ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พร้อมแผนป้องปราม หวัง ‘USTR’ ปลดไทยออกจากบัญชีดำ

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พร้อมแผนป้องปราม หวัง ‘USTR’ ปลดไทยออกจากบัญชีดำ

27 พฤษภาคม 2025


เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2568 ภายหลังการประชุม ครม.นายภูมิธรรม มอบหมายให้นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ , นายคารม พลพรกลาง และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ – สมัครภาคี WPPT คุ้มครองสิทธินักแสดง – พร้อมผ่านแผนป้องปรามละเมิดลิขสิทธิ์ หวัง ‘USTR’ ปลดไทยออกจากบัญชีดำ – ผ่อนผัน ‘ศิลาทองวิเชียร’ ทำเหมืองหินปูนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี – แก้ พ.ร.บ.แรงงานทะเล-ห้ามใช้งานเด็กต่ำกว่า 18 ปี ในเวลากลางคืน – ลดค่าธรรมเนียมใบประกอบอาชีพช่างไฟเหลือ 100 บาท

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2568 ภายหลังการประชุม ครม.นายภูมิธรรม มอบหมายให้นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ , นายคารม พลพรกลาง และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ – สมัครภาคี WPPT คุ้มครองสิทธินักแสดง

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ รวมทั้งรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และให้ความเห็นชอบการสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดง และสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPPT) และเสนอการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำภาคยานุวัตรสาร เพื่อการสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงของ WPPT เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคี และ พณ. ได้มีหนังสือแจ้ง กต. ทราบถึงการดำเนินการภายในต่างๆ ซึ่งรวมถึงการออกกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยที่ได้มีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและรักษาระดับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงและผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงของประเทศสมาชิกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปแบบเดียวกัน ได้แก่ สิทธิทางเศรษฐกิจของนักแสดง สิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง สิทธิในการได้รับค่าตอบแทนสำหรับการแพร่เสียงและการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ ประเทศภาคีต้องกำหนดอายุการคุ้มครองสำหรับสิทธิของนักแสดงให้มีอายุอย่างน้อย 50 ปี นับแต่วันสิ้นปีที่ได้มีการบันทึกการแสดงไว้ในสิ่งบันทึกเสียง และต้องกำหนดอายุการคุ้มครอง สำหรับผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงให้มีอายุอย่างน้อย 50 ปี นับแต่วันสิ้นปีที่ได้มีการโฆษณาสิ่งบันทึกเสียง หรือ หากไม่มีการโฆษณาให้มีอายุอย่างน้อย 50 ปีนับแต่วันสิ้นปีที่ได้มีการบันทึกเสียง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลให้ไทยมีพันธกรณีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องเข้าร่วมเป็นภาคี WPPT ซึ่งจะต้องปรับปรุง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับ WPPT ให้แล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 มกราคม 2570 ประกอบกับปัจจุบันการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงานอันลิขสิทธิ์ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ ไม่สามารถรองรับสภาพการณ์ดังกล่าวที่เปลี่ยนแปลงไปได้ รวมทั้ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว

พณ. จึงได้เสนอ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีสาระสำคัญเพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับ WPPT

นอกจากนี้ พณ. ได้เสนอการสมัครเข้าเป็นภาคี WPPT และเสนอการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญต่อไปด้วย เนื่องจากเห็นว่าประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคี WPPT จะยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงและผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง เปิดโอกาสให้มีการขยายตลาดสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากจะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ และนักแสดงชาวไทยได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ในประเทศภาคีสนธิสัญญาอื่น ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

พณ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย รวมทั้งได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองพร้อมกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง รวม 3 ฉบับ ทั้งนี้ กฎหมายลำดับรองดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาในการออกภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผ่านแผนป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ หวัง ‘USTR’ ปลดไทยออกจากบัญชีดำ

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Thailand intellectual Property Work Plan: IP Work Plan) ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) (ร่างแผนงานฯ) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานผลการจัดสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ โดยแบ่งสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

    1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country: PFC)
    2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL) และ
    3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL)

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษมาโดยตลอด

นางสาว ศศิกานต์ กล่าวว่า ในปี 2567 พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้จัดทำร่างแผนงานฯ เพื่อระบุแนวทางการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง และทุกบัญชี ซึ่งร่างแผนงานฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ลิขสิทธิ์

