
จากราชทัณฑ์ถึงชั้น 14 รพ.ตำรวจ ความพยายามใช้ ‘Rule of Law’ เริ่มเห็นผล!!! หลังศาลฎีกาฯ สั่ง ป.ป.ช.-อัยการ-ทักษิณ-ผบ.เรือนจำกรุงเทพฯ -อธิบดีราชทัณฑ์-แทพย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ แก้ต่างข้อกล่าวหาของ ‘ชาญชัย’ ภายใน 30 วัน นัดไต่สวน 3 มิ.ย.นี้ ด้านแพทยสภาประเดิม – สั่งลงโทษหมอ 3 ราย ผิดจริยธรรมประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ในที่สุด “Rule of Law” ที่ทุกคนตามหา เริ่มมองเห็นรางๆ เมื่อแพทยสภาสั่งลงโทษหมอรักษา ‘ทักษิณ’ ผิดจริยธรรมวิชาชีพ กรณีชั้น 14 ทั้งหมด 3 ราย มาพร้อมกับข่าวคำสั่งศาลไม่อนุมัติตามคำขออนุญาตไปการ์ต้าของนายทักษิณ ชินวัตร ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นความคุกรุ่นของการเมือง 2 ขั้ว ระหว่างสีน้ำเงินกับสีแดงที่งัดเกมมาเป็นแต้มต่อกัน เพราะอีกขาหนึ่ง ก็รุกหนักเรื่องการฮั้วเลือก สว.
เกมที่ดูเหมือน Rule of Law มีการปฏิบัติตามกติกา แต่อยู่ภายใต้เกมการเมืองที่ร้อนระอุ
Rule of Law ชั้น14 เริ่มสัมฤทธิ์ผล จากความพยายามของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเรื่องร้องศาลมาหลายครั้งต่อกรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ แต่ศาลไม่รับฟ้อง ปรากฏการณ์การร้องครั้งล่าสุด ในการนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาชี้ช่องให้ศาลเห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร อาจไม่ได้มีการจำคุกตามหมายศาล การร้องครั้งนี้ส่งผลให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 รับไต่สวนการบังคับคดีเก่าที่ศาลเคยมีคำพิพากษา สั่งจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรไปแล้ว การที่นายชาญชัยนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาชี้ช่องให้ศาลเห็นว่า “อาจไม่ได้มีการจำคุกตามหมายศาล” หรือภาษากฎหมาย เรียกว่า “การนำความไปปรากฎต่อศาล”นั่นเอง
แม้ศาลฎีกา ฯ จะวินิจฉัยว่านายชาญชัย ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ , ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายจากการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ จึงไม่มีสิทธิยื่นร้องต่อศาลในคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อนายชาญชัยนำความมาปรากฎต่อศาลตามที่กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาไต่สวนคดีตามกฎหมาย และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องของนายชาญชัยไปให้โจทก์เดิม คือ อัยการ และ ป.ป.ช., นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) รวมไปถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ พร้อมแสดงหลักฐานภายใน 30 วัน ก่อนที่ศาลจะนัดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เวลา 9.30 น.
คำสั่งของศาลฎีกาฯ ในครั้งนี้ ได้ส่งแรงกระแทกไปถึงผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปพักรักษาที่ห้อง VIP ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ให้ตั้งองค์คณะไต่สวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ รวม 12 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำนายทักษิณ ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ประชุมแพทยสภา ครั้งที่ 5/2568 ได้มีการพิจารณา คดีจริยธรรมของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน โดยว่ากล่าวตักเตือน 1 คน และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน

ที่มาภาพ : www.facebook.com/แพทยสภา
โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวถึงสาเหตุแพทยสภามีมติสั่งพักใบอนุญาตแพทย์ 2 ราย ว่า “ข้อมูลที่แพทยสภาได้รับนั้น ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น ผมให้ข้อมูลได้แค่นี้ จึงเป็นเหตุให้เราต้องมีการลงโทษ การพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถือเป็นลงโทษที่รุนแรงมาก” หลังจากที่แพทยสภามีมติก็ต้องนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสภานายกพิเศษที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิจารณาภายใน 15 วัน ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ต่อไป
ในวันเดียวกันนั้น นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เดินทางมายื่นคำร้องขออนุญาตศาลอาญา เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ตามคำเชิญของผู้ครองนครรัฐกาตาร์ ปรากฎว่าศาลสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้นายทักษิณเดินทางไปต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนัดหมายส่วนตัว
ย้อนที่มา กว่าจะมาถึงวันที่มีคำสั่งศาลฎีกา
หากย้อนไปถึงการดำเนินการของนายชาญชัยไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยขอให้ศาลฎีกาฯ ตรวจสอบพฤติกรรม หรือ การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีที่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งจำคุกนายทักษิณ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว
ปรากฎว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลฎีกาฯได้มีคำวินิจฉัย และแจ้งให้นายชาญชัย รับทราบว่า “ศาลฯออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษ และอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่มีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฏีกาแห่งนี้ฯ จึงไม่ต้องไต่สวน มีคำสั่งให้ยกคำร้อง” คำสั่งศาลฯครั้งนี้ นายชาญชัย เข้าใจว่า ตนคงมาร้องผิดศาล
