ประสาท มีแต้ม
ในที่สุดก็เป็นไปตามที่หลายคนได้คาดหมายไว้ นั่นคือ อุณหภูมิของอากาศโลกเฉลี่ยทั้งโลกตลอดทั้งปี 2024 ที่เพิ่งผ่านมาสูงกว่าของปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่สูงที่สุดหรือเป็นเจ้าของสถิติเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยสูงถึง 1.57 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นช่วง ค.ศ. 1850–1900 สูงกว่าของปีก่อนถึง 0.12 องศาเซลเซียส นี่เป็นการประกาศผลการประเมินข้อมูลทั้งโลกอย่างเป็นทางการที่รวดเร็ว จากหน่วยงานของสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า Copernicus Climate Change Service หรือ C3S เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2025
มาถึงตรงนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตสักนิดเพื่อป้องกันความสับสน ตรงที่บางสำนักวิชาการอ้างอิงกับปีในอดีตที่ไม่ตรงกัน เช่น บางสำนักเทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วง 1901–2000 ผลที่ออกมาจึงน้อยกว่า 1.57 องศาเซลเซียส โดยที่ช่วงก่อนอุตสาหกรรมหมายถึงช่วง 1850–1900 เข้าใจตรงกันนะครับ
กลับมาที่คำประกาศข้างต้นอีกครั้ง จากกราฟแท่งในภาพซึ่งผมได้เขียนคำอธิบายเพิ่มเติมไว้บางส่วน เมื่อเรามองภาพรวม เราจะเห็นว่าอุณหภูมิมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามเวลา (เพราะความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นทุกปี) แต่อุณหภูมิไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปีเสมอไป ถ้าเราจัดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 ถึง 5 ก็ตกเป็นของ 9 ปีหลังสุดคือ 2024, 2023, 2016, 2020 และ 2019 ตามลำดับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีปัจจัยของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (ซึ่งทำให้ร้อน) และลานีญา (ซึ่งทำให้เย็นลง) เข้ามามีอิทธิพลด้วย จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยต้องเปลี่ยนไปแบบขึ้นๆ ลงๆ บ้างเล็กน้อย
ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นข้อสงสัยก็คือ ทำไมปี 2024 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญเพียงในช่วง 4 เดือนแรกของปี และที่เหลืออีก 7 เดือนถัดมาก็มีความเป็นกลาง คือไม่เป็นทั้งสองอย่าง (ดัชนี Ocean Nino Index หรือ ONI อยู่ในช่วงบวกลบ 0.4 อีก 1 เดือนยังไม่ได้ข้อสรุป) แต่ทำไมจึงเอาชนะปี 2023 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนาน 8 เดือน เป็นกลาง 3 เดือน เอลนีโญ 1 เดือน
ก่อนที่ผมจะเอาคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์มาเล่าให้ฟัง ผมขอกล่าวถึงสิ่งสำคัญมากที่เราไม่อาจแกล้งทำเป็นลืมไปได้
สิ่งสำคัญมากที่ว่านั้นก็คือ อุณหภูมิของปี 2024 ซึ่งเท่ากับ 1.57 องศาเซลเซียสนั้น มันได้สูงกว่าเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติได้ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ว่าจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิอากาศโลกในปี 2100 สูงไม่เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
แต่มันได้เกินไปแล้วเป็นครั้งแรกในปีที่เพิ่งผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของ C3S ตอนหนึ่งกล่าวว่า “การที่อุณหภูมิเพียงหนึ่งหรือสองปีเกินกว่าข้อตกลงปารีสไป ไม่ได้หมายความว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงปารีส แต่หากอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิยังเป็นอยู่ในปัจจุบันคือ 0.2 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทะลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสภายในทศวรรษ 2030” (2030s หมายถึงช่วง 1 ม.ค. 2030 – 31 ธ.ค. 2039)
ทาง C3S ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 11 เดือนของปี 2024 มีจำนวน 250 วันหรือคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนวันทั้งหมดที่อุณหภูมิอากาศของผิวโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
หากคิดเป็นพื้นที่ที่อุณหภูมิของปี 2024 ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 1991–2020 พบว่าครอบคลุมพื้นที่ถึง 91% ของโลก หรือโดนกันเกือบทั้งโลกนั่นแหละ
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่ C3S นำเสนอ คือจำนวนวันที่มนุษย์เกิด “ความเครียดจากความร้อน (strong heat stress)” หรือรู้สึกว่าอุณหภูมิอากาศสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส โดยนำเสนอเป็นระดับของสีบนแผนที่โลก ดังแสดงในรูปถัดไป
มองด้วยสายตาของผม ประมาณว่าในปี 2024 คนไทยเรามีความรู้สึก (เน้น เป็นความรู้สึก ไม่ใช่อุณหภูมิที่วัดได้จริง) ว่าอุณหภูมิอากาศมากกว่า 32 องศาเซลเซียสประมาณ 300 ถึง 325 วัน ในขณะที่ในประเทศแอลจีเรียทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา จะรู้สึกร้อนมากที่สุดกว่า 59.1 องศาเซลเซียส
