนนี้เป็นโทเคนที่ออกโดยกระทรวงการคลัง โดยมีการให้สิทธิผู้ถือโทเคนในการได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามกำหนดเวลา

“ดังนั้น ตามกฎหมายแล้ว โทเคนอันนี้ก็จะถือเป็นโทเคนที่มีการให้สิทธิเป็นการเฉพาะ ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ในส่วนการเสนอขาย สาระสำคัญคือ ต่อให้ออกเป็นพันธบัตร หรือออกเป็นตราสารหนี้ หรือออกเป็นสัญญา หรือออกเป็นโทเคน สำนักงานไม่ได้มีอำนาจในการอนุญาต เพราะฉะนั้น กระทรวงการคลังไม่ต้องมาขออนุญาตเสนอขายกับสำนักงานในส่วนของการเสนอขายในตลาดแรก”

กำหนดต้องมี Indicative Price ของ G-Token ป้องกันการบิดเบือนราคา

ส่วนการให้บริการซื้อขาย ก.ล.ต. เปิดให้ผู้เล่นทั้งฝั่งหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถตั้งคำสั่งจองซื้อแล้วก็ซื้อขายโทเคนได้ เพื่อให้เกิด Financial Inclusion เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ที่ ผู้ประกอบธุรกิจสองฝั่งสามารถให้บริการได้ ภายใต้มาตรฐานและเกณฑ์เดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ทั้งสำนักงานและของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า การซื้อขายโทเคนในตลาดรอง อาจมีประเด็นความกังวลว่าจะเกิดการปั่นราคา การกระทำไม่เป็นธรรม สำนักงานมีกลไกรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธุรกิจหลักทรัพย์ ฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในฝั่งของสินทรัพย์ดิจิทัล มีกลไกรองรับอยู่ในลักษณะที่ว่า ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีระบบ Market Surveillance แล้วจะต้องมีการขึ้นเครื่องหมายในกรณีที่ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือราคาเหรียญที่อยู่ในศูนย์ซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะต้องมีการขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุนก่อนที่ผู้ลงทุนจะสามารถกดซื้อขายเหรียญได้

“นอกจากนี้ จะต้องมีการเปิดเผย สิ่งกำหนดเพิ่มเติมคือ Indicative Price ของ G-Token ที่ให้ราคาคร่าวๆ ว่า เงินต้นบวกผลตอบแทนในขณะนั้นควรจะซื้อขายกันที่ราคาเท่าไร ในกรณีที่มีใครมาเก็งกำไรหรือซื้อขายในราคาที่เบี่ยงเบนไปจากราคาที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นกลไกของ Arbitrageur คนที่แสวงหาส่วนต่างกำไรเข้ามาเล่นตรงนี้เพื่อทำให้ราคากลับเข้าไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็น หรือว่าศูนย์ซื้อขายเองก็อาจจะมีการจัดให้มี Market Maker มาทำหน้าที่นี้ก็ได้ แล้วแต่กลไกที่ตลาดมี ส่วนการปั่นราคา หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายก็จะมีกฎหมายที่กำหนดว่าถ้าเกิดมีการกระทำผิดในเรื่องนี้ ก็ต้องได้รับโทษตามมาตรา 46 หรือ 50 ต้องรับโทษอาญาตามมาตรา 70 และ 71 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล” นางสาวจอมขวัญกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักของกรอบกฎหมายที่ชี้แจงในวันนี้ อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันนี้ (26 พ.ค.) จนถึง วันที่ 10 มิถุนายน 2568 แต่เกณฑ์นี้จะมีผลใช้บังคับ ก็ต้องมีเกณฑ์กระทรวงการคลังเรื่องการออกโทเคนมีผลใช้บังคับก่อน เกณฑ์ของสำนักงานไม่มีผลใช้บังคับก่อนของกระทรวงการคลัง

ไม่สนับสนุนให้ใช้เป็น Means of Payment

นางสาวจอมขวัญกล่าวถึงแนวนโยบายของสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า ก.ล.ต. อยากเห็นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมในตลาดทุน รวมถึงการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุนของประชาชน การเพิ่มสภาพคล่องใหแก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนมีช่องทางในการออกจากการลงทุน (Exit) ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ตลอดจนอยากให้มีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม ดูแลการแข่งขันให้มีความเท่าเทียม และไม่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายที่ต่างกัน (Legislative Arbitrage)

นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า ก.ล.ต. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึง G-Token ไปใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าบริการ หรือ เป็น Means of Payment ในวงกว้าง และโดยที่ Smart Contract ของโทเคน สามารถที่จะกำหนดเงื่อนไขในการโอนเหรียญได้ เช่น ห้ามโอนเหรียญออกไปที่อื่น ห้ามโอนออกให้คนอื่น พร้อมยกตัวอย่าง Investment Token ในปัจจุบันที่เสนอขายอยู่แล้ว 4 ตัว ทุกตัวก็จะให้ซื้อขายอยู่เฉพาะที่ตลาดที่ไปซื้อขาย ไม่ให้โอนเหรียญออกจากศูนย์ซื้อขายหรือโอนข้ามศูนย์ซื้อขาย กรณีที่ต้องการสภาพคล่อง ก็ต้องขายออกแล้วนำเงินกลับไป “Smart Contract สามารถกันเรื่องของ Means of Payment ได้ แต่ก็ต้องเขียนเงื่อนไขไม่ให้เกิดการโอนออกหรือโอนข้ามกัน อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูหนังสือชี้ชวนของกระทรวงการคลัง”

