ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN+3 ตกลงตั้ง RFF กลไกการเงินใหม่รับมือวิกฤติในภูมิภาคในอนาคต

ASEAN+3 ตกลงตั้ง RFF กลไกการเงินใหม่รับมือวิกฤติในภูมิภาคในอนาคต

9 พฤษภาคม 2024


ที่มาภาพ: https://asean.org/joint-statement-of-the-27th-asean3-finance-ministers-and-central-bank-governors-meeting/

ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 และผู้ว่าการธนาคารกลาง ( 27th ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting:AFMGM+3) ครั้งที่ 27 ได้รับรองการจัดตั้งและรูปแบบ Rapid Financing Facility (RFF) โครงการสินเชื่อใหม่เพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นกลไกใหม่ภายใต้ CMIM เพิ่มเสริมความสามารถในการปรับตัวในระดับภูมิภาคของอาเซียน+3 ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบภายนอกอย่างกะทันหัน

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 และผู้ว่าการธนาคารกลาง ( 27th ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting:AFMGM+3) ครั้งที่ 27 ภายใต้ประธานร่วมของนายสันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายบุญเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายชอย ซังมก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐเกาหลี และ นาย รี ชางยง ผู้ว่าการธนาคารแห่งเกาหลี และยังมีผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (มหภาค) ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รองเลขาธิการสำนักเลขาธิการอาเซียน และรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมประชุมด้วย

ที่ประชุมได้ออก แถลงการณ์ร่วมว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงการตอบสนองของนโยบายต่อความเสี่ยงและความท้าทาย ซึ่งตระหนักดีว่าเวทีความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทาย ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินในระดับภูมิภาค รวมถึงผ่านทางกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค(Regional Financing Arrangement(RFA) Future Direction) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM), สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3(AMRO), มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative: ABMI), การเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ(Disaster Risk Financing:DRF) และ ความริเริ่มแห่งอนาคตอาเซียน+3(ASEAN+3 Future Initiatives)

เศรษฐกิจอาเซียน+3 จะมีส่วนแบ่ง 45% ในเศรษฐกิจโลก

ภูมิภาคอาเซียน+3 มีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นที่ 4.3% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะที่อุปสงค์ภายนอกอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคชะลอลง แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูงในบางประเทศ ภาวะทางการเงินดีขึ้นในช่วงปลายปี โดยสินเชื่อยังคงเติบโตของแข็งแกร่งและตลาดตราสารทุนฟื้นตัว

ภูมิภาคอาเซียน+3 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่เร็วขึ้นที่ 4.5% ​​ในปี 2567 ก่อนที่จะชะลอตัวลงเป็น 4.2% ในปี 2568 ที่ประชุมคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง การฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งได้รับแรงหนุนจากวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในสินค้าในประเทศใหญ่ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และความต้องการบริการที่ทันสมัยที่ยั่งยืน น่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตได้

ในระยะกลาง คาดว่าภูมิภาคอาเซียน+3 จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีส่วนช่วยต่อการเติบโตทั่วโลกในปี 2567-2573 ประมาณ 45% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ภาวะเงินเฟ้อจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังคงแข็งแกร่ง

สำหรับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อ แนวโน้มของอาเซียน+3 ในระยะสั้นได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น และการเติบโตของคู่ค้ารายใหญ่ชะลอตัวลง รวมถึงความผันผวนของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบทางลบที่ต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอก ในระยะกลางถึงระยะยาว ความเสี่ยงเหล่านี้อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประชากรสูงวัย

ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า แนวโน้มทางบวกสำหรับอาเซียน+3 เปิดโอกาสให้ภูมิภาคสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย(policy space)ขึ้นมาใหม่จากที่หายไประหว่างการแพร่ระบาด สิ่งที่มีความสำคัญอันดับต้นๆสำหรับนโยบายการคลังทั่วทั้งภูมิภาคคือการฟื้นฟูกันชน(buffer)ทางการคลังและเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนแบบเจาะจงเป้าหมายสำหรับเศรษฐกิจ

ที่ประชุมมองว่านโยบายการเงินควรคงความเข้มงวดตามความจำเป็นในประเทศสมาชิกหลายๆ ประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้ได้อย่างมั่นคง เพราะเห็นว่ายังมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่

การปฏิรูปโครงสร้างและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคส่วนที่เพิ่มความสามารถในการผลิตและความแข็งแกร่ง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตและรับมือกับความท้าทายเชิงโครงสร้างที่รออยู่ข้างหน้า ที่ประชุมตระหนักถึงข้อดีของการทำงานร่วมกันเพื่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งและครอบคลุม และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 หรือ SDG 2030 เพื่อพัฒนาโลกให้แข็งแกร่งขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความสมดุลที่ดีขึ้น ที่ประชุมยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้า เปิดกว้าง เสรี เป็นธรรม ครอบคลุม เสมอภาค โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนหลัก และสนับสนุนการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่

ตั้งกลไกใหม่ RFA รับวิกฤติในอนาคต

การปฏิรูปกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค ของอาเซียน+3 รวมถึง CMIM แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่สำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินของภูมิภาค การหาทางเสริมสร้างโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อป้องกัน บรรเทา และแก้ไขวิกฤติการณ์ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมรับรองการจัดตั้งและรูปแบบ Rapid Financing Facility (RFF) โครงการสินเชื่อใหม่เพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นกลไกใหม่ภายใต้ CMIM โดยนำ Freely Usable Currencies (FUCs) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการชำระธุรกรรมระหว่างประเทศและซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราหลักอย่างแพร่หลาย เข้ามาเป็นสกุลเงินที่จะเลือกใช้ได้

