ThaiPublica > สู่อาเซียน > มาเลเซีย ประธานอาเซียน เรียกร้องประเทศสมาชิกร่วมมือต่อสู้ความท้าทายจากภาษีสหรัฐ

มาเลเซีย ประธานอาเซียน เรียกร้องประเทศสมาชิกร่วมมือต่อสู้ความท้าทายจากภาษีสหรัฐ

8 เมษายน 2025


นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ที่มาภาพ:เพจ FB Anwar Ibrahim

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 เรียกร้องประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันต่อสู้กับความท้าทายจากการเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ

ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการเสวนาการลงทุนอาเซียน 2025 ภายใต้แนวคิด “Asean 2025: Forging a resilient and inclusive future” ที่จัดขึ้นนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันอังคาร( 8 เมษายน) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องให้อาเซียนพึ่งพาตนเองมากขึ้น มีการร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในมากขึ้น และร่วมมือกันต่อสู้กับการความท้าทายจากการเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐ

นายอันวาร์ กล่าวว่า มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรทั่วโลก

นายอันวาร์ กล่าวว่า”การทบทวนเจตนารมณ์ที่แท้จริงอาจจะทำได้จำกัด แต่ยังคงมีขอบเขตในการปรับการดำเนินนโยบายดังกล่าว ระบบการค้าโลกกำลังเผชิญกับความตึงเครียดอย่างหนัก มากกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา”

นายอันวาร์ กล่าวว่า “ด้วยการทูตแบบนุ่มนวลในการมีส่วนร่วมอย่างเงียบๆ ของเรา และผมได้สร้างฉันทามติในหมู่ผู้นำอาเซียน เราจะส่งเจ้าหน้าที่ของเราพร้อมกับเพื่อนร่วมงานของเราในอาเซียนไปที่วอชิงตันเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจา”

ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยกลุ่ม CLMV ได้รับผลกระทบหนักที่สุด กัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานและภาษีนำเข้าตอบโต้รวม 49% รองลงมาคือลาว (48%) เวียดนาม (46%) และเมียนมา (44%) ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% อินโดนีเซีย 32% บรูไนและมาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10%

  • ASEAN Roundup มาเลเซียประธานอาเซียน ผู้นำการเจรจาภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
  • สำรวจทั่วโลกตอบสนองมาตรการภาษีของทรัมป์อย่างไร
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กว่า 180 ประเทศ ยกระดับสงครามการค้าครั้งใหญ่
  • อาเซียนยืนหยัดได้และผ่านบททดสอบมาแล้ว

    นายอันวาร์ยังตอกย้ำความแข็งแกร่งและความสามัคคีของอาเซียนท่ามกลางความตึงเครียดทางเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวว่า…

    ความแข็งแกร่งของอาเซียนไม่ได้อยู่ที่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง(drama) แต่อยู่ที่ความยืนหยัด โดยสามารถผ่านพ้นสงคราม วิกฤติ และการรัฐประหารมาได้เกือบ 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ก่อตั้งภูมิภาคนี้ในปี 2510 และ อาเซียนก็มีในสิ่งที่ต้องมีในการต่อสู้กับการดำเนินการของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่ส่งผลให้ตลาดโลกตกต่ำได้

    นอกจากนี้ยังได้สร้างความเชื่อมั่นที่จำเป็นอย่างยิ่งในภูมิภาค โดยกล่าวว่า อาเซียนซึ่งมาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานในปัจจุบัน ได้ก้าวไปข้างหน้าเสมอ แม้ว่าจะ “ก้าวไปทีละน้อย ซึ่งมักจะน่าหงุดหงิด แต่ก็ยังคงก้าวไปข้างหน้า”

    นายอันวาร์กล่าวว่า อาเซียนเป็นกลุ่มแห่งวิวัฒนาการ ไม่ใช่อยู่ๆก็เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