นอกจากกำหนดผ่าน Smart Contract ได้แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเอื้อหรืออำนวยความสะดวกในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว โดยห้าม (1) โฆษณา/ชักชวน/แสดงตนว่าพร้อมให้บริการ MOP (2) ทำระบบ/เครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่อ MOP (3) เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็น MOP (4) ให้บริการโอนเงินบาทจากบัญชีของลูกค้าไปบัญชีบุคคลอื่น (5) ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่นเพื่อเป็น MOP (6) ให้บริการอื่นใดในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน MOP

“เกณฑ์ในเรื่องนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติและ ก.ล.ต. เพื่อตอบโจทย์การป้องกันไม่ให้ไปนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้ก็จะรวมถึง G-Token ด้วย” นางสาวจอมขวัญกล่าว

ส่วนการไม่มีกฎหมาย/กฎเกณฑ์รองรับ G-Token นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง “ก็ต้องยืนยันว่าถ้าตรงนั้นไม่มีประกาศรองรับเราก็ไม่อนุญาตเหมือนกัน เพราะเราก็ต้องคำนึงทั้งการคุ้มครองผู้ลงทุน Investor Protection เหมือนกัน”

สำหรับกรณีที่มีความกังวลว่าจะมีการสร้างราคา เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล นางสาวจอมขวัญย้ำว่า นอกจากมีกลไก Market Surveillance การขึ้นเครื่องหมายเตือน และ Market Maker แล้ว ยังมีข้อกำหนดเรื่อง Indicative Price ซึ่งผู้ซื้อขายไม่ควรที่จะซื้อในระดับที่เกินไปกว่า Indicative Price เพื่อช่วยผู้ลงทุนเรื่องการปั่นราคาได้

สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่อยากเห็นอุปสรรคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของประชาชน จึงได้เปิดให้ทั้งผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีจุดแข็งที่ต่างกัน นำมาเสริมสร้างกันเพื่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงไม่อยากเห็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน และต้องมั่นใจว่าทั้งสองฝั่งมีมาตรฐานในการให้บริการที่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน

บทบาทของ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token หรือ G-Token)

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) หรือ G-Token และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการลงทุนของประชาชนผ่านการพัฒนากลไกบริหารหนี้สาธารณะโดยใช้เทคโนโลยี และเพิ่มการเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง รวมถึงขยายฐานผู้ลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนและส่งเสริมการออมและการลงทุนที่หลากหลายของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและลงทุนในตลาดทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์และการให้บริการในตลาดทุน (enhanced ecosystem) ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียม และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม

การออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ G-Token โดยกระทรวงการคลังตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ระบุให้มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กำหนด และเป็นการออกตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ทำให้ ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งด้านการส่งเสริมการเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของประชาชน การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคม 2568

สำหรับการเสนอขาย G-Token โดยกระทรวงการคลัง ไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายต่อ ก.ล.ต. ซึ่งสอดคล้องกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การระดมทุนอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังในฐานะผู้ออกเสนอขายต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขาย G-Token และภายหลังจากการออกเสนอขายแล้วจะนำ G-Token ไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความสะดวกในการซื้อขายสำหรับผู้ถือ G-Token ที่ประสงค์จะขาย G-Token ก่อนครบกำหนด

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง ก.ล.ต. จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สามารถให้บริการเกี่ยวกับ G-Token ได้ ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งต้องไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (MOP) สำหรับการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีระบบป้องกันการกระทําอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ลงทุนของ ก.ล.ต. เพื่อความเป็นธรรมในการซื้อขายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตลาด

ก.ล.ต. ขอเน้นย้ำว่า ไม่ว่าการออกระดมทุนและการเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนจะอยู่ในรูปแบบใด บทบาทของ ก.ล.ต. คือ การกำกับที่มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

เปิด Hearing เตรียมประกาศรองรับ

ในช่วงเปิดให้สื่อมวลชนถาม
นางสาวจอมขวัญอธิบายเพิ่มเติมว่า การออก G-Token ของกระทรวงการคลัง เป็นการออกตามมาตรา 3 (2) ของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ระบุว่า กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด “ซึ่งตรงนี้ G-Token ไม่ใช่พันธบัตร ไม่ใช่หลักทรัพย์แล้ว พอเป็นโทเคน ก็ดูว่าลักษณะโทเคนเข้าข่ายกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ ก็ปรากฏว่าโทเคนที่ออกโดยกระทรวงการคลัง แล้วกำหนดสิทธิให้กับผู้ถือโทเคนได้รับคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ถือเป็นการกำหนดสิทธิที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ที่ได้เงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโทเคนดิจิทัลตามมาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล เป็น G-Token เป็นโทเคนชนิดใหม่ ไม่ใช่ Securities Token ไม่ใช่ Investment Token”

