ThaiPublica > เกาะกระแส > จากราชทัณฑ์ถึงชั้น 14 รพ.ตำรวจ ความพยายามใช้ ‘Rule of Law’ เริ่มเห็นผล!!!

จากราชทัณฑ์ถึงชั้น 14 รพ.ตำรวจ ความพยายามใช้ ‘Rule of Law’ เริ่มเห็นผล!!!

10 พฤษภาคม 2025


นายทักษิณ ชินวัตร

จากราชทัณฑ์ถึงชั้น 14 รพ.ตำรวจ ความพยายามใช้ ‘Rule of Law’ เริ่มเห็นผล!!! หลังศาลฎีกาฯ สั่ง ป.ป.ช.-อัยการ-ทักษิณ-ผบ.เรือนจำกรุงเทพฯ -อธิบดีราชทัณฑ์-แทพย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ แก้ต่างข้อกล่าวหาของ ‘ชาญชัย’ ภายใน 30 วัน นัดไต่สวน 3 มิ.ย.นี้ ด้านแพทยสภาประเดิม – สั่งลงโทษหมอ 3 ราย ผิดจริยธรรมประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ในที่สุด “Rule of Law” ที่ทุกคนตามหา เริ่มมองเห็นรางๆ เมื่อแพทยสภาสั่งลงโทษหมอรักษา ‘ทักษิณ’ ผิดจริยธรรมวิชาชีพ กรณีชั้น 14 ทั้งหมด 3 ราย มาพร้อมกับข่าวคำสั่งศาลไม่อนุมัติตามคำขออนุญาตไปการ์ต้าของนายทักษิณ ชินวัตร ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นความคุกรุ่นของการเมือง 2 ขั้ว ระหว่างสีน้ำเงินกับสีแดงที่งัดเกมมาเป็นแต้มต่อกัน เพราะอีกขาหนึ่ง ก็รุกหนักเรื่องการฮั้วเลือก สว.

เกมที่ดูเหมือน Rule of Law มีการปฏิบัติตามกติกา แต่อยู่ภายใต้เกมการเมืองที่ร้อนระอุ

Rule of Law ชั้น14 เริ่มสัมฤทธิ์ผล จากความพยายามของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเรื่องร้องศาลมาหลายครั้งต่อกรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ แต่ศาลไม่รับฟ้อง ปรากฏการณ์การร้องครั้งล่าสุด ในการนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาชี้ช่องให้ศาลเห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร อาจไม่ได้มีการจำคุกตามหมายศาล การร้องครั้งนี้ส่งผลให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 รับไต่สวนการบังคับคดีเก่าที่ศาลเคยมีคำพิพากษา สั่งจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรไปแล้ว การที่นายชาญชัยนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาชี้ช่องให้ศาลเห็นว่า “อาจไม่ได้มีการจำคุกตามหมายศาล” หรือภาษากฎหมาย เรียกว่า “การนำความไปปรากฎต่อศาล”นั่นเอง

แม้ศาลฎีกา ฯ จะวินิจฉัยว่านายชาญชัย ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ , ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายจากการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ จึงไม่มีสิทธิยื่นร้องต่อศาลในคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อนายชาญชัยนำความมาปรากฎต่อศาลตามที่กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาไต่สวนคดีตามกฎหมาย และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องของนายชาญชัยไปให้โจทก์เดิม คือ อัยการ และ ป.ป.ช., นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) รวมไปถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ พร้อมแสดงหลักฐานภายใน 30 วัน ก่อนที่ศาลจะนัดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เวลา 9.30 น.

คำสั่งของศาลฎีกาฯ ในครั้งนี้ ได้ส่งแรงกระแทกไปถึงผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปพักรักษาที่ห้อง VIP ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ให้ตั้งองค์คณะไต่สวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ รวม 12 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำนายทักษิณ ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ประชุมแพทยสภา ครั้งที่ 5/2568 ได้มีการพิจารณา คดีจริยธรรมของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน โดยว่ากล่าวตักเตือน 1 คน และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน

ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา
ที่มาภาพ : www.facebook.com/แพทยสภา

โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวถึงสาเหตุแพทยสภามีมติสั่งพักใบอนุญาตแพทย์ 2 ราย ว่า “ข้อมูลที่แพทยสภาได้รับนั้น ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น ผมให้ข้อมูลได้แค่นี้ จึงเป็นเหตุให้เราต้องมีการลงโทษ การพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถือเป็นลงโทษที่รุนแรงมาก” หลังจากที่แพทยสภามีมติก็ต้องนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสภานายกพิเศษที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิจารณาภายใน 15 วัน ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ต่อไป

ในวันเดียวกันนั้น นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เดินทางมายื่นคำร้องขออนุญาตศาลอาญา เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ตามคำเชิญของผู้ครองนครรัฐกาตาร์ ปรากฎว่าศาลสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้นายทักษิณเดินทางไปต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนัดหมายส่วนตัว

ย้อนที่มา กว่าจะมาถึงวันที่มีคำสั่งศาลฎีกา

หากย้อนไปถึงการดำเนินการของนายชาญชัยไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยขอให้ศาลฎีกาฯ ตรวจสอบพฤติกรรม หรือ การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีที่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งจำคุกนายทักษิณ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว

ปรากฎว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลฎีกาฯได้มีคำวินิจฉัย และแจ้งให้นายชาญชัย รับทราบว่า “ศาลฯออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษ และอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่มีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฏีกาแห่งนี้ฯ จึงไม่ต้องไต่สวน มีคำสั่งให้ยกคำร้อง” คำสั่งศาลฯครั้งนี้ นายชาญชัย เข้าใจว่า ตนคงมาร้องผิดศาล

