ThaiPublica > Sustainability > Headline > “พิพิธ เอนกนิธิ” เกมโลกยั่งยืน กับ “กสิกรไทย” ลุย ‘Scope X’ …Capacity Building รับมือ scope1-2-3

“พิพิธ เอนกนิธิ” เกมโลกยั่งยืน กับ “กสิกรไทย” ลุย ‘Scope X’ …Capacity Building รับมือ scope1-2-3

21 พฤษภาคม 2025


นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย

“พิพิธ เอนกนิธิ” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพความยั่งยืน จากโดนัลด์ ทรัมป์ ถึง Net Zero เมื่อโจทย์ธุรกิจภายใต้กติการใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืนเช้มข้นขึ้น กรอบ Thailand Taxonomy ที่สถาบันการเงินจะนำไปใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า ให้สามารถเริ่มต้นตั้งเป้า ปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานภายใน วางแผนปรับตัว ออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียวมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่นและทันการณ์ต่อไป

กระแสที่ภาคเศรษฐกิจต้องร่วมเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะบทบาทของสถาบันการเงินที่ต้องไม่ทำแค่ขอบเขต (scope) ที่ 1 และ 2 ส่งผลให้ ‘กสิกรไทย’ ต้องช่วยลูกค้า transition (เปลี่ยนผ่าน) สู่ธุรกิจยั่งยืนตาม Scope 3 พร้อมชู ‘Scope X’ ภารกิจนอกธุรกิจ ช่วยเหลือลูกค้านอกบทบาทผ่านการตั้ง KOP 50

ด้วยบริบทโลกและกติกาต่างๆ ที่พลิกโฉมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวล้อกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยประเทศไทยมีหมุดหมายที่สำคัญจากการประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) โดยนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านเวที COP26 ในปี 2021 รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) และมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวคือ Thailand Taxonomy โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการโดยใช้กรอบ ESG (Environment, Social และ Governance) มาผนวกเข้ากับธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยสอง ได้สั่นคลอนแนวคิด ‘ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน’ นำไปสู่คำถามสำคัญว่า ความยั่งยืนจะชะงักหรือเดินหน้าต่อ และถ้าเดินหน้าต่อ จะต้องเดินเกมอย่างไร

“สำหรับประเทศไทย ผมใช้คำว่า ‘Thailand at Crossroad’ ยักษ์ใหญ่เขมือบกัน ตีกันอยู่ข้างบน เราจะเล่นเกมไหนดี หลายคนบอกทรัมป์จะทำให้ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรถไฟขบวนนี้พังไปเลยหรือแค่ดีเลย์… ผมมองว่ามันแค่ดีเลย์ แต่ไม่ตกราง” นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

มองโลกมองไทย กฎเกณฑ์-กติกา เขย่าก้าวยั่งยืน

นายพิพิธ เล่าว่า ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น กฎกติกาต่างๆ ที่ไม่ขึ้นกับสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป หรือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีรถไฟฟ้า (EV) ที่ญี่ปุ่นอาจเพลี่ยงพล้ำให้จีน หรือด้านเทคโนโลยีที่บางประเทศอาจจับมือกันพัฒนาเทคโนโลยีสู้กับประเทศมหาอำนาจ หรือด้านพลังงานสะอาดที่มีผู้เล่นรายใหม่มากมาย

ส่วนประเทศไทย นายพิพิธให้ข้อมูลว่า แผน NDC 3.0 กำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะประกาศออกมาในไตรมาส 3/2568 ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่เข้มข้นจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% เป็น 40% อีกทั้ง NDC 3.0 จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้เร็วขึ้น

แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ไม่ใช่แค่การกำหนดเป้าหมายเท่านั้น เพราะความท้าทายคือ

(1) เงินลงทุนในเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

นายพิพิธ ขยายความว่า หาก NDC 3.0 ประกาศใช้จะทำให้เป้าหมายด้านการจัดการสภาวะภูมิอากาศของไทยเข้มข้นขึ้น แต่ประเทศก็ต้องใช้เงินถึง 15.3 ล้านล้านบาทในการเปลี่ยนผ่านและลงทุนเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ในปี 2050

อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ตามมาคือ เงินจะมาจากไหน ใครเป็นคนจ่ายเงิน และไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีหรือรับมาจากต่างประเทศ และการลงทุนนั้นจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เพราะภาคธนาคารมักจะมองการลงทุนด้วยหลักคิด Traditional Financing เท่านั้น กล่าวคือ วิธีการปล่อยกู้แบบเดิมผ่านรูปแบบที่ความเสี่ยงต่ำ และมีระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนเร็ว

ขณะที่เทคโนโลยีที่ความเสี่ยงสูง และเวลาถึงจุดคุ้มทุนเร็ว คือเทคโนโลยีที่ยังไม่นิ่ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือ Unproven Tech / Short-term Investment มักจะเป็นบทบาทของนักลงทุน (angel investors), ทุนของผู้ประกอบการ (own equity), กองทุนแบบ matching funds, ทุนเปล่า (grants) หรือการระดมทุนหา seed funds

แต่ความท้าทายคือ เทคโนโลยีช่วยวิกฤติสภาวะภูมิอากาศที่ความเสี่ยงสูง และยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนในระยะสั้น หรือ Unproven Tech / Long-term Financing with Structures จะต้องพึ่งบทบาทของภาครัฐในการช่วยเปลี่ยนผ่าน ทั้งมาตรการ มาตรฐาน กติกา กฎหมาย แรงจูงใจ และงบประมาณ เพื่อสร้างกลไกและโครงสร้างพื้นฐานที่ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถทำได้

“ทั้งหมดต้องมีเงินมาช่วย ถ้าไม่มี ฉันจะเดินช้าหน่อย โลกก็ไม่ค่อยสะอาดเท่าไร ไม่สามารถลดอุณหภูมิโลกได้ 2.0 ตาม Paris Agreement… รัฐควรเข้าใจว่าการสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้รายใหญ่ไปช่วยรายเล็ก มันจะเกิดเป็นกลไกที่มีพลังอย่างมากในการดึงให้ทั้งประเทศไป เพราะวันนี้แบงก์เองเริ่มมีความคิดแบบนี้และเอาจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นๆ มาต่อกัน”

“ผมขึ้นเวทีนานาชาติแล้วเสนอว่า ถ้าอยาก transition ให้เร็ว ต้องทำให้สิทธิบัตรของเทคโนโลยีเป็นสินค้าสาธารณะ แล้วรัฐบาลโลกอุดหนุนไป อาจตั้งกองทุนระดับโลกให้กับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในต้นทุนนั้นจะบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้คำมั่นไว้ว่า ฉันจะลดก๊าซเท่าไร หรือมี financial edge การช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ”

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย

(2) กฎกติกา ระเบียบ หรือมาตรฐานต่างๆ ที่ยังคลุมเครือ เพราะอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก-สากล และอาจไม่ได้รับการยอมรับ

“Taxonomy จะมีปัญหาไหม มาตรฐานอุตสาหกรรมสี เขียว-เหลือง-แดง เป็นมาตรฐานเดียวกับยุโรปไหม ถ้าเราทำในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านจะยอมรับไหม มีทั้งเรื่องการเพิ่ม-ลดอุตสาหกรรม มันคืออนุกรมวิธานของการเขียนนโยบายประเทศกับมาตรฐานโลก”

“ถ้าบอกว่าวันนี้มีตลาดคาร์บอน ใช้มาตรฐานโลกหรือมาตรฐานไทย ตลาดไทยเขาอาจไม่ยอมรับ หรือคิดว่าจะเจรจากับประชาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เขายอมรับมาตรฐาน หรือจับกับจีนให้ส่งเทคโนโลยีกับความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ส่งออกไปจีนได้ ยิ่งมีการค้าข้ามแดน ยิ่งมีมาตรฐานมาจับว่า ถ้าเธอไม่อยู่บนมาตรฐานที่ฉันกำหนด เธอต้องจ่ายภาษีคาร์บอนข้ามแดนก่อนเข้าประเทศ หรือเวลาซื้อของแล้วคาร์บอนเครดิตอยู่เมืองไทย ส่งไปยุโรปเขาก็ไม่ยอมรับ แล้วต้นทุนอยู่ที่เท่าไรในการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก”

