ThaiPublica > เกาะกระแส > “รอมฎอน” ฟื้นตลาดนัดคึกคัก-แฟชั่นเสื้อผ้ารับฮารีรายอ ดีมานด์พุ่ง 100 ล้าน ซื้อขายกันถึงตี 4

“รอมฎอน” ฟื้นตลาดนัดคึกคัก-แฟชั่นเสื้อผ้ารับฮารีรายอ ดีมานด์พุ่ง 100 ล้าน ซื้อขายกันถึงตี 4

24 มีนาคม 2025


สุกรี มะดากะกุล รายงาน

ตลาดแฟชั่นเสื้อรอมฎอนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เศรษฐกิจคึกคักในช่วง 10 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน ก่อนจะเข้าเทศกาลวันฮารีรายอ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสไตล์ท้องถิ่นดั้งเดิม เสื้อมลายู ชุดกูรง ตือโละบลางอ ชุดโต้ป ทั้งเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและการเฉลิมฉลอง

เดือนมีนาคม 2568 เป็นเดือนรอมฎอนและกำลังสิ้นสุดลง ชาวมุสลิมต่างเตรียมตัวซื้อชุดใหม่สำหรับเฉลิมฉลอง เทรนด์แฟชั่นยังส่งผลให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนรับวันฮารีรายอ ชาวมุสลิมนิยมสวมใส่เสื้อลายเป็นเอกลักษณ์ เพื่อฉลองเสื้อผ้าใหม่อวดโฉม ให้ของขวัญลูกๆ ไปเยี่ยมเยียนและกลับมาพบปะรวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว


จากการสำรวจตลาดแฟชั่นเสื้อผ้ารอมฎอนที่จังหวัดปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแบรนด์ท้องถิ่นกับแบรนด์ต่างประเทศมาเลเซียแข่งกันดุเดือด ร้านค้าเผชิญการแข่งขันสูงขึ้น หลายแบรนด์เริ่มสร้างสไตล์เฉพาะตัวและจดทะเบียนเป็นแบรนด์ของตนเอง ทำให้ตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งดีไซน์ การทำการตลาด จับคนดังมาถ่ายแบบ นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าเสื้อมลายูจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีชื่อเสียงด้านการดีไซน์ คุณภาพของผ้า และราคาย่อมเยา

แม้ว่าความต้องการเสื้อมลายูจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การออกแบบดีไซน์ รวมถึงการแข่งขันจากสินค้านำเข้า อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ ในปีนี้มีแบรนด์ใหม่ๆ ผุดขึ้นกันเป็นจำนวนมาก ที่พูดถึงกันมากโดดเด่นโด่งดัง เช่น แอร่าห, บุสตานี, กูรงนิส บูลันบินตัง, อัมมาร อัมรัน, ริสกี และอื่นๆ

กลยุทธ์ของผู้ค้าทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า แข่งขันช่วงชิงลูกค้ากันเป็นแนวทางสำคัญในการดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขาย ด้วยการทำตลาดออนไลน์ เพิ่มโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถมเกือบทุกร้านในช่วงท้ายรอมฎอน มีการซื้อขายกันถึงก่อนรุ่งเช้าตี 4 แฟชั่นเสื้อผ้าในจังหวัดปัตตานี เฉลี่ยแล้วยอดขายพุ่งทำกำไร 20-40% เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว

นายชาญชัย ยูโซ้ะ

นายชาญชัย ยูโซ้ะ อายุ 30 ปี เจ้าของแบรนด์แอราห์ กล่าวว่า “ร้านผมมีอยู่ 4 สาขา คือที่เมืองยะลา เมืองนราธิวาส เมืองปัตตานี และอำเภอหาดใหญ่ ที่ควนลัง ปีนี้สาขาปัตตานีคึกคักมากกว่าที่อื่น คนเริ่มมาดูสินค้ากันคึกคักตั้งแต่เข้าเดือนรอมฎอนแล้ว ร้านแน่นจนต้องจัดให้รอคิว ปล่อยให้ลูกค้าเข้าร้านรอบละ 20-30 คน พอซื้อเสร็จ 10 คนเราก็เรียกวนใหม่ ช่วงนี้จะต้องทำงานหนักขึ้นหน่อย เพราะลูกค้ามากันมากทุกวัน แน่นร้านตลอด ช่วงกลางคืนจะเยอะกว่า ผมต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกสิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็น และให้พนักงานได้พัก จากนั้นเปิดอีกรอบคือสองทุ่มถึงตีสี่ เป็นอย่างนี้ทุกวันครับ ปีนี้เราดีไซน์แบบใหม่ๆ ที่นิยมมากสุดยังเป็นเทรนด์เสื้อกูรง มลายู ชุดครอบครัว ผลตอบรับดีมากๆ ยอดขายพุ่งกว่าปีที่แล้ว 40% ซึ่งได้เกินเป้าหมาย จบสิ้นเดือนนี้ยอดขายคาดว่า น่าจะได้ประมาณไม่ต่ำกว่า 8 หลักแน่นอนครับ”

มูฮำหมัดซอบรี เจ้ะเลาะ เจ้าของแบรนด์ท้องถิ่น “บุสตานี”

มูฮำหมัดซอบรี เจ้ะเลาะ เจ้าของแบรนด์ท้องถิ่น “บุสตานี” กล่าวว่า “ปีนี้การแข่งขันทางการตลาดดุเดือดมากขึ้น แต่สำหรับร้าน ซึ่งเป็นแบรนด์ขนาดเล็ก ก็ยังไปได้ด้วยดี เพราะสไตล์ของสินค้าค่อนข้างเหมาะกับกลุ่มผู้ใหญ่และถูกใจคนท้องถิ่น ยอดขายช่วงนี้ยังอยู่ที่ประมาณ 20-30% นอกจากเรื่องดีไซน์แล้ว สีของเครื่องแต่งกายก็มีความสำคัญ ซึ่งตลาดนี้ยังคึกคักอยู่ สำหรับปีหน้า เราจำเป็นต้องปรับตัวมากขึ้น คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเพิ่ม รวมทั้งการตลาดก็ต้องเปิดกว้างมากขึ้นด้วย”

นางรุสนี ซูสารอ เจ้าของร้านแบรนด์ “กุรุงนิส”

ด้านเจ้าของร้านแบรนด์ “กุรุงนิส” นางรุสนี ซูสารอ กล่าวว่า “ร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง แน่นอน การแข่งขันวงการแฟชั่นเสื้อรายอปีนี้ขยายกันมากขึ้น มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา เพราะคนที่นี่นิยมของใหม่ ถ้าเป็น 3 จังหวัด ชุดเสื้อในเทศกาลรายอยังไงเค้าก็ต้องซื้อ มีกำลังซื้อของพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นอยู่ การเข้ามาของแบรนด์มาเลย์ ทุนใหญ่ มามากขึ้น ทำให้ต้องตามเทรนด์ให้ทัน ต้องปรับตัวเยอะหน่อย สำหรับร้านเราก็ต้องตามเทรนด์ พร้อมกับต้องทำตามเเนวของตัวเองด้วย ที่ขายดีปีนี้คือปรินเซส เรียบหรูหรา ผสมกัน ส่วนอนาคต ตลาดบ้านเราเริ่มจะอิ่มตัวแล้ว ใครอยากเข้ามาก็ต้องคิดมากหน่อย ปรับกลยุทธ์ วางแผนปีหน้าก็ต้องปรับตามเทรนด์เอาให้ตรงตามตลาดมากขึ้น การขายออนไลน์ เราต้องการขยายไปยังคนมุสลิมภาคอื่นๆ ที่สนใจเสื้อผ้ามลายูด้วย แต่ต้องปรับให้ทันสมัยใหม่ กูรงคือเสื้อผ้า 2 ท่อน ก็ต้องมีแบบเฉพาะคนภาคอื่นด้วย”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงสัปดาห์สุดท้ายใกล้วันฮารีรายอจะเป็นช่วงพีกของตลาดเสื้อมลายู ซึ่งอาจส่งผลให้มีการจับจ่ายอย่างคึกคัก ผู้ประกอบการที่เตรียมตัวรับกระแสความต้องการล่วงหน้า อาจสามารถสร้างยอดขายได้อย่างมหาศาลในปีนี้ คาดว่าเงินจะสะพัดเป็นร้อยล้านบาททีเดียว

ตลาดนัดรอมฎอนคึกคัก ดันยอดขายพุ่ง!

