ThaiPublica > เกาะกระแส > ACT ชี้ 3 ปีศาจ… “จนท.รัฐ-ผู้รับเหมา-คอร์รัปชัน” ทำก่อสร้างรัฐร้าง ชวนจับตาอาคาร “สำนักงบฯ-กสทช.”

ACT ชี้ 3 ปีศาจ… “จนท.รัฐ-ผู้รับเหมา-คอร์รัปชัน” ทำก่อสร้างรัฐร้าง ชวนจับตาอาคาร “สำนักงบฯ-กสทช.”

6 พฤษภาคม 2025


ท่ามกลางกระแสข่าวอาคารราชการของหน่วยงานสำคัญระดับประเทศมีประเด็นถูกทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ ทั้งอาคารสำนักงบประมาณ มูลค่า 2.1 พันล้านบาทและอาคาร กสทช. มูลค่า 2.6 พันล้านบาท รวมถึงอาคารอื่นๆ เช่น สนามกีฬาชุมชน ศูนย์ท่องเที่ยว ฯลฯ ทั่วประเทศอีกนับไม่ถ้วน ที่ล้วนแล้วแต่มาจากเงินภาษีประชาชน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)หรือ ACT โดยนายมานะ นิมิตรมงคล ชวนสังคมตั้งคำถาม ถ้า “ปีศาจ 3ตน” คือต้นตอปัญหา ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้รับเหมา และการทุจริตคอร์รัปชัน ใครควรรับผิดชอบจัดการปัญหานี้

ทั้งนี้ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ขยายความด้วยการยกตัวอย่างความล้มเหลวงานก่อสร้างของราชการที่เป็นกระแสข่าวดังก่อนหน้านี้ ได้แก่

  • โครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท สาเหตุจากการขบวนการสมคบคิดของนักการเมือง ข้าราชการและผู้รับเหมาจำนวนมาก
  • โครงการสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท เกิดจากการฮั้วประมูลที่ชักใยโดยอดีตรองนายกรัฐมนตรีแล้วนำงานไปแบ่งขายโควต้าให้ผู้รับเหมารายย่อยหลายรายทั่วประเทศ
  • โครงการคือ “อควาเรียมหอยสังข์” จังหวัดสงขลา มูลค่า 1,400 ล้านบาท ที่โกงกินโดยขบวนการของอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนในกระทรวงศึกษาธิการ
  • “ล่าสุดกรณีสำนักงบประมาณและอาคาร กสทช.ด้วยมูลค่าโครงการสูงถึงหลักพันล้านบาทจึงชวนสังคมจับตาผลการตรวจสอบความล้มเหลวการก่อสร้างสองโครงการนี้ร่วมกันครับ” นายมานะกล่าว

    จากหลายๆ สถานการณ์พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้งานก่อสร้างของส่วนราชการไม่เสร็จ หรือเกิดกรณีผู้รับเหมาทิ้งงานนั้น ไม่ใช่เพราะการทุจริตเพียงเหตุผลเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและปัจจัยแวดล้อมอย่างระบบราชการที่เอื้อให้เกิดการทุจริตและความล้มเหลวในการทำงาน ดังนี้

    กรณีเจ้าหน้าที่ผิดพลาดหรือด้อยประสิทธิภาพ เช่น

      1) แบบก่อสร้างไม่ชัดเจน มีการแก้แบบ เพิ่มงาน ของานแถม แล้วโยนเป็นภาระผู้รับเหมา
      2) หน่วยงานมีปัญหาการเบิกจ่ายเงิน เช่น ช่วงโควิดหน่วยงานรัฐต่างถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก
      3) หน่วยงานขาดประสบการณ์บริหารงานก่อสร้าง พิจารณาอนุมัติแบบเพื่อก่อสร้างจริง อนุมัติวัสดุ/อุปกรณ์ล่าช้า การตรวจรับงาน/เบิกจ่ายเงินล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาขาดเงินหมุนเวียน
      4) เจ้าหน้าที่ เช่น กรรมการตรวจรับงาน ช่างคุมงาน ไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดประสบการณ์ ในการคุมงานและตัดสินใจ ขั้นตอนการบริหารงานที่ซับซ้อนและมากเกินความจำเป็น
      5) การแบ่งงวดงาน/งวดเงิน ไม่สอดคล้องกับเนื้องานที่ทำจริง ทำให้ผู้รับเหมาต้องลงทุนเยอะ แต่เบิกเงินได้น้อย
      6) งานเริ่มล่าช้าเพราะหน่วยงานมีข้อติดขัด ส่งผลให้แผนงานผู้รับเหมาผิดพลาด เช่น การส่งมอบที่ดิน
      7) เจ้าหน้าที่สั่งงานปากเปล่า ทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนอนุมัติของราชการครบถ้วน