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งมีทั้งภาคบริการ ขนส่ง พลังงาน ฯลฯ แต่ละภาคอุตสาหกรรม ต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และคำถามคือ สถาบันการเงินจะใช้หลักคิดอะไรในการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจยั่งยืนไปพร้อมกัน

“ถ้าเรามีแรงปรารถนาแรงๆ โดยนักการเมืองหรือคนออกนโยบาย พลังงานทางเลือก (ลม โซลาร์ แบตเตอรี่) จะราคาถูกกว่าของเดิมไหม… การเปลี่ยนผ่านจะขึ้นอยู่กับนโยบาย กติกาโลกและกติกาเรา แต่ผมอยากให้เป็นกติกาเราที่อยู่บนมาตรฐานกติกาโลก”

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า การทำความเข้าใจกติกาโลกใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เข้าใจจะไม่สามารถทำอะไรต่อได้ อีกทั้งภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรัฐบาล ภาครัฐ และแหล่งทุนอย่างสถาบันการเงิน ซึ่งจะไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมได้

จับมือพันธมิตรฝ่าวิกฤติ

“เราทำงานใกล้ชิดกับกรม Climate Change (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กับ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช (อธิบดีกรมฯ) และพันธมิตร ทุกคนมาสุมหัวกันที่นี่ เรียนรู้ด้วยกันว่าเราจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่เราเป็นผู้ชนะได้อย่างไร แม้เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ก็ต้องเป็นนักเจรจา รู้ว่าตัวเองมี-ไม่มีอะไร เราต้องการอะไร และฝั่งนั้นต้องการอะไร ถึงจะชนะ”

ในภาพใหญ่ ธนาคารยังจัดตั้ง “เครือข่ายธุรกิจเพื่อการจัดการสภาพภูมิอากาศประเทศไทย” หรือ ThaiCBN (Thailand Climate Business Network) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารฯ กับ 25 องค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เชื่อมโยงการทำงานของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคการเงินและการธนาคาร องค์กรและธุรกิจต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านแนวทาง 3 ด้าน ได้แก่

  1. สร้างเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี แนวทางปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ (Best Practice)
  2. ส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ไปดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง
  3. เพื่อยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้พร้อมคว้าโอกาสใหม่ของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว นำไปสู่งาน EARTH JUMP 2025 ซึ่งได้ระดมและผนึกกำลังผู้นำระดับโลกและระดับประเทศ ร่วมกันพาธุรกิจฝ่าวิกฤติ และเพื่อให้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

‘Philanthropic Finance’ เครื่องมือ ‘เชื่อมต่อ’

นายพิพิธ อธิบายเรื่องการจัดการความเสี่ยงของธนาคาร 2 รูปแบบ แบ่งเป็น (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risks) ที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศ บางครั้งข้อจำกัดของการใช้งบประมาณ หรือกลไก/เครื่องมือจากภาครัฐ เพื่อส่งผ่านมายังภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีที่ยังไม่ถึงจุด tipping point

การปิดความเสี่ยงทางกายภาพตรงนี้ ธนาคารใช้กลไกที่เรียกว่า “Collaborative Philanthropic Finance” กล่าวคือ การแก้ปัญหาแบบการกุศลเพื่อสังคม ซึ่งเป็นวิธีการที่สถาบันการเงินปกติที่มี banking license (ใบอนุญาตการธนาคาร) ไม่สามารถทำโดยตรงได้

“ธนาคารบริจาคให้มูลนิธรักษ์ป่าน่าน เพื่อแก้ปัญหาสังคมเฉพาะ ที่อาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจนั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำไหลสู่ภาคกลางและเจ้าพระยา ไม่อย่างนั้นการเกษตรจะทำอย่างไร โรงงานจะทำอย่างไร ระบบขนส่งจะทำอย่างไร โมเดลน่าน เป็นการแก้ปัญหาลูกครึ่งระหว่าง physical กับ transition แต่อยู่ในรูปแบบของ Philanthropic Finance เพราะแบงก์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการที่ทำให้น้ำไหลลงมาจากภูเขา ไม่ได้อยู่ในกิจของเรา แต่นี่คือการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ผ่านมูลนิธิที่มีเป้าหมายเฉพาะ”