    ดังนั้น การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีศุลกากรจึงไม่ใช่ความท้าทายครั้งแรกสำหรับระบบพหุภาคี และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วย แต่หากอาเซียนสามารถยืนหยัดได้ – เปิดกว้าง ปฏิบัติจริง และสามัคคีกัน – อาเซียนอาจกลายเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เชื่อมั่นในโลกที่ทำได้ดีขึ้นเมื่อทำงานร่วมกัน

    นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น การกีดกันทางการค้าที่กลับมา และการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน อาเซียนยังคงโดดเด่นในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหวังและความคิดเชิงบวก เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงมุ่งมั่นในความเปิดกว้าง ความร่วมมือ และความต่อเนื่องของสถาบัน

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มูลค่าการค้าสินค้ารวมของเราอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้ไม่ใช่ว่าคงอยู่ตลอดไป ด้วยภาษีศุลกากรที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรง เรากำลังเห็นการเสื่อมสลายของระเบียบโลก ดังนั้น อาเซียนจึงต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น” ซึ่งหมายความว่า การเสริมสร้างการค้าภายในอาเซียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ รวมถึงการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน การทำงานด้านโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล

    “การเปิดเสรีภาษีศุลกากรภายในภูมิภาคนั้นเสร็จสิ้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่การจัดทำแนวทางการกำกับดูแล โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และการเชื่อมต่อดิจิทัลยังคงไม่เสร็จ นอกจากนี้ยังหมายถึงการปกป้องและขยายการเชื่อมโยงภายนอกของเราด้วย พันธมิตรด้านการเจรจาและภาคส่วนของเราครอบคลุม 6 ทวีป” ซึ่งมีไม่กี่กลุ่มภูมิภาคที่สามารถมีเครือข่ายแบบนี้ได้

    ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ มาเลเซียจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเวทีเชิงยุทธศาสตร์ เช่น อาเซียนบวกสาม เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

    “วิสัยทัศน์ของเราสำหรับอาเซียนคือภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และเปิดกว้าง ซึ่งจะต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง เงินทุนที่ทุ่มเท ความแข็งแกร่ง และโชค นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในแผนริเริ่มในระดับภูมิภาคย่อย” นายอันวาร์กล่าว โดยยกตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

    “แม้ว่านี่จะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ การลดอุปสรรคและการประสานนโยบายระหว่างเศรษฐกิจสองประเทศที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด จะสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในแนวคิดเศรษฐกิจข้ามพรมแดน” นายอันวาร์กล่าว

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังมุ่งมั่นที่จะลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น คาบสมุทรทางตอนเหนือที่ติดกับประเทศไทย และชายแดนซาบาห์และซาราวักที่ติดกับกาลีมันตัน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝั่งของชายแดน

    การดำเนินการอื่นๆ ได้แก่ โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนเพื่อส่งไฟฟ้าจากเวียดนามไปยังกลันตันผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ และไปยังสิงคโปร์ผ่านสายส่งไฟฟ้าภาคพื้นดิน รวมถึงการขยายการเชื่อมโยงการชำระเงินของอาเซียน

    นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากอาเซียนในฐานะตลาดได้ดีขึ้น และเพื่อส่งเสริมการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในภาคส่วนต่างๆ เช่น บริการทางการเงิน พลังงาน การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โทรคมนาคม และโลจิสติกส์

    ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังพิจารณานโยบายตอบสนองทั้งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตนเอง ขณะเดียวกันก็มองไปที่แนวทางบรรเทาภาระภาษีศุลกากรด้วยการเจรจากับสหรัฐฯ

    นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ที่มาภาพ:เพจ FB Anwar Ibrahim

    มาเลเซียส่งทีมเจรจาภาษีกับสหรัฐปลายเมษายนนี้

    นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม กล่าววันนี้ (8 เมษายน) ว่า มาเลเซียเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปวอชิงตันเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาษีศุลกากรตอบโต้( reciprocal tariffs) 24% ที่เรียกเก็บจากมาเลเซีย

