ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 ประชากรไทย 64,989,504 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 20.70% หรือ 13,450,391 คน บ่งชี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากมีประชากรสูงวัยในสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด หรือประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 14%
ผู้สูงวัยตามเกณฑ์อายุ แบ่งออกเป็น อายุ 60 – 69 ปี 7,593,731 คน คิดเป็น 56.46% อายุ 70 – 79 ปี 3,987,082 คน คิดเป็น 29.64% อายุ 80 – 89 ปี 1,516,689 คน คิดเป็น 2.32% อายุ 90 – 99 ปี 311,470 คน คิดเป็น 2.32% และอายุมากกว่า 100 ปี 41,419 คน คิดเป็น 0.31%
แม้จะมีตัวเลขประชากรข้างต้น แต่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) มองว่า ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่บ่งบอกสิทธิและสวัสดิการรายบุคคล ดังนั้น กผส. จึงเสนอให้ ครม. พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิและสวัสดิการ และให้กรมกิจการผู้สูงอายุเป็นเจ้าภาพหลัก และให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ร่วมกันบูรณาการข้อมูล
โดยการจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมดใช้เวลา 1 ปี 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 และกำหนดให้แล้วเสร็จเดือนเมษายน 2568
- พ.ย. 2566 – เม.ย. 2567 รวมข้อมูลสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมศึกษากฎหมาย
- มิ.ย. 2567 – ส.ค. 2567 เสนอ ครม. ให้มีมติเห็นชอบให้ สพร. และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ทำฐานข้อมูล
- ส.ค. 2567 – ก..ย. 2567 ทำ MOU ระหว่างหน่วยงาน เพื่อถ่ายโอนข้อมูล
- ส.ค. 2567 – ก.ย. 2567 รวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และจัดรูปแบบข้อมูลในมาตรฐานเดียวกัน
- ก.ย. 2567 – ต.ค. 2567 ทดลองวิเคราะห์ข้อมูลครั้งที่ 1 ร่วมกับ สพร. และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ
- ต.ค. 2567 นำเสนอตัวอย่างผลวิเคราะห์ข้อมูลครั้งที่ 1 ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง
- ต.ค. 2567 – เม.ย. 2568 กรมกิจการผู้สูงอายุ สพร. และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ พัฒนาระบบฐานข้อมูล และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เชื่อมกับแอปพลิเคชั่นทางรัฐ
ทั้งนี้ เอกสารที่ กผส. เสนอต่อ ครม. ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุมีทั้งหมด 43 รายการ 23 หน่วยงาน (10 กระทรวง) โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สรุปข้อมูลสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งหมด ดังนี้
สิทธิได้เงินทุกเดือน
เริ่มที่สิทธิและสวัสดิการที่เป็นตัวเงินและได้รับประจำทุกเดือน ทั้งหมด 10 รายการ โดยสิทธิที่คนคุ้นเคยมากที่สุดคือ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการจ่ายเงินรายเดือนแบบขั้นบันไดให้กลุ่มเป้าหมาย 11,770,897 คน แบ่งเป็น อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน
กระทรวงมหาดไทยยังมี ‘บำเหน็จ/บำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น’ แยกเป็นบำนาญจำนวน 874,447 คน ได้รับ 10,000 – 50,000 บาทต่อเดือน กับบำเหน็จ 970,714 คน ได้รับ 7,000 – 30,000 บาทต่อเดือน และ ‘บำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร’ 21,739 คน ได้รับ 10,000 – 50,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ กลุ่มข้าราชการผู้สูงอายุก็ได้รับบำเหน็จ/บำนาญจากหน่วยงานต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ‘เงินดำรงชีพ’ โดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีผู้ได้รับสิทธิ 316,929 คน จ่ายเงินดำรงชีพขั้นต่ำ 600 บาทต่อเดือน หรือ ‘บำเหน็จ/บำนาญข้าราชการ’ โดยกระทรวงการคลัง มีผู้ได้รับสิทธิ 1,845,161 คน แบ่งเป็นเงินบำนาญ 745,447 คน ได้รับ 10,000 – 50,000 บาทต่อเดือน และบำเหน็จ 970,714 คน ได้รับ 7,000 – 30,000 บาทต่อเดือน
พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ยังมีส่วนของบำเหน็จ/บำนาญ ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงาน ได้แก่ ‘บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 33’ มีผู้ได้รับสิทธิ 796,966 คน ได้รับ 900 – 5,000 บาทต่อเดือนตามเงื่อนไข ‘บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 39’ มีผู้ได้รับสิทธิ 188,083 คน ได้รับ 900 – 5,000 บาทต่อเดือนตามเงื่อนไข ‘บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 40’ มีผู้ได้รับสิทธิ 1,845,161 คน ได้รับเงินตามจำนวนงวดที่จ่ายสมทบและผลประโยชน์ตอบแทน
‘บำเหน็จจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ’ โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีผู้ได้รับสิทธิ 1,016,231 คน ได้รับเงินก้อนเดียวตามจำนวนเงินที่สมาชิกส่งพร้อมสมทบจากภาครัฐและเงินชดเชย
‘เบี้ยยังชีพคนพิการ’ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีผู้ได้รับสิทธิ 1,202,434 คน และจ่ายให้คนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 800 บาทต่อเดือน
สิทธิได้เงินรายครั้ง
ถัดมาเป็นสวัสดิการที่ได้รับเป็นรายครั้ง ทั้งหมด 14 รายการ ในจำนวนนี้เป็นสิทธิและสวัสดิการภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13 รายการ มีตั้งแต่การจ่ายเงินช่วยเหลือ-เยียวยา สงเคราะห์ และหาเลี้ยงชีพ
กลุ่มหาเลี้ยงชีพ ได้แก่ ‘กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ’ ผู้ได้รับสิทธิ 113,652 คน โดยให้สิทธิกู้เงินวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน ไม่มีดอกเบี้ย และ ‘กู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ’ ผู้ได้รับสิทธิ 37,064 คน ได้สิทธิกู้เงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน ไม่มีดอกเบี้ย และ ‘เงินทุนประกอบอาชีพและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์’ ผู้ได้รับสิทธิ 20 คน โดยสตรีที่ติดเชื้อฯ จะได้รับสิทธิกู้เงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
กลุ่มจ่ายเงินสงเคราะห์ ได้แก่ ‘การสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก’ (ไม่ระบุจำนวนผู้ได้รับสิทธิ) โดยจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุที่เดือดร้อน 3,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ‘สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ’ ผู้ได้รับสิทธิ 26,095 คน ได้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของเป็นวงเงินครั้งละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครอบครัว ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ‘สงเคราะห์คนไทยตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนาเดิม’ ผู้ได้รับสิทธิ 1 คน ได้รับการสนับสนุนค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพาหนะระหว่างเดินทาง ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน ‘สงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง’ ผู้ได้รับสิทธิ 4,977 คน ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของ วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อครอบครัว ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ‘สงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว’ ผู้ได้รับสิทธิ 418 คน ได้เงินไม่เกิน 2,000 บาทต่อครอบครัว ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
กลุ่มช่วยเหลือ-เยียวยา ได้แก่ ‘ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ผู้ได้รับสิทธิ 337 คน กรณีเสียชีวิต 6,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บ 3,000 บาทต่อคน ‘ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานหรือบริการจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์’ (ไม่ระบุจำนวนผู้ได้รับสิทธิ) เป็นรูปแบบการสนับสนุนค่าอาหาร ค่าที่พักชั่วคราว และค่าการรักษาพยาบาล ‘ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน’ ผู้ได้รับสิทธิ 121,179 คน ได้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้งต่อครอบครัว ‘ช่วยเหลือสตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม’ ผู้ได้รับสิทธิ 6,629 คน ได้เงินไม่เกิน 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี และ ‘เยียวยาผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ’ ไม่มีผู้ได้สิทธิ