    (1) เผยแพร่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎระเบียบ หรือ มาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในโอกาสที่เหมาะสม
    (2) ในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ ให้มีการยกระดับการแก้ไขปรับปรุงระบบการชี้แจง หรือ ระบบแจ้งให้ทราบให้ชัดเจน และนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือ ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดซึ่งอยู่บนเครือข่าย
    (3) ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติ เพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดง และสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
    (4) แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อพัฒนาการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพให้เสร็จสิ้น
    (5) ยกระดับ หรือ แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อกำจัดช่องว่างที่อาจมี ตามข้อยกเว้นของการคุ้มครองข้อมูลบริหารสิทธิ
    (6) แก้ไขปัญหาองค์กรจัดเก็บ
    (7) แก้ไขปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต

2. เครื่องหมายการค้า ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียน โดยแก้ไขปัญหางานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าค้างสะสม และเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

3. สิทธิบัตรและเภสัชภัณฑ์

    (1) แก้ไขปรับปรุงสิทธิบัตร เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายสิทธิบัตร และกฎระเบียบ หรือ มาตรการ รวมถึงให้การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในร่างกฎหมายสิทธิบัตรสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย
    (2) สร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการใช้ข้อมูลในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม
    (3) แก้ไขปัญหาคุณภาพในการออกสิทธิบัตร และปัญหางานค้างสะสม
    (4) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการให้สัตยาบัน หรือ ภาคยานุวัติกรรมสารเจนิวา ภายใต้ความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ

4. การบังคับใช้สิทธิ

    (1) ให้ข้อมูลสถิติ และข้อมูลอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
    (2) มีมาตรการบังคับใช้สิทธิทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพ
    (3) สืบสวน และดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาทั่วประเทศให้ประสบผลสำเร็จ
    (4) แก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์
    (5) ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ และการขายเภสัชภัณฑ์ปลอมในไทย

ผ่อนผัน ‘ศิลาทองวิเชียร’ ทำเหมืองหินปูนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการขอผ่อนผันให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาทองวิเชียร ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2560 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ที่ตำบลสามแยก อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 136 ไร่ 72 ตารางวา ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 เรื่องการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อการทำเหมืองแร่ การระเบิดย่อยหิน และขุดดินลูกรัง รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีการต่ออายุการอนุญาตในที่เดิมที่เคยได้รับอนุญาตมาก่อนจะพิจารณาเฉพาะคำขออนุญาต ในเขตพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่ 1 จะได้นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 เห็นชอบและอนุมัติ ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี 1 บีอาร์ และ 1 บี เอ็ม เพื่อสามารถดำเนินการอนุญาต ประทานบัตรเหมืองหินอุตสาหกรรม จำนวน 20 แหล่ง ในบริเวณ 13 จังหวัด รวมถึงเขาท่าเกย ตำบลสามแยก อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาทองวิเชียร ได้ยื่นคำขอประทานบัตรตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยประทานบัตรมีอายุคราวละ 10 ปี

ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนฯ ศิลาทองวิเชียร ได้ยื่นคําขอประทานบัตรที่ 2/2560 จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 136 ไร่ 72 ตารางวา โดยยื่นขอทับในพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่ 25615/25411 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาติ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับทำเหมือง ไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะร้ายแรง หรือ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่

แก้ พ.ร.บ.แรงงานทะเล-ห้ามใช้งานเด็กต่ำกว่า 18 ปี ในเวลากลางคืน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทะเล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ โดยร่างพระราชบัญญัติแรงงานทะเล ฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เพื่อให้พระราชบัญญัติดังกล่าว มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) โดยกำหนดให้การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมาย ว่าด้วยเงินทดแทน เพื่อให้คนประจำเรือได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายดังกล่าว รวม 7 กรณีเช่น สิทธิเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค สิทธิกรณีคลอดบุตร สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร สิทธิกรณีชราภาพ และสิทธิกรณีว่างงาน (เดิม ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย ว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่เป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งคุ้มครอง 3 กรณี)

พร้อมทั้ง กำหนดห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ทำงานในเวลากลางคืน เว้นแต่ในกรณีเป็นการฝึกอบรมที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือเป็นการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมเจ้าท่าให้การรับรองหรือตามตำแหน่งหน้าที่ที่คนประจำเรือต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือ อันเป็นการยกเลิกระบบอนุญาต แล้วให้กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบเกี่ยวกับการฝึกอบรมการทำงานของคนประจำเรือเป็นผู้ให้การรับรอง (เดิม กำหนดข้อยกเว้นให้ในกรณีเป็นการฝึกอบรมที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือเป็นการฝึกอบรมตามตำแหน่งหน้าที่ที่คนประจำเรือต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งต้องไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย) และกำหนดบัญญัติบทนิยามคำว่า “การทำงานในเวลากลางคืน” ให้ชัดเจนว่าหมายถึง การทำงานตั้งแต่เวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 06.00 นาฬิกา (เดิม กำหนดให้ “การทำงานเวลากลางคืน” เริ่มต้นก่อนเที่ยงคืนและสิ้นสุดหลังจากเวลา 05.00 นาฬิกาเป็นต้นไป และต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 9 ชั่วโมง)