แต่นายชาญชัยยังคงเดินหน้าต่อ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2567 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เดิม เป็นครั้งที่ 2 โดยในสำนวนฟ้องครั้งนี้ ได้อ้างถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อ 62 ที่ระบุว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้อง หรือ คำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คน เป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้อง หรือ คำขอดังกล่าว” หรือ พูดง่าย ๆคนไทยทุกคน “ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ตามกฎหมายของศาลแห่งนี้” พร้อมกับเขียนบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 สรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่กรมราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจ โดยแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

ไปตรงกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 มาตรา 246 ใน (2) ที่ระบุว่า เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้

    (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
    (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ถ้าต้องจำคุก
    (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ
    (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น

โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว ได้มีความเห็นว่า “ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือ อาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้รักษาทันท่วงที” โดยกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตาม กฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563

คำถามที่ตามมา… กฎกระทรวงฉบับนี้ ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ที่กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องทำเรื่องไปขอให้ศาลสั่งทุเลาโทษใช่หรือไม่ และกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไปขัดกับกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในมาตรา 6 ที่ระบุว่า “กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีอื่น นอกจากการควบคุม ขัง หรือ จำคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…” ใช่หรือไม่

ดังนั้น ในที่กรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ และในช่วงที่นายทักษิณรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการทุเลาการบังคับโทษนั้น ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

การยื่นครั้งที่ 2 นี้ ศาลฎีกาฯ ยกคำร้องของนายชาญชัยอีก โดยศาลให้เหตุผลว่า “กรณีนี้ไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง” กล่าวโดยสรุปคือ ไม่มีการมาร้องขอให้ศาลทุเลาโทษแต่อย่างใด

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และคณะ

นายชาญชัยรวบรวมพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดไปยื่นคำร้องต่อศาล เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ยกคำร้องของนายชาญชัยที่เคยไปยื่นศาลก่อนหน้นี้ทั้ง 2 ครั้ง และขอให้ไต่สวนบังคับโทษจำคุกนายทักษิณในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 , คดีหมายเลขแดงที่ 10/2552 และในคดี อม.5/2551 ในกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณออกจากเรือนจำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลฯ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย หรือไม่

ปรากฏว่าการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ครั้งนี้ ศาลไม่ยกคำร้องของนายชาญชัยทันที เหมือน 2 ครั้งแรก แต่ออกหมายนัดให้นายชาญชัยมาฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 9.30 น. นายชาญชัยไปตามเวลานัดหมาย ปรากฏศาลฎีกาขอเลื่อนฟังผลการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของศาล ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากมีความคืบหน้าประการใด ศาลฎีกาฯจะแจ้งให้ผู้ร้องมาฟังคำสั่งของศาลฎีกาฯในครั้งต่อไป และเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาได้ขอให้ผู้ร้อง ห้ามเผยแพร่คำร้องและเอกสารคำสั่งของศาลต่อสาธารณะ

จนกระทั่งมาถึงครั้งสุดท้าย ศาลได้ออกหมายเรียกให้นายชาญชัยมาฟังคำสั่งศาลฎีกาฯ ในคดีหมายเลขดำที่ บ.ค.1/2568 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 แม้นายชาญชัยจะไม่ใช่คู่ความ ไม่ใช่ผู้เสียหายคดีจากการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯได้ แต่เมื่อนายชาญชัยนำความมาปรากฏต่อศาลฎีกา จึงทำให้ศาลฎีกามีอำนาจไต่สวนการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณได้ โดยที่ศาลไม่ได้ไปเปิดคดีขึ้นมาใหม่ จึงออกหมายเลขเป็นคดีดำที่ บ.ค.1/2568 ซึ่งย่อมาจาก “บังคับคดี” เพื่อทำการไต่สวนการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณว่า เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร

ศาลฎีกาฯจึงมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องของนายชาญชัยให้ไป ป.ป.ช. ,อัยการ , จำเลย (นายทักษิณ) , ผู้บัญชาการเรือนจำกรุงเทพมหานคร , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ , แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ พร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล Rule of Law จะมีผลและเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่ จากนี้ก็ต้องเกาะติดว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2568 ทั้งโจทก์, จำเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวนายทักษิณออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ จะชี้แจงศาลฎีกากันอย่างไร…

  • แพทยสภาสั่งลงโทษหมอรักษา ‘ทักษิณ’ 3 ราย – พักใบอนุญาตให้ข้อมูลไม่ตรง 2 ราย – ตักเตือน 1 ราย
  • ศาลฎีกานัด “ป.ป.ช.-ทักษิณ” ไต่สวน ปมรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ 13 มิ.ย.นี้
  • ศาลฎีกาเลื่อนฟังคำสั่งคดี ‘กรมราชทัณฑ์’ นำ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ตำรวจ – ขัด ป.วิอาญา?
  • ‘ชาญชัย’ เตรียมฟ้องศาล – ป.ป.ช.ไต่สวน ‘ราชทัณฑ์’ ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ. – ขัด ป.วิอาญา?
  • “ชาญชัย” เตรียมฟ้อง‘ราชทัณฑ์’ ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ต่อ – ขัด ป.วิอาญาฯ?
  • อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไฟเขียว “ทักษิณ” นอน รพ.ต่อ
  • กรมราชทัณฑ์แจงส่ง “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ตำรวจ
  • อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไฟเขียว “ทักษิณ” นอน รพ.ต่อ
  • กรมราชทัณฑ์แจงส่ง “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ตำรวจ