
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในหัวข้อ “ประเทศไทยในภูมิทัศน์ใหม่ของโลก” ของหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 17
ภูมิทัศน์โลกใหม่: โลกหมุนทวนเข็ม?
หลังจากวันที่ 20 มกราคม 2568 (ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) โลกจะเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมือนโลกใบเดิมอีกต่อไป ฉะนั้น เราต้องมองหาโอกาสของประเทศไทยในภูมิทัศน์ใหม่ของโลก หรือ Thailand in the new global landscape โดยภูมิทัศน์ใหม่ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
จากความเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของโลก ตั้งแต่ภาพของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี กระทบถึงบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งประเทศฝั่งตะวันออกอย่างจีน ที่พยายามมีอิทธิพลเหนือระบบเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสงครามการค้าและการกีดกันในรูปแบบต่างๆ จนอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์
“การเกิดขึ้นของประชานิยมปีกขวา ในอดีตมีสองพรรคใหญ่คือเดโมแครตและรีพับลิกัน ปัจจุบันเสรีนิยมค่อนข้างเหมือนเดิม แต่อนุรักษนิยมกลายพันธุ์เป็นประชานิยมปีกขวา (right-wing populism) เริ่มมีความสุดโต่งมากขึ้น ที่บอกว่า ‘Make America Great Again’ ทำให้อเมริกามาปีกขวามากขึ้น โลกตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนเบื่อหน่ายกับการเมืองและตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยตอบโจทย์จริงหรือไม่”
ขณะที่ ความเป็นไปของ “ประเทศไทย” ก็คือ “สวิงกลับ” เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่เดิมโลกถูกปกครองแบบหลักการ rule of law แต่วันนี้เป็น rule by law โดยคนไม่กี่คน ตัวอย่างเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ แทนที่จะทำให้ประเทศมองไปข้างนอกให้เห็นโอกาส แต่กลับมองง่วนอยู่กับตัวเอง
ดร.สุวิทย์สรุปว่า เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ globalisation ถูกย้อนกลับจึงทำให้โลกอยู่ในกระแส deglobalisation
G-Zero World โลกไร้ผู้นำ
หากมองภูมิทัศน์โลกผ่านทฤษฎีเกม พบว่า ผู้เล่นในปัจจุบันเน้นแนวทาง zero-sum game คือมีผู้ชนะและต้องมีผู้แพ้ แต่คำถามคือ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างไร
“วิธีการของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขณะที่จีน ‘make friend’ จนทำให้เจ้าของประเทศไม่รู้ตัวว่าโดนจีนกลืนไปแล้ว รัสเซีย ‘make fear’ แต่อเมริกา ‘make foe’ สร้างแต่ศัตรูอย่างเดียว”
“ภูมิทัศน์ใหม่ทำให้เราอยู่ใน G-zero world คือไม่มีผู้นำ ตอนนี้ประชาคมโลกกำลังเผชิญสภาวะไม่มีผู้นำโลก เพราะทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำโลก แต่เป็นผู้นำประเทศ คิดแต่ Make America Great Again ส่งผลไปถึงภูมิทัศน์อื่นๆ เช่น ทรัมป์ประกาศไม่เอาพลังงานสีเขียว ทำให้การยุติปัญหาสภาวะภูมิอากาศของโลกและ net zero ช้าลง โอกาสแข่งกันของเทคโนโลยีและความสามารถลดลง”
“หน้าตาของโลก คือ (1) โลกทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (2) โลกเดือด (3) โลกสุดโต่ง เพราะทุกอย่างไม่มีกติกา เป็นมวยวัด อยู่ที่แต่ละประเทศจะเล่นอย่างไร และคุณเสียงดังหรือไม่เสียงดัง”
จุดยืนและบทเรียนประเทศไทย
มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ดร.สุวิทย์อธิบายว่า บทเรียนของประเทศไทยคือ เราพึ่งพาโลกภายนอกมากเกินไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการส่งออก พอประเทศใดประเทศหนึ่งพัง ทำให้การส่งออกของไทยหายไปด้วย
“ค่าเงินไทยอ่อนลง การนำเข้าสินค้าต่างๆ ก็แพงขึ้น แต่เรายังโชคดีที่มีอาหาร-เกษตร ประเทศอื่นอาจไม่มี เราอาจโชคร้ายเรื่องพลังงาน ต้นทุนอาจสูงขึ้น เงินเฟ้อแพงขึ้น ควบคุมต้นทุนไม่ได้ ขายของยากขึ้น ส่งออกน้อยลง ค่าเงินก็อ่อนลง เป็นวงจรอุบาทว์”