    กรณีผู้รับเหมา ปัญหาที่พบเช่น

      1) ผิดพลาดในการบริหารจัดการ เช่น ขาดประสบการณ์ในงานลักษณะนั้น เจองานที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน รับงานในราคาต่ำกว่าจริง คำนวณต้นทุนผิดพลาด เงินขาดสภาพคล่อง/หาแหล่งกู้ยืมไม่ได้ตามแผนหรือรับหลายงานพร้อมกัน ราคาวัสดุก่อสร้างแพงขึ้นมากเกินคาด ขาดแรงงานมีฝีมือ ฯลฯ
      2) ถูกโกงหรือไปร่วมขบวนการโกง เช่น ซื้องานมาจากนายหน้า รับเหมาช่วง แล้วถูกเอาเปรียบหรือถูกหักค่านายหน้ามากเกินไป ถูกผู้มีอิทธิพลบีบจนไม่สามารถซื้อวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ได้ ถูกเจ้าถิ่นบังคับให้จ้างคนของเขามาถมดินในราคาแพงหรือเรียกค่าเงินกินเปล่าค่าถมดิน เป็นต้น
      3) ตั้งใจทิ้งงาน เมื่อได้รับเงินงวดตามต้องการแล้ว
      4) เจอปัญหาใหญ่แบบคาดไม่ถึง ทำให้ไปต่อไม่ได้ เช่น พื้นดินทรุดตัวมาก เกิดโรคโควิด 19 เป็นต้น

    “หลายโครงการพบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดรัดกุมมาก จนผู้รับเหมาไม่สามารถลดสเปก ลดเนื้องาน ขอแก้แบบ หรือขอขยายเวลาก่อสร้างได้เหมือนที่เคยปฏิบัติมา สุดท้ายจบด้วยการทิ้งงาน เหมือนที่คนวงในอธิบายเรื่องอาคาร สตง. ประจำจังหวัดถูกทิ้งงานนับสิบแห่ง เมื่องานก่อสร้างไปต่อไม่ได้ กลายเป็นภาระให้หน่วยงานรัฐเริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการต่อ ทำให้งานล่าช้าและเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก”

    กรณีคอร์รัปชัน เช่น

      1) จ่ายเงินใต้โต๊ะ ค่าฮั้ว ล็อคทีโออาร์เพื่อล็อคผู้รับเหมา ล็อคสเปกวัสดุอุปกรณ์ ค่านายหน้า ทุกอย่างต้องจ่ายหนักมากจนไม่เหลือกำไร
      2) จ่ายเงินค่าเร่งเวลาเมื่อขออนุมัติวัสดุอุปกรณ์ หรือจ่ายเมื่ออยากใช้ของราคาถูก จ่ายทุกขั้นตอนการตรวจรับงาน เบิกจ่ายเงิน อนุมัติขั้นตอนก่อสร้าง การแก้ไขแบบรูปรายการและการบริหารสัญญา
      3) มีการล็อกสเปกวัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่ผู้รับเหมาไม่รู้มาก่อน หรือไม่สามารถซื้อหามาได้
      4) ถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เพราะไม่ยอมจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือไม่ใช่พวกพ้อง หรือแหวกฮั้วเข้ามา
      5) ถูกคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นมารีดไถ เช่น ตำรวจ เทศกิจ ตม. แรงงาน อปท.ฯลฯ

    “ถามว่า ปัญหานี้ฟ้องร้องค่าเสียหายได้มั้ย คำตอบคือ แม้จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ก็ไม่คุ้ม และบางครั้งก็ไม่มีหลักประกันว่างานนั้นจะเสร็จได้หากมีการโกงกินหนักมากอยู่แล้ว ผมคิดว่า ผู้รับเหมาที่ดีมีอยู่จำนวนมาก แต่ปีศาจที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเจ้าของโครงการและนักการเมืองที่คดโกง คอยอาศัยช่องโหว่ของระบบและอำนาจที่มี เพื่อกอบโกยให้ตนเองและพวกพ้อง” นายมานะกล่าว