อีก 1 รายการของสวัสดิการที่ได้รับเป็นรายครั้ง อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม คือ ‘ช่วยเหลือผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา’ มีผู้ได้รับสิทธิ 3,590 คน โดยเป็นการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา เช่น การรักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท และฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 20,000 บาท
สวัสดิการแบบไม่เป็นตัวเงิน
สุดท้ายเป็นสวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน ทั้งหมด 19 รายการ โดยกระทรวงการคลังมีโครงการไฮไลท์ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อย่าง ‘โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565’ หรือบัตรคนจน ผู้ได้รับสิทธิ 694,702 คน โดยมีการให้เงินในรูปแบบต่างๆ เช่น เบี้ยความพิการ 200 บาท ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อเดือน ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อสามเดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน ค่าไฟฟ้า 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
สวัสดิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้แก่ ‘บริการภายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ’ ผู้ได้รับสิทธิ 1,262 คน ‘ปรับปรุงที่อยู่อาศัย’ ผู้ได้รับสิทธิ 24,311 คน ครอบคลุมตั้งแต่ซ่อมแซมบ้านไม่เกิน 40,000 บาทต่อหลัง ก่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ระดับตำบล ไม่เกิน 21,000 บาทต่อครัวเรือน และปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ผู้พิการ ไม่เกิน 40,000 บาทต่อคน ‘บริการขึ้นทะเบียนคลังปัญญาผู้สูงอายุ’ ผู้ได้รับสิทธิ 34,802 คน ‘สงเคราะห์ค่าจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี’ ผู้ได้รับสิทธิ 319,596 คน โดยช่วยจ่ายค่าจัดการศพ 3,000 บาท
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามี 3 สิทธิ-สวัสดิการ แบ่งเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ 2 โครงการ คือ ‘อาสาสมัครผู้สูงอายุกรมส่งเสริมการเรียนรู้’ ซึ่งเป็นลักษณะการสอนหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้เป็นวิทยากร และ ‘ส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต’ โดยจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทั่วไป และอีก 1 โครงการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ ‘บริการลงทะเบียนวุฒิอาสาธนาคารสมอง’ โดยจะสนับสนุนผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนฯ ให้ทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่
ด้านสาธารณสุข มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แก่ ‘บริการสาธารณสุขผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน’ ผู้ได้รับสิทธิ 333,147 คน โดย สปสช. จะจ่ายเงินให้ อปท. 6,000 บาทต่อคนต่อปี และ ‘สิทธิการรักษาพยาบาล’ สำหรับผู้สูงอายุ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สิทธิ-สวัสดิการ ‘บริการส่งเสริมสุขภาพ’ โดยจะให้การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนกรุงเทพมหานครก็มี ‘บริการภายในศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง’ และ ‘บริการภายในบ้านผู้สูงอายุบางแค 2’
กระทรวงยุติธรรม ถือเป็นอีกหน่วยงานที่ให้สิทธิ-สวัสดิการแก่ผู้สูงวัย โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านกฎหมายผ่าน ‘บริการผ่านกองทุนยุติธรรม’ เช่น ขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหา ช่วยเหลือในการดำเนินคดี ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้ทางกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี ‘การให้ความช่วยเหลือเรื่องราวร้องทุกข์’ และ ‘ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย’
สวัสดิการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ เช่น ‘การช่วยเหลือค่าโดยสารสาธารณะ’ โดยลดค่าโดยสาร 50% ให้ผู้สูงอายุที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะตามที่กำหนด เช่น เรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ รถไฟฟ้าทุกสาย รถไฟและรถเมล์
สุดท้ายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 สวัสดิการ คือ ‘ยกเว้นค่าเข้าชมอุทยาน’ และ ‘ยกเว้นค่าเข้าสวนสัตว์’