แต่นายชาญชัยยังคงเดินหน้าต่อ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2567 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เดิม เป็นครั้งที่ 2 โดยในสำนวนฟ้องครั้งนี้ ได้อ้างถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อ 62 ที่ระบุว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้อง หรือ คำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คน เป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้อง หรือ คำขอดังกล่าว” หรือ พูดง่าย ๆคนไทยทุกคน “ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ตามกฎหมายของศาลแห่งนี้” พร้อมกับเขียนบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 สรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่กรมราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจ โดยแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต
ไปตรงกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 มาตรา 246 ใน (2) ที่ระบุว่า เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้
-
(1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ถ้าต้องจำคุก
(3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ
(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว ได้มีความเห็นว่า “ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือ อาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้รักษาทันท่วงที” โดยกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตาม กฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563
คำถามที่ตามมา… กฎกระทรวงฉบับนี้ ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ที่กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องทำเรื่องไปขอให้ศาลสั่งทุเลาโทษใช่หรือไม่ และกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไปขัดกับกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในมาตรา 6 ที่ระบุว่า “กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีอื่น นอกจากการควบคุม ขัง หรือ จำคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…” ใช่หรือไม่
ดังนั้น ในที่กรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ และในช่วงที่นายทักษิณรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการทุเลาการบังคับโทษนั้น ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
การยื่นครั้งที่ 2 นี้ ศาลฎีกาฯ ยกคำร้องของนายชาญชัยอีก โดยศาลให้เหตุผลว่า “กรณีนี้ไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง” กล่าวโดยสรุปคือ ไม่มีการมาร้องขอให้ศาลทุเลาโทษแต่อย่างใด

นายชาญชัยรวบรวมพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดไปยื่นคำร้องต่อศาล เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ยกคำร้องของนายชาญชัยที่เคยไปยื่นศาลก่อนหน้นี้ทั้ง 2 ครั้ง และขอให้ไต่สวนบังคับโทษจำคุกนายทักษิณในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 , คดีหมายเลขแดงที่ 10/2552 และในคดี อม.5/2551 ในกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณออกจากเรือนจำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลฯ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย หรือไม่
ปรากฏว่าการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ครั้งนี้ ศาลไม่ยกคำร้องของนายชาญชัยทันที เหมือน 2 ครั้งแรก แต่ออกหมายนัดให้นายชาญชัยมาฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 9.30 น. นายชาญชัยไปตามเวลานัดหมาย ปรากฏศาลฎีกาขอเลื่อนฟังผลการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของศาล ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากมีความคืบหน้าประการใด ศาลฎีกาฯจะแจ้งให้ผู้ร้องมาฟังคำสั่งของศาลฎีกาฯในครั้งต่อไป และเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาได้ขอให้ผู้ร้อง ห้ามเผยแพร่คำร้องและเอกสารคำสั่งของศาลต่อสาธารณะ
จนกระทั่งมาถึงครั้งสุดท้าย ศาลได้ออกหมายเรียกให้นายชาญชัยมาฟังคำสั่งศาลฎีกาฯ ในคดีหมายเลขดำที่ บ.ค.1/2568 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 แม้นายชาญชัยจะไม่ใช่คู่ความ ไม่ใช่ผู้เสียหายคดีจากการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯได้ แต่เมื่อนายชาญชัยนำความมาปรากฏต่อศาลฎีกา จึงทำให้ศาลฎีกามีอำนาจไต่สวนการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณได้ โดยที่ศาลไม่ได้ไปเปิดคดีขึ้นมาใหม่ จึงออกหมายเลขเป็นคดีดำที่ บ.ค.1/2568 ซึ่งย่อมาจาก “บังคับคดี” เพื่อทำการไต่สวนการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณว่า เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร
ศาลฎีกาฯจึงมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องของนายชาญชัยให้ไป ป.ป.ช. ,อัยการ , จำเลย (นายทักษิณ) , ผู้บัญชาการเรือนจำกรุงเทพมหานคร , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ , แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ พร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล Rule of Law จะมีผลและเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่ จากนี้ก็ต้องเกาะติดว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2568 ทั้งโจทก์, จำเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวนายทักษิณออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ จะชี้แจงศาลฎีกากันอย่างไร…