
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
ผ่าน กม. อำนวยความสะดวกธุรกิจ เอื้อธุรกิจโรงแรม – อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์
นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) เสนอการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปรับปรุงกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ได้รับความสะดวกในการประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง และการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) โดยเป็นการเพิ่มประเภทงานที่หน่วยงานภาครัฐเคยมีการปรับปรุงกฎหมายไปแล้ว ทั้งในเรื่องของการยกเว้นการตรวจสอบคนต่างด้าวชาวจีน และการยกเว้นการตรวจสอบคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
นอกจากนี้อีกยังเป็นการปรับปรุงกระบวนการกฎหมายและระยะเวลาพิจารณาการอนุญาตด้านอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ จากเดิมที่ใช้เวลาทำการ 178 วัน เหลือเพียง 86 วัน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ครม. ได้ให้หน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทบทวนกฎกระทรวงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจที่มีกฎมาอย่างยาวนาน ให้เกิดการเร่งทำใหม่แก้ไขและปรับปรุง โดยให้เสนอต่อครม. ในอีกระยะเวลาภายใน 1 เดือนนับจากนี้
เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและความน่าเชื่อถือในตลาดทุน ตลอดจนมีมาตรการที่สามารถยับยั้ง ปราบปรามการกระทำผิดในตลาดทุนเพื่อรักษาความมั่นคงในเศรษฐกิจของประเทศ
งบรายจ่ายปี 69 วงเงิน3,780,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7%
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 วงเงินงบประมาณ 3,780,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี พ.ศ. 2568 เป็นจำนวน 27,900 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 แม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2568 แต่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่จำเป็นออก โดยเพิ่มอัตรากำลังเป็นงบลงทุนมากขึ้นตลอดจนงบประมาณด้านการพัฒนามนุษย์ ยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งจัดสวัสดิการสังคมการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้สามารถเข้าถึงได้
ส่ง ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ เข้าสภา – เผย สร้างเม็ดเงิน 2.3 แสนล้านต่อปี
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการท่องเที่ยวแบบใหม่โดยไม่ต้องรอการท่องเที่ยวตามฤดูกาล (Man-made tourism) โดยร่างพ.ร.บ. ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและมีผู้ให้ความเห็นกว่า 80,000 ราย โดยที่ 80% เห็นด้วย ซึ่งวันนี้เป็นการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เพื่อเสนอให้สภาพิจารณาต่อไป
“อยากจะอธิบายให้เข้าใจว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่เท่ากับกาสิโน เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีกาสิโนแค่ไม่เกิน 10% ขณะที่อีก 90% เป็นฮอล์คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ 50,000 คน อินดอร์สเตเดียม ซึ่งที่ของไทยเราไม่เคยรองรับการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ขนาดนั้นได้ จะมีสวนน้ำ โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งจะสร้างรายได้กว่า 1.1 – 2.3 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 5-10% ต่อปี มีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น เกิดอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีจากกาสิโนและธุรกิจอื่นๆ ได้ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญจะมีกฎหมายควบคุมเพื่อป้องกันการติดการพนันและการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
นายกฯ โยนสภาเคลียร์วงเงินคนเล่นกาสิโนต้อง 50 ล้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้รัฐบาลจะพยายามอธิบายว่ากาสิโนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่จะมีช่องทางที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเพิ่มเติมได้อย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ มีเนื้อหาเพิ่มอีกที่อยากจะพูดว่า มันมีอาชีพใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีหลายๆ อย่าง การจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้”
“ธุรกิจอาจจะเข้าใจบางแล้วเพราะมันมีในเมืองไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม สวนน้ำ หรือที่จัดคอนเสิร์ตใหญ่ๆ จำเป็นมาก ดิฉันเข้ามาอยู่ตรงนี้ฟังหลายกลุ่มที่เข้ามาและอยากจัดงานที่ไทย เพราะต่างชาติเขาชอบอยู่แล้ว ออร์แกไนซ์เซอร์เองก็ชอบ พอมาจัดบางทีของเราใหญ่สุดก็จะไม่ใหญ่มากเท่าที่รองรับได้ หลายครั้งเราก็พลาดโอกาสดีๆ ไป” นางสาวแพทองธาร ตอบ
“อันนี้มันเป็นการเริ่มต้นเลยว่า ถ้าเราสามารถทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้ มีทุกอย่างครบวงจร สามารถจัดงานได้ มีเอ็นเตอร์เทนสำหรับแฟมิลี่ได้ด้วย ต้องมองเป็นภาพใหญ่ เพราะเรากำลังเจาะไปว่าเป็นกาสิโน แต่ความจริงทั้งหมดมีอีกเยอะแยะมาก เวลาคนมาไทยมาเป็นซีซั่น แต่อันนี้เที่ยวได้ทั้งปีจริงๆ อยากให้เห็นภาพรวมนั้นด้วย” นางสาวแพทองธาร ตอบ