กิจกรรมการให้ความรู้และปลูกพืชสมุนไพรในโครงการป่ายาชุมชนของสถาบัน เค อะโกรอินโนเวท (K Agro Innovate) ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย

นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อสังคมอื่นๆ เช่น โครงการทำดีทำได้ ให้พนักงานร่วมกันนำเสนอและทำกิจกรรมเพื่อสังคม โครงการสติ (Sati) ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้ลูกค้าและคนทั่วไป, โครงการ AfterKlass, เพาะพันธุ์ปัญญา สร้างความรู้ด้านธุรกิจและการเงิน

“คนก็ เอ๊ะ บอกว่า (โครงการข้างต้น) ไม่ใช่ภารกิจอะไรของแบงก์ แต่สิ่งที่เราทำมันเหนือไปกว่ากล้ามเนื้อที่เคยสร้างเอาไว้ เคยตีแบดฯไปตีเทนนิส เคยว่ายน้ำไปเล่นโปโลน้ำ แต่ถ้าคุณเป็นนักวิ่งแล้วไปแข่งโปโลน้ำ คุณตายตั้งแต่แรก และเป็นบทบาทซึ่งเขาอนุญาตให้คุณทำ เราหารือกับแบงก์ชาติมาโดยตลอด”

(2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risks) ตั้งแต่กฎระเบียบ กติกา มารยาทต่างๆ ของโลกและประเทศ เป็นรูปแบบและกลไกที่ขับเคลื่อนด้วยตลาด ซึ่งนำโดยสถาบันการเงิน (Primarily Market-based Mechaism led by Financial Institutions) ตัวอย่างเช่น การเงินสีเขียว (green finance) การแก้ปัญหาวิกฤติสภาวะภูมิอากาศด้วยหลักคิด SBTi (climate solution) หรือกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการต่างๆ

scope1-2-3 ของ’กสิกรไทย’

“นี่คือน้ำไหลวนเชี่ยวขนาดหนัก เชี่ยวทั้งโลก เชี่ยวทั้งประเทศ ซึ่งโกลาหลปั่นป่วนกันอยู่ แต่เราบอกไม่เป็นไร ระหว่างนี้กสิกรไทยโฟกัส Scope 1, Scope 2 การดำเนินงานของแบงก์ และ Scope 3 ของแบงก์เท่ากับ 480 เท่าของ Scope 1 และScope 2 รวมกัน เพราะธุรกิจแบงก์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ค่อยมี แต่ถ้าเราปล่อยสินเชื่อให้โรงงาน และโรงงานนั้นปล่อยคาร์บอนเยอะ แบงก์มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการปล่อยของโรงงานด้วย เป็น Scope 3 ที่แบงก์ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย”

เส้นทางสู่ Net Zero ของธนาคารกสิกรไทย

  • 2563 (ค.ศ. 2020) กำหนดปีฐานScope1 และScope 2 และ Scope 3 (พอร์ตโฟลิโอของธนาคาร)
  • 2568 (ค.ศ.2025)
    • Scope 1 และ Scope 2 ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน
      • เปลี่ยนเป็นรถ EV และรถไฮบริด
      • ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บนอาคารสำนักงานและสาขา
    • Scope 3 (พอร์ตโฟลิโอของธนาคาร)
      • ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม
      • ออกแบบ พัฒนา กำหนดกลยุทธ์ในการช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  • 2573 (ค.ศ.2030)
    • scope 1 และscope 2 ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน
      • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 90% จากปีฐาน และจัดการส่วนที่คงเหลือด้วยกระบวนการ removal
  • Scope 3 (พอร์ตโฟลิโอของธนาคาร)
    • สนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท
    • ลดยอดสินเชื่อคงค้างในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมถ่านหินจนเป็นศูนย์
  • 2593 (ค.ศ. 2050) สนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ตามเป้าหมายความตกลงปารีส
  • 2608 (ค.ศ.2065) เป็น Net Zero ตามเป้าหมายประเทศไทย และเร่งดำเนินการส่วนที่เป็นไปได้ให้รวดเร็วขึ้น

