บอร์ด AOT ไฟเขียวรับคืนพื้นที่ ‘สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก’-‘ร้านค้าปลอดอากรขาเข้า’ และปรับสูตรเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ คาดรายได้อาจจะหายไปกว่า 9,218 ล้านบาท/ปี ‘ชาญชัย’ ถาม AOT แก้สัญญาสัมปทานให้ ‘คิง เพาเวอร์’ ตามข้อเสนอของ คกก.พิจารณารายได้ “บอร์ดชุดเล็ก” ไปแล้วหรือไม่ หลังฝ่ายบริหาร ทอท. ยืนยันตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้แก้สัญญา
หลังจากที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” ทำ หนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568) ยืนยัน “ทอท. มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีประสบปัญหาขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด” นั้น
ต่อเรื่องนี้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ มีประเด็นข้อสงสัย ข้อสังเกตและมีคำถามไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้บริหารของ ทอท. กรณีที่ทอท.ยืนยันกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าทอท. มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ดังกล่าวข้างต้น แต่รายงานการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติอนุมัตินโยบายสำคัญที่มีผลกระทบกับรายได้ของ ทอท. 1.กรณีให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) หยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า และรับคืนพื้นที่ 2.รับคืนพื้นที่เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 3.ปรับสูตรเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่ ภายหลังการรับคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง คาดว่ารายได้จากการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนของ ทอท.อาจจะลดลงกว่า 9,218 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้คำนวณตามรายงานการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 10/2567 หน้าที่ 47
“จากรายงานดังกล่าวนี้ จึงเป็นคำถามว่า ทอท. ได้มีการแก้ไขสัญญาและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ตามมติคณะกรรมการ ทอท. ดังกล่าวไปแล้วหรือยัง” นายชาญชัยกล่าว
ครม. ไฟเขียวยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ หนุนซื้อสินค้าในประเทศ
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ความเป็นมาของเรื่องรายได้ที่ลดลงของทอท.เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุม ครม. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า และยกเลิกการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับสินค้าที่ผู้โดยสารซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาเข้า (ดิวตี้ฟรีขาเข้า) เพื่อส่งเสริมการบริโภค และการใช้สินค้าภายในประเทศ
หลังจากกระทรวงการคลังกลับไปศึกษาประเด็นข้อกฎหมายแล้ว พบว่า ประกาศกรมศุลกากร (ศก.) ที่ 44/2561 ข้อ 21 ว่าด้วยเรื่องการพักใบอนุญาต และข้อ 22 ว่าด้วยเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ให้อำนาจกรมศุลกากรยกเลิกคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ ได้เฉพาะกรณีที่ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรเท่านั้น แต่การสั่งระงับสิทธิในกรณีอื่นกฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้
ต่อมาปรากฏว่า มีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี 3 ราย ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร โดยแจ้งว่า “ยินดีที่จะหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านดิวตี้ฟรีขาเข้าตามนโยบายของรัฐบาล ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว” ซึ่งหนังสือจากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้เม็ดเงินใช้จ่ายในร้านดิวตี้ฟรีขาเข้า มาจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในประเทศแทน โดยที่ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ทางกระทรวงการคลังจึงทำเรื่องรายงานผลการศึกษาเสนอที่ประชุม ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุม ครม. ก็มีมติรับทราบแนวทางการหยุดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีขาเข้า ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ
‘คิง เพาเวอร์’ แจ้ง AOT หยุดขาย ‘สินค้าปลอดอากรขาเข้า’ 1 ส.ค. 2567
จากนั้น บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ได้ทำหนังสือมาถึง ทอท. 3 ฉบับ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 แจ้งว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากร เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 โดย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จึงจำเป็นต้องหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.), ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศดอนเมือง (ทดม.) ตามสัญญาที่เคยทำกันไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 พร้อมบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จึงขอให้ ทอท.พิจารณาดังนี้
1. การประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ขอให้ ทอท. พิจารณาเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 20% ของรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือ ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (sharing per head) ในอัตราประมาณ 215 บาท/ผู้โดยสาร 1 คน (วิธีไหน ทอท.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่า ให้ใช้วิธีนั้น) โดยคำนวณเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง/ผ่านลำเท่านั้น
2. การประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ขอให้ ทอท. พิจารณาเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 20% หรือ ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร ในอัตราประมาณ 103 บาท/ผู้โดยสาร 1 คน (วิธีไหน ทอท.ได้รับผลประโยชน์ฯมากกว่าให้ใช้วิธีนั้น) โดยคำนวณเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง/ผ่านลำเท่านั้น
ขอปรับค่าตอบแทนฯใหม่ คิดเฉพาะ ‘ดิวตี้ฟรีขาออก–ผู้โดยสารผ่านลำ’
3. การประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ขอให้ ทอท. พิจารณาจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอนแทนให้สอดคล้องตามข้อเท็จจริง โดยขอให้ยกเลิกการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ในส่วนของร้านค้าปลอดอากรขาเข้า และให้ ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ เฉพาะในส่วนของร้านค้าปลอดอากรขาออก และผู้โดยสารผ่านลำเท่านั้น
4.ขอให้ ทอท. พิจารณาระงับการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำล่วงหน้า (เดือนสิงหาคม 2567) ที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ต้องชำระภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดอัตราค่าผลประโยน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร เฉพาะในส่วนของพื้นที่ร้านค้า และผู้โดยสารที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ (พื้นที่ผู้โดยสารขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง/ผ่านลำ)
ชงบอร์ด ทอท. รื้อสูตรคำนวณใหม่ หลังคืนพื้นที่ ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’
หลังจาก ทอท.ได้รับหนังสือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ก็มีการนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ครั้งที่ 13/2567 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาฯ กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายให้ยกเลิกการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า โดยที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. มีมติดังนี้
1. ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจพาณิชย์และการบิน (ฝพธ.) ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอแนวทางการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และมติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 กรณีที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี หยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า และกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนต่อผู้โดยสาร ในส่วนของร้านค้าที่ยังคงประกอบกิจการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และดอนเมือง
2. ในระหว่างที่ยังไม่ได้แนวทางการดำเนินการตามมติ ครม. ที่ชัดเจนตามข้อ 1. เห็นควรให้ดำเนินการดังนี้
-
2.1 เห็นชอบให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนของเดือนสิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ ทอท. ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว เฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 20% ของรายได้จากการประกอบกิจการไปพลางก่อน
2.2 เห็นชอบให้เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ ค่าใช้บริการในอาคาร ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ส่วนกลาง ที่ ทอท. มีภาระภาษีต้องชำระของพื้นที่ประกอบการฯ ตามเงื่อนไขแต่ละสัญญาจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี
3. เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว เป็นนโยบายสำคัญที่มีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท.จึงเห็นควรนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการ ทอท. เพื่อพิจารณาต่อไป
จากนั้นฝ่ายบริหารก็มีการนำมติที่ประชุมคณะกรรมกการพิจารณารายได้ของ ทอท.ครั้งที่ 13/2567 เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด ทอท.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 รับทราบ และมติมอบหหมายให้ฝ่ายบริหารของ ทอท.พิจารณาแนวทางการการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน, ค่าเช่าพื้นที่, ค่าใช้บริการอาคาร, ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ส่วนกลางที่ ทอท. มีภาระภาษีต้องชำระของพื้นที่ประกอบกิจการฯ ตามเงื่อนไขของสัญญา
ทางฝ่ายบริหารของ ทอท.เริ่มสำรวจขนาดพื้นประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า เพื่อคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ สำหรับสัญญาที่ 3 ของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในกรณีที่ ทอท.ยังไม่ทราบจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ตามสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการพิจารณาได้ของ ทอท. ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 จึงให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ภายหลังปรับลดพื้นที่จากการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ตามตัวแปรดังนี้
-
1. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อจำนวนผู้โดยสาร (บาท/คน)
2. จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศสัญญาที่ 2 เฉลี่ย 12 เดือน (คน/เดือน)
3. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน (บาท/ดือน) โดยนำผลการพิจารณาตามข้อ 1. มาคูณกับข้อ 2.
4. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 8 เดือน (บาท) โดยนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนฯตาม ข้อ 3. มาคูณ 8 เดือน
ทั้งนี้ ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนสิงหาคม 2567 ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ตามกำหนดชำระเดิม และในกรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีข้อโต้แย้งการปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามผลการพิจารณาของ ทอท. ทางฝ่ายบริหารของ ทอท. มีความเห็นให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนของเดือนสิงหาคม 2567 ออกไปจนกว่าแนวทางการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อจำนวนผู้โดยสารจะได้ข้อยุติ และให้ ทอท. เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 20% ของรายได้จากการประกอบกิจการไปพลางก่อน
ส่วนการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ฝ่ายบริหารของ ทอท. เสนอแนวทางการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ภายหลังการปรับลดพื้นที่จากการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป โดยให้คำนึงถึงตัวแปรดังนี้
-
1. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (บาท/ตรม.)