สำหรับ FUC ที่สามารถใช้ได้คือ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน ญี่ปุ่น เงินหยวนของจีน โดยที่ จีน (รวมถึงฮ่องกง) ญี่ปุ่น เกาหลี มีคุณสมบัติเป็นภาคีผู้ให้ความช่วยเหลือในการจัดหา FUC ได้ โดยที่ผู้ช่วยเหลือจัดหา FUC แต่ละรายมีทางเลือกในการจัดหา FUC ที่่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐได้มากถึง 50% และผู้จัดหา FUC แต่ละราย ต้องพร้อมที่จะดำเนินการที่จำเป็นสำหรับการแลกเปลี่ยน FUC ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐ ให้เป็นดอลลาร์สหรัฐตามคำขอ

ด้านจำนวนเงินสูงสุด(Maximum Arrangement Amount)ที่จะขอความช่วยเหลือได้ หากเป็นส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับโครงการเข้ารับความช่วยเหลือของ IMF (IMF De-linked Portion:IDLP) จะได้ 20% ของ MAA แต่หากเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับ IMF (IMF Linked Portion:ILP) จะได้ 50% ของ MAA

ส่วนระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ (Maturity) หากเป็นส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับโครงการเข้ารับความช่วยเหลือของ IMF (IMF De-linked Portion:IDLP) จะได้ครั้งละ 6 เดือน แต่หากเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับ IMF (IMF Linked Portion:ILP)ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ ครั้งละ 1 ปี

นอกจากนี้ยังรับรองแผนงานเพื่ออนุมัติในการประชุมครั้งต่อไปเกี่ยวกับการแก้ไขข้อตกลง CMIM เรื่อง RFFและ FUC ที่จะใช้ได้ โดยได้สั่งให้บรรดาเจ้าหน้าที่แก้ไข CMIM ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2567

RFF เป็นการให้ความช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข ในกรณีที่ประสบภัยพิบัติ เช่น การระบาดใหญ่ หรือภัยธรรมชาติ

“เรามั่นใจว่าการจัดตั้งกลไกใหม่นี้ภายใต้ CMIM จะช่วยเสริมความสามารถในการปรับตัวในระดับภูมิภาคของอาเซียน+3 ได้อย่างมาก โดยการทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงเงินทุนฉุกเฉินในช่วงเวลาที่มีปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผลกระทบภายนอกอย่างกะทันหัน รวมถึงโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่อาวุโส ด้วยการสนับสนุนจาก AMRO ดำเนินการตามแผนงาน RFA ต่อไป รวมถึงการพิจารณากลไกใหม่ๆ เช่น เครื่องมือการปรับนโยบาย เพื่อให้ใช้ RFA ได้ดีขึ้น

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้การปรับเปลี่ยนโครงการกองทุน CMIM ให้เป็นโครงสร้างทุนที่นำเงินมาสมทบเลย แทนที่จะเป็นการให้คำมั่นแบบเดิม และตกลงที่จะแก้ไขโครงสร้างโดยละเอียดภายในปี 2568 หลังจากการประเมินรูปแบบต่างๆ

มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF De-linked Portion) จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด

2. ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นเงินสกุลท้องถิ่น ตามหลักความสมัครใจของทั้งประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยอยู่ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมที่ 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. แก้ไขประเด็นทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการยกเลิกการใช้อัตราอ้างอิง London Interbank Offered Rate (LIBOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของกลไก CMIM

กลไก Rapid Financing Facility เกิดขึ้น เป็นผลจากการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน(ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting) เมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2566 ที่จัดขึ้นที่เมืองคานาซาว่า จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นกับอินโดนีเซียเป็นประธานร่วมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 และกระบวนการผู้ว่าการธนาคารกลางในปี 2566

ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง Rapid Financing Facility เป็นกลไกใหม่ของ CMIM รวมทั้งพัฒนาแผนงานจากการหารือเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงินสำหรับเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับภูมิภาค และตรวจสอบโครงสร้างส่วนต่างดอกเบี้ย ตลอดจนจัดตั้งสำนักเลขาธิการเพื่อการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติโครงการ(DRF)

การใช้กลไกของ CMIM ที่น้อยมากในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการประเมินประสิทธิผลของเครือข่ายความมั่นคงทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ในอนาคต กรอบการให้กู้ยืมที่ครอบคลุมเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการกับความท้าทายที่หลากหลายและเกิดขึ้นใหม่ที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต้องเผชิญ ได้มากพอ

ก่อนหน้านี้ชุดเครื่องมือ ของ CMIM ประกอบด้วยเครื่องมือเพียงสองชนิดสำหรับการป้องกันและแก้ไขวิกฤติ อย่างแรกคือ การแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งเข้าถึงได้เฉพาะในประเทศที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น Stability Facility (SF) ซึ่งเป็นเครื่องมือแก้ไขวิกฤติเพียงชนิดเดียว ก็มีอุปสรรคจากโครงสร้างเงินทุนของ CMIM ที่เป็นแบบระยะสั้น และมีข้อกำหนดด้านผลงานในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ แม้จะปฏิบัติตามนโยบายที่เข้มแข็งในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงกลไก เครื่องมือของ CMIM ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการขาดการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤติ