พิเศษ เสตเสถียร
ในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเราในทุกด้าน ตอนนี้ก็กำลังเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลออกข่าวว่า กำลังเตรียมออก G-Token
รัฐบาลบอกว่า Government Token หรือ G-Token คือ โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการคลัง เป็นรูปแบบใหม่ของการระดมทุนภาครัฐที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดย G-Token ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ของประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มออกได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้ G-Token มีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
เพื่อทำความเข้าใจถึงศักยภาพของ G-Token เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “Tokenization” กันก่อน
Tokenization คืออะไร?
ลองจินตนาการว่าคุณมีบ้านหนึ่งหลัง แทนที่จะขายบ้านทั้งหลังซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากและมีขั้นตอนที่ซับซ้อน เทคโนโลยี Tokenization จะช่วยเปลี่ยนบ้านหลังนั้นให้กลายเป็น “โทเคนดิจิทัล” จำนวนมาก แต่ละโทเคนเปรียบเสมือน “หน่วยย่อย” ของความเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้น ทำให้คุณสามารถแบ่งขายความเป็นเจ้าของบ้านเป็นส่วนเล็กๆ ได้ง่ายขึ้น
กล่าวโดยสรุป Tokenization คือกระบวนการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า (เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ งานศิลปะ) หรือสิทธิเรียกร้อง (เช่น หุ้น พันธบัตร) ให้อยู่ในรูปแบบของโทเค็นดิจิทัล พอเป็นโทเคนดิจิทัลก็สามารถนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือเก็บรักษาได้บนระบบดิจิทัลที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ซึ่งมีความปลอดภัยและโปร่งใสสูง
Tokenized Securities: หลักทรัพย์ในโลกดิจิทัล
เมื่อนำแนวคิดของ Tokenization มาประยุกต์ใช้กับ “หลักทรัพย์” เราจะได้สิ่งที่เรียกว่า Tokenized Securities หรือ หลักทรัพย์แปลงเป็นโทเคน หลักทรัพย์ในความหมายดั้งเดิมนั้นรวมถึง หุ้นของบริษัท พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่มีตัวกลางและขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน
Tokenized Securities เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์นี้ โดยการนำหลักทรัพย์เหล่านั้นมาแปลงเป็นโทเค็นดิจิทัล ทำให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น
ตัวอย่างของการทำ Tokenized Securities ในต่างประเทศเช่น
การออกพันธบัตรรัฐบาลโทเค็น (Tokenized Green Bond): รัฐบาลฮ่องกงได้ริเริ่มการออกพันธบัตรรัฐบาลสีเขียวในรูปแบบโทเคนดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในฮ่องกง และเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้นด้วยเงินลงทุนที่น้อยลง พันธบัตรโทเค็นนี้มีการซื้อขายและจัดการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โทเคนอสังหาริมทรัพย์ (Tokenized Real Estate): มีหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินการแปลงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล ตัวอย่างเช่น บริษัท RealT ได้นำเสนอโทเคนที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วยเงินทุนที่น้อยลง และสามารถซื้อขายโทเคนเหล่านี้บนแพลตฟอร์มเฉพาะได้
โทเคนตราสารหนี้ (Tokenized Bonds): มีการนำเสนอโทเคนที่อ้างอิงกับตราสารหนี้ต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น BlackRock ได้เปิดตัวกองทุน BUIDL ซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ และนำเสนอในรูปแบบโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชน
ทั้งสองกรณีหลังเป็นกรณีการออกสินทรัพย์ดิจิทัลโดยภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล
แล้ว G-Token เกี่ยวข้องอย่างไร?
จากข้อมูลที่ปรากฏ G-Token ที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาอยู่นั้น มีแนวโน้มที่จะเป็น Tokenized Security รูปแบบหนึ่ง นั่นหมายความว่า G-Token จะเป็นโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับสินทรัพย์หรือสิทธิบางอย่างที่รัฐบาลกำหนด อาจเป็นพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบดิจิทัล หรือสิทธิในการเข้าถึงบริการหรือผลประโยชน์บางประการที่รัฐบาลมอบให้
อันว่า G-Token นั้นก็เป็น “โทเคนดิจิทัล” เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างหนึ่งตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ในรายละเอียดคนทำงานก็ต้องไปศึกษาและทำการบ้านกับ ก.ล.ต. ในเรื่องการขออนุญาตเสนอขายต่อประชาชน
หาก G-Token เป็น Tokenized Security จริง จะส่งผลดีต่อประชาชนอย่างไร? สิ่งสำคัญที่สุดคือ โอกาสในการเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงและน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้ การซื้อขาย G-Token บนแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าการลงทุนในตราสารหนี้แบบเดิม
ถึงแม้ G-Token จะฟังดูเข้าท่า แต่ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จะรู้จักพันธบัตรในรูปแบบดิจิทัลจะมีมากแค่ไหน คงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
แต่ก็น่าประหลาดใจที่ประเทศต่าง ๆ เกือบทั้งหมดเขาไปพัฒนาเงินดิจิท้ลในรูปแบบของ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency โดยให้ธนาคารชาติซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลนโยบายการเงินและการออกธนบัตรเป็นผู้ออกเงินดิจิทัลนั้น มีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่รัฐบาลจะออกสินทรัพย์ดิจิทัลเอง
แต่ทำไมรัฐบาลนี้ต้องพยายามอย่างมากในการออกสินทรัพย์ดิจิทัลเสียเอง? ตั้งแต่แจกเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต จนมาถึงการออกโทเคนดิจิทัล G-Token ในครั้งนี้ หรือว่ามีอะไรในกอไผ่? แถมยังเป็นกอไผ่ในยุคดิจิทัลเสียด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับ G-Token ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและพัฒนา เราคงต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจถึงกลไกการทำงาน เงื่อนไข และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง