ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN+3 มุ่งความเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน หนุนการค้าผ่าน RCEP

ASEAN+3 มุ่งความเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน หนุนการค้าผ่าน RCEP

6 พฤษภาคม 2025


ที่ประชุมประจำปีครั้งที่ 28 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) บวกสาม จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN+3) ออกแถลงการณ์ร่วมว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมสนับสนุนการปรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการเงิน ASEAN+3 ด้วยกลไกใหม่ ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามร่วมกันของภูมิภาคในการปกป้องเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎเกณฑ์ และสนับสนุน RCEP อย่างเต็มที่

แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 (the 28th ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting) หรือ AFMGM+3 ซึ่งมีจีนและมาเลเซียเป็นประธานร่วมในปีนี้ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 มุ่งการเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อฝ่าฟันความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น

การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยมี ดาโต๊ะ สรี อามีร์ ฮัมซาห์ อาซีซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของมาเลเซีย ดาโต๊ะ สรี อับดุลราชีด อับดุล ฆอฟฟูร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย นายหลาน โฟอัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นายพาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนเป็นประธานร่วม นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รองเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมการประชุมด้วย

แถลงการณ์ร่วมเริ่มด้วยการแสดงความเสียใจอย่างมากต่อชาวเมียนมาและไทยสำหรับการสูญเสียอันน่าสลดใจที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และขอส่งกำลังใจไปยังชุมชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และขอยืนเคียงข้างกับชุมชนในช่วงกำลังฟื้นตัวและสร้างใหม่

แถลงการณ์ร่วมระบุอีกว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคในปัจจุบัน ตลอดจนการตอบสนองนโยบายต่อความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ “โดยที่ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของระบบการเงินอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Process) ในการสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เดินหน้าไปในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนนี้ เราจึงตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” โดยหลักแล้วผ่านความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation หรือ CMIM), สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO), มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Market Initiative หรือ ABMI), การเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Financing หรือ DRF), ความริเริ่มแห่งอนาคตอาเซียน+3 (ASEAN+3 Future Initiatives) ตลอดจนประเด็นสำคัญที่เสนอในปีนี้ ซึ่งได้แก่ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการคลัง การปรับเชิงกลยุทธศาสตร์ให้เป็นปัจจุบัน และการสำรวจเครื่องมือปรับนโยบาย (Policy Adjustment Instrument หรือ PAI)

การพัฒนาทางเศรษฐกิจภูมิภาคและแนวโน้ม

ในปีที่แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแข็งแกร่งและยืดหยุ่น โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตขึ้น 4.3% ในปี 2567 ต่อเนื่องจากการขยายตัว 4.4% ในปี 2566 การเติบโตในภูมิภาคส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภายในประเทศที่แข็งแกร่งและอุปสงค์ภายนอก ซึ่งได้รับผลบวกจากการปรับตัวขึ้นของวงจรอิเล็กทรอนิกส์และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังลดลง ซึ่งสะท้อนถึงจุดยืนของนโยบายการเงินที่เหมาะสมและการยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดี แม้จะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ตลาดการเงินยังคงทำงานได้ดี และภาคต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ

ด้วยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง คาดว่า GDP ภูมิภาคนี้จะคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ประมาณ 4% ในปี 2568 ท่ามกลางอุปสรรคภายนอกที่ยังมีอยู่ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้า การเติบโตของภูมิภาคยังคงได้รับผลบวกจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมการลงทุนที่แข็งแกร่งและการบริโภคที่มั่นคง ในระยะกลาง คาดว่าอาเซียน+3 จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก โดยมีส่วนสนับสนุนการเติบโตมากกว่า 40% ของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกัน คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ต่ำกว่า 2.0% ในปี 2568 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของภูมิภาคนี้ยังคงขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น

นโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และกระแสเงินทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ แนวโน้มในระยะใกล้ยังอาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงภายนอกอื่นๆ เช่น ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตที่ชะลอตัวของคู่ค้ารายใหญ่ และกระแสการลงทุนที่ลดลง

“เราเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือในภูมิภาคมากขึ้น ในขณะที่เราพยายามที่จะฝ่าฟันความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น นโยบายปัจจุบันของเรามีความสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือในระยะยาวในขณะที่ยังคงรักษาความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะใกล้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการกีดกันการค้าและสภาวะการเงินโลกที่ผันผวน สำหรับด้านการคลัง นั่นหมายความว่าจะต้องสร้างกันชนนโยบายขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงให้การสนับสนุนที่ตรงเป้าหมายเพื่อรักษาการเติบโตไปพร้อมกับดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง นอกจากนี้ เรายังจะปรับจุดยืนนโยบายการเงินใหม่โดยพิจารณาจากเงื่อนไขในประเทศอย่างรอบคอบ เราจะรักษาความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นกันชนเพื่อรองรับแรงกระแทกจากภายนอก ที่สำคัญคือ ตลาดส่งออกและแหล่งที่มาของการเติบโตของเรามีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอุปสงค์ในประเทศและการค้าภายในภูมิภาคทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโต” แถลงการณ์ร่วมระบุ

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระยะยาว เราขอเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของเราต่อระบบพหุภาคี และระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎเกณฑ์ ไม่เลือกปฏิบัติ เสรี เป็นธรรม เปิดกว้าง ครอบคลุม เสมอภาค และโปร่งใส โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลัก เราจะเสริมสร้างการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค และดูแลห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมให้มั่นคงและไม่ชะงัก เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคร่วมกัน เราสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการนำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง” แถลงการณ์ร่วมระบุ

แถลงการณ์ร่วมยังเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศยึดมั่นในหลักพหุภาคีและส่งเสริมการค้าเสรี วิเคราะห์และติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าต่อเศรษฐกิจโลก และสนับสนุนสมาชิกด้วยการให้คำแนะนำด้านนโยบายเพื่อจัดการกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น “เราจะส่งเสริมการไหลเวียนของการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือของภูมิภาคต่อผลกระทบจากภายนอก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายที่มีอยู่เดิมและความท้าทายใหม่ และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน จากการที่ตลาดการเงินมีการเชื่อมโยงกัน เรากำลังติดตามสภาวะตลาดการเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เรายังยืนยันความตั้งใจและพันธกรณีของเราที่จะทำให้แน่ใจว่า ระบบการเงินและตลาดของเรายังคงมีความยืดหยุ่นแม้จะมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ยังคงรักษาการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างสมาชิกภายใต้สถานการณ์การพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

เสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินระดับภูมิภาค

การแลกเปลี่ยนนโยบายการคลัง
ด้วยความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของนโยบายการคลังในการสนับสนุนการเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน อาเซียน+3 จึงตอบรับความคิดริเริ่มการแลกเปลี่ยนนโยบายการคลังอาเซียน+3 (ASEAN+3 Fiscal Policy Exchange Initiative) ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มอันมีค่าสำหรับสมาชิกในการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ เกี่ยวกับนโยบายการคลังและแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการการคลัง แถลงการณ์ร่วมชื่นชมการแลกเปลี่ยนครั้งแรกในสองหัวข้อนโยบายการคลังที่สมาชิกมีความสนใจร่วมกัน นั่นคือ “การส่งเสริมการเติบโตในขณะที่รักษาความยั่งยืนทางการคลัง” และ “การแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุ” ในรูปแบบของการรวบรวมกรณีศึกษาของสมาชิกและการแลกเปลี่ยนแบบปิดระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และชื่นชมการสนับสนุนทางวิชาการของ AMRO ในกระบวนการแลกเปลี่ยน รวมทั้งหวังว่าจะมีส่วนร่วมลึกยิ่งขึ้นในการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนโยบายการคลังระหว่างสมาชิก นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สมาชิกพร้อมด้วยการสนับสนุนจาก AMRO ประเมินผลของการแลกเปลี่ยนนโยบายการคลังและประเมินความเป็นไปได้ที่จะเป็นแพลตฟอร์มการหารือเป็นประจำ

