ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมธรรม์แบบไหน ‘เคลม’ แผ่นดินไหวได้?

กรมธรรม์แบบไหน ‘เคลม’ แผ่นดินไหวได้?

31 มีนาคม 2025


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. ,นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกันแถลงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ห้องกรุงเทพ 2 ชั้น Mezzanine Floor (M) โรงแรมเซ็ฯทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

สมาคมประกันวินาศภัยไทยแจงกรมธรรม์แบบไหน ‘เคลม’ แผ่นดินไหวได้-ไม่ได้? – เลขาธิการ คปภ.ชี้ทั้งประเทศขายประกันอัคคีภัย 5.4 ล้านฉบับ วงเงินคุ้มครองพื้นฐานไม่เกิน 20,000 บาท/ราย – ยันฐานะการเงินประกันไทยแข็งแกร่ง ‘CAR Ratio’ เกิน 300% พร้อมจ่ายสินไหมผู้เอาประกัน – เผย 4 บริษัท รับประกัน ‘ตึก สตง.’ วงเงิน 2,200 ล้าน ‘รี-อินชัวรันส์’ ไปต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. ,นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกันแถลงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ห้องกรุงเทพ 2 ชั้น Mezzanine Floor (M) โรงแรมเซ็ฯทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 คปภ. พร้อมกับบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ที่รับทำประกันภัย “Construction All Risk : CAR” โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. ประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ อาคารสำนักงาน สตง. โดยฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของ คปภ.ได้ประสานงานไปยังบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ITD” เพื่อขออนุญาตเข้าตรวจสอบพื้นที่อาคารร่วมกับบริษัทประกันภัย และได้ขอความร่วมมือ ITD ให้จัดส่งรายชื่อผู้สูญหายในเวลานี้ พร้อมทั้งบัตรประชาชน เลขบัตรประชาชน หรือ เลข Passport เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดย คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัย ณ สถานที่เกิดเหตุ และตั้งศูนย์เพิ่มเติมที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษกด้วย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ.

คปภ.ยันประกันไทยแข็งแกร่ง ‘CAR’ เกิน 300% – 4 บริษัท ‘รีอินชัวรัน’ ตปท.

“โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. หลังใหม่นี้ ทำประกันภัย ประเภท “Construction All Risk : CAR” ไว้กับ 4 บริษัทตามที่กล่าวข้างต้น โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ทราบมูลความเสียหายที่แท้จริงคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 บริษัทได้มีการประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศ หากพูดถึงภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในขณะนี้ ที่ผ่านมา คปภ.ได้ทำ ‘stress test’ กับธุรกิจประกันวินาศภัยมาโดยตลอด โดยใช้ดัชนีวัดความมั่นคงของบริษัทประกันวินาศภัยที่เรียกว่า “CAR Ratio” ตามมาตรฐานสากลต้องสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 100% แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัยของไทยในขณะนี้มีสัดส่วนเกินกว่ามาตรฐาน 2-3 เท่า หรือ ประมาณ 300% คปภ.ขอยืนยันว่าฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยทั้งระบบมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมาก” นายชูฉัตร กล่าว

สั่งประกันฯเตรียมตอบคำถาม – วางแนวทางจ่าย ‘เคลม’ ผู้เอาประกัน

นายชูฉัตร กล่าวว่า “หลายคนถามผมว่าความเสียหายครั้งนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ เพราะทุกคนต้องรีบลงจากตึกก่อน บางคนก็ยังกลับเข้าตึกไม่ได้เลย แต่อย่างไรก็ตามภาพความเสียหายคงค่อยๆปรากฏขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ทุกบริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะตอบประชาชน หรือ ผู้เอาประกันภัย กรมธรรม์ที่ถืออยู่คุ้มครองหรือเปล่า คุ้มครองแบบไหน และมี Limit เท่าไหร่ นี่คือ สิ่งที่บริษัทประกันภัยต้องเตรียมพร้อมตอบคำถามเหล่านี้ เชื่อว่าตั้งแต่วันพรุ่งนี้ก็จะมีคนกลับเข้าตึกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะเห็นรอยร้าวของบ้าน คอนโดมิเนียม หรือ อาคารที่ทำงาน คงจะมีการสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยวินาศภัย ซึ่งบริษัทก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบคําถามเหล่านี้ และพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลม รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติในการเรียกร้องค่าสินไหมที่อำนวยสะดวกแก่ประชาชน”