ถามต่อว่า เรื่องนี้ต้องผ่านสภา รวมถึงมีม็อบที่คัดค้าน นายกฯ จะเอาอยู่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องอธิบายไปเรื่อยๆ ไม่อยากจะพูดว่าจัดการได้ทั้งหมด แต่ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดและพร้อมจะตอบด้วย ถ้ามีดีเทลอะไรเพิ่มเติมเราก็จะตอบ และจะสื่อสารให้เยอะขึ้น”
ถามต่อว่า ที่ผ่านมาเคยคุยกับพรรคร่วมเรื่องนี้หรือยัง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คุยค่ะ คุยแล้ว เข้าครม. ผ่าน ครม. แล้ว”
ถามต่อว่าในทางสภาได้คุยหรือยัง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า คุยแล้ว จริงๆ แล้วในรายละเอียดของสภา ก็ให้สภาทำตอบไป เพราะมันต้องมาคุยกันและแก้ให้มันเหมาะสมที่สุด มันผ่านไปหนึ่งขั้นก่อน ไม่ได้มีปัญหาอะไร มันจะเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศเรามากๆ”
“ถ้าเราดูตัวเลขเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวจะเพิ่ม 5 – 10% รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12,000 – 39,000 ล้านบาทต่อปี เก็บภาษีจากธุรกิจอื่นประมาณ 8,000 – 35,000 ล้านบาทต่อปี ภาษีของกาสิโนขั้นต่ำ 3,264 ล้านต่อปี มันเป็นโอกาสของประเทศจริงๆ” นางสาวแพทองธาร ตอบ
“อย่าไปโฟกัสที่ floor เดียว จริงๆ มันคือทั้งหมดที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศ ก็จะเดินหน้าอธิบายต่อ” นางสาวแพทองธาร ย้ำ
เมื่อถามถึงการกำหนดกรอบวาระในชั้น สส. และ สว. ว่าต้องเสร็จเมื่อไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่ได้วางไทม์ไลน์ชัดเจน”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เรื่องเกณฑ์วงเงินคนเล่น 50 ล้านบาท ยังไม่ได้สรุปใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ใช่ค่ะ เรื่อง 50 ล้านไปว่ากันในสภาอีกที”
ไม่ตอบบปมสามีขายหุ้นไม่แจ้ง ป.ป.ช.
มีคำถามถึงกรณีที่นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ขายหุ้นบริษัท เอ็มดับบลิวพี จำกัด จำนวน 16,500 หุ้น แต่ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ทำให้ นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่าตอนนั้นเป็นนายกฯ หรือยัง และสื่อมวลชนตอบว่า เดือนสิงหาคม 2567
จากนั้น นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่อยากตอบมาก มัน sensitive เยอะ ขอเว้นไว้ก่อน”
สวนฝ่ายค้าน พูดแต่วาทกรรม
เมื่อถามถึงกรณีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ว่า หากยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อแพทองธาร จะทำให้คนไทยอายุสั้นลง เพราะเป็นผลมาจากการบริหารประเทศ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ที่อภิปรายจบไปก็มีคอมเมนต์แล้วว่า ส่วนใหญ่ที่ฝ่ายค้านอภิปรายก็เป็นแค่วาทกรรม อันนี้ก็เป็นหนึ่งในวาทกรรมเช่นกัน”
นายกฯ ไม่มีแผนพัฒนาตลาดทุน
เมื่อถามถึงแนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้เดี๋ยวก็…เป็นแผนเศรษฐกิจภาพรวมอีกทีหนึ่งว่าจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง”
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแนวทางเพิ่มเติมเป็นอย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่ได้มีแพลน แต่เดี๋ยวต้องจัดไป”
นายกฯ ย้ำแก้ปัญหาปากท้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้ขอบคุณ ครม. ในที่ประชุม ครม. หลังจากนี้กำชับอะไรอีกไหม โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มี ก็ขอบคุณรัฐมนตรี ราชการ ทุกคนเตรียมข้อมูลพร้อมชี้แจง และบอกว่าข้อไหนที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน ก็ให้ไปดำเนินการต่อ”
มั่นใจรัฐบาลเสียงเหลือเฟือ – เสียดายตังค์ซื้องูเห่า
ผู้สื่อข่าวบอกว่า หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ฝ่ายค้านออกมาเปิดแชตแฉว่าไปซื้อ สส. (ฝ่ายค้าน) ให้โหวตนายกฯ โดย นางสาวแพทองธาร สวนกลับว่า “อันนั้นแชตจริงไหมคะ ยังไม่ทราบเลย อยากทราบจริงๆ เพราะไม่มีการจ่ายตังค์ใดๆ ทั้งสิ้น”
“เราคุยกันของพรรคร่วมหมดแล้ว แถมก่อนวันอภิปรายก็มีคุยอีก จริงๆ เสียงรัฐบาลเราเหลือเฟืออยู่แล้ว รวมกันก็เหลือเฟือ ถ้าต้องซื้อก็เสียดายตังเหมือนกันนะคะ มันเหลือเฟือแล้วไปซื้ออีกก็เสียดายตัง มันไม่ใช่ common sense นะ จะไปซื้ออีกทำไม ในเมื่อเราเหลือแล้วก็ประหยัดตังไว้ดีกว่า ใช่ไหมคะ” นางสาวแพทองธาร ตอบ
ขอบคุณ ครม.-ส่วนราชการ ช่วยแจงข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ที่ช่วยกันชี้แจงทั้งในที่ประชุมสภาฯและนอกที่ ประชุมฯ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งหลายคำถามที่ฝ่ายค้านได้อภิปรายสอบถามหรือแนะนำนั้นขอให้ ครม.พิจารณาว่าเรื่องไหนที่รัฐบาลต้องรับกลับมาดำเนินการ ก็ขอให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรม
“นายกฯ กำชับว่าหลังจบการอภิปรายแล้ว ยังไม่จบเรื่องที่ต้องชี้แจงให้สื่อมวลชนและประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อสงสัยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้กำชับนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะครบ 6 เดือน และขอให้เร่งดำเนินนโยบายตามที่แถลงไว้ในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง พืชผลทางการเกษตร และการลงทุนในมิติต่างๆ
