นักวิชาการหนุนชาวนา ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ทางออก ชาวนา“เลิกเผา 100 %” ลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยฟื้นฟูดิน ลดค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ย เตรียมขยายการทดสอบจุลินทรีย์ใน 8 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังพบใช้ในพื้นที่นาปทุมธานีและ สุพรรณบุรีได้ผลดี
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้รัฐบาลมีมาตรการห้ามเผาในพื้นที่โล่ง ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำนา ต้องปรับพฤติกรรม ไม่เผานาข้าว เนื่องจากการเผาพื้นที่เกษตรไม่เพียงแต่สร้างปัญหาด้านฝุ่นควัน แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของดิน
โครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร (โครงการเรน) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และดำเนินการโดยองค์การวินร็อคอินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรม “ไม่เผา ๙๙” เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์เป็นเครื่องมือย่อยสลายฟางและตอซังข้าว และฟื้นฟูคุณภาพดิน
กิจกรรมโครงการ “ไม่เผา ๙๙” ได้เปิดรับสมัครชาวนาและทดสอบการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายซังข้าวในแปลงเกษตรกร 9 แปลงในอำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่สาธิตแห่งแรกที่เปิดให้เกษตรกรและบุคคลที่สนใจเข้าเรียนรู้ด้วยตนเอง
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นเจ้าของแปลงนา แบ่งพื้นที่ 8 ไร่ (3.2 เอเคอร์) เป็น 8 แปลงสำหรับสาธิตประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังเพื่อเตรียมแปลงนา ปรับปรุงคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อมในแปลง ตลอดจนเพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารและความแข็งแรงของต้นข้าว
การสาธิตได้เริ่มจากแปลงแรก ฉีดพ่นหรือเทสารละลายจุลินทรีย์ลงไป แปลงที่ 2 แสดงให้เห็นผลของสารละลายจุลินทรีย์หลังจากผ่านไป 3 วัน ซึ่งพบว่าฟางนิ่มพอที่จะปั่นฟาง แปลงที่ 3 แสดงการเปลี่ยนแปลงหลังจากใช้สารละลายจุลินทรีย์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แปลงที่ 4 เป็นแปลงที่ไม่ได้ใช้การบำบัดด้วยจุลินทรีย์ที่มีต้นข้าวอายุ 2 เดือน และอีก 4 แปลงที่เหลือเป็นแปลงเปรียบเทียบของต้นข้าวอายุ 2 เดือนที่ใช้จุลินทรีย์ต่างผลิตภัณฑ์
“ผมใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าวมานานกว่า 20 ปี ชี้ให้เห็นว่าจุลินทรีย์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับเตรียมแปลงนาก่อนการหว่านและดำนา โดยไม่ต้องเผา ซึ่งช่วยให้ต้นข้าวเติบโตได้ดี และเปลี่ยนฟางและตอซังให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์”
นายสุกรรณ์ กล่าวว่าจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายฟางข้าวให้นุ่มลงพร้อมสำหรับการปั่นฟางและเตรียมแปลงก่อนหว่านภายใน 3-7 วัน และเห็นได้ชัดว่าน้ำที่ขังในแปลงนาที่ใช้จุลินทรีย์ไม่มีกลิ่นและสะอาดเพราะปราศจากก๊าซไข่เน่า ดังนั้นรากข้าวจึงเติบโตได้ดี ต้นข้าวในแปลงมีความหนาแน่นขึ้น และระบบนิเวศในแปลงนาปรับปรุงดีขึ้น ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เพื่อการย่อยสลายฟางและตอซังข้าวหลายตัวในตลาด คิดเป็นต้นทุนของการใช้งานตกเฉลี่ยที่ประมาณ 70 บาท ถึง 100 บาทต่อไร่

“แปลงนาที่ใช้จุลินทรีย์มีการย่อยสลายฟางและตอซังข้าว จะรวดเร็วกว่าการปล่อยให้เปื่อยยุ่ยตามธรรมชาติ ทำให้สามารถไถกลบฟางและเตรียมแปลงนาก่อนการหว่านในเวลา 7 วัน และทำให้รากข้าวแข็งแรง ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี ผมต้องการบอกเพื่อนๆชาวนาว่าจุลินทรีย์มีการใช้งานที่ง่าย มีประโยชน์หลายด้าน และไม่ทำให้งานเพิ่ม”
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา โครงการเรนได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาให้จัดทำแปลงสาธิตที่ศูนย์บริการการเกษตรปทุมธานี คลอง 11 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังข้าว ผลการทดสอบหลังการใช้ในแปลงสาธิต 1 สัปดาห์พบว่าฟางและตอซังข้าวเปื่อยยุ่ยลงสำหรับการไถกลบและเตรียมแปลงนา
นอกจากนี้การทดสอบใช้ จุลินทรีย์สลายซังข้าว ได้เลือกใช้พื้นที่ศูนย์บริการการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาใน 8 จังหวัดในภาคกลาง และภาคตะวันออกฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ปทุมธานี และนครนายก เพื่อเป็นต้นแบบส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์แก่เกษตรกรในชุมชน
หนุนเกษตรกรใช้ “จุลินทรีย์สลายซังข้าว”
นางสรรศุภร วิชพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่าจุลินทรีย์ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับชาวนาเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาเพราะการศึกษาพบว่าย่อยสลายฟางและตอซังข้าวได้โดยไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของชาวนา
“การทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังข้าวที่ศูนย์บริการการเกษตรมูลนิธิชัยพัฒนา ปทุมธานี คลอง 11 ได้ผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามควรมีภาพที่สมบูรณ์จากการทดสอบเชิงเปรียบเทียบกับปัจจัยด้านดิน น้ำ และสภาพอากาศที่ต่างกันในพื้นที่อื่นๆ” นางสรรศุภรกล่าว

ด้านนางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าสำหรับกิจกรรม “ไม่เผา ๙๙” มูลนิธิมีบทบาทส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรจากหลายภาคส่วนให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์แทนการเผา ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน ในการเตรียมที่ดินสำหรับการปลูกข้าว นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทามลภาวะอากาศที่มีฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย
“เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวนาเกี่ยวกับผลเสียของการเผา และการที่จุลินทรีย์สามารถเป็นทางเลือกสำหรับความยั่งยืนอีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราพิสูจน์แล้วว่าจุลินทรีย์มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อชาวนาและสิ่งแวดล้อม มีราคาที่ชาวนาสามารถซื้อหาได้ และมีศักยภาพที่จะเพิ่มการเข้าถึงให้ชาวนา ที่สำคัญมีผู้ประกอบการในตลาดที่สามารถผลิตจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่เพียงพอ เชื่อมั่นในทันทีว่าจุลินทรีย์เป็นทางเลือกที่เหมาะกับชาวนา”
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า นโยบายไม่เผานาข้าว รัฐบาลทำเป็นวาระแห่งชาติ จึงสนับสนุนให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์เป็นทางออก เพราะการใช้จุลินทรีย์ช่วยให้มีการฟื้นฟูดินและลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย โดยพบว่าหลังจากใช้แล้วดินมีโปรแตชสเซียมเพิ่มขึ้น การไม่เผาจะช่วยทำให้ฟื้นฟูดินกลับมา โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เพิ่มขึ้นประมาณ 14.5 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยประมาณ 600 บาทต่อไร่ และเมื่อหักค่าใช้จ่ายจากค่ารถไถนาประมาณ 300 บาทต่อไร่ ทำให้ชาวนาลดค่าใช้จ่ายได้ 300 บาทต่อไร่ และยังช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ใช้จุลินทรีย์ ทางออกไม่เผานา และฟื้นฟูดิน
ด้านวิลเลี่ยม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวว่า โครงการเรนมีเป้าหมายใช้กลไกตลาดส่งเสริมให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์ในวงกว้าง เนื่องจากจุลินทรีย์เป็นทางออกที่สำคัญให้ชาวนา จากนโยบา่ยรัฐบาลไทยประกาศห้ามเผาแปลงนาหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้การใช้จุลินทรีย์ยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน และเพิ่มผลผลิตข้าว ทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โครงการเรนได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ และพบว่านวัตกรรมนี้สามารถช่วยชาวนาเตรียมแปลงหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับปลูกข้าวครั้งต่อไปภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งเป็นความจำเป็นของชาวนาที่ปลูกข้าวนอกฤดูกาลโดยใช้น้ำจากระบบชลประทาน
“เมื่อเราบอกชาวนาว่า “ห้ามเผา” ประโยคนี้ยังไม่ครบถ้วนครับ เราควรอธิบายต่อไปว่าเมื่อไม่เผาแล้วชาวนาจะทำอย่างไร โครงการเรนมีคำตอบให้ นั่นก็คือใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายฟางและตอซัง” สปาร์กส์กล่าว
กิจกรรม “ไม่เผา ๙๙” เปิดโอกาสให้ชาวนาและบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้โดยตรงจากพื้นที่สาธิต และรับสมัคร “เกษตรกรฮีโร่ เลือกไม่เผา” 99 คน ซึ่งจะได้รับชุดเครื่องมือจุลินทรีย์และคำแนะนำการใช้งาน และได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำแปลงสาธิตเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ชาวนารายอื่นต่อไป นอกจากนั้นจะสร้างเครือข่ายร้านค้าผลิตภัณฑ์เกษตรที่วางขายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้กิจกรรม “ไม่เผา ๙๙” เป็นกลยุทธ์หนึ่งของโครงการเรน ในการลดการเผาชีวมวลในพื้นที่โล่งที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 ซึ่งต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และแรงจูงใจในระบบตลาด
นอกจากนี้โครงการเรนได้ริเริ่มกิจกรรม “ผู้พิทักษ์สีเขียว” เพื่อระดมความช่วยเหลือจากบุคคลทั่วไปและกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจสนับสนุนทางการเงินให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์
ก่อนหน้านี้โครงการเรนประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบลุ่มแม่น้ำชี ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว และกำลังขยายการส่งเสริมให้ครอบคลุมทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้โครงการเรนจะขยายการส่งเสริมให้ชาวนาใช้จุลินทรีย์แทนการเผาในประเทศอื่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อว่าการส่งเสริมให้ใช้จุลินทรีย์เพื่อลดการเผาจึงน่าจะเป็นทางออกของชาวนา