
เจ้าหน้าที่ด้านการค้าของสหรัฐฯ ได้สรุปอัตราภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับที่สูงลิ่ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติคดีการค้าที่ดำเนินมา 1 ปี โดยผู้ผลิตในสหรัฐฯ กล่าวหาบริษัทจีนว่าทุ่มสินค้าราคาถูกอย่างไม่เป็นธรรมเข้าสู่ตลาด
คดีนี้มีการฟ้องร้องเมื่อปีที่แล้วโดยบริษัท Hanwha Qcells ของเกาหลีใต้ บริษัท First Solar Inc. ในรัฐแอริโซนา และผู้ผลิตขนาดเล็กอีกหลายรายที่ต้องการปกป้องการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการผลิตแผงโซลาร์ของสหรัฐฯ
กลุ่มผู้ฟ้องร้องซึ่งก็คือ American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee กล่าวหาผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่ของจีนที่มีโรงงานในมาเลเซีย กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ว่า ส่งออกแผงโซลาร์ที่มีราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และได้รับการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้สินค้าของสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันได้
อัตราภาษีที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์นั้นแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและแต่ละประเทศ แต่โดยมากจะสูงกว่าอัตราภาษีเบื้องต้นที่ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้ว จากการรายงานของสำนักข่าว Reuters
อัตราภาษีรวมตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping duties) และตอบโต้การอุดหนุน (countervailing duties) ของผลิตภัณฑ์ Jinko Solar จากมาเลเซียอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 41.56% ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งอย่าง Trina Solar จากการดำเนินงานในประเทศไทยต้องเผชิญกับภาษี 375.19%
ทั้ง Jinko และ Trina ยังไม่พร้อมให้ความเห็นในทันที
ผลิตภัณฑ์จากกัมพูชาจะต้องเผชิญภาษีมากกว่า 3,500% เนื่องจากผู้ผลิตของกัมพูชาเลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของสหรัฐฯ
“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลลัพธ์ที่แข็งแกร่งมาก” ทิม ไบรท์บิล ทนายความของกลุ่มการผลิตในสหรัฐฯ กล่าวระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว “เรามั่นใจว่าพวกเขาจะจัดการกับแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทจีนใน 4 ประเทศนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ เป็นเวลานานเกินไป”
การคุกคามด้านภาษีกับประเทศที่จัดหาผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ให้กับสหรัฐอเมริกาในปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นปริมาณอุปทานในประเทศส่วนใหญ่ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการค้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก การนำเข้าจากประเทศเป้าหมายทั้ง 4 ประเทศในปีนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของปีที่แล้ว ขณะที่การจัดส่งแผงจากประเทศต่างๆ เช่น ลาวและอินโดนีเซีย ก็เพิ่มสูงขึ้น
มีการวิจารณ์ถึงการดำเนินการกำหนดอัตราภาษีดังกล่าว ทั้งจากกลุ่มการค้าสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Industries Association หรือ SEIA) เอง ซึ่งกล่าวว่า ภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ เนื่องจากจะทำให้ราคาเซลล์นำเข้าที่ประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์โดยโรงงานในสหรัฐฯ สูงขึ้น การประกอบแผงโซลาร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการให้เงินอุดหนุนใหม่สำหรับการผลิตพลังงานสะอาดในปี 2022
เจ้าหน้าที่ของ SEIA ยังไม่พร้อมให้ความเห็นในทันที
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การสรุปภาษีศุลกากรเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Commission) จะต้องลงคะแนนเสียงในเดือนมิถุนายนว่าอุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการนำเข้าที่ถูกทุ่มตลาดและได้รับการอุดหนุนหรือไม่