เผยกำหนดการเยือนภูเก็ต
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า วันพรุ่งนี้ (28 มีนาคม 2568) นายกฯ พร้อมคณะจะเดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นประธานการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของคนไทยในท้องถิ่นในเรื่อง “Soft Power กลไกการสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวของไทย” โดยมุ่งเน้นการใช้ศักยภาพและวัฒนธรรมของไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยก่อนเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยว
“นายกฯ จะปาฐกถาให้นักธุรกิจในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และจะเดินทางไปศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือเรื่องนโยบายต่างๆ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ และเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เวลา 16.00 น.” นายจิรายุ กล่าว
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เห็นชอบ ‘กฤษฎีกา’ แก้ไข กม.สถานบันเทิงครบวงจรฯ 9 ประเด็น ส่งสภาฯ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ 27 มีนาคม 2568 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว (ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ) โดยร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อันประกอบด้วยสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการจ้างแรงงานในประเทศด้วย

“การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร เป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศและเป็นเม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class) แบบครบวงจร รวมทั้งพื้นที่สาธารณะเพื่อการนันทนาการและการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค ประกอบกับ เป็นการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันถูกกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย มีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง”
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ปัญหาทางการเงินและหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น โดยได้มีการเตรียมการสำหรับการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบข้างต้น เช่น การจำกัดคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการเพื่อไม่ให้กระทบต่อเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง การห้ามมิให้มีการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน การกำหนดให้มีสำนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรอย่างใกล้ชิด เป็นต้น รวมทั้งให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แล้วดำเนินการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ ประกอบด้วย 7 หมวด 104 มาตรา โดยมีสาระสำคัญกล่าวคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต่อคณะรัฐมนตรี ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การควบคุมและมาตรการบังคับ รวมถึงการพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และต้องประกอบด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ (เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สวนสนุก เป็นต้น) อย่างน้อย 4 ประเภท ร่วมกับกาสิโน โดยกาสิโนต้องมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร และอนุญาตให้มีการพนันได้เฉพาะประเภทที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด รวมทั้งต้องจัดให้มีเขตบริเวณ ของสถานประกอบการกาสิโนที่แยกห่างจากสถานประกอบธุรกิจสถานบันเทิงอื่นอย่างชัดเจน และห้ามบุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เข้ากาสิโน นอกจากนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องประกอบด้วยพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการและศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมดอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการในลำดับต่อไป จะมีการนำร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
เดิมที่ประชุม ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จัดทำโดย กระทรวงการคลัง และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไปนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ยังคงมีหลักการตามที่ ครม. อนุมัติไว้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 4 ประเด็นหลักดังนี้
1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกัน (เดิมกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี)
2. เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของ คกก.นโยบาย ในการพิจารณาเรื่องสำคัญที่ต้องเสนอ ครม. เช่น เสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ การกำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.