2. จำนวนพื้นที่ประกอบกิจการ
3. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน (บาท/เดือน) โดยนำผลการพิจารณา ตามข้อ 1. มาคูณกับจำนวนพื้นที่ประกอบกิจการ ตามข้อ 2.
ทั้งนี้ ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนสิงหาคม 2567 ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ตามกำหนดชำระเดิม และในกรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีข้อโต้แย้งการปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามผลการพิจารณาของ ทอท. ทางฝ่ายบริหารของ ทอท. มีความเห็นให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนของเดือนสิงหาคม 2567 ออกไปจนกว่าแนวทางการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อตารางเมตรจะได้ข้อยุติ และให้ ทอท. เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 20% ของรายได้จากการประกอบกิจการไปพลางก่อน
KPD คืนพื้นที่ให้ ทอท. สร้างสิ่งอำนวยพื้นฐาน รายได้หาย 1,597 ล้าน
แต่จากการตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารแนบท้ายสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในข้อ 4 ระบุว่า “ในระหว่างการประกอบกิจการตามสัญญานี้ หากพื้นที่ประกอบกิจการตามสัญญานี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ทอท. สงวนสิทธิ์ในการคิดค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามจำนวนพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แล้วแต่กรณี” ประกอบกับก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เคยมติเห็นชอบการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอนแทนขั้นต่ำ ภายหลัง ทอท.ไปขอคืนพื้นที่บางส่วนจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เพื่อนำสร้างสิ่งอำนวยพื้นฐานต่างๆ เพิ่มเติม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ดูตารางด้านล่างประกอบ)
กรณี ทอท. รับคืนพื้นที่จากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี นายชาญชัยตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อมูลการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ภายหลัง ทอท. รับคืนพื้นที่จากบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ เพื่อนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก อาจส่งผลทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงตามขนาดพื้นที่ที่ลดลง และถ้านำไปเปรียบเทียบกับในช่วงที่บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เคยยื่นซองข้อเสนอในการประมูลว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ ทอท. ในปีแรก (ปี 2564) มาเปรียบเทียบกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ภายหลัง ทอท.ขอคืนพื้นที่มาทำสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาจทำให้รายได้จากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีของ ทอท.ลดลงปีละประมาณ 1,597 ล้านบาท ยกตัวอย่าง การประกอบกิจการร้านค้าปลอดอาการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เคยยื่นข้อเสนอในการประมูลว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก 15,419 ล้านบาท แต่หลังปรับลดพื้นที่เพื่อนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 คาดว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ จะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายปี 14,265 ล้านบาท ลดลงไป 1,154 ล้านบาท ส่วนการประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานภูมิภาค เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เคยยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก (ปี 2564) ประมาณ 2,331 ล้านบาท หลังปรับลดพื้นที่ฯ คาดว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ จะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเหลือ 1,888 ล้านบาท ลดลงไป 443 ล้านบาท เป็นต้น
ดังนั้น ในการกำหนดสูตรคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี ภายหลังบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ หยุดประกอบการและคืนพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 จึงต้องนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ กรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ คืนพื้นที่ให้ ทอท. เพื่อนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 มารวมคำนวณอยู่ในสูตรด้วย ซึ่งสามารถคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำได้ 2 แนวทางดังนี้
แนวทางแรก พิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) เป็นตัวตั้ง ลบด้วยค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ลดลงจากกรณีที่ ทอท. ขอคืนพื้นที่มาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 และลบด้วยค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ลดลงจากกรณีที่ ทอท. รับคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา sharing per head จากนั้นนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงของ ทอท.ในปีนั้นๆ
แนวทางที่ 2 พิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอฯในปีแรก (ปี 2564) ลบด้วยค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ลดลงจากกรณีที่ ทอท.ขอคืนพื้นที่มาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 และลบด้วยค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ลดลงจากกรณีที่ ทอท.รับคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 หารด้วยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉพาะขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องผ่านลำ ตามประมาณการของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหาค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องผ่านลำ ตามที่เกิดขึ้นจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ
หลังจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจพาณิชย์และการบิน (ฝพธ.) ทำการคำนวณตามแนวทางดังกล่าว พบว่าแนวทางที่ 2 ทอท. ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำมากกว่าแนวทางแรก จึงทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบให้บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ หยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า และให้ ทอท. รับคืนพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยาน 5 แห่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งเห็นชอบให้ ทอท. เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามแนวทางที่ 2 หลัง ทอท. รับคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้าจากบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ตามที่ฝ่ายบริหารของ ทอท. นำเสนอ
คกก.พิจารณารายได้ ชงบอร์ด ทอท. แก้สัญญาดิวตี้ฟรี–บันทึกข้อตกลงแนบท้าย