‘KOP 50’ Scope X…Beyond Banking ทำ technical training

นายพิพิธกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Scope 1 และScope 2 ทำได้ ‘เกินเป้า’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับพฤติกรรมของพนักงาน เปลี่ยนไปใช้รถ EV ขณะเดียวกันอาคารสำนักงานของธนาคารก็ติดโซลาร์ไปหมดแล้ว

“ Scope 1 และScope 2 ต้องหาจุดให้ได้ ก็จะสามารถลดคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย แต่ทัศนคติของคนเป็นเรื่องใหญ่ กว่าจะบอกให้แยกขยะ ใช้เวลาเป็นปี แบงก์ดูหรูหรา มนุษย์แบงก์มันเปลี่ยนกันไม่ง่าย ทุกคนมีความรู้ มีอะไร ท้ายที่สุดเราก็เปลี่ยนได้ อย่างสำนักงานพหลโยธินกว่าจะจัดการขยะได้ใช้เวลา 1 ปี ออกแรงกันเยอะมาก ต่อมาก็อปปี้ไปใช้ที่อาคารราษฎร์บูรณะ ทีมงานมารายงานว่าทำครั้งเดียวจบ เพราะรู้แล้วว่าสูตรสำเร็จมันคืออะไร จริตมนุษย์แบบนี้ อาคารแบบนี้ คนแต่งตัวแบบนี้ การศึกษาแบบนี้”

นายพิพิธเสริมว่า การจัดกาScope 1 และ Scope 2 ได้กลายเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่นๆ เข้ามาดูงานอีกด้วย

ส่วน Scope 3 ตามกรอบของ Taxonomy ในระยะแรกธนาคารลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน 6 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า (power generation) (2) อุตสาหกรรมถ่านหิน (coal) (3) อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (oil and gas) (4) อุตสาหกรรมซีเมนต์ (cement) (5) อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม (aluminium) และ (6) อุตสาหกรรมยานยนต์ (automotive) โดย

หัวใจของการทำScope 3 คือการยื่นมือช่วยเหลือ โดยนายพิพิธใช้คำว่า Capacity Building โดยเข้าไปให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้ลูกค้า-ซัพพลายเชนเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกัน เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าสินเชื่อหรือซัพพลายเชน ซึ่งอยู่ในScope 3 นับเป็นความรับผิดชอบของธนาคารด้วย

ธนาคารกสิกรไทยจึงเรียกสิ่งที่ผสมกลมกลืนเข้าไปในธุรกิจว่า ‘Capacity Building’ ผ่านการจัดตั้งเป็นบริษัทช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะมิติของความรู้และการเปลี่ยนผ่าน โดยมีบริษัท KOP 50 โดย บริษัทโฮลดิ้งสำหรับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและ ธรรมาภิบาล เป็นบริษัทที่จะดำเนินการด้านความยั่งยืนนอกขอบเขตของscope 1-2-3 และจัดสรรเงินผ่านโฮลดิ้งนี้เพื่อกระจายไปยังบริษัทย่อยข้างล่าง อีกทั้งเป็น Capacity Building คือ ‘โอกาสในการทำธุรกิจในโลกสมัยใหม่’

“คนถามว่า (สิ่งที่ KBANK ทำ) สโคป (ขอบเขต) อะไร… เวลาพูดกับทีมงาน ผมบอก ‘สโคปเสือก’ (หัวเราะ) เพราะแต่ละสโคปเขียนชัดเจน แต่มันไม่มีทางประสบความสำเร็จถ้าไม่ทำสโคปนี้ สุดท้ายเรียกว่า Scope X ซึ่งเป็น unique position ที่เราตีโจทย์ขึ้น”

