ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ภาคตะนาวศรี กำลังกลายเป็นสมรภูมิสู้รบรุนแรง โดยเฉพาะในจังหวัดทวาย ตั้งแต่ชายแดนไทยด้านจังหวัดกาญจนบุรีไปจนถึงริมทะเลอันดามัน หลังมีการยืนยันแล้วว่า รัสเซียกำลังเข้ามาฟื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยี่ของรัสเซียขึ้นที่นี่…
ที่ชายแดนไทย ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2568 มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดที่บ้านทิคี ตำบลเมตตา จังหวัดทวาย ฝั่งตรงข้ามกับบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตก 76 กิโลเมตร โดยทหารจากกองพลน้อยที่ 4 กองทัพปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) นำกำลังบุกโจมตีเพื่อยึดค่ายทหารพม่าที่บ้านแม่น้ำธิทะ ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร เสียงปืนยิงต่อสู้ เสียงอาวุธหนัก เสียงเครื่องบิน ดังข้ามมาให้ได้ยินชัดเจนในฝั่งเมืองกาญจน์
วันที่ 6 พฤษภาคม กองทัพอากาศของไทยต้องส่งเครื่องบิน F-16 จำนวน 2 ลำ บินขึ้นจากกองบิน 4 ตาคลี ลาดตระเวนตลอดแนวชายแดนกาญจนบุรี เนื่องจากกองทัพอากาศพม่าได้ส่งเครื่องบินโจมตี K-8 บินทิ้งระเบิดลงไปยังจุดที่ตั้งของทหาร KNLA ที่อยู่ประชิดชายแดนไทย
วันที่ 7 พฤษภาคม Karen Information Center(KIC) รายงานว่ากองพลน้อยที่ 4 ของ KNLA สามารถยึดค่ายทหารพม่าที่บ้านแม่น้ำธิทะได้แล้ว มีทหารพม่ากว่า 50 นาย ชาวบ้านอีก 200 กว่าคน อพยพข้ามมาพักพิงอยู่ในฝั่งไทย
เช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์สู้รบที่บ้านทิคีเผยแพร่เป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ เนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย มีรายละเอียดดังนี้…