แต่เนื่องสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และดอนเมือง พร้อมบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาฯ เป็นสัญญาที่อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ จำหน่ายเฉพาะสินค้าปลอดอากรในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ไม่อาจจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้ ดังนั้น ประเภทของสินค้าปลอดอากรจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญา

เมื่อบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าได้ ตามที่กระทรวงการคลังและกรมศุลกากรขอความร่วมมือ บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ก็ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าอื่นได้ จึงทำให้สัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และดอนเมือง พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
และเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทอท. จึงต้องดำเนินการแก้ไขสัญญา บันทึกข้อตกลงแนบท้าย และอัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาต่อไป
เนื่องจากการดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้น เป็นนโยบายสำคัญ และกระทบกับรายได้ของ ทอท. ทางฝ่ายบริหารของ ทอท. จึงทำเรื่องขออนุมัติที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติอนุมัติให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี หยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และดอนเมือง และให้ ทอท. รับคืนพื้นที่ดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งมีอนุมัติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และดอนเมือง พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯ และสัญญาเช่าฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ตามสัญญาประกอบกืจการร้านค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยาน พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯ และสัญญาเช่าฯ ที่เกี่ยวข้อง จากการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรับคืนพื้นที่ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า โดยพิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร และจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง/ผ่านลำที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้
2. สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูมิภาค เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ตามสัญญาประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยาน พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯ และสัญญาเช่าฯ ที่เกี่ยวข้อง จากการที่ท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ รับคืนพื้นที่ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนขาเข้า โดยพิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร และจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องผ่านลำที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้
3. สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตามสัญญาประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาฯ และสัญญาเช่าฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเฉลี่ยในปีแรกตามสัญญาฯ มาคูณกับพื้นที่ประกอบกิจการที่เหลืออยู่จำนวน 1,721.45 ตร.ม. ภายหลังจากการที่ ทดม. รับคืนพื้นพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรขาเข้า โดยคิดเป็นต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ยังมีมติอนุมัติแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนสิงหาคม 2567 ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ต้องชำระภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ดังนี้
-
1. สัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูมิภาค เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ ให้ปรับวิธีการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ สำหรับปีสัญญาที่ 3 ของบริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในกรณีที่ ทอท. ยังไม่ทราบจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 (8 เดือน) ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ภายหลังปรับลดพื้นที่จากการหยุดประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ตามผลการพิจารณาของ ทอท. โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ฯจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือน ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไปเดือนละ 677.19 ล้านบาท รวม 8 เดือน บริษัท คิง เพาเวอร์ฯต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. 5,417.56 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
2. สัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้ปรับวิธีการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ภายหลังปรับลดพื้นที่จากการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้า ตามผลการพิจารณาของ ทอท.โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ฯ จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือน ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เดือนละ 84.99 ล้านบาท รวม 8 เดือน 679.98 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
ส่วนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนสิงหาคม 2567 ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นั้น ให้บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามกำหนดการเดิม และในกรณีที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีข้อโต้แย้งในการปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตามผลการพิจารณาของ ทอท. ให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน ตามอัตราเดิมก่อนการรับคืนพื้นที่ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขการประกอบกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามที่กล่าวข้างต้น ให้เป็นไปตามสัญญาอนุญาตฯ และสัญญาเช่าฯ พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาอนุญาตฯ และสัญญาเช่าฯ ที่เกี่ยวข้องของแต่ละท่าอากาศยาน ตลอดจนตามที่ ทอท. กำหนดทุกประการ
“ผลของการแก้ไขสัญญา ส่งผลให้ผู้ถือหุ้น AOT หลังจากบอร์ด ทอท.มีมติดังกล่าวออกมาที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ยื่นข้อเสนอไว้ในช่วงการประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ สัญญาว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขึ้นต่ำให้กับ ทอท.ในปีแรก (ปี 2564) 15,419 ล้านบาท ส่วนสนามบินภูมิภาค เชียงใหม่ ภูเก็ตและหาดใหญ่ เคยยื่นข้อเสนอในการประมูลว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก 2,331 ล้านบาท และสนามบินดอนเมืองสัญญาว่าจะจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก 1,500 ล้านบาท มาถึงวันนี้ ก็คงไม่มีทางที่จะได้รับเงินตามที่เคยตกลงกันไว้แล้ว เหตุเพราะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานกันไปหลายครั้ง”นายชาญชัยกล่าว