ThaiPublica > เกาะกระแส > ถกแก้รัฐธรรมนูญ “ล่ม” ต้นตอปมเห็นต่างคำวินิจฉัยศาล รธน. หรือ ‘เกาเหลา’ พรรคร่วมฯ?

ถกแก้รัฐธรรมนูญ “ล่ม” ต้นตอปมเห็นต่างคำวินิจฉัยศาล รธน. หรือ ‘เกาเหลา’ พรรคร่วมฯ?

15 กุมภาพันธ์ 2025


สภาฯถกแก้รัฐธรรมนูญ “ล่ม” พรรคเพื่อไทยเตรียมส่งศาล รธน.ตีความให้ชัด ก่อนชงร่างกฎหมายเข้าสภาฯต้องประชามติ 3 ครั้งหรือไม่ ขณะที่พรรคประชาชนชี้ต้นตอเกิดจากความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล-ไม่ใช่ปมเห็นต่างประเด็นข้อกฎหมาย แนะนายกฯเปิดโต๊ะเจรจา – เคลียร์ไม่ได้ ควรยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวันที่สองของการประชุมรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) หลังจากการพิจารณาวันแรก คือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 “ล่ม” เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยมีสมาชิกที่มาแสดงตนในห้องประชุมแค่ 204 คน จากจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน 692 คน ถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 346 คนขึ้นไป ทำให้ต้องปิดการประชุมไป

การประชุมรัฐสภาวันที่สองเริ่มขึ้นในเวลา 09.40 น.โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคเพื่อไทยส่งนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

เริ่มการประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานที่ประชุมได้ชี้แจ้งก่อนเข้าวาระว่า การประชุมวันนี้ได้มีการกำหนดเวลาพิจารณาทั้งหมด 19 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวลาของ 3 ฝ่าย คือ สว. , สส.ฝ่ายค้าน และสส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 1 ชั่วโมง เป็นของประธานในที่ประชุม

จากนั้นได้ให้นายพริษฐ์ ก็เริ่มอภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติ แต่ระหว่างที่นายพริษฐ์กำลังอภิปรายไปได้ไม่นาน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นขอหารือ แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ประท้วงประธานรัฐสภา  และขอให้นายพริษฐ์ ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ และนำเสนอญัตติให้จบก่อน

อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ได้ลุกขึ้นขอใช้สิทธิประท้วงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา เพราะเชื่อว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงขอให้นับองค์ประชุมใหม่อีกครั้ง

แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า สมัยนายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา เคยมีการเสนอเรื่องอย่างนี้มาแล้ว และได้วินิจฉัยว่า เมื่อองค์ประชุมครบ ก็เปิดประชุมได้ แต่ถ้าดำเนินการประชุมไปแล้ว ในระหว่างนั้นสมาชิกเห็นว่าองค์ประชุมไม่ครบ ก็ใช้สิทธินับองค์ประชุมได้ ซึ่งหน้าที่ของประธาน เมื่อองค์ประชุมครบจำนวน ก็ต้องเปิดประะชุมตามระเบียบวาระ และถ้านายพริษฐ์ เสนอไปจะจบ หรือ ไม่จบ ท่านสามารถใช้สิทธิ แต่ถ้าท่านไม่ใช้สิทธินับองค์ประชุม ถือว่าตนดำเนินการตามข้อบังคับแล้ว ยืนยันว่าทำหน้าที่ตามข้อบังคับ

แต่ นพ.ชลน่าน ไม่ยอมให้นับองค์ประชุมใหม่ จนกระทั่งนายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า นพ.ชลน่านเสนอให้นับองค์ประชุม และมีผู้รับรองถูกต้อง  จนทำให้นายปกรณ์วุฒิ ประท้วงว่า ประท้วง ให้ควบคุมการประชุม เพราะประธานได้วินิจฉัยไปแล้วว่า นายพริษฐ์เข้าสู่ญัตติไปแล้ว แต่ นพ.ชลน่านใช้สิทธิประท้วง ทั้งที่ประธานได้วินิจฉัยไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ นพ.ชลน่านพูด ชัดเจนว่า จงใจที่จะทำผิดข้อบังคับ เพื่อที่จะเสนอญัตติแทรกเข้ามา จึงขอให้ประธานฯวินิจฉัยว่าได้เข้าสู่ญัตติไปแล้ว ไม่มีสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะเสนอญัตติใดๆแทรก แต่นพ.ชลน่าน ยืนยันสิ่งที่เสนอถูกต้องตามที่ประธานวินิจฉัย