“ขณะนี้มีนิติบุคคลคอนโดมิเนียมหลายแห่ง แจ้งให้ผู้อยู่อาศัยถ่ายรูปรอยร้าวต่างๆส่งให้นิติบุคคลอาคารชุด เพื่อรวบรวมส่งให้บริษัทประกันวินาศภัยต่อไป นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่ต้องยอมรับเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ พยายามทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา คปภ.ได้เปิดสายด่วน 1186 คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ทำประกันภัยที่รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะยังคนโทรเข้ามาน้อย แต่เชื่อว่านับแต่วันพรุ่งนี้จะมีคนโทรเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันฯหลายแห่งก็เปิดสายด่วน 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกัน” นายชูฉัตร กล่าว

นายชูฉัตร กล่าวว่า ส่วนภาคเหนือทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ก็ได้รับรายงานว่ามีตึกที่รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก ก็ได้สั่งการสำนักงาน คปภ.ภาค 1 จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมกับบริษัทประกันภัยเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่เกิดเหตุแล้ว ส่วนจังหวัดอื่น ๆ คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา และประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง อบจ. อบต. และจังหวัด เพื่อแจ้งให้หน่วยงานเหล่านี้รับทราบว่า ทาง คปภ.พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันภัยที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวให้หน่วยงานต่างๆส่งต่อมาที่ คปภ.จังหวัดต่างๆได้ ส่วนเรื่องเคลมประกันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ทาง คปภ.ก็จะเร่งทำ Q&A เมื่อเสร็จก็จะรีบเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ.ต่อไปว่าจะกำหนดแนวปฏิบัติอย่างไรบ้าง รวมถึงกรณีที่มีการแจ้งเคลม ก็จะส่ง “Surveyor” เข้าไปสำรวจความเสียหายในอาคารของผู้ประกันภัย

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยได้มีการตั้งทีมงานขึ้นมา ทั้งในส่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย และในส่วนของบริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง และได้ขอร้องให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งทั้งที่รับประกันภัย และไม่รับประกันภัยแผ่นดินไหวร่วมกันทำหน้าที่รับเรื่อง และประสานงานในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องของอุบัติเหตุ ขอกล่าวรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอีกครั้งว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาดความรุนแรงอยู่ที่ 8.2 แมกนิจูด ความลึก 10 กิโลเมตร และก็มี After Shock ตามมากว่า 100 ครั้ง ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสูงตามเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ประชาชนที่ทำประกันภัยมีข้อสงสัยว่าทรัพย์สินของตนเองจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ อย่างไร

ทัั้งประเทศซื้อประกันอัคคีภัย 5.4 ล้านฉบับ ‘แผ่นดินไหว’เคลมสูงสุด 20,000 บาท/ราย

ดร.สมพร ชี้แจงต่อว่า ปกติกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับอยู่อาศัยโดยทั่วไป คปภ.ได้กำหนดเป็นความคุ้มครองมาตรฐานเอาไว้อยู่แล้วว่า “สำหรับภัยพิบัติที่เป็นมหันต์ภัย ซึ่งหมายรวมไปถึงภัยจากแผ่นดินไหวด้วยจะได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 20,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้ ตรงนี้ก็ต้องกลับไปดูแต่ละกรมธรรม์ของท่านซื้อความคุ้มครองเพิ่มหรือไม่ แต่โดยมาตรฐานแล้วประกันอัคคีภัยจะครอบคลุมภัยที่เกิดจากลมพายุ , น้ำท่วม , แผ่นดินไหว และภัยลูกเห็บ เอาไว้ด้วย

ตั้งทีมงานกำหนดราคามาตรฐาน จ่าย‘เคลม’

“สำหรับประเทศไทยมีการทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ประมาณ 5.4 ล้านฉบับ อยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลประมาณ 2.2 ล้านฉบับ และต่างจังหวัดอีก 3.1 ล้านฉบับ ขอเรียนเจ้าของอาคาร บ้านอยู่อาศัย ไม่ต้องกังวล และไม่ต้องเป็นห่วง กรมธรรม์ของท่านได้รับความคุ้มครองในเรื่องนี้อยู่แล้ว และบริษัทประกันภัยก็มีความพร้อมที่จะจ่ายชดใช้ค่าสินไหม ซึ่งในขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการตั้งทีมงานกำหนดแนวทาง หรือ มาตรการร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะใช้สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่นาน โดยแนวทาง หรือ แนวความคิด มีหลักการเหมือนกับช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยจะมีการกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรฐาน กำหนดอัตราค่าชดเชย ค่าสินไหมมาทดแทน หรือ ค่าซ่อมในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผนังพื้น ฝ้าเพดาน เอาไว้เป็นมาตรฐาน หากประชาชนพอใจกับราคามาตรฐาน ก็สามารถรับค่าสินไหมได้ทันที แต่ถ้าเห็นว่าทรัพย์สินของตนเองมีมูลค่าซ่อมมากกว่าราคามาตรฐาน ก็สามารถที่จะเรียก หรือ บอกให้บริษัทประกันภัย เข้าไปสำรวจความเสียหายได้เป็นรายกรณีไป ดร.สมพร กล่าว

‘นิติบุคคลคอนโดฯ’ เคลมทรัพย์สินส่วนกลางได้

ดร.สมพร กล่าวว่า กรณีการประกันภัย สำหรับอาคารชุดในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ๆ นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วนิติบุคคลอาคารชุดจะทำกรมธรรม์ ประเภทประกันภัยความเสี่ยงในทรัพย์สิน หรือเรียกว่า “Industry All Risk : IAR” ก็จะให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายของตัวอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคาร , ลิฟท์ , บันได , สระว่ายน้ำ , ฟิตเนส และทรัพย์สินอื่นๆที่เป็นของส่วนกลาง ซึ่งการทำประกันภัยประเภท IAR จะให้คุ้มครองครอบคลุมความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวอยู่แล้ว แต่บางกรมธรรม์อาจมี Limit อยู่บ้าง ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดในแต่ละกรมธรรม์ แต่มาตรฐานแล้วจะมีความคุ้มครองในเรื่องของแผ่นดินไหวรวมอยู่ด้วย

เจ้าของห้องไม่เกิน 2 หมื่น ยกเว้นซื้อเพิ่ม – ทรัพย์สินเสียหายจากน้ำรั่ว

สำหรับทรัพย์สินของเจ้าของอาคารชุด ขอย้ำอีกว่า การทำประกันภัยตัวอาคารชุด โดยปกติแล้วจะไม่รวมถึงทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย ซึ่งผู้อยู่อาศัยนั้นอาจต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง หรือ ทรัพย์สินอื่นที่อยู่ภายในห้องชุดนั้น ถ้ามีการทำประกันภัยอยู่แล้ว กรมธรรม์มาตรฐานก็มีความคุ้มครองในเรื่องของแผ่นดินไหวอยู่แล้ว โดยจํากัดความรับผิดเอาไว้ที่ 20,000 บาท ต่อช่วงอายุของความคุ้มครอง ซึ่งปกติแล้วก็จะเป็น 1 ปี

“กรมธรรม์ประกันภัยอาคารชุดโดยทั่วไป ก็จะมีการความคุ้มครองถึงเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ในภาพข่าว หรือ ดูทีวีตอนนี้จะเห็นอาคารชุดหลายแห่งมีปัญหาท่อน้ำแตก หรือ ท่อน้ำหลุด มีน้ำรั่วออกมา ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือ แม้กระทั่งทางเดิน หรือ ฝ้าอาคาร กรณีนี้ถือเป็นภัยจากน้ำ จะได้รับความคุ้มครองด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สืบต่อเนื่องมาจากในเรื่องของแผ่นดินไหวก็ตาม”

ย้ำ ‘สถานประกอบการ’ ตรวจกรมธรรม์ “IAR” เคลมได้ แต่อาจมี ‘Limit’

สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการร้านค้าต่างๆ โดยปกติแล้วกรมธรรม์ประกันภัยเหล่านี้จะมีความคุ้มครองในเรื่องของแผ่นดินไหวอยู่ในส่วนหนึ่ง และยังสามารถจะขยาย หรือ ซื้อความคุ้มคุ้มครองเพิ่มเติมด้วย ขออนุญาตเรียนเน้นย้ำให้เจ้าของอาคาร หรือ ผู้ประกอบการ ช่วยตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเอง โดยดูว่าได้มีการขยายความคุ้มครอง หรือ เพิ่มความคุ้มครองจากมาตรฐานทั่วไปหรือไม่ ซึ่งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้กว่า 450,000 ฉบับ ส่วนในต่างจังหวัดมีอีกประมาณ 661,000 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประเภทนี้อยู่ที่ 1,100,000 ฉบับ อันนี้ก็เป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการ หรือ ร้านค้าต่างๆ

“ขอให้เจ้าของผู้ประกอบการสบายใจได้ ถ้าท่านมีการทำประกันภัย บริษัทประกันวินาศภัยก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล และก็ชดใช้ความสูญเสีย หรือ ความเสียหายให้กับท่าน ตามสัญญาประกันภัย ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ทุกบริษัทประกันภัย มีความมั่นคง และได้มีการจัดทำในเรื่องของระบบบริหารความเสี่ยงของตนเองเอาไว้ โดยมีการทำประกันภัยต่อไว้อย่างครบถ้วนไม่ต้องกังวลนะครับ” ดร.สมพร กล่าว

ดร.สมพร กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการประกันภัยความเสี่ยงภัยของทรัพย์สิน หรือ “Industrial All Rick : IAR” สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม หรือ สถานประกอบการต่างๆ ก็จะมีความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างเอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใดๆ โดยทั่วไปแล้วกรมธรรม์ประเภทนี้ก็ไม่ได้ยกเว้นเรื่องของภัยแผ่นดินไหวไว้ คําว่า “ไม่ได้ยกเว้นไว้ ก็หมายความว่าได้รับความคุ้มครองด้วย” ตนขอชี้แจงประชาชนที่รับฟังอยู่ กรมธรรม์ประกันภัยจะมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ

กลุ่มหนึ่งที่เราเรียกว่า “กรมธรรม์ระบุภัย” เช่น กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะระบุว่าคุ้มครองอะไรบ้าง ถ้าเราต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม เราก็จะไปซื้อเพิ่มเติม เช่น ไฟ แผ่นดินไหว หรือ ว่าภัยอะไรต่างๆ นี้คือการซื้อเพิ่มเติม กับอีกประเภท คือ “All Risk” ให้ความคุ้มครองภัยทุกอย่าง แต่ก็ต้องไปดูว่าข้อกำหนด หรือ ข้อยกเว้นความคุ้มครองเอาไว้อย่างไรบ้าง ส่วน “Industrial All Rick : IAR” ก็ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นภัยในเรื่องของแผ่นดินไหวเอาไว้ แต่อาจจะกำหนดทรัพย์ Limit หรือ จํากัดความรับผิดเอาไว้ ก็ต้องไปดูแต่ละสัญญาประกันภัยกำหนดความรับผิดที่จํากัดเอาไว้อย่างไร

ซื้อประกันฯธุรกิจหยุดชะงัก ‘เคลม’เพิ่มได้

“หลายๆธุรกิจมีการทำประกันภัย ประเภทธุรกิจหยุดชะงักอยู่ด้วย ซึ่งความคุ้มครองความเสียหายจากการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนั้นจะให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสียในทางการค้า หรือว่า เป็นรายได้ของผู้ประกันภัย ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันตั้งแต่แรก รวมไปถึงในเรื่องของกำไรสุทธิ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือที่เราเรียกว่า fixed cost อาทิ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น ซึ่งการที่จะได้รับความคุ้มครองธุรกิจหยุดชะงักได้นั้น ต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใดๆนั้น หรือ ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจได้รับความเสียหายจากภัยหลัก ซึ่งในกรณีนี้ภัยหลักคือแผ่นดินไหว หมายความว่า ภัยหลักนั้นได้รับความคุ้มครองภายใต้สัญญากรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย หรือ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินก่อน จากนั้นกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงักถึงจะให้ความคุ้มครองต่อเนื่องไป ผู้เอาประกันสามารถสอบถามจากบริษัทประกันภัยที่ท่านได้ทำประกันภัยเอาไว้ หรือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย หรือ คปภ. ก็ได้” ดร.สมพร กล่าว

‘ตึกถล่ม’ จ่าย ‘เคลม’ ผู้รับเหมา ตามยอดเบิกจ่ายงวดงาน

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง เป็นกรมธรรม์ที่กำลังเป็นประเด็น และเป็นที่สนใจของประชาชน โดยเฉพาะอาคารสำนักงานที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อ เป็นกรมธรรม์สำหรับผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้างงาน ปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรือ งานติดตั้งเครื่องจักรได้ที่รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์อันไม่คาดหมาย ในกรณีนี้ก็คือ เรื่องแผ่นดินไหว หรือ สาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว กรมธรรม์ประเภทนี้จะแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ

ส่วนที่ 1 ให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธาโดยตรง ซึ่งก็จะมีการระบุกันเอาไว้ว่า งานก่อสร้าง หรือ งานวิศวกรรมโยธานั้นจะมีมูลค่าโดยภาพรวมเท่าไหร่ แล้วก็การกำหนดทุนประกันภัย ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นทุนประกันภัยทั้งโครงการ และความคุ้มครอง ณ ขณะที่เกิดเหตุนั้นได้มีการก่อสร้าง คืบหน้าไปถึงจุดไหนแล้ว เพื่อประเมินว่ามีงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นไปตามสัญญาจ้าง ซึ่งจะมีการจ่ายเงินตามงวดงานก่อสร้าง เพราะทุก ๆครั้ง ที่มีการจ่ายเงินงวดค่าก่อสร้าง ก็จะมีการระบุถึงความคืบหน้าของงานสร้างไปและกี่เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าเท่าไหร่ ณ ขณะที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร

ส่วนที่ 2 เรื่องการติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง เพราะว่าในการก่อสร้างทั้งหมดนั้น ก็จะมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรมาช่วยในการก่อสร้าง มูลค่าของเครื่องจักรเหล่านี้ก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนที่ 2

และส่วนที่ 3 เรื่องความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็น Individual หรือ Public ก็ตาม ส่วนนี้จะมีความรับผิดชอบต่อ 3 กลุ่มหลักๆที่อยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง หรือ “Construction All Risk : CAR” โดยทั่วไปแล้วกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้างนั้น ก็ให้ความคุ้มครองถึงแผ่นดินไหวด้วยเช่นเดียวกัน แต่อาจมี “ทรัพย์ลิมิต” หรือ “ไม่มีทรัพย์ลิมิต” ขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัยที่เกี่ยวข้อง

ประกันรถชั้น 1 คุ้มครอง 100% ประเภทอื่นขอให้ดูกรมธรรม์

ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หากเป็นการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 หรือ การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2 หรือ ประเภท 3 และรวมถึงประเภท 5 คือ 2 บวก หรือ 3 บวก จริงๆแล้วประเภท 1 ได้รับความคุ้มครองในเรื่องของภัยจากแผ่นดินไหวแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเภท 2 หรือ ประเภท 3 รวมไปถึงประเภท 5 ตามที่กล่าวมานั้น สามารถซื้อกรมธรรม์ขยายความคุ้มครองในเรื่องของภัยแผ่นดินไหวได้ บางบริษัทก็ผนวกความคุมครองแผ่นดินไหวเข้าไปในกรมธรรม์เลย บางบริษัทก็ให้ผู้ทำประกันภัยเลือกซื้อ ส่วนนี้ผู้ทำประกันภัยก็ต้องไปตรวจสอบสัญญาประกันภัยของตนเอง

ในมิติของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆของสมาคมประกันชีวิตไทย โดยความคุ้มครองต่อความเสียหายของร่างกาย รวมถึงชีวิตที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งในที่นี้หมายรวมไปภัยแผ่นดินไหวด้วย กรณีนี้ก็จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญา เพราะฉะนั้นประชาชนที่มีกรมธรรม์อุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น ถ้าได้รับการบาดเจ็บ ตระหนก หรือ ตกใจวิ่งหนีลงมาจากตึกแล้วได้รับบาดเจ็บ สามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของท่านได้