ปรับยุทธศาสตร์ระบบการเงินอาเซียน+3
แถลงการณ์ร่วมระบุอีกว่า จากการที่ตระหนักถึงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นพ้องกันว่าการทบทวนและปรับ “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของระบบทางการเงินอาเซียน+3” ที่นำมาใช้ในปี 2562 มีความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทางการเงินของ ASEAN+3 ยังคงใช้ได้และปรับได้ ซึ่งจะการที่จะยังใช้ได้และปรับได้ ก็ต้องมีการระบุด้านที่มีความสำคัญสำหรับความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคในอนาคต และเสริมสร้างกลไกการดำเนินการสำหรับแผนริเริ่มที่สำคัญ ในเรื่องนี้ ที่ประชุมรับรอง “เอกสารแนวทางสำหรับการปรับปรุงยุทธศาสตร์ความร่วมมือของระบบทางการเงินอาเซียน+3” และยินดีกับการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 8 คนจากภูมิภาคเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกที่ครบถ้วนและครอบคลุม ประเมินความท้าทายและโอกาส และเสนอแนะด้านนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงทิศทางเชิงยุทธศาสตร์

ที่ประชุมยังยินดีกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการนำ “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของระบบทางการเงินอาเซียน+3” มาใช้ในปี 2562 และขอชื่นชมความสำเร็จที่สำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งเสริมการบูรณาการในภูมิภาค และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลระบบทางการเงินอาเซียน+3 ตามที่ระบุไว้ใน “รายงานสำรวจการดำเนินงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระบบทางการเงินอาเซียน+3 ปี 2562”

“เราขอย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคภายใต้กรอบอาเซียน+3 เรามอบหมายให้ผู้แทนแต่ละประเทศ ดำเนินการปรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือของอาเซียน+3 ด้วยการสนับสนุนจาก AMRO และสถาบันที่เกี่ยวข้องในการหารืออย่างครอบคลุมและเข้มข้นกับสมาชิก โดยนำการประเมินและข้อเสนอแนะของคณะผู้เชี่ยวชาญมาใช้ เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้ของเศรษฐกิจของเราแข็งแกร่งมากขึ้นและมีพลวัต เสริมสร้างความร่วมมือ และดำเนินโครงการริเริ่มที่จะส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาค เรามุ่งหวังที่จะเห็นการนำแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่ปรับปรุง ไปใช้ในการประชุมของสมาชิกภายในสิ้นปีนี้และใน AFMGM+3 ในเดือนพฤษภาคม 2569 ต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

กลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค และเครื่องมือปรับนโยบาย
ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าในการสำรวจเครื่องมือปรับนโยบาย หรือ PAI ตามที่รัฐมนตรีและผู้ว่าการมอบหมายใน AFMGM+3 ที่มีขึ้นในกรุงทบิลิซีในปี 2567 และสนับสนุนการนำ Structural Policy Improvement and Review Instrument with Technical Assistance (SPIRIT) ไปใช้ในรูปแบบสมัครใจและไม่ผูกมัด SPIRIT จะเริ่มต้นเป็นโครงการนำร่องที่เสนอโปรแกรมความช่วยเหลือทางวิชาการตามหัวข้อที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้าง โดยอิงตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของสมาชิกและการประเมินของ AMRO และชื่นชมการสนับสนุนของ AMRO ในการจัดเตรียมเครื่องมือเหล่านี้และมอบหมายให้ AMRO สนับสนุนโปรแกรมนำร่อง นอกจากนี้ชื่นชมการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน TA ของจีน (China TA fund) ใน AMRO และหวังที่จะประเมินประสิทธิภาพของ SPIRIT อย่างครอบคลุมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก่อนที่สมาชิกจะพิจารณาว่าจะนำแผนริเริ่มนี้เข้าสู่กระแสหลักหรือไม่ และอาจปรับปรุงให้เป็นเครื่องมือทางการเงินหากสมาชิกเห็นชอบ

  • ASEAN+3 ตกลงตั้ง RFF กลไกการเงินใหม่รับมือวิกฤติในภูมิภาคในอนาคต
  • อนุมัติกลไกลใหม่ RFF ใช้รับมือวิกฤติ
    ข้อตกลง CMIM ฉบับดั้งเดิมที่จัดทำขึ้นในปี 2553 ได้ใช้มา 15 ปีแล้ว ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้าง CMIM ให้แข็งแกร่งขึ้นในฐานะกลไกคุ้มครองทางการเงินระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเครือข่ายความมั่นคงทางการเงินระดับโลก ในเรื่องนี้ ที่ประชุมอนุมัติข้อตกลง CMIM ฉบับแก้ไขแล้ว และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ การแก้ไขนี้จะมีการจัดตั้งกลไกใหม่ Rapid Financing Facility (RFF) โดยนำ Freely Usable Currencies (FUCs) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการชำระธุรกรรมระหว่างประเทศและซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราหลักอย่างแพร่หลาย เข้ามาเป็นสกุลเงินที่จะเลือกใช้ได้ และยังสะท้อนถึงผลของการประเมิน CMIM เป็นระยะครั้งที่สองอีกด้วย ที่ประชุมยังชื่นชมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies) สำหรับการอนุมัติแนวทางปฏิบัติ (Operational Guidelines หรือ OG) ของ CMIM ที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในข้อตกลง CMIM และเชื่อว่า….

    กลไกใหม่ใน CMIM ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของภูมิภาค เพราะสมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉินได้ทันท่วงทีในช่วงเวลาที่มีความต้องการดุลการชำระเงินอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ช็อกจากปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น โรคระบาดและภัยธรรมชาติ

    แถลงการณ์ร่วม เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียน+3 ในการปฏิรูปที่มุ่งหวังที่จะเสริมสร้างโครงข่ายความมั่นคงทางการเงินในภูมิภาคของอาเซียน+3 และเห็นชอบการรับรองหลักการนำทาง (guiding principles) ของเจ้าหน้าที่อาวุโสที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบัญชีรองรับการกู้ยืมในสกุลเงินท้องถิ่น (unified margin structure) ภายใต้ CMIM และสนับสนุนให้พัฒนาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568

    มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
    ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นภายใต้แผนงานระยะกลางของ ABMI 2566-25696 เมื่อประเมินจากความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในตลาดการเงินโลก ตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นที่ทำงานได้ดียังคงเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค นอกจากนี้ Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ได้นำมาใช้ 15 ปีประสบความสำเร็จในการค้ำประกันการขายตราสารหนี้และตราสารศุกูก 100 รายการจาก 64 บริษัทใน 12 ประเทศและใน 9 สกุลเงิน โดยมีมูลค่าค้ำประกันรวมสะสม 4,151 ล้านเหรียญสหรัฐ

    “เราขอบคุณต่อความพยายามอย่างต่อเนื่องของ ABMI ในการเพิ่มการออกพันธบัตรที่ยั่งยืนในสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อสร้างตลาดในประเทศและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเงินที่ยั่งยืนในวงกว้าง และสนับสนุนการเปิดเวทีตลาดพันธบัตรดิจิทัล (Digital Bond Market Forum) ภายใต้ ABMI และคาดหวังว่าเวทีนี้จะเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือสำหรับการวิจัย การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาโมเดลธุรกิจสำหรับการนำไปใช้ในระดับภูมิภาค” แถลงการณ์ระบุ

    โครงการริเริ่มการจัดหาเงินทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (DRFI)
    แถลงการณ์ระบุว่า ยินดีกับความคืบหน้าในการพัฒนา DRFI ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนประกันความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Disaster Risk Insurance Facility หรือ SEADRIF) และพันธมิตรพหุภาคี อได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย สถาบันธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADBI) และ Global Asia Insurance Partnership (GAIP) โดยเฉพาะความคืบหน้าตั้งแต่ DRFI เริ่มดำเนินการโดย สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ ร่วมกับ SEADRIF โดย สปป.ลาว ได้รับเงินชดเชยประกันภัยน้ำท่วมทันทีสองครั้ง คือ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 สำหรับน้ำท่วมรุนแรง และ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 หลังจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ในขณะที่ฟิลิปปินส์ได้ริเริ่มดำเนินการตามแผนงานที่เน้นไปที่การพัฒนาประกันภัยพาราเมตริก (parametric insurance) สำหรับทรัพย์สินสาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นถึงความพยายามในการสร้างขีดความสามารถโดยโครงการริเริ่มร่วมกับสถาบันพหุภาคี โดยเฉพาะ DRF ทางการเกษตรและความสามารถในการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติโดยรวม ความพยายามเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของสมาชิกอาเซียน+3 และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงและความสามารถในการรับมือที่มีประสิทธิผล ตลอดจนได้รับรองแนวคิดที่ระบุเสาหลักของแผนงาน DRFI ปี 2569-2571 (2026-2028 DRFI Roadmap) โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสจัดทำ DRFI Roadmap เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรับมือภัยพิบัติของภูมิภาคและลดผลกระทบของเหตุการณ์ร้ายแรงต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และหวังที่จะได้รับรองแผนงานดังกล่าวในการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสภายในสิ้นปีนี้ และในการประชุม AFMGM+3 ในเดือนพฤษภาคม 2569

