ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > กรมอุตุนิยมย้ำ “โลกไม่เหมือนเดิม” ยกระดับการพยากรณ์เจาะลึก-เครื่องมือบริหารความเสี่ยง “ไม่ปรับ-เราไม่รอด”

กรมอุตุนิยมย้ำ “โลกไม่เหมือนเดิม” ยกระดับการพยากรณ์เจาะลึก-เครื่องมือบริหารความเสี่ยง “ไม่ปรับ-เราไม่รอด”

11 กุมภาพันธ์ 2025


“สมควร ต้นจาน” ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาที่เชี่ยวชาญงานพยากรณ์มากว่า 30 ปี ยอมรับ “โลกไม่เหมือนเดิม” กรมอุตุนิยมต้องปรับงานพยากรณ์ใหม่ตั้งทีมวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง ชี้ 3 สัญญาณ เปลี่ยน แผ่นดินไหวถี่ขึ้น  ขณะที่วงจร “ลานีญา-เอลนีโญ” สั้นลง อุณหภูมิน้ำทะเลสูง เตือนไทยต้องยกระดับงานพยากรณ์ เพราะถ้าไม่ปรับ เราไม่รอด

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

ฤดูร้อนปีนี้จะร้อนมากกว่าปีที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน  ฤดูหนาว อากาศหนาว เย็น และยาวนานต่อเนื่องกว่าทุกปี กำลังส่งสัญญาณบอกอะไรหรือไม่   “นายสมควร ต้นจาน” ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่าโลกไม่เหมือนเดิม อีกต่อไปแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ทั้งอุทกภัยน้ำท่วมภาคเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ น้ำท่วมภาคใต้ ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่บอกว่า “โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว”

ด้วยประสบการณ์และการทำงานพยากรณ์อากาศต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี “สมควร” เห็นความเปลี่ยนแปลงที่โลกส่งสัญญาณเตือนมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 2567 ชัดเจนว่าโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว ข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเดิม อาจจะใช้พยากรณ์ไม่ได้เหมือนเดิม  ทำให้กรมอุตุนิยมต้องตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการวิเคราะห์ พยากรณ์ข้อมูลอากาศใหม่ทั้งหมด เพราะหลายปัจจัยในการพยากรณ์เปลี่ยนไป การใช้สถิติเดิมไม่ได้แล้ว”

นายสมควร บอกว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนว่าโลกกำลังปรับสมดุลใหม่ ทั้งในเชิงพื้นผิว สภาพทางธรณี และในแนวตั้งหรือสภาพในบรรยากาศ โดยโลกพยายามปรับสมดุลที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยและถี่มากขึ้น

“สิ่งที่เริ่มเห็นว่ามีความถี่บริเวณผิวพื้นและใต้พิภพ เกิดแผ่นดินไหวที่มีความถี่มากขึ้น แผ่นดินไหวในบางพื้นที่มันไม่เคยเกิดมาก่อนตอนนี้เกิดบ่อยขึ้น เช่น รอยเลื่อนที่ไม่มีพลังในกลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ บริเวณภาคเหนือ และอีสาน กลับมามีพลัง เช่นเดียวกับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ในภาคใต้ที่มีพลังและมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น”

  • ความเข้าใจเรื่องแผ่นดินไหว: ประเทศไทยกับ 3 รอยเลื่อนมีพลัง และพื้นที่เสี่ยงภัย 5 ระดับ
  • “ดร.ปัญญา จารุศิริ” เก็บตกแผ่นดินไหว อ.พาน กับข้อสงสัยรอยเลื่อนมีพลังหลบซ่อนตัว
  • แม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนเหล่านั้นจะไม่รุนแรง แต่ก็บอกได้ว่าโลกกำลังขยับตัวใหม่ และการหาสมดุลใหม่นั้นค่อยๆเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในครั้งนั้นส่งผลให้โลกเสียสมดุลไปจากเดิม

    “หลังเหตุการณ์ คลื่นสึนามิ ปี 2547  เราเห็นส่งสัญญาณว่ามีแผ่นดินไหวถี่ขึ้น อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แรงบ้าง ไม่แรงบ้าง นั่นคือความชัดเจนที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงใกล้พื้นผิวโลก”

    ขณะที่สภาพอากาศ อุณหภูมิโลก ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น เห็นได้ว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีลักษณะทั้งแบบดิ่ง และแบบโค้ง (exponential)  ซึ่งหมายความว่ามันมีบางช่วงที่อุณหภูมิไม่ร้อนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เย็นลงทั้งหมด แต่จากนี้ด้วยสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป อุณหภูมิยังสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    “เรามองว่าเรื่องของอุณหภูมิเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะเห็นว่าเฉพาะเรื่องอุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งปกติอุณหภูมิของน้ำทะเลไม่ได้สูงสุดถึง 29  หรือ 30 องศาเซลเซียส แต่ช่วงหลังสูงขึ้น ขณะที่เราตรวจสอบโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม วัดผ่านกระบวนการ remote sensing เราเห็นว่าอุณหภูมิน้ำทะเลมันมีความร้อนและเย็นไม่เท่ากัน บางพื้นที่ใกล้เคียงกันอุ่น แต่บางพื้นที่ร้อน ซึ่งแปลก แต่ก่อนไม่เคยเกิดเป็น”

    นายสมควรยังบอกอีกว่า ในการพยากรณ์โดยทั่วไปในอดีต ถ้าในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิของทะเลตอนบนมันจะเย็นตามอิทธิพลของมวลอากาศเย็น ที่ลงมาบริเวณอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ แต่ช่วงหลังมันมองไม่ออกเลยว่ามันจะอุ่นหรือร้อน เพราะมันไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน ขณะที่ในทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกเอง ซึ่งมีพื้นที่กว้าง ปกติอุณหภูมิเฉลี่ยไม่แตกต่างกันประมาณ 26- 27 องศาเซลเซียส แต่ปีไหนที่มีแรงกระแทก จากปรากฏการณ์เอลนีโญ (ENSO) หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิก อาจะส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น 29  องศาเซลเซียสได้

    ความแปลกของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิก คืออุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น แต่มีอุณหภูมิสูงเพียงจุดเดียว คือบริเวณตอนกลางของมหาสมุทร  ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่อุณหภูมิสูงผิวน้ำทะเล จะเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ดังนั้นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เริ่มส่งสัญญาณเตือน

    ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ-ลานีญา” ที่แปรปวน

    อีกหนึ่งสัญญาณที่เตือนว่าโลกไม่เหมือนเดิม คือ ความแปรปรวนของ ปรากฎการณ์ใหญ่อย่าง “เอลนีโญ-ลานีญา”  ซึ่งพบว่าในปี 2567  ปรากฎการณ์ “ลานีญา” มีวงรอบที่สั้นลงและแปรปรวนไม่เหมือนเดิม

    “เดิมปรากฏการณ์ใหญ่เอลนีโญ จะมีวงจรเกิดขึ้น 5-7 ปี จะหมุนกลับมาครั้งหนึ่ง ถ้าเราจำได้ในอดีต มีช่วงเวลาแล้งยาวนานมาก หลังจากนั้นเริ่มขยับวงจรสั้นลงเป็น 3-5 ปี แต่ในช่วง 10 ปีหลัง มันสั้นลงไปอีกคือ 2 ปีครึ่ง ขยับลดลงมาเรื่อย ๆ จนปี 2567 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง”

    ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ-ลานีญา”  ในปี 2567-2568 ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีวงจรสั้นลงไปอีก โดยในปี 2565 เป็นปี “ลานีญา” และปี 2566 เริ่มเข้าสู่ค่าความเป็นกลาง  และในปี 2567 เริ่มเข้าสู่ “เอลนีโญ” แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ วงจรเอลนีโญสั้นลงทำให้ในช่วงกลางปี 2567 เปลี่ยนค่าความเป็นกลางและเข้าสู่ “ลานีญา” ในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งทำให้มีฝนตกเยอะ และอากาศหนาวเย็น ลากยาวมาถึงกลางกุมภาพันธ์ 2568

    “มันสั้นลงมากจากวงจรเดิม 2 ปีครึ่ง จนในปี 2567 มีความเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตเห็นได้ว่า มันไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้ว ทุกอย่างถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยปรากฎการณ์ใหญ่อย่าง “เอลนีโญ-ลานีญา” เกิดขึ้นในปีเดียวกันคือ ปี 2567  ต้นปีเป็น “เอลนีโญ” กลางปีเปลี่ยนมาเป็นกลาง และปลายปีเป็น “ลานีญา” อ่อนๆ  ซึ่งมันหมายความว่าสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน”

    ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้กรมอุตุฯต้องมาทบทวนข้อมูลในการพยากรณ์ทั้งหมดใหม่  เพราะถ้าเรายังใช้ข้อมูลเดิม หรือใช้สถิติเดิมในการพิจารณาวิเคราะห์มันจะได้ผลที่แตกต่างออกไป

    “ต้องปรับใหม่เพราะตอนนี้เราพยากรณ์ต้องมีข้อมูลใหม่ๆ หรือค่าที่มันผันผวนแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งมันแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม คือโลกไม่เหมือนเดิมจริงๆ โลกไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องปรับ ตามความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เขาได้ปรับตัวเองแล้ว”

    นายสมควกล่าวต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ สึนามิ ปี 2547 ซึ่งอาจจะส่งผลให้แกนโลกเอียงหรือไม่ และทำให้แกนโลกเปลี่ยนจากเวลา 23 เศษหนึ่งส่วนสองไปบ้าง ไม่มากก็น้อย

    “แกนโลกอาจจะเอียงมากขึ้นหรือไม่ จนส่งผลให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากโลกปรับหาสมดุลไปเรื่อยๆ สิ่งที่หลายคนเคยถามว่าประเทศไทยจะมีหิมะ ก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าแกนโลกมันเอียงสลับขั้ว และองศามันเปลี่ยนไป แต่ก็คงใช้เวลาอีกนาน ซึ่งความเปลี่ยนทั้งหมดเริ่มเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ รุนแรง”

    สัญญาณที่เป็นปรากฏการณ์ใหญ่ๆ เช่น “ลานีญา-เอลนีโญ” เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ตามมาทั้งเรื่องอุณหภูมิ รูปแบบของการเกิด ฝน ลม หรืออุณหภูมิ ก็เปลี่ยนไปหมด

    “ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในเมืองไทย เริ่มส่งสัญญาณว่าไม่เหมือนเดิมมาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อปี 2567 ทุกอย่างชัดเจนขึ้นว่าความเปลี่ยนแปลงมันไม่เหมือนเดิม แต่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป คาดเดายากขึ้น โดยเฉพาะปรากฎการณ์ “ลานีญา” ที่เราไม่รู้เลยว่าสิ้นสุด “ลานีญา” อ่อนๆ แล้วกลายเป็นระยะกลางในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2568 ฝนจะเป็นยังไง”

    นายสมควรกล่าวว่า “หวังว่า “ลานีญา” เข้าสู่ระยะความเป็นกลาง ตามทฤษฎีเดิมจะทำให้เดือน เมษายน อากาศไม่ร้อนเท่ากับปี 2567 ที่เป็น “เอลนีโญ” และจะมีฝนตกสลับบ้าง และในเดือนพฤษภาคมก็จะเข้าสู่ฤดูฝนตามปกติ ปีนี้จะคล้ายๆ ปี 2565 คือถ้า “ลานีญา” เปลี่ยนมาเป็น “กลาง” ในช่วงกลางปี 2568 จะทำให้ยังพอมีลม และมีความชื้น ทำให้อากาศไม่ร้อนและมีฝนตกในช่วงเดือนเมษายน หรืออาจจะมีพายุฤดูร้อน และเดือนพฤษภาคมก็เข้าสู่หน้าฝนตามปกติ”