และสุดท้ายขอแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมที่จะดูแลผู้ประกันภัย ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือประชาชน โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่รับแจ้งอุบัติเหตุ ประสานงานกับธุรกิจประกันวินาศภัย และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรือ “เคลม” ต่างๆ ในกรณีนี้ ซึ่งจะมีการประสานงานไปยังบริษัทสำรวจไทยให้มีการระดมเจ้าหน้าที่สำรวจ รวมไปถึงสถาปนิก เพื่อเตรียมพร้อมกับการให้บริการกับประชาชน สมาคมฯได้มีการจัดทำแนวทางในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในนามของสมาคมประกันวินิจฉัย ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทั้งในเว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัย และในสื่อดิจิทัลต่างๆนะครับ เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจว่า ถ้าจะใช้สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นอย่างไร

ด้านนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า สมาคมประกันชีวิตไทยมีสมาชิกกว่า 20 บริษัท ซึ่งทุกบริษัทก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์แบบนี้ บริษัทส่วนใหญ่ก็มีคอลเซ็นเตอร์ , ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ , บริการผ่านทางไลน์ , เว็บไซต์ และผ่าน Facebook เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง หากท่านใดประสบอุบัติเหตุจากการอพยพลงจากอาคาร หรือ เจ็บป่วยด้วยอาการใด

สำหรับประกันชีวิต เป็นการรับประกันชีวิตและประกันส่วนควบ หมายถึง ประกันสุขภาพ หากผู้ทำประกันมีอาการเจ็บป่วยเรื่องใดก็สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา ซึ่งประกันชีวิตจะแบ่งกรมธรรม์ออกเป็น 2 อย่าง อย่างแรก ก็คือ ประกันชีวิตที่เป็นรายเดี่ยว หากท่านใดมีการเจ็บป่วย หรือ เสียชีวิต สามารถติดต่อบริษัทประกันชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำงานงานร่วมกับ คปภ.ติดตามว่า มีบริษัทใดบ้างที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคาร สตง.ที่ถล่มลง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมารอง หรือ ว่าผู้รับจ้างต่าง ๆในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. และพยายามตรวจเช็กว่าบริษัทผู้รับเหมาเหล่านี้ทำประกันกลุ่มกับบริษัทประกันชีวิตแห่งไหนบ้าง ซึ่งในเบื้องต้น ตอนนี้ยังตรวจไม่พบ แต่ยังคงตรวจสอบต่อไป

“อย่างไรก็ตาม สมาคมธุรกิจประกันชีวิตไทย ขอให้ผู้ทำประกันชีวิตทุกคนช่วงตรวจเช็ก กรมธรรม์ของท่านได้ต่ออายุ หรือ จ่ายเบี้ยประกันชีวิตอยู่หรือไม่ อย่าปล่อยให้กรมธรรม์ขาดอายุ ซึ่งท่านสามารถตรวจเช็กข้อมูลจากบริษัทประกันชีวิตได้โดยตรง หรือ สมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อสอบถามสถานะของกรมธรรม์ได้ ขอยืนยันว่าบริษัทประกันชีวิตไทยมีความแข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ “CAR” มีสัดส่วนมากกว่า 300% ตามที่ เลขาธิการ คปภ.แถลง และได้มีการทำ Stress test กรณีบริษัทประกันชีวิตไทยเผชิญกับความผันผวนจนมียอดเคลมสินไหมเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขอให้ทุกคนสบายใจได้ภาพรวมของบริษัทประกันชีวิตไทยมีความมั่นคงแข็งแกร่ง” นางนุสรา กล่าว

ดู Presentation กรมธรรม์แบบไหน ‘เคลม’ แผ่นดินไหวได้ ที่นี่

  • สตง. แจงตึกถล่ม ยันยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เร่งตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  • ACT ชี้พบข้อผิดสังเกต อาคาร สตง.ถล่ม ก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ
  • นายกฯตำหนิ “เตือนภัยแผ่นดินไหว” ล่าช้า สั่งทุกส่วนราชการทำแผนรับมือ ให้เวลา 1 สัปดาห์
  • นายกฯประกาศ กทม.เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวใน ‘เมียนมา’ เตือน ‘After Shock’ ใน 2 ชม.