ประชุมสภาฯ “ล่ม” วันที่ 2 องค์ประชุมไม่ครบ

หลังจากนั้นที่ประชุมรัฐสภาก็เกิดการประท้วงกันวุ่นวาย โดยนายพริษฐ์ ผู้เสนอญัตติพยายามอธิบาย จนในที่สุดนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา วินิจฉัยว่า แม้ว่าจะให้แถลงญัตติไปแล้ว แต่เมื่อมีการเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมอีกก็สามารถทำได้ และประธานก็ต้องดำเนินการนับองค์ประชุม โดยไม่มีเหตุผลอะไร เพราะการเสนอนับองค์ประชุมเป็นเอกสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ชี้แจง มีสมาชิกรัฐสภายกมือประท้วงจำนวนมาก แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่อนุญาต พร้อมบอกว่า จะให้สิทธิประท้วงทุกคน แต่หลังจากที่นับองค์ประชุมแล้วเสร็จ และได้ปิดไมโครโฟนของสมาชิกรัฐสภา ส่งผลให้ห้องประชุมวุ่นวาย จากสมาชิกรัฐสภา พยายามตะโกนประท้วงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จนทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ชี้แจง “หากไม่อยู่ในระเบียบ ต้องให้เจ้าหน้าที่มาเชิญ มาว่าผมเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล หรือ ขอให้ประธานวิปแต่ละฝ่ายดำเนินการ”

กระทั่งเวลา 10.05 น. นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สว. เสนอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ ทำให้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เป็นไปตามข้อบังคับ แต่ข้อบังคับข้อที่ 56 กำหนดว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ต้องให้รัฐสภาอนุมัติ หากรับญัตติดังกล่าวต้องถามให้สมาชิกรัฐสภาอนุญาต และต้องตรวจสอบองค์ประชุม ทำให้นายปกรณ์วุฒิ ขอให้พักการประชุม 20 นาที

หลังจากประธานรัฐสภาได้สั่งให้พักการประชุมไป 20 นาที การประชุมร่วมของรัฐสภาก็กลับมาประชุมกันอีกครั้งในเวลา 10.35 น. โดยนายพริษฐ์ อภิปรายว่า ได้ทราบถึงข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภาในซีกรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยืนยันว่าในฐานะตัวแทนของพรรคประชาชน เราไม่ได้มีข้อกังวลดังกล่าว และมองว่าสามารถเดินหน้าต่อไปด้วยได้ แต่เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้จากซีกรัฐบาล ก็ได้มีการหารือกันว่า พอจะเป็นไปได้หรือไม่ เราจะเดินหน้าเรื่องนี้ โดยไม่เร่งนับองค์ประชุม ขอให้พักอีก 10 นาที

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กดออดเรียกสมาชิก เพื่อจะขอมติว่า จะตรวจสอบองค์ประชุมด้วยวิธีการขาน หรือ เสียบบัตร ผลปรากฏว่า องค์ประชุมมีจำนวนแค่ 175 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ต้องแจ้งว่า ในเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ผมขอปิดการประชุมในเวลา 10.47 น.

“เพื่อไทย” เตรียมยื่นศาล รธน.วินิจฉัย

หลังปิดประชุมรัฐสภา นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคเพื่อไทยได้แถลงจุดยืนของพรรค หลังเกิดเหตุการประชุมร่วมของรัฐสภาล่มติดต่ดกันเป็นวันที่ 2

นายสุทิน กล่าวว่า  เราต้องการทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย  โดยเราจะรักษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาไว้ในสภาให้นานที่สุดจะไม่ยอมให้ตกไป  ซึ่งตอนแรกวันนี้จะเปิดประชุม เพื่อพิจารณาต่อ แต่เรารู้คำตอบดีว่า ถ้าพิจารณา และลงมติก็ตก ฉะนั้นถ้ามีจุดยืนว่าจะรักษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ เพื่อรักษาลู่ทางให้ไปต่อให้สำเร็จ  ดังนั้น การรักษาไว้ก็คือ ไม่ให้มีการพิจารณา เราจึงทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ คือ ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้การประชุมดำเนินการต่อไปไม่ได้  เมื่อที่ประชุมไม่ได้พิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ในรัฐสภาต่อไป  และเราจะดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาตีความให้ประเด็นต่างที่ค้างไว้ให้ชัดเจนขึ้น

“เราต้องพยายยามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง เพราะว่ามีคนไม่เข้าใจเรา และมีพรรคการเมืองบางพรรค ก็พยายามไม่เข้าใจ จึงอยากบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยุ่งยาก มันเกิดจากการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจน พอไม่ชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกไปตีความเข้าข้างตัวเอง ฝ่ายที่ไม่อยากแก้ ก็บอกว่า ศาลพิจารณาแบบนี้จะแก้ไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขได้ ก็ต้องทำประชามติก่อน 3 ครั้ง ทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขนำไปสร้างความชอบธรรม  และข่มขู่กันว่าใครเข้าพิจารณามีสิทธิ์ถูกถอดถอน ทำให้สมาชิกหลายคนวิตกกังวลว่าการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ถูกต้อง”