ลดค่าธรรมเนียมใบประกอบอาชีพช่างไฟเหลือ 100 บาท

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง เพื่อส่งเสริมและลดภาระแก่ประชาชนซึ่งเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้กระทรวงแรงงานแก้ไขวันใช้บังคับของ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 และตัดร่างข้อ 2 ออก เนื่องจากไม่มีกรณีที่ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไว้เกินแล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

นายคารม กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 26/3 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ ลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถจากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประกาศกำหนดให้สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องดำเนินการ โดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน หากผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพดังกล่าวไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

“ปัจจุบันมีผู้ปฏิบัติงานซึ่งเคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ แต่หนังสือหมดอายุแล้ว มีจำนวนประมาณ 50,000 คน และผู้ปฏิบัติงานซึ่งไม่เคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถมาก่อน จำนวนประมาณ 18,500 คน จึงมียอดรวมของผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถทั้งสิ้นประมาณ 68,500 คน ซึ่งอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับตามกฎหมายได้”

“รง. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถที่เป็นหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมการประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ในอัตราครั้งละ 1,000 บาท ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ ลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะเข้ารับการประเมิน เพื่อจะได้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการประเมิน เพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถครั้งละ 100 บาท (เดิม ครั้งละ 1,000 บาท) 2. กำหนดให้มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวใช้บังคับกับศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) เท่านั้น” นายคารม กล่าว

ประกาศผังเมืองรวมชุมชนทับกวาง สระบุรี

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทับกวาง จังหวัดสระบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

นายคารม กล่าวว่า สืบเนื่องจากกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทับกวาง จังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2550 สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อปี 2555 และจากการประเมินผลเกี่ยวกับผังเมืองรวมชุมชนทับกวางที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนประชากรมากกว่าผังเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นในหลายบริเวณ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) มีร้อยละกิจการรองที่มีการใช้พื้นที่เกินร้อยละกิจการรองที่กำหนดไว้ ด้านคมนาคมและขนส่งในปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการตามโครงการที่ได้วางไว้ ซึ่งตำบลทับกวางมีพื้นที่บริเวณตรงกลางผังที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาในอนาคต และบริเวณพื้นที่ผังดังกล่าวเป็นพื้นที่บริเวณนิคมสร้างตนเองเดิม จึงมีการตัดถนนโครงข่ายไว้บางส่วนบริเวณด้านล่างของถนนมิตรภาพ ประกอบกับมีพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นแหล่งงานสำคัญของพื้นที่ รวมทั้งมีถนนสายสำคัญคือถนนมิตรภาพและมีทางรถไฟผ่านในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดศักยภาพในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินผลของผังเมืองรวมชุมชนทับกวาง รวมทั้งปัญหา ศักยภาพ และแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าว จึงได้มีการปรับปรุงผังเมืองรวมดังกล่าว เช่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเดิมในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) จำนวน 929.81 ไร่ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ที่ดินประเภทชนบท และเกษตรกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นที่ดิน ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยได้มีบ้านเรือน และมีการพัฒนาไปแล้วเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยตามผังเดิมไม่สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ และเป็นการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต กำหนดให้ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกินร้อยละ 15 (เดิม ร้อยละ 10) และเพิ่มข้อกำหนดของถนนโครงการคมนาคม และขนส่งให้ใช้บังคับอันเป็นไปตามมาตรฐานของระบบคมนาคม และขนส่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง

นายคารม กล่าวต่อว่า ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทับกวาง จังหวัดสระบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย และตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 121.40 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้อง หรือ ชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิต และการบริการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม พัฒนาการบริการทางสังคม รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 12 ประเภท ได้แก่

    1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)
    2. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง)
    3. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง)
    4. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน)
    5. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว)
    6. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียว มีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล)
    7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน)
    8. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว)
    9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก)
    10. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน)
    11. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) และ
    12.ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)

ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้น ๆ รวมทั้งกำหนดประเภท หรือ ชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท รวมทั้งกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