แต่ประเทศไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ ไม่ได้มีแค่ความเลวร้าย แต่นำมาซึ่งโอกาส ภัยคุกคามชุดใหม่ และข้อจำกัดชุดใหม่ ขีดความสามารถด้วย ส่งผลกระทบแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพียงแต่ประเทศไทยต้องรู้ว่าเราจะเท่าทันได้อย่างไร
“เราเป็นประเทศแบบ small and open economy ต้องหาจุดยืนให้เจอ เราเลือกข้างได้ไหม ไม่รู้ วางตำแหน่งและจอเรดาร์อย่างไร เพื่อไม่ทำให้ประเทศใหญ่เคือง… ผมมี 3 เรื่อง (1) อะไรคือจุดเด่น (2) จุดร่วมของประเทศไทยที่ทำให้ยังอยู่ในประชาคมโลก และ (3) จุดที่ทำให้ประเทศไทยมีไอเดียใหม่ๆ ต่อโลก”
โลกผันผวน เรากำลังผชิญกับภาวะเสี่ยง อ่อนแอและเปราะบาง สะท้อนผ่านอัตราการเติบโตที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนที่สูงมากๆ โครงสร้างประชากรสูงวัย ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ความเสี่ยงทางการคลัง”
ดร.สุวิทย์ให้ข้อมูลว่า ช่วงปีค.ศ. 1987-1996 นับเป็นยุคทองของประเทศไทย แต่กลับไม่รักษาโมเมนตัมการเติบโตไว้ โดยในช่วงสิบปีข้างต้นมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.5% โดยปี 1988 เติบโต 13.3%, ปี 1990 เติบโต 11.2%, ปี 1995 เติบโต 8.1%, รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า แต่สิ่งที่เกิดคือ “เราย่ามใจว่าแข็งแรง” เนื่องจากการเปิดเสรีการเงินในปี 1990 ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พร้อม ทำให้เงินลงทุนสำหรับอนาคตกลายเป็นการกู้เงิน และคนเอามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และหุ้น จนเกิดฟองสบู่ และเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง สุดท้ายเศรษฐกิจที่เคยรุ่งโรจน์ก็ลดลง จาก 9% เหลือ 3%
นับตั้งแต่นั้น GDP per capita และกำลังซื้อของประชาชนก็น้อยลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยปีค.ศ.2010 อยู่ที่ 70,000 บาทต่อคน ต่อมาปีค.ศ. 2020 เป็น 1.5 แสนบาทต่อคน และ ปีค.ศ.2021 1.73 แสนบาทต่อคน อีกทั้งหนี้กว่า 70% เป็น NPL
นอกจากนี้ ยังเผชิญกับสภาวะสังคมสูงวัย โดยปีค.ศ. 1995 มีประชากรอายุเกิน 65 ปี คิดเป็นสัดส่วน 5% พอปีค.ศ. 2023 มีสัดส่วน 13% และปีค.ศ. 2030 สัดส่วน 20% กล่าวคือ วัยแรงงานลดลง แต่คนหนุ่มสาาวต้องแบกรับคนสูงวัย
“ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เราไม่สามารถก้าวกระโดดจาก efficiency-based economy ไปสู่ innovation-based economy อุตสาหกรรมแห่งอนาคตแทบไม่มี ทุกวันนี้ตอบใครได้แต่ ‘ท่องเที่ยว’ มัวแต่ขายของเก่า นำมาสู่ความเสี่ยงทางการคลังที่เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น และยังต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีก ทำให้งบประมาณในการทำนโยบายดีๆ ยากขึ้น ยิ่งเผชิญกับเศรษฐกิจขาลง หรือโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ การมีเงินน้อยลงขณะที่หนี้เพิ่มขึ้นต้อง trade-off กับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น”
ฐานรากอ่อนแอ ปัญหาโครงสร้าง ผู้นำไร้มีวิสัยทัศน์
ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า ทั้งหมดเหมือนภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่เห็นคืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือส่วนยอดภูเขา แต่ใต้ภูเขาน้ำแข็งคือกับดักที่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้น ประกอบด้วย (1) กับดักรายได้ปานกลาง (2) กับดักความเหลื่อมล้ำ(3) กับดักความขัดแย้ง และ (4) กับดักคอร์รัปชัน
ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอที่ฐานราก โดยเฉพาะจาก 5 ปัญหาสำคัญ คือ