รอมฎอนไม่ใช่แค่เดือนแห่งศรัทธา แต่คือโอกาสทางเศรษฐกิจ บรรยากาศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีนี้เริ่มต้นกันตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม สิ่งที่ทุกคนเตรียมตัวคือ การปฏิบัติศาสนกิจในวาระ “เดือนแห่งผลบุญ” นอกจากนี้ สีสันบรรยากาศที่รอคอย ตามที่เห็นในเมืองปัตตานี และชุมชนใหญ่รอบๆ ตามเมืองใหญ่เล็กต่างๆ

เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน ตลาดนัดรอมฎอนทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พ่อค้าแม่ค้าต่างเตรียมเมนูพิเศษสำหรับช่วงเวลานี้โดยเฉพาะ ส่งผลให้ยอดขายอาหารและสินค้าพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด บางร้านขายดีจนต้องเพิ่มกำลังผลิต

หลายตลาดบรรยากาศจะเนืองแน่นด้วยผู้คนผู้คนแห่จับจ่ายในตอนบ่ายแก่ๆ ถนนหลายสายในเขตเมืองปัตตานีเต็มไปด้วยรถและผู้คนที่ทยอยมาจับจ่ายอาหารละศีลอด ตลาดที่ได้รับความนิยม เช่น ตลาดจะบังติกอ ซึ่งเป็นตลาดนัดรอมฎอนหน้าโรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเปิดตลาดให้แม่ค้าพ่อค้ามาใช้พื้นที่ฟรีเป็นครั้งแรก มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาจนแทบไม่มีที่เดิน

นางซัลมา เจ๊ะโส๊ะ แม่ค้าตลาดนัดจาบังตีกอ ร้านขายขนมหวานและขนมท้องถิ่น “ตูปะซูตง” หมึกยัดไส้ข้าวเหนียวราดน้ำตาลมะพร้าวต้มกะทิ เล่าว่า “ทุกปีช่วงรอมฎอนเป็นช่วงที่ขายดีที่สุด ยอดพุ่งถึง 200 ถุงต่อวัน ขายดีจนต้องเตรียมของเพิ่ม”

ขนม “ตูปะ ซูตง” เมนูอาหารมีเฉพาะจังหวัดใต้ชายแดนที่ใคร ๆ ได้ยินแล้วอาจจะรู้สึกไม่คุ้นหูกับชื่อเมนูนี้มาก่อน จริง ๆ แล้วมันคือ ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวต้มหวาน จะเป็นอาหารคาวก็ไม่ใช่ อาหารหวานก็ไม่เชิง แต่มักนิยมกินเป็นของหวานหลังมื้ออาหารหรือกินเป็นของว่างก็ได้

ในตลาดจาบังตีกอ ยังมีขนมโบราณอีกอย่างหนึ่งที่หายากคือ ขนมดำ ตือปงอีแต ขนมดำ – ตือปงอีแต

ขนมดำเป็นขนมพื้นบ้านหายากที่มีขายเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน สืบทอดกันมากว่าสามรุ่น วิธีทำเริ่มจากเก็บใบยอ ตากแห้ง บดละเอียด แล้วนำมาผสมกับข้าวเหนียวที่โม่เป็นน้ำแป้ง จากนั้นกดทับด้วยหิน 6-8 ชั่วโมง ผสมน้ำตาลโตนด เทใส่ถาด และนึ่งจนสุก ก่อนตัดเป็นชิ้นและห่อใบตอง รสชาติจะคล้ายกับขนมเข่ง แต่มีเนื้อใบยอผสม หวานกำลังดี ไม่มีรสขม ถือเป็นขนมโบราณที่สืบทอดมากว่า 100 ปีแล้ว

ขณะที่นายยูโซ๊ะ มะลี เจ้าของร้านขนมพื้นเมืองที่ตลาดนัด Cs กล่าวว่า “ขนมอย่างปูตูฮัลบอ หรือกูบาฆูลิง เป็นที่ต้องการมากในช่วงรอมฎอน บางวันลูกค้าต่อคิวตั้งแต่ยังตั้งร้านไม่เสร็จเลยครับ”

จากการสำรวจข้อมูลจากพ่อค้าแม่ค้าถึงยอดขายของในเดือนรอมฎอน ตั้งแต่วัตถุดิบปลา ไก่ เนื้อ ผัก หรือวัตถุดิบน้ำตาลทราย กะทิสด เริ่มคึกคักมากขึ้นกว่าเดิม ผู้ประกอบการร้านค้าหลายรายยืนยันว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน ทุกๆปี ยอดขายเพิ่มขึ้น กว่า 3-5 เท่าตัว จากช่วงเวลาปกติ ตลาดนัดรอมฎอนในจังหวัดปัตตานีเพียงแห่งเดียว ที่มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายออกบู้ทร่วมๆ 200 ร้านค้า คาดว่ามีเงินสะพัดหลักแสนบาท/วัน

เมนูอาหาร หลากหลายนับร้อยอย่าง อาหารที่ขายดี ในช่วงนี้ได้แก่ อาหารคาว เช่น แกงเผ็ด , แกงพื้นเมือง ,นาซิดาแฆ, ไก่กอและ, ข้าวยำ ,ซุปเนื้อ,ซุปเป็ด ,แกงมัสหมั่นแพะ เนื้อ มะตาบะ ,โรตีแกง,โรตีโอ่ง ที่ต้องทานคู่กันขาดไม่ได้คือของหวานท้องถิ่น เช่น ปูตูฮัลบอ, ตือปงอีแต, กูบาฆูลิง, อาเกาะ ตูปะซูตง ข้าวเหนียวสังขยา ขนมร้อยอย่าง

เครื่องดื่ม เช่น น้ำกาแฟ น้ำสมุนไพร รวมบรรดาน้ำชา ชานม ชาน้ำผึ้ง, น้ำอ้อย, น้ำผลไม้สดต่างๆ ที่ยอดฮิตอีกอย่างคือ น้ำตูเวาะ หรือน้ำตาลสด

นอกจากคนในพื้นที่แล้ว นักท่องเที่ยวและคนจากจังหวัดใกล้เคียงก็นิยมเดินทางมาซื้อของที่ตลาดรอมฎอนเช่นกัน คนต่างถิ่นเช่นจังหวัดใกล้เคียง ยะลา นราธิวาส สงขลา หรือนักท่องเที่ยวที่มาเยือนปัตตานี ต้องมาเดินตลาดรอมฎอนกันทุกราย เพราะศูนย์รวมอาหารอร่อยต่างนำมารวมไว้ที่ตลาดนัดรอมฎอน

หลายร้านยังใช้ช่องทางขายออนไลน์ด้วย เช่น Facebook หรือ LINE tiktok เพื่อรับออเดอร์ล่วงหน้า และจัดส่ง จากไรเดอร์วิ่งกันคึกคัก

บางคนจากยะลาและนราธิวาสขับรถมาไกลกว่า 50 กิโลเมตรเพื่อมาซื้ออาหารที่ปัตตานี บางรายสั่งเป็นจำนวนมากเพื่อแบ่งให้ญาติพี่น้อง

สำหรับพ่อค้าแม่ค้า เดือนรอมฎอนไม่ใช่แค่เดือนแห่งศาสนกิจ แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญของการค้าขาย หลายคนตั้งตารอเดือนนี้เพราะสามารถทำรายได้สูงกว่าช่วงอื่น ๆ ของปี ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันที่สะท้อนให้เห็นว่า วิถีชีวิต ศาสนา และเศรษฐกิจ สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีปีละครั้งเดียวเท่านั้น