ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ได้รับรางวัล ธนาคารกลางแห่งปี Central bank of the year

ธปท. ได้รับรางวัล ธนาคารกลางแห่งปี Central bank of the year

12 มีนาคม 2025


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารกลางของไทยได้ต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติตามพันธกิจและมุ่งมั่นที่จะสร้างภาคการเงินที่มีความพร้อมสู่อนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับรางวัลธนาคารกลางแห่งปี จาก Central Banking

เว็บไซต์ของ Central Banking เผยแพร่บทความว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจภายในประเทศที่เผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนเศรษฐกิจกับความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวได้อย่างแยบยล

ธปท. ประสบความสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวในขณะที่เผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองที่สำคัญ ธปท.ได้ปกป้องความเป็นอิสระในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำในการปฏิรูปหลายด้านเพื่อยกระดับบริการทางการเงินของประเทศไทย จุดเน้นหลักของธนาคารกลางยังคงมั่นคง นั่นคือ การรักษาเสถียรภาพและเตรียมระบบการเงินให้พร้อมรับมือกับอนาคต

การรักษาเสถียรภาพ
ธปท. ได้ปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงปลายปี 2566 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดของแนวนโยบายการเงินหลังโควิด-19 ที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต่างจาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วโดยธนาคารกลางอื่นๆ หลายแห่ง ในปี 2567 ธปท.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยกลับมาอยู่ในระดับที่เป็นกลางที่ประมาณ 2.25%

กลยุทธ์ของธนาคารกลางมีพื้นฐานมาจากการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการพุ่งสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานชั่วคราวเกือบทั้งหมด ซึ่งนโยบายการเงินสามารถมองข้ามได้ ซึ่งหมายความว่าสามารถให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

บางส่วนกังวลในขณะนั้นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะใจเย็นเกินไปในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ บอกกับ Central Banking ในช่วงต้นปี 2566 ว่า ต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ ธปท. ได้ปรับนโยบายให้เข้มงวดขึ้น แม้ GDP ของไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการเกิดโรคระบาด (จึงเร็วกว่าธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ) และเน้นย้ำว่ามีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะเกิดการปรับขึ้นค่าจ้างต่อเงินเฟ้อเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (wage-price spiral) ในประเทศ ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น “นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบนั้นมีความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังประสบกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูง” เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแนวทางนี้ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลางเป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่เกินอัตราที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดจากจุดสูงสุดในเวลาเพียง 6 เดือน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ลักษณะเด่นของแนวทางของธปท.คือ การใช้เครื่องมือนโยบายเสริมในลักษณะบูรณาการเพื่อปรับปรุงทางเลือกนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ธปท.จึงได้นำมาตรการทางการเงินเฉพาะกลุ่มมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพและจัดการกับความเปราะบาง ตัวอย่างเช่น ผ่านโครงการ ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อรายย่อยที่ ‘มีความเสี่ยง’ และ ‘มีปัญหา’ จากความคิดริเริ่มนี้ จึงได้มีการเปิดตัวโครงการสำคัญของรัฐบาลในช่วงปลายปี 2567 เพื่อสนับสนุนการเร่งชำระหนี้ของกลุ่มที่เปราะบาง

การรักษาพื้นที่นโยบายท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงช่วยเสริมความยืดหยุ่นของ ธปท. ในการปรับตัวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ซึ่งมาพร้อมกับการสื่อสารที่สม่ำเสมอและชัดเจนซึ่งมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มและหลีกเลี่ยงการพึ่งพาข้อมูลมากเกินไป ธปท.พิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายจะไม่สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงิน

การโจมตีทางการเมือง
แต่แนวทางที่ระมัดระวังของธปท.ไม่ได้ปกป้องธปท.จากการตำหนิของฝ่ายบริหาร ซึ่งหมายความว่า ธปท. จะต้องรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินงาน แม้บางครั้งจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงก็ตาม การฝ่าฟันภูมิทัศน์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ในช่วงเวลาที่วุ่นวายซึ่งมีนายกรัฐมนตรี 3 คนและรัฐมนตรีคลัง 3 คนภายใน 2 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเผชิญกับการโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่ต้องการให้ธปท.ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