ดร.สุวิทย์ตั้งคำถามว่า หากจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ แต่ประเทศไทยมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์หรือไม่ และหากย้อนไปในอดีต ประเทศมีผู้นำหลายคนที่คิดได้ แต่ทำได้ไม่สุด ส่วนหนึ่งเพราะระบบการเมืองไม่เอื้อ ตัวอย่างเช่น ยุคโชติช่วงชัชวาล โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์, ยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า โดยพลเอก ชาติชาย ชุณหวัน, ยุคเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, ยุคผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยทักษิณ ชินวัตร และยุคประเทศไทย 4.0 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“กลายเป็นมีวิสัยทัศน์เฉพาะตัว แต่ไม่ต่อเนื่อง ผมมีคำถามว่าในเชิงยุทธศาสตร์มีการลงมือทำจริงไหม เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมือง หลายพรรคเป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่มีรากในความคิดความอ่าน”
“ผู้นำในอนาคตต้องไม่ใช่มีแค่วิสัยทัศน์ แต่ต้องมีคุณธรรม คือ moral leader และ visionary leader คีย์เวิร์ดวันนี้คือ ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่น่าเชื่อถือ”
ดร.สุวิทย์เสริมว่า รัฐบาลที่น่าเชื่อถือต้องมีอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ (1) ความชอบธรรรม (2) คุณธรรมจริยธรรม และ (3) ขีดความสามารถ-ความรู้ในการนำพาประเทศ
“ณ วันนี้ประเทศไทยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว การขับเคลื่อนไป G-zero world มีสองแกนคือ การมองภายในประเทศ และมองให้ประเทศเป็นส่วนหนึ่งกับโลก โดยรัฐบาลมีสองภารกิจคือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมองไปข้างหน้าเพื่อปรับโครงสร้างอนาคต”
“รัฐบาลไทยมัวแต่ง่วนกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น หนี้ ค่าครองชีพ พลังงาน ดิจิทัลวอลเล็ต ยาเสพติด แต่สิ่งที่คุณต้องขับเคลื่อนยังมีมากกว่านี้ ทั้งการศึกษา เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ถ้าเราเตรียมดีๆ อาจเป็นบทบาทการแก้ปัญหาของโลกและอาเซียน”
อย่างไรก็ตาม ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า โจทย์ใหญ่ของการปรับโครงสร้างเพื่ออนาคตคือ การเอาการเมืองเข้ามาอยู่ในสมการของโครงสร้างการปรับประเทศ แต่ที่ผ่านมาหลายคนเบื่อหน่ายการเมือง
เสนอ 5 สัญญาประชาคม
ดร.สุวิทย์ เสนอสัญญาประชาคมชุดใหม่ 5 วาระ คือ
(1) ขับเคลื่อนสามวาระวิกฤติ
“ผมเคยเสนอตอนคุณอุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็นนายกฯ (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) หนึ่ง ลดความขัดแย้งลง วันนี้เต็มไปด้วยนิติสงคราม สอง ทำให้เกิดความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมอย่างชัดเจน สาม คอร์รัปชัน ถ้าสามเรื่องนี้ทำได้ ประเทศเปลี่ยนแน่ๆ แต่มันต้องใช้ใจที่กว้างพอและความกล้าหาญ”
(2) กำหนดภูมิรัฐศาสตร์ไทยในเวทีโลก ให้ครอบคลุมทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปรับโครงสร้างให้เข้ากับโลกมากขึ้น
“มีสามยุทธศาสตร์ หนึ่ง เลือกข้างใด สอง ใช้นโยบายเก่าๆ ของกระทรวงต่างประเทศคือลู่ตามลม แต่ในที่สุดคนไม่รู้จุดยืน สาม สวนทิศทางลม”
(3) ปรับภูมิเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก เพราะแต่เดิมยุทธศาสตร์ไทยเน้นตลาดโลก แต่วันนี้ต้องมองกลับมาเน้นที่ภูมิภาคหรืออาเซียน
(4) พัฒนา growth engine ยกเครื่องใหม่
“เราต้องกระจายรายได้ ไม่มองแค่การโปรยเงิน สิ่งที่ประเทศไทยมีและตอบโจทย์ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อโลก คือ soft power กับ BCG และสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี”
(5) เราต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง-เข้มแข็ง ไม่ใช่แจกเงินอย่างเดียว แต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น OTOP และสร้าง social collaboration
“ท่ามกลางโลกที่ผันผวน เราต้องให้กำลังใจกัน ประเทศไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราคงต้องไม่ยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเราต้องเปลี่ยนตัวเอง”
“สิ่งที่ผมพูดก็ยังทำไม่ได้เยอะ คือเปลี่ยนตัวเองจาก passive citizen เป็น active citizen ต้องไม่ยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประเทศไทยจะสามารถอยู่รอดและก้าวต่อไปได้”