แถลงการณ์ต่อสาธารณชนไทย ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย-เมียนมา กรณีการสู้รบเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทิคี ภาคตะนาวศรี
กองพลน้อยที่ 4 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ซึ่งปฏิบัติการในเขตมะริด/ทวาย ประสงค์จะแจ้งให้สาธารณชนไทยทราบเกี่ยวกับเหตุสู้รบด้วยอาวุธเมื่อเร็วๆนี้ที่ทิคี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568
1.เขตมะริด/ทวายของ KNU เคยเป็นพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2540 ส่งผลให้เกิดการสู้รบด้วยอาวุธและการพลัดถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่ กองพลน้อยที่ 4 ของ KNU เชื่อว่า จำเป็นต้องยึดฐานทัพทิคีในมะริด/ทวายคืนมา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน ทั้งในฝั่งเมียนมาและไทย
2.พวกเราเชื่อว่า เราจำเป็นต้องมีปฏิบัติการทางทหารกับสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) เพื่อปลดแอกประชาชน ช่วยให้สามารถกำหนดชะตากรรมตนเองได้ และปลอดภัยจากการทารุณกรรมของกองทัพเมียนมา
3.เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อความมั่นคงปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนของเรา รวมทั้งประชาชนคนไทย สืบเนื่องจากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยี่จากรัสเซีย ในปัจจุบันมีการเสนอพื้นที่ก่อสร้าง 2 แห่ง รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ตอนกลางของภาคพะโค และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ติดกับพรมแดนประเทศไทย
4.เราจึงประสงค์จะแจ้งให้สาธารณชนไทยทราบว่า เรากำลังพิจารณาอย่างจริงจังถึงผลกระทบและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางทหาร ระหว่างทหารของเรากับสภาบริหารแห่งรัฐ และเราได้ดำเนินการทั้งปวง เพื่อที่จะลดผลกระทบดังกล่าวต่อสาธารณชนในไทย
5.เราเคยดำรงชีวิตอย่างบรรสานสอดคล้องกับประชาชนคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเราสัญญาว่าจะดำรงชีวิตด้วยความเคารพและรักใคร่ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีกับประชาชนคนไทยต่อไปในอนาคต
เราขอยืนยันจุดยืนที่จะยึดมั่นหลักการความสัมพันธ์อย่างสงบ และความร่วมมือกับประเทศไทยไปตลอดกาล และเราหวังว่าประชาชนคนไทยจะเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อน-ทิคี เป็นช่องทางเชื่อมต่อประเทศไทยกับพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในเขตนะบูแล ห่างจากชายแดนประเทศไทย 132 กิโลเมตร
จังหวัดกาญจนบุรีมองว่าจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ มีโอกาสพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่มีบทบาทสูงอีกแห่งหนึ่งของอาเซียน จึงมีแผนจะพัฒนาพื้นที่บ้านพุน้ำร้อนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับบทบาทศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ที่จังหวัดชลบุรี
ด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อน เป็นด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2562 บนพื้นที่ 1,307 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 711 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณด่านพุน้ำร้อน-ทิคี เคยเงียบสงบมานาน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 หรือ 6 เดือนที่ผ่านมานี้เอง รณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพิ่งจัด ประชุมตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งศุลกากรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดด่านพุน้ำร้อน-ทิคี เป็นจุดผ่านแดนถาวร
ตามรายงานของสื่อ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ได้มีการประเมินว่าพื้นที่ชายแดนฝั่งบ้านทิคีในขณะนั้นไม่มีการสู้รบแล้ว ที่ประชุมจึงเชื่อว่าหากหน่วยงานรัฐฝั่งเมียนมาพร้อม ก็จะสามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน-ทิคีได้ในอีกไม่นาน
ด้านสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเอง ก็มองเห็นศักยภาพและความสำคัญของพื้นที่ชายแดนบ้านทิคี-พุน้ำร้อน
ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปในเขตบ้านทิคีตามทางหลวง AH 123 ไม่ไกลนัก มีพื้นที่ 6,676 เอเคอร์ หรือ 16,886 ไร่ ถูกเตรียมไว้เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโครงการนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Kee
นิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Kee เป็นโครงการของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แบ่งพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรม 3,380 เอเคอร์(8,549 ไร่) เขตเมืองอุตสาหกรรม 3,100 เอเคอร์(7,841 ไร่) และพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บนอีก 196 เอเคอร์(496ไร่)
เดือนธันวาคม 2559 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับรัฐบาลภาคตะนาวศรี เพื่อร่วมลงทุนในโครงการนี้ แต่ถูกภาคประชาสังคมในเมียนมาตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการโยกย้ายชุมชน ทำให้ต้องชะลอโครงการไปก่อน กระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลภาคตะนาวศรีได้กลับมาเซ็น MOU กับบริษัท Mae Tha Mee Kee อีกครั้ง เพื่อจะฟื้นนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ขึ้นมาใหม่
บริษัท Mae Tha Mee Kee เป็นการร่วมทุนระหว่าง Noble Prince บริษัทเพื่อการลงทุนของสหภาพแห่งชาติกะหรี่ยง ที่รับผิดชอบโดยกองพลน้อยที่ 4 กับ Sun and Rainbow บริษัทเอกชนในภาคตะนาวศรี ตามข่าวที่สื่อของเมียนมาเผยแพร่ในวันเซ็น MOU ระบุว่านิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Kee จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัท Power Construction Corporation of China หรือ Power China บริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
แต่หลังเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแตกสะบั้น ข่าวความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรม Mae Tha Mee Kee เงียบหายไป แต่ในแผนที่ Google Map ยังมีการปักหมุดสำนักงานของบริษัท Mae Tha Mee Kee เอาไว้ริมทางหลวง AH 123 ห่างจากด่านชายแดนทิคี-พุน้ำร้อน ประมาณ 5 กิโลเมตร
เมื่อมีข่าวว่ารัสเซียตกลงเข้ามาฟื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สถานการณ์ในพื้นที่บ้านทิคี ตรงข้ามบ้านพุน้ำร้อน ที่เคยสงบ ก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สู้รบรุนแรง
……

กองพลน้อยที่ 4 ของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธเพียงกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคตะนาวศรี
ในพื้นที่นี้ยังมีกองกำลังติดอาวุธอีกหลายกลุ่มที่กำลังต่อสู้อยู่กับกองทัพพม่า ได้แก่ กองทัพกอทูเล(KTLA) ที่ตั้งขึ้นมาโดยนายพลเนอดา เมียะ ลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) หรือรัฐบาลเงาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ซึ่งกระจายตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ สู้รบกับทหารพม่าอยู่ตามเมืองสำคัญหลายแห่งของภาคตะนาวศรี
กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้แสดงท่าทีชัดเจนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่าต้องการเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต่อให้สำเร็จ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เสียงปืน เสียงระเบิด ดังขึ้นเป็นครั้งแรกในเขตนะบูแล ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับ PDF แต่ข่าวการต่อสู้ที่นี่ รวมถึงอีกหลายเมืองของภาคตะนาวศรี ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายเท่าใดนักในสื่อไทย เพราะยังอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ชายแดน
จนเมื่อกองพลน้อยที่ 4 เปิดปฏิบัติการบุกยึดค่ายทหารพม่าที่บ้านทิคี ฝั่งตรงข้ามบ้านพุน้ำร้อน เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และออกแถลงการณ์ถึงเหตุผลของปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ว่ามาจากแผนการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทวาย
ภาพการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธแต่ละกลุ่มในภาคตะนาวศรี จึงเริ่มเด่นชัด และได้รับความสนใจจากสื่อในไทย
……
ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและรัสเซียแน่นแฟ้นขึ้นอย่างเด่นชัดในหลายด้าน หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม
ด้านวัฒนธรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการเปิดเพจ Myanslugi Russian Language เป็นเพจสอนภาษารัสเซียให้กับคนเมียนมา ปัจจุบัน เพจนี้มีผู้กดถูกใจ 6.5 พันคน และมีผู้ติดตาม 6 หมื่นคน
วันที่ 16 เมษายน 2568 ในช่วงตะจานหรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชุมชนออนไลน์ของเมียนมาได้ปรากฏ ภาพชุดและ คลิปที่กลายเป็นไวรัล ถูกส่งกระจายต่อออกไปอย่างกว้างขวาง
เนื้อหาของภาพชุดและคลิปนี้ เป็นการโปรโมทเทศกาลตะจาน และ”ทะนาคา” เครื่องประทินผิวจากธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมียนมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และเมียนมากำลังเสนอต่อยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนทะนาคาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
เรื่องราวในภาพชุดและคลิป เดินเรื่องโดยหญิงสาวที่หน้าตาสะสวย 6 คน แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของชาวพม่า เดินเที่ยวชมและร่วมเล่นสาดน้ำอย่างสนุกสนานกับผู้คนในเทศกาลตะจาน และพูดคุยกันถึงเรื่องทะนาคา
ประเด็นที่สร้างความสนใจและทำให้ภาพชุดและคลิปนี้กลายเป็นไวรัล คือผู้ที่เป็นตัวเดินเรื่องหลัก 4 คนเป็นหญิงสาวชาวรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีหญิงสาวชาวจีน 1 คน และหญิงสาวชาวพม่าอีก 1 คน มาร่วมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทะนาคา
เนื้อหาในคลิป เปิดด้วยภาพความสนุกสนานของการเล่นน้ำและบทสนทนาของหญิงสาวรัสเซีย 2 คน ด้วยภาษารัสเซีย มีซับไตเติ้ลเป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ ทั้งคู่พูดถึงความสวยงามของเทศกาลตะจาน ต่อด้วยเรื่องราวของทะนาคา จากนั้น เป็นภาพสาวรัสเซียทั้ง 4 ช่วยกันฝนและแต้มทะนาคาบนใบหน้าของกันและกัน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบทะนาคาของเมียนมามาก

มีผู้เดินเรื่องที่เป็นคนจีนแทรกเข้ามา มีบทพูดเป็นภาษาจีนอธิบายถึงทะนาคาว่า เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี
ปิดท้ายด้วยการให้ผู้เดินเรื่องสาวชาวรัสเซีย 4 คน และหญิงชาวพม่าอีก 1 คน พนมมือ กล่าวอวยพรปีใหม่แก่ผู้ที่ชมคลิป
Yone Lay เพจทางการของ”โหย่งเล”หรือกระต่ายน้อย นักร้อง นักแสดง และผู้กำกับชื่อดังของเมียนมา ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.5 ล้านคน เป็นเพจแรกๆที่เผยแพร่ภาพชุดและคลิปนี้ออกมา ปรากฏว่าเฉพาะภาพชุด มีผู้มาแสดงความรู้สึกกว่า 5.9 หมื่นคน แสดงความคิดเห็นกว่า 850 ความคิดเห็น และมีผู้แชร์ต่อออกไปอีกกว่า 2.3 พันครั้ง
ส่วนคลิป มีคนมาเข้าชมมากกว่า 2.1 ล้านครั้ง มีผู้แสดงความรู้สึกกว่า 9.5 หมื่นคน แสดงความคิดเห็นกว่า 580 ความคิดเห็น และแชร์ต่ออกไปอีกกว่า 5 พันครั้ง…
ด้านเศรษฐกิจ การเข้ามาลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของรัสเซียเริ่มเป็นข่าวครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2567 เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวกับสำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซีย ว่า รัฐบาลเมียนมาอยากได้ความช่วยเหลือจากรัสเซียเพื่อเริ่มต้นโครงการนี้

ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 Construction World นิตยสารด้านธุรกิจและการก่อสร้างของอินเดีย รายงานว่า รัฐบาลเมียนมากำลังเจรจาให้รัสเซียเป็นผู้ลงทุนและบริหารโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
วันที่ 21 มกราคม 2568 Iskander Kubarovich Azizov เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำเมียนมา ไปประชุมกับประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แล อู เมียตโก่ มุขมนตรีภาคตะนาวศรี ที่เกาะสอง อีก 1 เดือนถัดมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ Maxim Reshetnikov รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัสเซีย ลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กับ อู คันส่อ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมียนมา
วันที่ 6 มีนาคม พล.ต.ส่อมินทูน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ จะถูกสร้างขึ้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เซ็นความร่วมมือกับ Rosatom หน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของรัฐบาลรัสเซียแล้วในวันที่ 4 มีนาคม

ล่าสุด วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา อู เมียตโก่ มุขมนตรีภาคตะนาวศรี เป็นประธานในพิธีเปิดการเรียนการสอนภาษารัสเซียระดับพื้นฐานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของภาคตะนาวศรี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดทวาย
หลักสูตรภาษารัสเซียพื้นฐานที่เปิดครั้งนี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น เริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 5 มิถุนายน ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 16.30-18.00 น.
วัตถุประสงค์ของการเปิดสอนภาษารัสเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมา เพราะบริษัทจากรัสเซียกำลังจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ภาคตะนาวศรีกำลังเป็นพื้นที่ปะทะ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม…
อ่านประกอบ