3. แก้ไขกลไกการได้มาซึ่งผู้อำนวยการ โดยให้ คกก. นโยบายแต่งตั้ง (จากเดิม คกก. นโยบายแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของ ครม.)
4. กำหนดกรอบนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรที่ คกก. นโยบายเสนอแนะต่อ ครม.อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
-
1. การกำหนดจำนวนใบอนุญาต
2. พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร
3. หลักเกณฑ์การพิจารณาร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน
4. มาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
5.กำหนดเพิ่มเติมให้พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย
6. (กำหนดใหม่) ให้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน โดยเฉพาะสถานที่จัดให้มีการเล่นพนัน ซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดิน หรือ พื้นที่ใช้สอยของอาคาร อันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน
7. (กำหนดใหม่) กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิง ถือว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้าง และใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตที่จัดให้มีกาสิโน เป็นสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
8. (กำหนดใหม่) กำหนดให้ คกก.นโยบายกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการประกอบการกาสิโนโดยต้องมี
-
8.1 การจัดให้มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน
8.2 ระบบควบคุมกาสิโน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ
8.3 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกาสิโน (เดิมไม่มี)
9. กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นพนันในกาสิโนต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน และผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คกก. บริหาร กำหนด (เดิมกำหนด ห้ามเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่ คกก. กำหนด)
10. (กำหนดใหม่) ห้ามผู้รับใบอนุญาต หรือ บุคคลใดจ้าง หรือ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดแก่บุคคลอื่น หรือเพิ่มยอดหรือจำนวนคนเล่นพนันในกาสิโน หรือเพื่อเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน (เดิมไม่มี)
11. เพิ่มเติมมาตรการปรับเป็นพินัย เช่น ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการที่สั่งให้ปฏิบัติข้อกำหนด และปล่อยปละละเลย หรือ ยินยอมให้บุคคลต้องห้ามเข้าไปในกาสิโน
12. เพิ่มเติมลักษณะการกระทำความผิดที่จะได้รับโทษทางอาญา เช่น การจัดให้มีการเล่นพนันในกาสิโนผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ถ่ายทอดการเล่นพนันในกาสิโน และ กระทำการที่เป็นการเพิ่มยอด หรือ เพิ่มจำนวนคนเล่นพนันหรือเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า พรบ.ฉบับนี้ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้ว 3 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา โดยครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 14 มี.ค. 2568 รวมเวลา 15 วันมีผู้แสดงความคิดเห็น 71,289 คน มีผู้เห็นด้วยร้อยละ 80 จำนวน 57,000 คน
ทั้งนี้ ได้นำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมที่เน้นให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล การสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล และการป้องกันผลกระทบเชิงลบด้านสังคม การกำหนดพื้นที่สถานที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรให้มีความเหมาะสม การกำหนดผู้รักษาการร่วมตามร่าง พ.ร.บ.ฯ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การพิจารณาความคุ้มค่าในการจัดตั้ง สนง.กำกับสถานบันเทิงครบวงจร ความยืดหยุ่นในหน้าที่และอำนาจของ คกก. นโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ความเหมาะสมขององค์ประกอบ คกก.บริหาร การบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการสร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงกว้างต่อไป
“ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ และ ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อพิจารณาในวาระรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา และแปรญัตติภายในระยะเวลาที่สภาฯ กำหนด โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่จะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศเป็นหลัก โดยจะไม่เน้นเรื่องคาสิโนที่มีอยู่เพียงแค่ 10% และจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. อย่างเคร่งครัด” นายจิรายุ กล่าว
ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. … และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และให้มีมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทสังคม และเทคโนโลยีของภาพยนตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็น Soft Power ของประเทศที่สามารถเติบโต และแข่งขันกับนานาประเทศได้
โดย ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. … ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เป็นเรื่องด่วน และให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย
ตั้ง ‘One Stop Service’ ขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ตามที่ คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) เสนอ โดยเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และมอบหมายหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎหมายใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ 2) ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (Super License) 3) ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ 4) ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy)
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมแทน การยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เพื่อการอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ การยกเว้นการตรวจสอบคนต่างด้าว การเพิ่มประเภทงานที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน
เพิ่มงบฯก่อสร้าง รพ.ตรัง 284 ล้าน