    ต่อมา ดาโต๊ะ สรี อามีร์ ฮัมซาห์ อาซิซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ยืนยันว่าคณะผู้แทนมาเลเซียจะเดินทางไปวอชิงตันภายในสิ้นเดือนเมษายน

    “ในระหว่างนี้ มาเลเซียจะปรับตัวเหมือนเช่นที่เคยทำมาโดยตลอด ลมอาจเปลี่ยนทิศ แต่เราจะไม่ลอยไปลอยมา กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงทางการค้าของเรากำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    แม้ว่ามาเลเซียตั้งใจที่จะคงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่มั่นคงกับสหรัฐฯ ไว้ แต่รัฐบาลจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ นายอันวาร์กล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมการลงทุนอาเซียน 2025 ภายใต้แนวคิด “Asean 2025: Forging a resilient and inclusive future”

    “ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมเชิงรุกกับสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และในขณะเดียวกันก็กระจายและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับตลาดการค้าหลักทั้งหมดในสหภาพยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา”

    นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า การค้าระหว่างมาเลเซียกับสหรัฐฯ ถือเป็นแบบอย่างของผลประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน

    “การส่งออกของเราไม่เพียงแต่สนับสนุนการเติบโตภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนการจ้างงานที่มีคุณภาพสูงทั่วสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางการค้านี้สนับสนุนทั้งสองประเทศมาอย่างดี แต่มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อทุกฝ่าย”

    นายอาเมียร์ ฮัมซาห์ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า ต้องมีการหารืออย่างเป็นกระบวนการกับสหรัฐฯ เพื่อให้เข้าใจปัญหาภาษีศุลกากรได้ดียิ่งขึ้น

    เมื่อถามว่ามาเลเซียตระหนกหรือไม่ นายอาเมียร์ก็ตอบติดตลกว่า “ไม่ เราชิลล์” และกล่าวว่า แม้ปฏิกิริยาของสหรัฐฯ จะน่าแปลกใจ แต่มาเลเซียก็ใช้แนวทางที่รอบคอบมากกว่าที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเร่งรีบ

    “ดังนั้น เราจึงจะไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหารืออย่างเป็นมิตร และเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้ให้ลึกยิ่งขึ้น ตลอดจนหาหนทางที่จะให้ได้ผลที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

    “ตอนนี้ เราไม่ควรตื่นตระหนกหรือดำเนินการอย่างเร่งรีบ เราจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง” นายอามีร์กล่าว หลังการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีในเรื่อง “นโยบายโครงสร้างมหภาคของอาเซียน: การปฏิรูปเทียบกับมาตรการขยายตัว” หรือ Asean Macro Structural Policies: Reform Versus Expansionary Measures

    ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต ในการประชุมร่วมภาครัฐ เอกชน ในจาการ์ตาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่มาภาพ: https://www.chinadailyhk.com/hk/article/608928#Indonesia-announces-trade-concessions-for-US-ahead-of-talks-2025-04-08

    อินโดนีเซียประกาศผ่อนปรนการค้ากับสหรัฐก่อนการเจรจา

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย จะนำคณะผู้แทนอินโดนีเซียไปสหรัฐในสัปดาห์หน้า เพื่อเจรจาหาข้อตกลงที่จะบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้า 32% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน

    อินโดนีเซียประกาศผ่อนปรนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในวันอังคาร (8 เมษายน) รวมถึงการลดภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเหล็ก ก่อนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯเกี่ยวกับภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

    นายแอร์ลังกา กล่าวว่า อินโดนีเซียมีแผนซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติเหลว และถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเจรจา

    นายแอร์ลังกาซึ่งเข้าร่วมประชุมที่มีประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกระทรวงหลัก ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน และภาคธุรกิจเข้าร่วม เพื่อหารือถึงแนวทางรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

    นายแอร์ลังกากล่าวว่า ผลกระทบของภาษีศุลกากรของทรัมป์ต่ออินโดนีเซียจะไม่เลวร้ายเท่ากับเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

    “การส่งออกของอินโดนีเซียจากสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 2.2%ของ GDP ของเรา … ดังนั้นเราจึงสามารถรับมือกับผลกระทบจากภาษีศุลกากรได้ สหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดเดียวของเรา … แน่นอนว่าเราสามารถเจาะตลาดอื่นๆ นอกสหรัฐฯ ได้” นายแอร์ลังกากล่าว จากการรายงานของสำนักข่าว Jakarta Globe

    นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจะลดภาษีนำเข้าเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากสหรัฐฯ ลงเหลือ 0-5% จากอัตรา 5-10% และจะลดภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และแล็ปท็อปจากประเทศต่างๆ ลงเหลือ 0.5% จาก 2.5%

    นางศรีมุลยานีกล่าวว่า อินโดนีเซียยังมีช่องทางที่จะแทนที่เวียดนาม บังกลาเทศ ไทย และจีนในฐานะแหล่งที่มาของสินค้าส่งออกบางส่วนไปยังสหรัฐฯ ภายใต้ระบบภาษีศุลกากรใหม่ของรัฐบาลทรัมป์

    อินโดนีเซียมีดุลการค้าเกินดุล 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับสาม โดยได้รับสินค้ามูลค่า 26,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 ตามข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซีย

    สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และรองเท้า

    ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตกล่าวว่า ภาษีศุลกากรที่ทรัมป์กำหนดขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะต้องยืนหยัดด้วยตัวเองและไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น

    “เป็นเวลาหลายปีแล้วที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศของเราและผมได้กล่าวไว้ว่าเราต้องยืนหยัดด้วยตัวเองในการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา” ประธานาธิบดีปราโบโวกล่าว

    ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกล่าวว่ากำลังพิจารณาเกี่ยวกับแผนการเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ รวมถึงการซื้อชิ้นส่วนสำหรับโครงการโรงกลั่นน้ำมันและทบทวนความเป็นไปได้ในการลดกฎเกณฑ์การใช้วัสดุในท้องถิ่นสำหรับบริษัทเทคโนโลยีและการสื่อสารของสหรัฐฯ

    นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่มาภาพ:https://www.channelnewsasia.com/singapore/singapore-task-force-monitor-impact-us-trump-tariffs-lawrence-wong-5050896

    สิงคโปร์ตั้งคณะทำงานดูแลธุรกิจ-คนงาน

    เมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) นายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง สิงคโปร์ประกาศว่า สิงคโปร์จะจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและคนงานในการรับมือกับภาษีศุลกากรใหม่จากสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและค่าจ้าง

    คณะทำงานดังกล่าวซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นาย กัน กิม หย่ง เป็นประธาน จะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ สหพันธ์นายจ้างแห่งชาติสิงคโปร์ และสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ

    นายหว่อง แถลงต่อรัฐสภาว่า คณะทำงานดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจและคนงานรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน เสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัว และปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่

    โดยคาดว่าภาษีศุลกากรดังกล่าวจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกของภาคส่วนที่พึ่งพาการส่งออกของสิงคโปร์ เช่น การผลิตและการค้าส่ง นอกจากนี้ นายหว่อง ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของโลกและความเชื่อมั่นที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการบางประเภท เช่น การเงินและประกันภัย

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ว่าสิงคโปร์อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้หรือไม่ก็ตาม แต่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกำลังทบทวนการคาดการณ์การเติบโตในปี 2568 ที่ 1-3% โดยมีแนวโน้มจะปรับลดลง

    “การเติบโตที่ชะลอตัวลงจะหมายถึงโอกาสในการทำงานที่น้อยลงและการขึ้นค่าจ้างสำหรับคนงานจะน้อยลง และหากบริษัทต่างๆ เผชิญกับความยากลำบากหรือย้ายการดำเนินงานกลับไปที่สหรัฐฯ จะมีการเลิกจ้างและการสูญเสียตำแหน่งงานมากขึ้น” นายหว่องกล่าว

    นอกเหนือจากความกังวลเฉพาะหน้า นายหว่องกล่าวว่า ภาษีศุลกากรยืนยันความจริงอันโหดร้ายที่ว่า “ยุคของโลกาภิวัตน์ตามกฎเกณฑ์และการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว”

    นายกันกล่าวหลังจากนายหว่องว่า “ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น” และต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ให้ดีขึ้น

    คณะทำงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องทำงานในรายละเอียดขององค์ประกอบและภารกิจหลัก แต่จุดหนึ่งที่สำคัญของคณะทำงานน่าจะอยู่ที่การสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูล

    ตัวอย่างเช่น สหภาพแรงงานจะอยู่ในคณะทำงาน เนื่องจากคาดการณ์ว่างานอาจได้รับผลกระทบในระยะกลางถึงยาว ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตัวแทนภาคเอกชนจะช่วยให้คณะทำงานทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ และทำความเข้าใจกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจริงได้ดีขึ้น

    ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ติดต่อคู่ค้าของสิงคโปร์เพื่อแลกเปลี่ยนการประเมินสถานการณ์และหาวิธีการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ นายกันกล่าว

    ฟิลิปปินส์เปิดกว้างที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ

    นางคริสตินา โร๊ก ปลัดกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ ที่มาภาพ: https://business.inquirer.net/518374/negotiation-not-retaliation-ph-open-to-cut-tariffs-on-us-imports
    ฟิลิปปินส์เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ในการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาในประเทศ เพื่อบรรลุข้อตกลงการค้ากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ครั้งใหญ่เมื่อไม่นานนี้

    นางคริสตินา โรเก ปลัดกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันจันทร์(7 เมษายน) ว่า ฟิลิปปินส์เปิดกว้างต่อแนวคิดในการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ

    “เราจะทำอย่างนั้นจริงๆ (ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ) เราจะประชุมกับทีมเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้” นางโรเกกล่าว

    แต่ทางเลือกของประเทศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น นางโรเกกล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะร่วมกับประเทศอื่นๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อแก้ปัญหาภาษีศุลกากร

    “เราทำงานร่วมกันในฐานะอาเซียน” นางโรเกกล่าวโดยอ้างถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคซึ่งฟิลิปปินส์เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง

    คำพูดล่าสุดของปลัดกระทรวงการค้าหมายความว่า ฟิลิปปินส์กำลังร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเร่งเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกับทรัมป์

    ในภูมิภาคนี้ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เวียดนามพร้อมที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมดสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์ประกาศว่าสินค้าของเวียดนามที่เข้าสู่สหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีปรับ 46%

    ในทางกลับกัน จีนประกาศเมื่อวันศุกร์(4 เมษายน) ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 34% เพื่อตอบโต้

    แต่บรรดานักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ฟิลิปปินส์อยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการเจรจากับวอชิงตัน หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ 17% ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำสุดในเอเชีย ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้า 34% ที่ฟิลิปปินส์เรียกเก็บจากสินค้าขาเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงต้นทุนโดยประมาณของอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ

    มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าเพียง 10% ซึ่งเป็นอัตราพื้นฐานที่ทรัมป์ระบุในการประกาศ “วันปลดปล่อย” ของเขา

    จากข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าสินค้ากับฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 4.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 21.8% จากปีก่อนหน้า

    ตามข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลล่าสุดที่มี ณ ปี 2565 อัตราภาษีศุลกากรที่ใช้กับประเทศที่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoure Nation Treatment: MFN)ของฟิลิปปินส์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.1% อัตราภาษีนำเข้า MFN เฉลี่ยของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 9.8% สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและ 5.5%สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ทางการเกษตรในปี 2565