มอบ รมว.แรงงานลงสัตยาบัน ILO ที่นครเจนีวา 9-13 มิ.ย.นี้

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

    1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 (อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155) และพิธีสาร ค.ศ. 2002 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 (พิธีสารฯ)

    2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ

    3. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา (กำหนดการเดินทางไปมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในระหว่างการประชุมใหญ่ ประจำปี ILO สมัยที่ 113 ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส)

นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ซึ่งประเทศไทย (ไทย) มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดำเนินการจัดทำนโยบายแห่งชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินการตามขั้นตอน ที่จำเป็น ทั้งปฏิบัติการระดับประเทศ เช่น

    (1) การพิจารณากำหนดเงื่อนไขในการออกแบบการก่อสร้าง และการวางผังสถานที่ประกอบการ
    (2) การจัดทำและปฏิบัติตามขั้นตอนในการแจ้งอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงาน
    (3) ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้นำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือ สสารที่ใช้ในการทำงานจะดำเนินการให้เป็นที่พอใจได้ว่า จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของผู้ที่นำ

สิ่งเหล่านี้ไปใช้ และปฏิบัติการระดับสถานประกอบการ เช่น (1) นายจ้างต้องทำให้มั่นใจว่าสถานที่ทำงาน เครื่องจักร อุปกรณ์และกระบวนการภายใต้การควบคุมของตนมีความปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ (2) คนงานหรือผู้แทนของคนงานในสถานประกอบการต้องได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อให้เกิดผลใช้บังคับตามนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพิธีสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขั้นตอนการบันทึก และการแจ้งอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดทำสถิติประจำปีด้านอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

“รง. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากรณีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง และ กต. (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไม่ขัดข้อง และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยหาก รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ ได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ดังกล่าว อนุสัญญาฯและพิธีสารฯ ก็ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ทั้งนี้ รง. ได้ยืนยันแล้วว่า สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ได้ภายใต้กฎหมายภายในของไทย โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯและพิธีสารฯ” นายคารม กล่าว

รับรอง ‘ถ้อยแถลงโตเกียว’ หนุนความร่วมมือด้านโทรคมนาคม

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ “ถ้อยแถลงโตเกียว” และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรับรองร่างถ้อยแถลงโตเกียว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

นายอนุกูล กล่าวว่า ร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ “ถ้อยแถลงโตเกียว” เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการร่วมมือ และทำงานร่วมกันในด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นวัตกรรมดิจิทัล และความเป็นผู้ประกอบการ ความไว้ใจ และความปลอดภัย การเข้าถึงดิจิทัลอย่างทั่วถึง และการเสริมสร้างศักยภาพ ความยั่งยืน และการเป็นคู่พันธมิตรและการทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงโตเกียว ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างถ้อยแถลงโตเกียวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ ตามนัยมาตรา 4 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2568

เห็นชอบแถลงการณ์ รมต.กลุ่มเคร์นส์ หนุนสินค้าเกษตร – ความมั่นคงอาหาร

นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 [(ร่าง) แถลงการณ์ฯ] ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสารัตถะ หรือ ถ้อยคำของ (ร่าง) แถลงการณ์ฯ ข้างต้น ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ร่วมรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ฯ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ [จะมีการรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ฯ โดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส]

นายอนุกูล กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ (Cairns Group Ministerial Meeting) มีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างแรงสนับสนุนทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างระบบการค้าสินค้าเกษตรโลกให้เป็นไปอย่างเสรี และเป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก จำนวน 20 ประเทศสมาชิก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 43 ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยที่ประชุมจะมีการรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ฯ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยไม่มีถ้อยคำ หรือ บริบทที่ทำให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการลงนามในขั้นตอน โดย (ร่าง) แถลงการณ์ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ เช่น

    (1) เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้า ภายใต้ WTO เพื่อรักษาระบบการค้าที่มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้

    (2) เสริมสร้างความเป็นธรรม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าสินค้าเกษตร ผ่านการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งกำหนดไว้ตามมาตรา 20 ของความตกลงเกษตร รวมถึงการสร้างความคืบหน้าในประเด็น 3 เสาหลัก ภายใต้ความตกลงเกษตร คือ การเปิดตลาด การอุดหนุนภายใน และการแข่งขันการส่งออก เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปมีความก้าวหน้าและสมดุล

“เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัย มาตรา 4 (9) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับ กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และ สคก. เห็นว่า (ร่าง) แถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” นายอนุกูล ระบุ

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 เพิ่มเติม