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างรายการอาคารอำนวยการ ผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นอาคาร คสล. 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 23,765 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร โรงพยาบาลตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 1 หลัง (งานส่วนที่เหลือ ครั้งที่ 3) จำนวนเงิน 284.80 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง ทั้งสิ้น 488.10 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 และ อนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2565 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2570 ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การก่อสร้างอาคารฯ ดังกล่าว ภายในโรงพยาบาลตรัง จะสามารถลดความแออัดของผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับบริการเฉลี่ยวันละ 2,225 ราย และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตรวจของคลินิกผู้ป่วยนอกสาขาต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันบางคลินิกสามารถเปิดให้บริการได้เพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ล่าช้า
กำหนดมาตรฐาน มอก.‘บันไดเลื่อน’
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ (มาตรฐานในอุตสาหกรรมใหม่) เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติมีการติดตั้งในอาคารหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ จึงเห็นควรให้มีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ ทั้งนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าจะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว และ ศคก. ได้แก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ : ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …”
กำหนด มอก.เตารีดไฟฟ้าใหม่
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเตารีดไฟฟ้าต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเตารีดไฟฟ้าตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 366-2547 โดยเป็นการยกเลิกมาตรฐานเดิมและกำหนดมาตรฐานใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 60335 เล่ม 2 (3)-2567 เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเตารีดไฟฟ้า จะต้องขอใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่าย จะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฏกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อนึ่ง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยของเตารีดไฟฟ้าแห้งและเตารีดไฟฟ้าไอน้ำ รวมถึงเตารีดไฟฟ้าที่มีหม้อต้มน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำแยกต่างหาก มีความจุไม่เกิน 5 ลิตร สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน โดยมีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 250 โวลต์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้าตรง และเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานด้านแบตเตอรี่
โอนที่ดินสาธารณะ ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร เป็นกรรมสิทธิ์ กนอ.
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมสินสาครในท้องที่ตำบลโคกขาม อำเกอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ… ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม(อก.) เสนอ
ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญเป็นการ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นแพรกสาธารณะ และพลเมืองเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ในท้องที่ตำบลโคกขาม อำเกอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 15.3 ตารางวา
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อการแบ่งแปลง เพื่อจัดสรรเป็นพื้นที่ต่อเนื่องสำหรับการประกอบอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา การนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงมีความประสงค์ที่จะขอเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว โดยขอมีกรรมสิทธิ์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 36/1 แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ที่ดินดังกล่าว ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อนําไปพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมตามวัตถุประสงค์หน่วยงานต่อไป
หนุนเอกชนซื้อรถโดยสารไฟฟ้า หักภาษีนิติบุคคล 1.5-2 เท่า
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ….. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่าย เพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า) ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ผลิต หรือ ประกอบในประเทศไทย และให้หักเป็นค่าใช้จ่าย ได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ประกอบสำเร็จรูปและนำเข้ามาทั้งคัน ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในร่างฯ ดังกล่าว อาทิเช่น
-
1) ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2) สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
-
2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังต่อไปนี้ 1) เป็นจำนวนร้อยละ 100 (2 เท่า) ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ผลิต หรือ ประกอบไนประเทศไทย เเละ 2) เป็นจำนวนร้อยละ 50 (1.5 เท่า) ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ประกอบสำเร็จรูปและนำและนำเข้ามาทั้งคัน
2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดทำโครงการลงทุน แผนการจ่ายเงิน และรายละเอียดของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) เงื่อนไขและคุณสมบัติ เป็นรถโดยสารไฟฟ้า หรือ รถบรรทุกไฟฟ้า ดังต่อไปนี้ 3.1 รถโดยสารไฟฟ้า ต้องเป็นรถโดยสารที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกใน 6 มาตรฐาน 3.2 รถบรรทุกไฟฟ้าต้องเป็นรถบรรทุกที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกใน 6 ลักษณะ 3.3 เป็นรถที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน 3.4 เป็นรถที่นำมาหักค่าสึกหรอ และ ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร 3.5 ไม่เป็นรถที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 3.6 ไม่เป็นรถที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ปรับมาตรการ EV3.5 จ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์โดยสารไม่เกิน 10 ที่นั่ง
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 และเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) ดังนี้
1) เห็นชอบให้ปรับปรุงรายละเอียดของประเภทยานยนต์ และคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 โดยให้เพิ่มเติมประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 เป็น “รถยนต์นั่ง หรือ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน” โดยใช้หลักการเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติ จำนวนเงินอุดหนุน และการผลิตชดเชยเช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง และให้เพิ่มเติมคุณลักษณะและคุณสมบัติสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถจักรยานยนต์
2) สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) และเป็นรุ่นที่มีแต่ AC Charge (การชาร์จแบบกระแสสลับหรือการชาร์จกับไฟบ้าน) ที่ผลิตในประเทศ หรือ นำเข้ามาในประเทศภายในปี 2567 สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ ตลอดจนสามารถโอนสิทธิมายังมาตรการ EV3.5 ได้นั้น เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องดังกล่าวกลับไปทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการแก้ไข หรือ เพิ่มเติมประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ
ชง ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน “ประเพณีลอยกระทง” เป็นมรดกโลก
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong: Traditional Water – honoring Festival in Thailand) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) () โดยให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้ลงนามเอกสารนำเสนอรายการประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก [ตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) (อนุสัญญาฯ) กำหนดให้รัฐภาคียื่นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี]
สาระสำคัญของเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong : Traditional Water-honoring Festival in Thailand) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเพณีที่สำคัญของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีคุณค่าความสำคัญในหลายมิติ เช่น (1) ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ประเพณีควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม (2) มีความเกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านมุขปาฐะแนวปฏิบัติทางสังคม งานช่างฝีมือ ดนตรีและการละเล่น และความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (3) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ดังนั้น การเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกจะช่วยส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สืบทอด สร้างความภาคภูมิใจ ความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม เสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลก โดยเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน) แล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ประกอบกับ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การเสนอรายการประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ
ยกเลิก กม.กำกับเรือสนับสนุนเรือประมง-ขนถ่ายสัตว์น้ำ
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง หรือ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรรมโดยเร็ว โดยกำหนดให้เรือที่จดทะเบียน เป็นเรือกลเดินทะเลตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่มีประเภทการใช้เรือ 6 ประเภท ดังต่อไปนี้ เป็นเรือสนับสนุน ได้แก่
-
1. เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น
2. เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง
3. เรือบรรทุกน้ำจืด
4. เรือบรรทุกน้ำจืดเพื่อการประมง
5. เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่ากว่า 60 องศาเชลเซียส
6. เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟสูงกว่าหกสิบองศาเซลเซียส โดยเจ้าของเรือต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) และดูแลรักษาให้ใช้งานได้ตลอดเวลา รวมทั้งต้องแจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือ
โดยปัจจุบันเรือสนับสนุนการประมงมีหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายหน่วยงาน รวมทั้งกรมประมง ซึ่งเรือบางประเภทได้รับการติดตั้งระบบแสดงตนอัดโนมัติ (AIS) และมีการติดตามเฝ้าระวังจากระบบตรวจสอบ และติดตามเรือขนส่งน้ำมัน (RTS) ของกรมสรรพสามิตอยู่แล้ว รวมทั้งมีการติดตั้ง AIS ตามกฎหมายของกรมเจ้าฟ้า ตลอดจนมีการแจ้งเข้าออกท่าผ่านระบบ NSW ของกรมเจ้าท่า และการควบคุมน้ำมันจากกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ทำให้เจ้าของเรือ และผู้ประกอบการมีความยุ่งยากซ้ำซ้อนในการปฏิบัติจากหลายหน่วยงาน และเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง หรือ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. 65 พ.ศ. ….. ขึ้น มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง หรือ เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. 65 เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนในการกำกับควบคุมดูแลเรือสนับสนุนทั้ง 6 ประเภท และไม่เป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็นได้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากมีกระบวนการในการกำกับควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ประกอบกับเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำช้อนในการควบคุม และเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็นของผู้ประกอบการ
ยกระดับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เป็นวาระแห่งชาติ
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติตามที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต (ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ) 2. เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และ 3. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือ เอกชนที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้การกำกับดูแล และรับผิดชอบ หรือ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย ร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนเชิงนโยบายฯ ด้วยโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง และเป็นรูปธรมที่ชัดเจน
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ สถานการณ์เด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
-
1. สภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องหยุดทำการ และเด็กจำเป็นต้องอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมและไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ตลอด 24 ชม. ประกอบกับพบว่า ระยะเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้เด็กปฐมวัยอยู่ในสภาวะวิกฤตจากการใช้สื่อหน้าจอที่เพิ่มขึ้น
2. สภาวะวิกฤติจากความเหลื่อมล้ำในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยสูงขึ้นโดยการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กอายุ 3-5 ปี ในปี 2562-64 ลดลงอย่างต่อเนื่อง