“การปล่อยสินเชื่อเพื่อ Trasition หรือที่เรียกว่า scop3 แค่ทำเฉพาะที่เคยทำธุรกรรมการปล่อนยกู้แบบที่เคยทำมา ไม่ได้-ไม่พอ ต้องทำมากกว่า ถามว่าทำอะไรบ้าง ธนาคารตั้งบริษัทขึ้นมาหลายบริษัท เพื่อตอบโจทย์องค์ความรู้ด้านต่างๆเกี่ยวกับการ transition อุตสาหกรรมไปสู่สีเขียว ต่อไปใครทำ ESG ก็มาอยู่ข้างล่างบริษัทนี้หมด”

บริษัทภายใต้ KOP 50 ได้แก่

  • KClimate 1.5 บริการสนับสนุนด้านการคำนวณคาร์บอนและรายงานข้อมูล ESG
  • K Energy+ แพลตฟอร์มตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ และโซลูชันด้านเทคโนโลยี
  • Creative Climate Research Center สำหรับจัดอบรม เผยแพร่ความรู้ งานวิจัยและความร่วมมือ ร่วมกับพันธมิตร มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัย

“เราคุยกับ regulator ว่าเคแบงก์ขอทำ Scope X คือ Beyond Banking จะเห็นว่าโจทย์ที่เราตี ถ้าทำเหมือนเดิมก็ไม่สำเร็จ เราต้อง simplify knowledge กติกาโลกและความเป็นไปของกระแสโลกมาเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เช่น เทรนนิ่งให้ลูกค้าสมัยก่อนจัดเอสเอ็มอี สัมมนาไม่พอ ต้องจับมือทำ ใครอยากมาเดินเส้นทางสีเขียวนี้ก็มาร่วมกับเรา”

“เราเปิดบริษัทขึ้นมา เพราะเป็นคนที่หูตาเร็ว รู้ว่าต้นทุนของธุรกิจเท่าไร ทุกอย่างต้องส่งให้แบงก์ แต่เราเองมักจะพูดกันเองว่า เราไม่มีมือ มีแต่ปากกับมีแต่สมอง…มีตังค์ แต่ตังค์คนอื่น แต่แบงก์รู้ว่าขายที่ไหน ต้นทุนเท่าไร ต้นทุนราคาถูกจะเป็นอย่างไร ตลาดแบงก์เห็น เราเลยขยับเพื่อให้มือเขาทำได้เร็วขึ้น จับอะไรต่างๆ ได้เร็วขึ้น ตาเห็นได้เร็วขึ้น เพราะเราเป็นคนที่มีความรู้ และเห็นภาพเกมโลก”

“KOP 50 จะทำให้เรามีโอกาสที่เราจะเป็นผู้ชนะ และเป็นโอกาสสร้างเกมของเราเอง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีและเป็นคนทำตามกติกาคนอื่น ใช้แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นข้อได้เปรียบแล้วส่งออกให้คนอื่น เป็นอย่างนั้นทุกครั้ง ”

แต่ครั้งนี้ธนาคารจัดอบรม-เทรนนิ่ง ให้กับลูกค้า-ผู้ประกอบการ และมีค่าใช้จ่ายเกือบ 200,000 บาท ซึ่ง นายพิพิธ อธิบายเรื่องนี้ว่า “แบงก์ไม่ได้คิดจะรวยจากเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่จ่ายเงิน ของฟรีมันไม่มีคุณค่า ที่ต้องเก็บเงินเพราะต้องตั้งใจเรียน พอบอก 150,000 170,000 บาท ทุกคนคิดหนัก แต่เขาก็แฮปปี้กันมากและสร้างเป็นเครือข่ายที่สำคัญที่สุด และโชว์เคสนวัตกรรม เราให้กับคนที่กำลังคิดที่จะเปลี่ยนผ่านเรื่องกรีนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีเจตจำนงหรือความปรารถนาที่จะเปลี่ยน พูดไปก็เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม พนักงานภายในแบงก์เองก็ต้องเข้าใจหลักคิดความยั่งยืนและกติกามารยาทใหม่ของโลก ตลอดจนมีใจที่อยากจะช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านด้วย ไม่ใช่มัวแต่รอลูกค้ามาขอสินเชื่อ