เมื่อเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกระดับการสื่อสารกับประชาชนและมุ่งเน้นการไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกระบวนการกำหนดนโยบายของธปท.และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อการตัดสินใจของธนาคาร

ธปท. ได้จัดทำนิตยสารฉบับพิเศษและคลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดีย (โครงการเบื้องหลัง MPC) ขึ้นเพื่อการเผยแพร่ต่อสาธารณ อธิบายกระบวนการกำหนดนโยบายการเงินทั้งหมด ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การพิจารณานโยบาย ไปจนถึงการสื่อสารหลังการประชุม โดยเนื้อหาประกอบด้วยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธปท.และอดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในกระบวนการ ทั้งหมดนี้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากผู้ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและเจ้าพ่อโทรคมนาคม ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้มีอำนาจเบื้องหลังพรรคเพื่อไทยที่บริหารประเทศและนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด

การโจมตีนโยบายของ ธปท. มาจากมุมมองที่รายงานว่าเป็นของทักษิณ ว่า ธปท. มีความเป็นอิสระมากเกินไป (ซึ่งทักษิณเคยปลดผู้ว่าการฯ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ในปี 2544 และเจ้าหน้าที่ของ ธปท.) แม้มีคุณสมบัติทางวิชาการสูง แต่ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มากพอ มีรายงานว่าทักษิณยังกล่าวอีกว่าความพยายามของ ธปท. ในการสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินส่งผลให้ธนาคารกลางดูดซับสภาพคล่องจากธนาคารพาณิชย์มากเกินไป ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหาในการหาเงินทุน เขาอ้างว่านี่คือเหตุผลที่กดดันให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้น เช่น โครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อกระตุ้นการบริโภค แม้บางคนมองว่าเป็นความพยายามในการสร้างรักษาฐานเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม

นายกรัฐมนตรีสองคนล่าสุดของประเทศไทยขัดแย้งกับธปท.เกี่ยวกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจ โดยผู้ดำรงตำแหน่งกล่าวว่าความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น “อุปสรรค” ปัจจุบันตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับการคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 แต่ในความพยายามที่ชัดเจนที่จะมีอิทธิพลต่อ ธปท. รัฐบาลได้เสนอชื่อกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ที่วิจารณ์ธนาคารแห่งประเทศไทยาให้ดำรงตำแหน่งประธานธปท.คนที่ 5 นับตั้งแต่การผ่านพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551

แม้ประธานจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ประธานก็ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจและการดำเนินงานของธปท. ประธานยังมีอำนาจตามกฎหมายในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ ตลอดจนเสนอชื่อและคัดเลือกกรรมการกน.ที่เป็นบุคคลภายนอก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
แทนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการงัดข้อกับฝ่ายบริหารในพื้นที่สาธารณะ ธปท. ภายใต้การนำของผู้ว่าการเศรษฐพุฒิ ได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและไหวพริบเชิงกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมในการชี้นำการสื่อสารของธนาคารกลาง แม้บุคคลสำคัญของรัฐบาลจะเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยทันที เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เศรษฐพุฒิได้ปกป้องความเป็นอิสระของ ธปท. โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินต้องอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าวาระทางการเมือง

ธปท. ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวมากกว่าประโยชน์ชั่วคราว เศรษฐพุฒิแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมของรัฐบาล เช่น การโอนเงินสดจำนวนมากโดยไม่มีเงื่อนไข (โครงการ ‘กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล’) โดยเตือนว่าแม้ว่ามาตรการเหล่านี้อาจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย

ในทางกลับกัน ธปท. ได้สนับสนุนการปฏิรูปอย่างยั่งยืนโดยเน้นที่การเพิ่มผลผลิต การลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่กำหนดเป้าหมาย และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว หนี้ครัวเรือนที่สูงของไทยกำลังได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต่างไปจากมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการระบาดใหญ่ แนวทางนี้รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การกาหนดอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้กู้ และมาตรการเชิงป้องกันความเสี่ยงในระบบที่เน้นการลดหนี้อย่างยั่งยืนและฐานะทางการเงินในระยะยาว ด้วยการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนและการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นธรรม ธปท. ได้พยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจฉุดรั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยได้

“จากการประเมินของดิฉัน [เศรษฐพุฒิ] ทำงานได้ดีมาก” ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกกับ Central Banking “เขาไม่โต้เถียงกับรัฐบาลในที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการเผชิญหน้า แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาได้พูดคุยและให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจึงเหมาะสม”

ธาริสาชี้ให้เห็นถึงความพยายามของเศรษฐพุฒิในการเสนอข้อโต้แย้งที่จะปรับปรุงโครงการริเริ่มของรัฐบาล “เขายังเสนอมาตรการที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น เช่น การเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐและการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน” ธาริสากล่าว “การสื่อสารเหล่านี้ช่วยยกระดับความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญและความเชื่อมั่นในธนาคารกลาง”

อดีตผู้ว่าการเองรู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมาต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2567 “เมื่อไม่นานมานี้ มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถใช้ ธปท. เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล” ธาริสากล่าวในขณะนั้น “หากเป็นเช่นั้น ความหายนะจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เหมือนกับที่เราเห็นในประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงธนาคารกลาง”

ภายในเดือนพฤศจิกายน อดีตผู้ว่าการ 4 คนและนักเศรษฐศาสตร์กว่า 800 คนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ต่อต้านการแต่งตั้งกิตติรัตน์เป็นประธานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตอกย้ำถึงการสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารกลางอย่างมาก

หลังจากการพิจารณาอย่างยาวนานและการเลื่อนหลายครั้ง คณะกรรมการคัดเลือกในที่สุดก็สนับสนุนกิตติรัตน์ดำรงตำแหน่งประธาน แต่สุดท้าย คณะกรรมการกฤษฎีกาของไทยได้ตัดสินในภายหลังว่าเขาไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมาและไม่สามารถถือได้ว่าเป็นกลางทางการเมืองได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสรรหาประธานคนใหม่

ภูมิทัศน์ทางการเงินที่พร้อมรับมือกับอนาคต?
แม้จะมีการรบกวนทางการเมือง แต่ ธปท. ยังคงผลักดันโครงการสำคัญหลายประการเพื่อให้แน่ใจว่าระบบการเงินของไทยยังคงมีความยืดหยุ่นและรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความก้าวหน้าทางดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศผ่านระบบการชำระเงิน PromptPay และการเปิดตัว PromptBiz สำหรับการส่งข้อมูลการค้าและการชำระเงินแบบดิจิทัลระหว่างธนาคาร ธปท. ยังคงดำเนินโครงการข้ามพรมแดนต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความพร้อมใช้งาน ลดต้นทุน และปรับปรุงความเร็วของการชำระเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR code กับกัมพูชา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมถึงมีช่องทางการชำระเงินทันทีกับสิงคโปร์ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘Project Nexus’ ธปท. กำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินทันทีในหลายเขตอำนาจรัฐ

ธปท.ยังได้ประสานงานกับธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางฮ่องกง และธนาคารกลางซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนา Wholesale CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สำหรับใช้โอนเงินระหว่างสถาบันการเงินแบบข้ามพรมแดน โดยขณะนี้ Project mBridge ใกล้จะเริ่มดำเนินการแล้ว ในขณะเดียวกัน ได้มีการริเริ่มโครงการใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมชำระเงินทางการค้าและคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศในรูปแบบ Tokenisation ในรูปแบบทางธุรกิจ (use cases) กับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ภายใต้โครงการ “สาน” ของแบงก์ชาติ และโครงการ “Ensemble” ของ HKMA ในเดือนตุลาคม 2567

ในขณะเดียวกัน ธปท. ได้เปิดตัวโครงการ ‘your data ข้อมูลของคุณ’ ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศและสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับความพยายามด้านข้อมูลเปิดของ ธปท. เป็นการวางรากฐานสำหรับระบบนิเวศข้อมูลเปิดที่จะส่งเสริมความโปร่งใสและการส่งข้อมูลภายในภาคการเงิน อีกองค์ประกอบสำคัญของภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังพัฒนาของประเทศไทยคือการออกใบอนุญาต ‘ธนาคารเสมือน’ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาใบคำขอของผู้ที่สนใจ โดยคาดว่าจะประกาศผลในปี 2569

ในขณะเดียวกัน ธปท. และกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อแห่งชาติ (National Credit Guarantee
Agency) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการเปิดตัวโครงการ ‘financing the transition การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ’ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์และปรับขนาดได้ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจในภาคเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ในการเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน

ส่วนภายในองค์กร หลังจากการเตรียมการเป็นเวลาหลายปี โครงการ ‘regulatory data transformation’ ของ ธปท. ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการจัดโครงสร้างข้อมูลกำกับดูแล จากการรายงานไปสู่การใช้แบบจำลอง การเพิ่มระดับความละเอียดของข้อมูลคาดว่าจะทำให้การกำกับดูแลเป็นเชิงรุกและตรงเป้าหมายมากขึ้น และสร้างเสริมการวิเคราะห์เงื่อนไขทางการเงินและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินให้แข็งแกร่งขึ้น

ความเสี่ยงและเงินสำรอง
ในปีที่ผ่านมา ธปท. ยังได้ยกระดับกรอบการบริหารความเสี่ยงภายในอย่างมีนัยสำคัญ โดยชี้แจงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่แน่นอนสำหรับกิจกรรมหรือแนวนโยบายอย่างชัดเจน และเพิ่มการเน้นการวัดความเสี่ยงที่สำคัญเชิงปริมาณ การระบุความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ การดำเนินงาน การเงิน และชื่อเสียง ได้ส่งผลกลับไปยังการประเมินการประเมินทางเลือกเชิงนโยบาย ทำให้การตัดสินใจที่มีความแข็งแกร่งและมีข้อมูลมากขึ้น

ประเด็นนี้ได้รับการเน้นย้ำเมื่อธปท. ดำเนินการตรวจสอบกรอบการบริหารเงินสำรองเป็นเวลา 9 เดือนในปี 2567

โดยมีเป้าหมายคือเพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางของธปท.สามารถตามทันพลวัตของตลาดการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่พิจารณาความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธปท.และข้อจำกัดด้านทรัพยากรภายใน รวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี การบริหารความเสี่ยง และหน้าที่ทางกฎหมาย ประเด็นที่ตรวจสอบ ได้แก่ วัตถุประสงค์ของการบริหารเงินสำรองของธนาคารกลางเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินและการดำเนินนโยบายการเงิน สำรองหนุนธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบ และรักษาอำนาจซื้อระดับโลก

ความมุ่งมั่นที่ไม่สั่นคลอน
นโยบายที่มองไปข้างหน้าของธนาคารแห่งประเทศไทยและความมุ่งมั่นที่ไม่สั่นคลอนของเจ้าหน้าที่ในการตัดสินใจอย่างอิสระได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยและแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ความซื่อตรง และความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง การยืนหยัดอย่างมั่นคงเมื่อเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองทำให้ผู้กำหนดนโยบายของ ธปท. ช่วยรักษาพื้นที่ของนโยบายท่ามกลางความปั่นป่วน เสริมสร้างความยืดหยุ่นของธนาคารกลางในการปรับตัวต่ออนาคตทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน