แกนนำพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์อายุรัฐบาลเต็มที่ 3 ปี 6 เดือน นับถอยหลัง “หนูไม่กลัวน้ำร้อน” เปิดวาระลับแพทองธาร “ตั้งใจอยู่” ด้วยสูตร 3+4+4 ปี มี “ทักษิณดีล” ค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรี
2 มีนาคม 2568 ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แสดงความมั่นใจว่าจะอยู่เป็นผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยไปจนถึงครบวาระ 4 ปี ในรายการ “โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร”
ความ “ตั้งใจอยู่” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปรากฏชัดต่อสายตาผู้นำทั่วโลก ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมประจำปี 2025 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ระหว่างวันที่ 20–24 มกราคม 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
แหล่งข่าวระดับสูงที่เดินทางร่วมคณะอย่างเป็นทางการระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตอบคำถามสื่อต่างประเทศ ที่ถามถึงเสถียรภาพรัฐบาลว่า “เธอจะเป็นนายกรัฐมนตรีจนครบวาระในปี 2570 จากนั้นคาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง และเธอจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรอีก 4 ปี เมื่อเธอเป็นนายกรัฐนตรีครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนั้นคาดว่าพรรคเพื่อไทยก็จะชนะเลือกตั้งอีก ดังนั้น คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงจะครองอำนาจการเป็นนายกรัฐมนตรีไปอีกอย่างน้อย 2 สมัย 8 ปี รวมกับสมัยปัจจุบันเป็น 12 ปี”
ภายใต้การประเมินการเมืองแบบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อายุงานการเมืองที่เข้าสู่สนามการเมือง 1 สมัยเลือกตั้ง ไม่นับรวมการคลุกวงในมาตั้งแต่ปี 2544 ที่กำเนิดพรรคไทยรักไทย หากข้อคาดการณ์และสมติฐานของ น.ส.แพทองธาร เป็นไปได้ เท่ากับว่า วาระรัฐบาลเพื่อไทยจะเกิดขึ้นตามไทม์ไลน์ดังนี้
การคาดการณ์ทำนายผลของฝ่ายเพื่อไทย ภายใต้สมติฐานในการชี้ขาดชัยชนะของพรรคเพื่อไทยอีก 2 สมัย ได้รวมการแสดงอภินิหารทางการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกรัฐมนตรีไว้ด้วย

ปักธงอยู่ครบเทอม ตั้งแต่วันแรกขึ้นสู่อำนาจ
น.ส.แพทองธาร ประกาศครั้งแรกว่าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี “ครบเทอม” เมื่อ 18 สิงหาคม 2567 หลังรับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31
เธอกล่าวในวาระน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ว่า “3 ปีที่เหลือตามวาระของรัฐสภา ดิฉันในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะขอทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกความเห็น เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง”
ในการแถลงข่าวครั้งแรก หลังโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ตอบคำถามสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า “อยากจะขอความร่วมมือเราเองอยากทำงานให้ครบ 3 ปีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงาน ซึ่งอย่างตอนนี้ที่ได้เปลี่ยนนายกฯ และ ครม. (คณะรัฐมนตรี) เราก็พยายามจะตอกย้ำและยืนยันว่า ตั้งแต่ยุคนายกฯ เศรษฐา ซึ่งเป็นนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น นโยบายที่เคยปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้วก็ค่อนข้างที่จะคล้ายเดิม ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และมั่นใจว่าจะสามารถทำนโยบายได้สำเร็จ”
ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ตอกย้ำความตั้งใจอยู่ครบวาระอีกครั้ง โดยยืนยันคำที่เคยให้สัมภาษณ์ ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อครั้งเดินทางไปประชุม WEF ในรายการ “โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร” ตอนที่สำคัญ ระบุว่า “…ล่าสุด ที่ได้มีการเดินทางไปยัง WEF ได้มีการพูดคุยถึงความมั่นคง ซึ่งได้ให้ความมั่นใจกับนักธุรกิจต่างชาติว่า จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระอย่างแน่นอน เพื่อผลักดันการลงทุน และถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ”
ปัจจัยการอยู่-การไปของรัฐบาลแพทองธาร
“มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และใช้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังนั้น การประเมินอนาคตการอยู่การไปของรัฐบาลจากหลายสำนัก จึงตั้งต้นจาก “นโยบายเศรษฐกิจ” และปัญหาปากท้องกับกำลังซื้อของประชาชน
ทันทีที่รัฐบาลแพทองธารครบ 1 เดือน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน ช่วง 27 ตุลาคม 2567 เรื่อง “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 41.68% เชื่อว่า “รัฐบาลจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570”