“ถ้าไม่มีใครทำ technical training ให้ เช่น วัดคาร์บอนอย่างไร เก็บข้อมูลอย่างไร รายงาน verify-validate อย่างไร แล้วเอาข้อมูลไปเปิดเผยกับใคร ใครจะเชื่อถือได้ งั้นคุณมากับแบงก์ เราต้อง educate ให้คน ฉะนั้น Capacity Building คือความรู้ต่างๆ ไม่ใช่ทำเฉพาะเงิน ให้เข้าใจกติกาอย่างถ่องแท้และชัดเจน และค่อยๆ transition ให้เขา ไม่ใช่ให้เขาทำดีตอบโจทย์เลยทีเดียว”

นอกจากนี้ Scope X ยังเป็นการช่วยเหลือลูกค้ารูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swap Station) ในพื้นที่ชุมชนที่หนาแน่น ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบหนึ่ง

“เราปิดสาขาไปตั้งเยอะ ตอนนี้คนมาอยู่ใน K Plus หมด เลยเอาสาขาที่มีมาทำ swap station เลย ใน high street หรือ prime area การ swap แบตเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับไรเดอร์ เราทำให้คนกลุ่มเล็กสามารถเข้ามาสู่เรื่องพวกนี้ได้”

“swap station เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งเหล่านี้ รัฐลงทุนไหม ฉะนั้นต้องหาวิธีทะลุทะลวง มันจะมีการเปลี่ยนผ่านเยอะมากของระบบอุตสาหกรรมและนวัตกรรม หรือ green technology ตอนนี้ผมว่าเราเริ่มเข้าใจ EV Car แล้ว”

หรือแพลตฟอร์ม GreenPass ช่วยให้ธุรกิจ SME และลูกค้ารายย่อยที่ไฟฟ้าสามารถขึ้นทะเบียนและซื้อขาย REC (Renewable Energy Certificate) โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5 กิโลวัตต์ อีกทั้ง REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการดำเนินงานในส่วนขอบเขตที่ 2 ได้ด้วย

อีกตัวอย่างคือการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก-กลางที่อาจตามไม่ทันเทคโนโลยี ทำให้พลาดโอกาสในการแข่งกันกับโรงแรมขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่มีอีเวนต์ทำให้โรงแรมใหญ่ขึ้นราคา แต่โรงแรมเล็กไม่รู้ว่าต้องขึ้นราคา มิหนำซ้ำยังขายห้องพักไม่ได้อีก ดังนั้น บริษัทย่อยของกสิกรไทยจึงเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นายพิพิธ เสริมว่า ธนาคารมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ลูกค้ากรีน แม้ลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อจะไม่กรีนในตอนแรก แบงก์ก็ต้องไม่ปฏิเสธทันที แต่ต้องวางเงื่อนไขว่าถ้าคุณพร้อมจะกรีน แบงก์ก็จะให้สินเชื่อ เพราะ “ถ้าไม่มีตังค์ เดินไม่ได้”

“ผมคิดว่าเราต้องทำอะไรแล้ว มัวแต่ทำเฉพาะ financing ไม่มีทาง ท้ายที่สุดถ้าลูกค้าเจ็บ เราก็เจ็บ เขา transition ไม่ได้ เราก็ตาย”

การปล่อยสินเชื่อสีเขียวในScope 3 ปี 2567 ปล่อยสินเชื่อและลงทุนเพื่อความยั่งยืน 48,500 ล้านบาท และยอดสะสมตั้งแต่ปี 2565-2567 จำนวน 121,897 ล้านบาท

“สมัยก่อนใครไม่ทำเรื่องนี้ (ความยั่งยืน) สังคมรังเกียจ ทุกวันนี้กลายเป็นแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสมกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมธุรกิจ ไม่ใช่แค่ Green Agenda (วาระเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ที่แยกกับธุรกิจ มันเป็นธุรกิจที่ทำกันทุกวัน ในไม่ช้าก็กลายเป็นเรื่องปกติในสมัยใหม่”