นายสุทิน กล่าวต่อว่า ความคลุมเครือของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การเดินหน้าแก้ไขทำไม่ได้   เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยให้ความคลุมเคลือแบบนี้ยังดำรงต่อไปในปีนี้ หรือ ปีหน้า โดยที่ไม่มีศาลมาชี้ให้ชัด ก็จะแก้ไขไม่ได้  สมมุติว่าวันนี้เราเดินหน้าพิจารณาไปจนโหวตแล้วตก ก็จะทำให้การพิจารณาต้องเลื่อนไปเป็นอีกสมัยถึงจะนำเสนอได้ แต่ถ้าไม่ยื่นให้ศาลพิจารณาเกิดความคลุมเคลือ เราเดินหน้าต่อไม่ได้อีก

ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้สำเร็จในมุมมองของเรา คือ ต้องทำให้การวินิจฉัยมีชัดเจนเสียที โดยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลบอกว่าให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ก็จะทำให้เราต้องเริ่มต้นทำ 3 ครั้ง และอาจต้องรอกฎหมายประชามติ  หากเราทำตามที่ศาลวินิจฉัยก็พอมองเห็นโอกาสที่เราจะทำสำเร็จ

“แปลว่าถ้าวันนี้เราเดินหน้าโหวตแล้วตก เสนอต่อก็ไม่ได้ แต่ถ้าศาลบอกต้องประชามติ 3 ครั้ง ก็ชัดเจน เราก็เริ่มดำเนินการ ทำให้โอกาสความสำเร็จ ก็มองเห็น และถ้าทำประชามติ 2 ครั้งก็สบาย ที่ค้างอยู่ก็เดินหน้าได้เลย ความสำเร็จก็มองเห็น การที่เราส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ตีความ ก็จะเป็นการคลี่คลายความคลุมเครือ และทำให้ทุกฝ่ายเดินได้ เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะทำ คือยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจน” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน ยังบอกอีกว่า ในประเด็นของพรรคประชาชนที่บอกว่า เคยยื่นไปแล้ว แต่ศาลไม่รับพิจารณา ซึ่งในช่วงนั้นศาลไม่รับ เพราะว่ายังไม่เกิดข้อขัดแย้งขึ้น และก็ยังไม่มีการเสนอกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา แต่วันนี้เราได้ทำให้องค์ประกอบมันครบแล้ว คือยื่นกฎหมายเข้าสภา และมีข้อขัดแย้งแล้ว เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่า ประชุมไม่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ประชุมได้ทำให้ศาลเห็นองค์ประกอบ ในการรับพิจารณาตีความ และเราหวังแบบนั้น

“เราจำเป็นต้องเดินแบบนี้ ต้องลงทุนกับคนที่ไม่เข้าใจ อาจจะถูกตำหนิ เรายอมให้ตำหนิ แต่เมื่อจบ และนำไปสู่เป้าหมายแล้ว ทุกคนก็จะเข้าใจ”

ขณะที่ นพ. ชลน่าน กล่าวว่า  หลังการยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญแล้ว สามารถยื่นพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้เพราะตัวญัตติยังอยู่ในสภา แต่จะขอความเห็นจากสภา เพื่อเสนอญัตติใหม่ได้ ไม่ต้องรอให้ถึงการประชุมในสมัยหน้า

‘ณัฐพงษ์’ แนะนายกฯยุบสภา

ภายหลังจากการประชุมสภาล่ม พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวหลังที่ประชุมการร่วมของรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แทบจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะพอทำให้มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนเชื่อว่ามีกระบวนการที่เดินอย่างตรงไปตรงมาได้ และไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่จะสามารถนำไปสู่ปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการพักการประชุมเมื่อเช้า วิปทั้งสองฝ่ายได้มาหารือกัน และเปิดอภิปรายในประเด็นที่สมาชิกจากฝั่งรัฐบาลมีข้อกังวลในข้อกฎหมายว่าถ้าเดินหน้าเข้าสู่วาระประชุมในครั้งนี้ อาจจะพัวพันจนมีประเด็นฟ้องร้องทางกฎหมายได้  ซึ่งเราขอให้เปิดโอกาสอภิปรายเพื่อให้สังคม และเพื่อนสมาชิกเข้าใจมากขึ้น แต่ผลปรากฎว่าหลังการประชุม ก็พบว่าฝั่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้มีการนับองค์ประชุมต่อจนนำมาสู่การที่สภาล่ม แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะพยายามเดินอ้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทางออก คือ การเดินหน้าตรง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาด 3 เรื่องหลัก ที่ต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงใจ และตรงไปตรงมาต่อประชาชน คือ 1.การขาดเจตนารมย์ทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา 2. การขาดเรื่องความเป็นนิติรัฐ 3. ขาดเคารพเสียงของพี่น้องประชาชน”