    ส่วนเรื่องอุณหภูมิคาดว่าปีนี้จะไม่เจออากาศร้อนมากๆ แต่จะมีบางวันที่ความร้อนสูงในช่วงเดือนมีนาคม หรือเมษายน โดยอาจจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แตกต่างจากปี 2567 ที่อากาศร้อนทั้งเดือนเมษายน

    อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงของปรากฎการณ์ “ลานีญา” ว่าจะยังคงเป็นไปตามทฤษฏีเดิมหรือไม่ เพราะหาก “ลานีญา” ปรับเป็น “เอลนีโญ” จนส่งผลให้ในช่วง พฤษภาคม และมิถุนายน ไม่มีฝน ส่งผลให้บริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งได้ยากขึ้น

    ปี 2567 ปรากฎการณ์ใหญ่ของโลกเปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของ “ลานีญา-เอลนีโญ” ไม่ใช่รูปแบบเดิมอีกต่อไป ทำให้ในปี 2568 ต้องจับตาว่าจะเปลี่ยนไปทิศทางไหน ยังเป็นพฤติกรรมเดิมหรือไม่ หากเปลี่ยนเป็น “เอลนีโญ” ช่วงเดือนมิถุนายน -กรกฏาคมฝนจะน้อยบริหารจัดการน้ำยาก ซึ่งเราหวังว่าจะยังคงเป็น “ลานีญา” ปรับค่ามาเป็นกลางจนถึงเพื่อให้ปริมาณฝนปกติ”

    ยกระดับพยากรณ์ต้องใช้งบประมาณ

    นายสมควรกล่าวต่อว่าการเปลี่ยนแปลงของปรากฎการณ์ใหญ่ ส่งผลให้กรมอุตุนิยมต้องมาทบทวนข้อมูลใหม่ เพราะฐานข้อมูลเดิมที่ใช้วิเคราะห์ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เพราะมีข้อมูลใหม่ และความผันผวนใหม่ เพื่อสังเคราะห์เพิ่มเติมว่าค่า ± ของการพยากรณ์ในอนาคตมีแนวทางอย่างไร

    “ในอนาคตถ้าใช้คนคำนวณ คอมพิวเตอร์คำนวณ คงไม่เพียงพอ อาจจะต้องหาเทคโนโลยีใหม่ ต้องลงทุนระบบเทคโนโลยีและบุคลากรทั้งหมดเพื่อรับมือกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป”

    การวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์อากาศอาจต้องจัดสรรใหม่ลงไปเฉพาะด้านกลุ่มปัญหา และเป้าหมายชัดเจน โดยขณะนี้เรายังมีการพยากรณ์ภาพรวม แต่ยังไม่ได้เจาะกลุ่มตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้จะมีฝ่ายวิเคราะห์โลกร้อนแต่ยังไม่ได้ลงไปในรายละเอียดแต่ละด้าน หรือ ลงไปในระดับพื้นที่จังหวัด

    “เราจะมองภาพรวมการพยากรณ์ทั้งประเทศคงไม่เหมาะแล้ว อาจจะต้องมีข้อมูลพยากรณ์เชิงพื้นที่ หรือเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะพืชเศรฐกิจ เช่น ยางพารา ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง หรือพืชอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งในปัจจุบันอนาคตและอดีตเพื่อวางแผน เพราะข้อมูลอุตุนิยมมีผลกระทบต่อการวางแผนของพี่น้องเกษตรกรค่อนข้างมาก”