C3S ยังได้สรุปว่า ปริมาณน้ำในอากาศ (หรือไอน้ำ) ในปี 2024 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 1991–2020 ถึง 4.9% ซึ่งสูงที่สุด ในขณะที่ของปี 2016 และ 2023 มากกว่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็นอันดับ 2 และ 3 คือ 3.4% และ 3.3% ตามลำดับ ข้อมูลนี้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยคร่าวๆ ที่ผมเคยทราบจากสำนักวิจัยอื่นว่า “ทุกๆ 1 องศาที่อุณหภูมิอากาศสูงขึ้น จะทำให้มีน้ำระเหยเพิ่มขึ้น 7%” ส่งผลให้ได้ข้อสรุปว่า ยิ่งอากาศร้อนขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็มากขึ้น แต่ฝนจะไปตกที่ไหนบ้างนั้นแล้วแต่เหตุปัจจัยอื่นๆ ด้วย
หมายเหตุ ในปี 2024 เกิดน้ำท่วมทะเลทรายหลายแห่ง ในขณะที่แม่น้ำอเมซอน(ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีน้ำท่าไหลลงมากที่สุดในโลก) มีระดับเหลือเพียง 10% ของค่าเฉลี่ยเท่านั้น
ในบทความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผมขออธิบายเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำแถลงของ C3S คือ
หนึ่ง ตามที่ผมได้กล่าวมาแล้ว สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมี 2 สาเหตุ คือ (1) ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีพลังมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหลาย และ (2) การเกิดปรากฏการณ์ของเอลนีโญและลานีญา แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่นมากกว่านั้น
นักวิทยาศาสตร์เรียกปัจจัยอื่นโดยรวมๆว่า เป็นกระบวนการป้อนกลับ (feedback process) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมาก มักจะเกิดขึ้นกับระบบที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ระบบเชิงเส้น (linear system) เป็นระบบที่เกิดจากผลลัพธ์ที่เกิดของเหตุ แล้วผลลัพธ์นั้นย้อนกลับเข้าไปเป็นเหตุอีกครั้งหนึ่ง เช่น ผลจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อนขึ้น (เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ขัดขวางไม่ให้แสงอาทิตย์สะท้อนกลับออกนอกชั้นบรรยากาศโลก) เมื่อโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลก (ซึ่งมีสีขาว) ละลาย
การที่น้ำแข็ง (ซึ่งมีสีขาว) ละลายกลายเป็นน้ำทะเล (สีน้ำเงิน) ทำให้ความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปนอกโลกลดลง ความร้อนจึงถูกสะสมอยู่ในน้ำมากขึ้นกว่าเดิม ลองเปรียบเทียบกับกรณีเราใส่เสื้อสีขาวตากแดดกับใส่เสื้อสีน้ำเงินตากแดด เราจะรู้สึกร้อนต่างกัน
อีกเรื่องหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยกติกาของโลกได้ตั้งกฎห้ามไม่ให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันที่มีสารเคมีตัวหนึ่ง (ผมไม่แน่ใจว่าสารอะไร เพื่อไม่ให้ทำลายสุขภาพคน) จึงส่งผลให้ท้องฟ้าสะอาดและมีสีใสขึ้น การที่ท้องฟ้าสีใสขึ้น การสะท้อนแสงอาทิตย์ออกนอกโลกจึงลดลง โลกจึงสะสมความร้อนไว้มากกว่าเดิมและร้อนขึ้นกว่าเดิม
เห็นไหมครับว่ามันซับซ้อน เพื่อให้เข้าใจมากกว่าเดิม ลองนึกถึงการคิดดอกเบี้ยทบต้น มันเป็นกระบวนการป้อนกลับ กล่าวคือ ดอกเบี้ยถูกป้อนกลับมาเป็นเงินต้นอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้เงินรวมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน่ากลัวมากครับ
สอง ประเด็นสุดท้ายและถือเป็นบทสรุปของบทความนี้เลย
บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมการกำหนดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจึงมีความสำคัญ
ผมเข้าใจว่า มันคงจะคล้ายกับระดับน้ำตาลในเลือดของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นเบาหวาน หากมันเกินกว่าค่าที่วงการแพทย์กำหนดก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาเป็นขบวน เช่น ความดัน หลอดเลือดอุดตัน ฯลฯ เรื่องโลกร้อนก็เช่นเดียวกันนั่นแหละครับ
อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา เคยเอาคำพูดของนักการเมืองคนหนึ่งมาพูดต่อว่า “คนรุ่นเราจะเป็นรุ่นแรกที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน/โลกเดือด และจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้”
ที่ว่าเป็นรุ่นแรกก็เพราะว่าโลกเราเพิ่งร้อนขึ้นเมื่อ 49 ปีมานี้เองและร้อนมาตลอด ภัยพิบัติเพิ่งปรากฏชัด ที่ว่ารุ่นสุดท้ายก็เหมือนกับการควบคุมโรคเบาหวานนั่นแหละ หากคุมไม่อยู่ โรคอื่นก็จะตามมาเป็นกระบวน ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะมากขึ้น จะมากกว่ารายได้ด้วย ภัยพิบัติจากโลกร้อนในปี 2024 ทั้งในต่างประเทศและในบ้านเราเอง รวมถึงไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียในวันนี้ คือหลักฐานที่เราเห็นกันอยู่ครับ
แล้วจะอย่างไงต่อดีครับ