นายณัฐพงษ์  กล่าวว่า  ในส่วนของการขาดเจตนารมย์ทางการเมือง เรายืนยันว่า ถ้าก่อนหน้านี้  พรรคเพื่อไทยได้มีการพุดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจัง และเดินหน้าอย่างเต็มที่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว ทำให้การประชุมทั้ง 2 วันที่ผ่านมานี้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

ตลอดจนเมื่อคืนที่ผ่านมาที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีแทบจะไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทยในการผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้มีความจริงใจในการผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และการที่บอกว่าต้องเดินอ้อม ทำให้สภาล่ม เพื่อให้ญัตตินี้ยังคงค้างอยู่ในสภา จึงเชื่อว่าประชาชนเห็นแล้วว่าเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น

ประเด็นที่สอง คือ ขาดความเป็นนิติรัฐ สมาชิกรัฐสภาหลายส่วนมีข้อกังวลว่าจะมีการยื่นคำร้องจนมีผลพัวพันทางกฎหมายตามมาทีหลัง และตลอดการประชุมรัฐสภาวันนี้ ก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการหารือ ทั้งที่เวทีการประชุมรัฐสภาควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยขาดความเป็นนิติรัฐ ไม่ได้ถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่กำลังอยู่ภายใต้การปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ

“สมาชิกรัฐสภาแทนที่จะยึดถือรัฐธรรมนูญ และตีความการใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายจะทำอะไร ก็ต้องวิ่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน ยิ่งชี้ให้เห็นว่าระบบนิติรัฐของประเทศไทยมีปัญหา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

ประเด็นที่สาม คือ การไม่เคารพเสียงของประชาชน ทั้งที่นโยบายหาเสียงของแทบทุกพรรคการเมืองตอนช่วงเลือกตั้ง ก็มีข้อเสนอแบบเดียวกัน คือ จะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ถ้านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลมีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา สามารถเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงได้อย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนสิทธิให้ประชาชนได้

ถกแก้ รธน.ล่ม – ต้นตอจาก‘เกาเหลา’ในพรรคร่วมฯ

ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ พรรคไหนมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนเรายืนยันว่า เราต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้เรามีระบบการเมืองดีขึ้น และทำให้ผู้แทนราษฎร สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วขึ้น

“การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จนั้น มีบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้ชัดเจน ว่าจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่สำคัญก็คือ 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเราจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย ได้ให้เหตุผลถึงความกังวลใจ หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขในวันนี้ และมีการลงมติ อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.บางส่วนที่หลายคนวิเคราะห์ว่า อาจจะมีชุดความคิดคล้าย ๆ กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจไม่ลงมติ หรือ มีแนวโน้มจะไม่ลงมติเห็นชอบ เพราะเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย…แต่ตนอยากจะชวนสังคม และประชาชนตั้งคำถาม ว่าสาเหตุของอุปสรรคที่เราไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริง ๆ หรือ เป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล”

นายพริษฐ์  กล่าวว่า หากเชื่อว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้ว คือข้อกังวลทางกฎหมายในมุมหนึ่ง พรรคประชาชนก็ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย 4/2564 และหากวันนี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้เราสามารถประชุมต่อได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้ร่วมกันชี้แจงกับสังคม และสมาชิกรัฐสภาว่า ทำไมสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ในอีกมุม คนก็เข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่อาจจะเสนอส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งพรรคประชาชน เราเพียงแต่ตั้งข้อสังเกต ว่าหากมีการส่งเรื่องไปจริง ก็ไม่มีอะไรรับประกัน ว่าฝ่ายที่ส่งไปนั้น จะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากเคยมีการส่งเรื่องไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว 2 ครั้ง

นอกจากนี้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นต้นเหตุ และสาเหตุของการที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย หรือ ไม่ใช่เพราะมีสาเหตุมาจากเรื่องความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ สส.พรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบต่อการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว. ไม่น่าจะเป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมาย หรือ ความต้องการความชัดเจนในเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบกับการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นที่ประจักษ์ว่าต้นตอและสาเหตุคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นไม่ใช่แค่ในเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกลาโหม รายงานนิรโทษกรรม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ กัญชา ค่าแรง แม้กระทั่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร และรัฐบาลผสม ที่ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และผลักดันนโยบายต่างๆของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จให้ได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อบริหารพรรคร่วมรัฐบาลและบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ตนก็เห็นสอดคล้องกับผู้นำฝ่ายค้านว่าสมควรพิจารณาการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

ป้ายคำ :