    ความริเริ่มแห่งอนาคตอาเซียน+3
    แถลงการณ์ระบุว่า ที่ประชุมเรายินดีกับความคืบหน้าที่สำคัญในความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ทั้งในด้านกว้างและด้านลึก ทั้งความคืบหน้าจากคณะทำงานโดยเฉพาะคณะทำงานชุดที่ 1 เพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน โดยเฉพาะทุนภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงความพยายามในการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาวิสัยทัศน์ของภูมิภาคเกี่ยวกับการเงินที่ยั่งยืนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และเพิ่มความสามารถของภูมิภาคในการจัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่นเดียวกับคณะทำงานชุดที่ 4 ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลทางการเงิน โดยขยายระยะเวลาของคณะทำงานชุดที่ 4 จนถึงปี 2569

    สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3
    แถลงการณ์ชื่นชมการทำงานอย่างต่อเนื่องของ AMRO ในการเสริมสร้างศักยภาพในการเฝ้าระวัง และขอให้ AMRO เฝ้าติดตามความเสี่ยงและความท้าทายอย่างใกล้ชิด และให้ข้อเสนอแนะนโยบายอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยให้สมาชิกสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมระดับโลกที่ไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้งชื่นชมต่อการสนับสนุนของ AMRO ในการหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างการจัดการด้านการเงินในภูมิภาค และขอให้ AMRO สนับสนุนความพยายามในการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวของภูมิภาคต่อไป ตลอดจนสนับสนุน AMRO ให้ปรับปรุงเครื่องมือวิเคราะห์และการออกแบบโปรแกรมเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และให้แน่ใจว่าภูมิภาคยังคงเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

    ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าที่สำคัญที่บรรลุผล และกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ภายใต้เครือข่ายครือข่ายคลังความคิดอาเซียน+3 (ASEAN+3 Financial Think-tank Network:AFTN) ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางปัญญาของภูมิภาค เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งและเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและการเงินในภูมิภาค นอกจากนี้ การขยายสมาชิกเครือข่าย AFTN จาก 21 เป็น 28 ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือและการเจรจานโยบายในภูมิภาค สมาชิกใหม่ทั้ง 7 ราย ได้แก่ สถาบันทรัพยากรเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Cambodia Development Resource Institute) สถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองโลก (Institute of World Economics and Politics) สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) สถาบันการบัญชีแห่งชาติเซียะเหมิน (Xiamen National Accounting Institute) ประเทศจีน สถาบันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเกาหลี (Korea Institute for International Economic Policy) สถาบันวิจัยคาซานาห์ (Khazanah Research Institute) ประเทศมาเลเซีย สถาบันการศึกษามาเลเซียและนานาชาติ (Malaysia, Institute of Malaysian and International Studies) มหาวิทยาลัยเคบังซาน (Universiti Kebangsaan) มาเลเซีย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) ซึ่งมั่นใจว่าเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นนี้จะช่วยให้ส่งเสริมความแข็งแกร่งและเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและการเงินอาเซียน+3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แถลงการณ์ร่วมปิดท้ายด้วยการขอบคุณทางการมาเลเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับการจัดการที่ยอดเยี่ยมในฐานะประธานร่วมของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ในปี 2568 และกำหนดสถานที่ประชุมเป็นเมืองซามาร์คันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน ในปี 2569 และตั้งตาคอยที่จะะได้ร่วมงานกับฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นในฐานะประธานร่วมของ AFMGM+3 ในปี 2569