3. สภาวะวิกฤติทางสังคม ครอบครัว จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 พบว่า ร้อยละ 17 ของหญิงอายุระหว่าง 20-24 ปี มีการสมรสก่อนอายุ 18 ปี ร้อยละ 25 ของเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานพื่อไปประกอบอาชีพ ร้อยละ 71 ของเด็ก 0-17 ปี อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา และยาย เป็นต้น
จากสภาวะวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมกับเด็กปฐมวัย เช่น พัฒนาการของเด็กปฐมวัยหยุดชะงัก เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ดังนั้น ในการประชุม คกก. พัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 [รนม. (นายอนุทินฯ) เป็นประธานกรรมการ] และ 13 พ.ย. 2567 [รนม. (นายอนุทินฯ) มอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน] มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ สนง.เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก. พัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ครม. ต่อไป
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. 3 เร่ง
-
1.1 เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทุกด้านของเด็กปฐมวัย
1.2 เร่งจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการเติบโตอย่างอยู่ดีมีสุขของเด็กปฐมวัย
1.3 เร่งเสริมศักยภาพ อปท. ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น รพ.อำเภอ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
2. 3 ลด
-
2.1 ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังและงดใช้ในเด็กก่อนวัย 2 ขวบ โดยห้ามให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสื่อหน้าจอแก่เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเด็ดขาด และเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เล่นได้อย่างมีเงื่อนไข
2.2 ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย โดยการไม่เร่งการเรียนเขียนอ่านหรือยัดเยียดความรู้ให้เด็กปฐมวัย แต่เน้นการทำกิจกรรมที่หลากหลาย
2.3 ลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงและการใช้คำพูดในเชิงลบ
3. 3 เพิ่ม
-
3.1 เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย
3.2 เพิ่มการเล่าหรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ทักษะสมอง จินตนาการ และเพิ่มความสุขอย่างสม่ำเสมอ
3.3 เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และเวลาคุณภาพของครอบครัว โดยการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ มีความรู้และทักษะที่จะ “เล่นเป็นกอดเป็น คุยเป็น ฟังเป็น เล่าเป็น”
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ แบ่งเป็น 3 ส่วน สรุปได้ ดังนี้
-
1. เสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ
2. อปท. เร่งส่งเสริมศักยภาพหน่วยงานในกำกับ ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ให้สามารถดูแล จัดการสภาพแวดล้อม สวัสดิการในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
3. คณะอนุ กก. ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยจัดทำแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด
“การขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว จะเกิดการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งระบบอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการที่ดีรอบด้าน เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” นายอนุกูล กล่าว
ปรับแผนใช้จ่ายงบฯจัดงานพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ปี’69
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
1. รับทราบการปรับผังแม่บท (Master Plan) และรายละเอียดโครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (งานมหกรรมพืชสวนโลกฯ) เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารและภูมิสถาปัตย์ได้ทันก่อนเปิดงาน โดยเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงการจัดรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 -2570 ซึ่งอยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้
3. อนุมัติให้ปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณโครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดการเปิดงาน ขอให้ กษ. โดยกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณโครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในครั้งต่อไป ทั้งนี้ การปรับแผนงบประมาณต้องอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว
ผ่าน กม.เลือกตั้งซ่อม สส. ‘เมืองคอน’ 4 พ.ค.นี้
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ….. เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ
“ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ….. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ เป็นการดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง (ครบกำหนดวันที่ 9 พฤษภาคม2568) และต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเพื่อจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 3 เมษายน 2568 อันจะทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้ง เป็นไปกรอบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ จะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 8 เมษายน 2568) ซึ่ง กกต.คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 4 พฤษภาคม 2568” นายอนุกูล กล่าว
แก้ กม.เพิ่มอำนาจ กลต.ลุยจับ ‘ปั่นหุ้น – Naked Short Sell’
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตราพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงรายละเอียดของร่างพระราชกำหนดฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมทั้งแนวทางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมดำเนินงานด้านการสอบสวนคดีในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเมื่อพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้โดยเฉพาะในด้านการสอบสวนคดีต่อไป
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการ และมาตรการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนให้มีความรัดกุมและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ และการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์ โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) หรือที่เรียกว่า “Naked Short Selling” โดยเพิ่ม (1) หน้าที่ของผู้ลงทุนในการขายชอร์ต ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง เป็นต้น (2) หน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศ รายงานข้อมูลผู้ถือหลักทรัพย์ที่แท้จริงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ (3) มาตรการลงโทษทางอาญา กรณีผู้ทำการขายชอร์ตฝ่าฝืนหลักเกณฑ์
2. การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบ หลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการลงโทษทางอาญาในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง และโทษปรับเป็นพินัยกรณีที่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย โดยยังคงมีโทษทางปกครอง เช่น การพักการประกอบการ การเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นต้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดปัญหาทุจริตฉ้อฉล
3. การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุม ทั้งกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และล้มละลายจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ต้องดำเนินการด้วยตนเองทั้งกระบวนการ
4. การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และมีบทกำหนดโทษ หากฝ่าฝืน รวมถึงให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อประชาชน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่นำไปจำนำหรือก่อภาระผูกพันไว้กับบุคคลอื่นในจำนวนที่เป็นนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายกำกับดูแลให้รายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์
5. การกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อยับยั้งธุรกรรมที่อาจเป็นการเอาเปรียบ หรือ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน (Preventive Measure) กรณีมีการทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อนิติบุคคลและประชาชนผู้ลงทุน และบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิด มีอำนาจในการยึด หรือ อายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด และมีอำนาจปล่อยทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันความเสียหายและพิทักษ์ประโยชน์ของผู้ลงทุนนตลาดทุนได้
6. การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรือ อาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (High Impact) โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดในคดี High Impact เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที
ตั้งปลัด 16 กระทรวง เร่งล้างท่องบประมาณ
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ(กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งนางสาวปรัชญวรรณ วนานันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา (นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งนางสาวพรพิมล ธรรมสาร เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
3. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ มอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
-
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงศ์ เทียนทอง)
2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
4. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง เป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้งที่ปรึกษาหรือรองอธิบดีที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการ สคร. มอบหมาย ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการ สบน. มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
-
1. ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐอื่น ๆ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น
2. เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐล่าช้ารวมทั้งกำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ และรายงานผลความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคการดำเนินการ และเสนอแนะ แนวทางแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อคณะรัฐมนตรี
3. เชิญหน่วยรับงบประมาณและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามความจำเป็น หรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น
5. ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
5. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้
1. องค์ประกอบ ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการมีดังนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นางสาวธีราภา ไพโรหกุล) รวมถึงกรรมการและเลขานุการร่วม ดังนี้ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร (นายชยันต์ เมืองสง) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย
2. หน้าที่และอำนาจ
-
(1) ติดตามเร่งรัดและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งติดตามแผนการดำเนินงานตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายและสั่งการไว้ (ผลการดำเนินงานของรัฐบาล รอบ 3 เดือน) ของทุกส่วนราชการเพื่อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ
(2) ประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงานตามข้อ (1) พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหา/อุปสรรค เป็นประจำทุกเดือนเพื่อเร่งรัดดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีรับทราบทุกไตรมาส
(3) รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประจำปีเพื่อเผยแพร่และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน
(4) ประสานความร่วมมือจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูล เอกสาร หลักฐาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ
(5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
(6) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
3. ให้ สลน. เป็นหน่วยงานกลางในการประสาน รวบรวมข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีจากผู้ประสานงานของแต่ละส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ
4. ให้ สลน. อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งตั้งตามคำสั่งนี้
6. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 103/2568 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 103/2568 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 313/2567 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และคำสั่งที่ 7/2568 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 มกราคม 2568 นั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 313/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 ดังนี้
-
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) – ให้ยกเลิกข้อ 6.3.5
2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) – ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 8.3.2 “8.3.2 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568 เพิ่มเติม