    นายสมควรกล่าวเพิ่มเติมว่า เคยหารือกับพี่น้องชาวสวนยางซึ่งปัจจุบันปลูกทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ในภาคอีสาน เกษตรกรอยากได้ข้อมูลพยากรณ์ที่เฉพาะมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาถ้าออกไปกรีดยางแล้วฝนตกทำให้เสียหายหลายพันล้านบาทต่อวัน  เนื่องจาก การกรีดยาง เมื่อมีเจอฝนแล้ว จะทำให้น้ำยางไม่ได้คุณภาพ เกิดความเสียหาย แตกต่างจากวันที่มีแสงแดดหรือไม่มีฝน การกรีดยางจะได้มูลค่ามากกว่า

    นอกจากนี้ต้องยกระดับการพยากรณ์เจาะลึกลงไปในระดับท้องถิ่นมากขึ้น แต่ต้องลงทุนเทคโนโลยีให้สามารถพยากรณ์ละเอียดถึงระดับหมู่บ้าน และสามารถเจาะลึกการพยากรณ์ไปในกลุ่มพืชเกษตรกรที่สำคัญในแต่ละชนิด เช่น ยางพารา ข้าว หรือพืชอื่นๆ

    นายสมควรบอกว่า ตอนนี้การพยากรณ์ระดับตำบล อาจจะยังไม่ละเอียดมากพอ แต่หากสามารถพยากรณ์ลงลึกมากขึ้นระดับหมู่บ้าน หรือสามารถเจาะลึกในประเด็นต่างๆ เช่น พืชเกษตร  หรือ ปัญหาโลกร้อน  ซึ่งการพยากรณ์ดังกล่าว อาจต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาคน หรือบุคลกรเพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะโลก

    “ที่ผ่านมีกลุ่มเกษตรกรยางพารา อยากได้ข้อมูลการพยากรณ์ที่เจาะลงรายละเอียดและยาวนาน มีความแม่นยำ และพร้อมจะลงทุนว่าจะติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ในส่วนงบประมาณของกรมอุตุฯเองก็รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมาปรับปรุงระบบการพยากรณ์ให้ตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ จึงต้องมองทางเลือกในการสร้างความร่วมมือกับเอกชน โดยให้เอกชนเค้าลงทุน แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน” แต่ต้องอยู่บนระเบียบข้อกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้”

    นายสมควรยอมรับว่า กรมอุตุฯได้งบประมาณระดับงบพันล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายงบประจำ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เหลืองงบลงทุนไม่มากนัก ทำให้งบลงทุนในติดตั้งเครื่องมือหรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้สำหรับการพยากรณ์อากาศเป็นไปได้ยาก

    นายสมควรกล่าวย้ำว่า อยากเห็นการพยากรณ์เฉพาะพื้นที่มากขึ้น เช่นเดียวกับการพยากรณ์แบบประเทศญี่ปุ่น  จีน หรือเกาหลีใต้ หรือในยุโรป ซึ่งมีการพยากรณ์เฉพาะพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยสูงก็จะมีระบบพยากรณ์ฉพาะท้องถิ่นหรือการพยากรณ์ เพื่อการเกษตร การท่องเที่ยวที่มีรายละเอียดของแต่ละประเด็น การจะพยากรณ์ได้ขนาดนั้นต้องมีสถานีตรวจวัดจำนวนมาก หากเทียบสถานีตรวจวัดของทั้ง 3 ประเทศ แล้วมีความถี่มากกว่าประเทศไทยมาก

    “สถานีหลักวัดอากาศของเรามีอยู่ 127 สถานีหลัก และมีสถานีตรวจวัดอัตโนมัติ(AWS)  188 สถานี ยังไม่เพียงพอต่อการพยากรณ์อากาศเชิงพื้นที่ (ท้องถิ่น)”

    สัญญาณความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้ทีมพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมต้องเตรียมตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการศึกษาข้อมูลใหม่ และการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) มาช่วยวิเคราะห์ และประเมินวิเคราะห์ให้มากขึ้น