แต่ปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ กลุ่มตัวอย่าง 34.43% ระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญา และคาดหวัง และอีก 32.52% ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ ผลสำรวจที่เห็นว่าอีกปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ จำนวน 29.47% ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาดของ น.ส.แพทองธาร จนนำไปสู่วิกฤติ ส่วนความคิดเห็นระดับรองๆ ลงไป เช่น การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล
หลังจากรัฐบาลแพทองธารก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจ วันที่ 2 มีนาคม 2568 เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน หัวข้อ “6 เดือน รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง”
กลุ่มตัวอย่าง 34.58% ไม่ค่อยพอใจการทำงานของรัฐบาล และจำนวน 32.60% ไม่ค่อยพอใจการทำงานของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร กลุ่มตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง จำนวน 36.4% ระบุด้วยว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร
อายุรัฐบาลแพทองธารเต็มที่ 3 ปี 6 เดือน นับถอยหลัง
แกนนำพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์อายุของรัฐบาลแพทองธารตามความเป็นจริงว่า “รัฐบาลแพทองธาร ตั้งใจอยู่เต็มที่ 4 ปี แต่คาดว่าอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลได้เต็มที่ 3 ปี 6 เดือน จากนั้นก็นับถอยหลังไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หากยุบสภาไปตอนนี้ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นช่วง 3 ปีครึ่งแล้ว พรรคภูมิใจไทยจะเล่นบทหมูไม่กลัวน้ำร้อน พร้อมแยกทางไปเลือกตั้ง”
วงในทำเนียบรัฐบาล-บ้านพิษณุโลก-อาคารชินวัตร จึงต้องวางแผนรับมือความผันผวนทางการเมือง ด้วยการสร้างเกราะฐานที่มั่น ขันน็อตรัฐมนตรีและบุคลากรการเมืองของพรรค เพื่อเผชิญหน้าทั้งเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนมีนาคม และการขึ้นแชปเตอร์ใหม่ ในการขับเคลื่อนนโยบาย ให้เป็นรูปธรรมสร้างกระแสมัดใจคนไปเลือกตั้งครั้งหน้า
หนึ่งในแผนการคือ ต้องเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้า 20 บาท, อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรคทุกที่, ค่าแรง 400 และ 600 บาทในปี 2570, การแจกเงิน 10,000 บาท ต้องจบภายในครึ่งแรกของปี 2568
ส่วนแผนพัฒนาบุคลากรการเมือง นอกจากเพื่อไทยอคาเดมีแล้ว ยังต้องเซ็ตวาระให้กับรัฐมนตรีทุกคน ให้มีผลงานที่สร้างภาพลักษณ์ติดตัว เช่น “มิสเตอร์ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ “มิสเตอร์บ้านเพื่อคนไทย”
ในเวลานี้ แกนนำพรรคส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐมนตรีของพรรคที่สามารถสื่อสารนโยบายพรรค-นโยบายรัฐบาล-แผนงานเศรษฐกิจของประเทศ มีคนเดียวที่ได้รับการยอมรับคือ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ปัจจัยเสี่ยง-เด็ดปีกพรรคอันดับสอง-พลังต่อรองอันดับหนึ่ง
ท่ามกลางเกมการเมืองฝ่ายค้านประกบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฟาดหางแตะนายทักษิณ ชินวัตร และเกมในพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้มข้น ความปรารถนาที่จะ “ตั้งใจอยู่” ของนายกฯ Gen Y ในสูตร 3+4+4 ของวาระรัฐบาล จึงอาจไม่ถึงฝั่งฝัน
จากนี้ไป นอกจากต่อสู้ในลู่แข่งของฝ่ายค้าน รัฐบาลแพทองธารยังต้องต่อสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงอันดับ 2 แต่พลังต่อรองอยู่ในอันดับ 1 อย่างภูมิใจไทยอย่างเข้มข้น
การเคลื่อนไหวของฝ่ายทักษิณและพวกเพื่อ “เด็ดปีกพรรคอันดับสอง-พลังต่อรองอันดับหนึ่ง” กดปรามพรรคภูมิใจไทย 70 เสียงในทุกมิติ
เรื่องใหญ่ที่สุด ที่พรรคเพื่อไทยต้องการปราม-ดุลอำนาจกับขั้วภูมิใจไทย คือ “เกม สว.” ที่เป็นต้นทางและเป้าหมายการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เชื่อมไปถึงการเป็น “เจ้าตลาด” อำนาจฝ่ายองค์กรอิสระ ในระยะอันใกล้
ในเกมนิติสงคราม การมีองค์กรอิสระเป็นเครือข่าย-เป็นกอบเป็นกำ นับว่าเป็นพลังต่อรองสูงสุดในกระดานอำนาจ นี่จึงเป็นวาระจำเป็นที่เพื่อไทยต้องแชร์อำนาจ การเปิดเกมโดยกระทรวงยุติธรรม-ดีเอสไอ ผลักให้ “การฮั้วเลือก สว.” เป็น “คดีอาญา” จึงถือว่าเป็นไม้เด็ดของฝ่ายเพื่อไทย
เป้าหมาย-เส้นชัยของเกมนี้คือ “ล้มเลือก สว.” นำไปสู่การ “เลือกใหม่” ซึ่งทั้งไกลทั้งยืดเยื้อ
ไม่นับรวมกรณีที่ดินสาธารณะ ที่เพื่อไทย-ภูมิใจไทย แลกหมัดต่อหมัด เพื่อไทยถูกพิษที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่เสี่ยงจะถูกริบคืนเป็นของวัดและต้องจ่ายค่าเช่า-ค่าเสียหาย ขณะที่ภูมิใจไทยโดนหมัดที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ถูกการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้กำกับของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคเพื่อไทย ประกาศจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ขณะที่กรมที่ดิน ภายใต้กำกับของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีมติ “ไม่เพิกถอน”