นางสาวจอมขวัญกล่าวต่อว่า การออกโทเคน มาตรา 3 (2) ของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ของหน่วยงานรัฐอื่นในอนาคตที่อาจจะมี หรือเอกชน จะไม่ใช้การออก G-Token ของกระทรวงการคลังเป็นมาตรฐานว่า สามารถออกได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต ก.ล.ต. โดยหากไม่มีประกาศมารองรับไม่สามารถทำได้

G-Token ของกระทรวงการคลังสามารถไปซื้อขายที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไหนก็ได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่ ก.ล.ต. เปิดให้มา ซื้อขายที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจา ก.ล.ต.ได้

ดร.พรอนงค์กล่าวถึงระยะเวลาการออก G-Token ว่า เนื่องจากเพราะเป็นกรอบภายใต้งบประมาณนี้ ถ้าออกทันภายใต้งบประมาณนี้ ตามที่ สบน. ได้ประเมินไว้ก็น่าจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ส่วนรายละเอียดรูปแบบอยู่ที่กระทรวงการคลังจะออกประกาศ ซึ่งขณะนี้ประกาศอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่หลังจากกระทรวงการออกประกาศและมีผลแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ก็จะต้องพิจารณาว่า ภายใต้ระบบนิเวศที่กำกับดูแลนั้น ต้องมีการทำประกาศเรื่องอะไรบ้าง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ซึ่งปกติใช้เวลา 15 วัน และจะนำผลที่ได้มาจัดทำประกาศ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น พร้อมด้วยร่างประกาศจำนวน 6 ฉบับ ดังต่อไปนี้ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป เพื่อรวบรวมและนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมต่อไป
(1) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. /2568 เรื่อง การกำหนดประเภทโทเคนดิจิทัลเพิ่มเติม (ฉบับที่ )
(2) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. /2568 เรื่อง การไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางลักษณะ (ฉบับที่ )
(3) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. /2568 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ )
(4) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. /2568 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ )
(5) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. /2568 เรื่อง การกำหนดลักษณะการจัดการเงินทุนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ )
(6) ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. /2568 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่)

โดยหลักการที่นำเสนอ ได้แก่ 1) การกำหนดลักษณะโทเคนดิจิทัลสำหรับ G-Token เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล จึงกำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ โดยมีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด 2) การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token ยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token กับสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน 4 และไม่ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง 3) การยกเว้นการขอใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 4) การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการ G-Token

สำหรับกรณีที่มีคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงของ G-Token เนื่องจากจัดว่าเป็นเครื่องมือการลงทุน ดร.พรอนงค์กล่าวว่า ในแง่ Credit Risk โดยที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ความเสี่ยง Credit Risks ถ้าเทียบในระดับผู้ออกก็น่าที่จะตัดออกไป ในแง่ Market Risk จากการที่เป็นของที่ไม่อยู่ในตลาด ก็ขึ้นอยู่อุปสงค์และอุปทาน แต่ ก.ล.ต. อยากจะเห็นของใหม่ๆ แบบนี้ และอยากจะช่วยในการนำมาจดทะเบียนซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจควรจะรับผิดชอบด้วยการมี Indicative Price ซึ่งเป็นกล่องของราคาที่เหมาะสม เป็นข้อมูลที่จะให้นักลงทุน ก็จะช่วยในแง่ Market Risk ได้ ส่วน Interest Risk ก็ต้องดูว่าดอกเบี้ยในอนาคตจะผันผวนแค่ไหน

ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนออก G-Token นอกเหนือจากไทย แต่ ดร.พรอนงค์กล่าวว่า สำนักงานรู้จักโทเคนและการกำกับโทเคน และมั่นใจในการกำกับผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งในฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัลและฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์เดิม อีกทั้งสำนักงานพยายามที่จะส่งเสริม Investment Token ให้ภาคเอกชนสามารถที่จะระดมทุนไปประกอบกิจกรรมที่เป็นโครงการได้ ที่ผ่านมาได้เห็นประโยชน์ของการใช้ในฝั่งหลักทรัพย์ ที่รู้จักผู้ลงทุนอยู่แล้ว ก็อยากจะส่งเสริมความแข็งแรงของฝั่งหลักทรัพย์ให้ไปส่งเสริมให้กับผู้ลงทุนกับผู้ระดมทุนเจอกันได้

“เรากำลังแก้กฎหมายหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลังกับเราก็ร่วมมือกันในการแก้กฎหมาย เพื่อให้หลักทรัพย์สามารถที่จะเป็น Digital Native” ดร.พรอนงค์กล่าว