    “การเตรียมตัวของเรานอกจากการสังเคราะห์ข้อมูลใหม่ทั้งหมด ต้องมาปรับเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อนำมาพิจารณา การติดตั้งสถานีต่างๆ 127 สถานีหลักอาจจะไม่เพียงพอ บางจังหวัดมีเพียงสถานีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานีประจำจังหวัด  แต่บางจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยง เช่น จ.เพชรบูรณ์ มีเพิ่ม 3 สถานียังไม่พอ อาจจะใช้ AI มาช่วยในการประมวลข้อมูลโดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลเก่าในการมาสนับสนุนในการวิเคราะห์และใช้งานโดยใช้ข้อมูลย้อนหลังเพื่อคาดการณ์”

    นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

    หน่วยงานต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกัน

    นายสมควรกล่าวต่อว่า การพยากรณ์ระดับตำบล ระดับพื้นที่  และพืชเกษตร การท่องเที่ยว การประมง ต้องเน้นและปรับปรุงให้ละเอียดมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพยากรณ์อากาศระยะปัจจุบัน (Nowcasting) ไม่เกิน 3 ชั่วโมง (พยากรณ์ทุกๆ 15 นาที พยากรณ์ประจำวัน  การพยากรณ์อากาศ 7 วันล่วงหน้า  แต่ต้องเน้นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพืชมากขึ้น

    ในปัจจุบันมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการพยากรณ์ฝนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน  กรมอทุกศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ปัจจุบันมีการประสานงานหรือบูรณาการข้อมูลทั้งหมดยังเป็นภาพรวม โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ถือว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการข้อมูล เป็นข้อมูลเริ่มต้นเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุการณ์ในแต่ล่ะช่วง และแต่ละฤดู

    “โลกเปลี่ยนไป แต่หน่วยงานยังไม่เป็นเอกภาพ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ประเทศไทยจะทำยังไงเราถึงจะเอาตัวรอด ถ้าเรามีข้อมูลดีตั้งแต่ระบบแจ้งเตือนภัย สามารถแจ้งแยกเป็นเรื่องได้ เจาะในพื้นที่ เช่น อีสานสามารถบอกได้ว่าพื้นที่ไหนควรจะต้องกรีดยางช่วงเวลาไหน กรีดยางวันไหนที่ไม่มีฝนเป็นต้น เพราะปัจจุบันแม้กรมอุตุฯจะมีการพยากรณ์เพื่อการเกษตร แต่มันเป็นภาพรวมไม่ได้เจาะลงในหลายพื้นที่ หรือลงไปพยากรณ์ให้พืชแต่ละชนิด”

    งานพยากรณ์อากาศของไทยต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ในทุกด้าน และถือเป็นความท้าทายของกรมอุตุฯ ที่ไม่สามารถจะหยุดนิ่งได้ เพราะถ้าเราหยุดนิ่งมันก็ไม่ตอบโจทย์ ในขณะที่ทุกภาคส่วนมีความต้องการสูง และถ้าเราไม่ปรับตัววันดีคืนดีเราก็จะถูกกลืนไปด้วย

    “ข้อดีตอนนี้คือเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุนิยมรับรู้แล้วว่าโลกได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่สามารถอยู่นิ่งและต้องท้าทายในการพยากรณ์มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าบุคลากรสำคัญมากในการที่จะก้าวให้ทัน ขณะที่เครื่องมือก็ต้องปรับให้ทันด้วยเช่นกัน เพราะถ้าคนยังไม่เปลี่ยน เครื่องมือยังไม่เปลี่ยนเราก็จะไปไม่รอดเช่นกัน”

    นายสมควรกล่าวย้ำว่า “ปัจจุบันการยกระดับงานพยากรณ์ยังค่อนข้างเป็นไปได้อย่างช้าๆ  ทั้งในเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ การบูรณาการข้อมูลของหน่วยงาน ในขณะที่โลกส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”