โครงการใหญ่-มีราคาค่าต๋งใหม่ มูลค่าตั๋วใบอนุญาติขั้นต่ำฉบับละ 5,000 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ “โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ฝ่ายเพื่อไทยโหมกระแสเร่งเกมนำวาระเข้าสู่ ครม. แต่ฝ่ายภูมิใจไทยแย้งเรื่องข้อกฏหมายรายละเอียด เรื่องค่าเข้าคาสิโน และกติการพนัน ล่าสุดพระราชบัญญัติฉบับกฤษฎีกายังลอยคอรอเข้า ครม. กว่าจะส่งถือมือสภาผู้แทนราษฎร คงย่างเข้าปลายสมัยประชุมเดือนเมษายน 2568
ก่อนหน้านั้น ปัญหาใหญ่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 พรรคเห็นไม่ตรงกัน จนตั้งต้นร่างใหม่ไม่ได้ ปิดทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจบภายในรัฐบาลนี้
ไม่นับรวมกฎหมายประชามติ ที่ภูมิใจไทยใช้กลไกวุฒิสมาชิกผลักร่างกฎหมายกลับคืนสภาล่าง จนคว่ำคะมำหงายพักการพิจารณาไว้ 6 เดือน เมื่อ สว. สีน้ำเงินขวางการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เดิมใช้เกณฑ์ชนะประชามติชั้นเดียว (ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์) แต่ สว. กลับยืนยันให้ใช้เกณฑ์ชนะประชามติสองชั้น (ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์)
ข้อขัดง้างระหว่าง 2 พรรค มีมาตั้งแต่ต้นทางการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องเนื้อหานโยบาย “กัญชา” ฝ่ายเพื่อไทยต้องการนำกัญญากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด แต่ฝ่ายภูมิใจไทยนำเสนอแคมเปญ “กัญชาเสรี-กัญชาเพื่อการแพทย์” เกมนี้เพื่อไทยถอยให้ก้าวหนึ่ง
ข้อขัดแย้งทั้งหมดถูกระบายในบ้านจันทร์ส่องหล้า จึงเป็นที่มาของคำกล่าวทักษิณ ชินวัตร บนเวทีแห่งหนึ่งระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีคนทำตัวเป็น “อีแอบ” ไม่ยอมอยู่ร่วมประชุมวาระสำคัญ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับมาตรการทางภาษี และหากจะหนีประชุมครั้งต่อไปให้ส่ง “ใบลาออก” มาด้วย วาทะในวันนั้นกระทบชิ่งรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยและไทยรักษาชาติแบบเต็ม ๆ

“ทักษิณดีล” ค้ำบัลลังก์แพทองธาร?
นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 23 เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 2 สมัย สมัยแรก 2544-2548 นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่อยู่ครบวาระ 4 ปี ในช่วง 2 ทศวรรษ จากนั้นชนะเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยต้นปี 2548-กันยายน 2549 และถูกรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายทักษิณอยู่ในต่างประเทศ 17 ปี ท่ามกลางการเดินหน้าคดีการเมืองนับ 10 คดี กระทั่งเหลือคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องกลับมารับโทษ 3 คดี ถูกตัดสินจำคุกรวม 8 ปี
ในวันที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทักษิณ ชินวัตร ได้เหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง 22 สิงหาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตรวจสอบบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาล “ทักษิณ” ในฐานะเป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้ง 3 คดี กำหนดโทษจำคุก 8 ปี โดยรับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ทักษิณขอพระราชทานอภัยโทษ จากนั้นในวันที่ 1 กันยายน 2566 พระราชหัตถเลขา เผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 ส.ค. 2566 ระบุในตอนหนึ่งว่า “ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”
ข้อความนี้มักเป็นวรรคสำคัญ ในการกล่าวปราศรัยทางการเมืองของทักษิณหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ. และการปาฐกถาในเวทีที่มีผู้ฟังเป็นเหล่านักธุรกิจ
บทบาท อำนาจ หน้าที่ของทักษิณ นอกจากเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรี เขาเรียกตัวเองว่า สทร. หรือ เสือกทุกเรื่อง ส่งผลให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวบุคคลสำคัญในการบริหารประเทศ ทั้งในและต่างประเทศ
การประชุมวาระสำคัญของรัฐบาลไม่เพียงที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่เกิดขึ้นที่บ้านใหญ่ บ้านแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และบ้านพิษณุโลก ทุกบ้านล้วนมีข้อสั่งการเรื่อง “เคลื่อนวาระเศรษฐกิจ-ขยับเพดานเกมการเมือง” ค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
ความตั้งใจอยู่ของแพทองธาร ในสูตร 3+4+4 ปี จึงล้วนมีที่มา ที่มี “ดีลทักษิณ ชินวัตร” พ่อของนายกรัฐมนตรี เป็นแรงผลัก-ดัน