สุนิสา กาญจนกุล
เวลาเป็นสิ่งมีค่า เศรษฐีที่มีเงินเหลือเฟือจึงนิยมนั่งเครื่องบินส่วนตัวเพื่อประหยัดเวลา จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนการนั่งแท็กซี่ของคนทั่วไป แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเป็นระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงนั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนทั่วไปถึง 1 ปี
นักธุรกิจบางรายเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 เที่ยว แม้แต่บรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติก็ยังประพฤติตัวย้อนแย้งโดยใช้เครื่องบินส่วนตัวเพื่อเดินทางไปร่วมประชุมเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก

หนึ่งคนปล่อยก๊าซมากกว่าหนึ่งเมือง
ผลการวิจัยในปี 2023 พบว่าเที่ยวบินส่วนบุคคลผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 15.6 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน 3.7 ล้านคัน เป็นเวลา 1 ปี เฉลี่ยแล้วในแต่ละปี เศรษฐีแต่ละคนที่เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเมืองเล็กๆ ในแอฟริกาตอนกลางทั้งเมืองเสียอีก
ไม่เพียงเท่านั้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องบินส่วนตัวดูจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สมาพันธ์การเดินทางและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2019 ถึง 2023 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องบินส่วนตัวซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 46 % ในยุโรป
ในระดับโลก ประเทศผู้นำของการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวคือสหรัฐฯ คิดเป็น 69% ของเที่ยวบินทั้งหมด แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียล้วนอยู่ใน 10 อันดับแรก ในสหราชอาณาจักร ทุกๆ 6 นาที จะมีเครื่องบินส่วนตัวบินขึ้น 1 ลำ
ทั้งนี้ จากการจัดอันดับของ CelebrityPrivateJetTracker.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตามรอยเครื่องบินส่วนตัวของคนดังนั้น อันดับหนึ่งซึ่งบินบ่อยที่สุดในปี 2024 คือ เอริก ชมิดต์ อดีตประธานคณะผู้บริหารของกูเกิล ซึ่งบินไปทั้งหมด 495 เที่ยว หรือเฉลี่ยแล้วบินวันละ 1.36 เที่ยว คิดเป็นระยะทางถึง 612,868 ไมล์ ใช้น้ำมันไป 712,100 แกลลอน
ส่วนอันดับ 2 คือ อีลอน มัสก์ ซึ่งบินไปทั้งหมด 320 เที่ยว คิดเป็นระยะทางถึง 461,191 ไมล์ ใช้น้ำมันไป 511,250 แกลลอน แล ะคิม คาร์เดเชียน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากรายการเรียลริตีทางโทรทัศน์ คว้าอันดับ 3 ไปครอง ขณะที่นักร้องสาวชื่อดังอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งโดนโจมตีอย่างหนักเรื่องการใช้เครื่องบินส่วนตัว อยู่ในอันดับที่ 45
เน้นบินเพื่อพักผ่อนและกิจกรรม
ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชื่อ Communications Earth & Environment ระบุว่า เที่ยวบินส่วนตัวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวบินเพื่อการพักผ่อน โดยมักจะเป็นการเดินทางไปยังเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม หรือเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีชื่่อเสียง เช่น เทศกาลภาพยนตร์ การแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญ ฯลฯ
โดยในช่วงฤดูร้อนและช่วงสุดสัปดาห์ เมืองตากอากาศชื่อดัง อย่างเช่น เมืองอิบิซา ประเทศสเปน และเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส จะเป็นจุดหมายปลายทางที่มีการใช้งานสูงสุดของเที่ยวบินส่วนตัว
ขณะที่การแข่งขันกีฬาอเมริกันฟุตบอลครั้งสำคัญอย่างซูเปอร์โบวล์ คือกิจกรรมที่กระตุ้นให้การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2024 มีเที่ยวบินส่วนตัวลงจอดที่ลาสเวกัส เพื่อเข้าชมการแข่งขันนี้มากถึง 882 เที่ยวบิน
ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ทำให้มีเครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย มากถึง 1,846 ลำ ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 14,700 ตัน
กรณีเช่นนี้ส่งผลให้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้เครื่องบินส่วนตัวของนักธุรกิจว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เครื่องบินส่วนตัวถูกพิจารณาว่าเป็นต้นทุนทางธุรกิจและสามารถนำไปใช้ลดหย่อนเพื่อหักภาษีได้
นักวิจัยระบุว่า งานวิจัยของพวกเขาเน้นย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนที่ร่ำรวยและยากจน และการหาทางจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวยนั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรเทาภาวะโลกร้อน
การประชุมสิ่งแวดล้อมที่รังแกสิ่งแวดล้อม
แต่สิ่งที่เป็นเหมือนเรื่องตลกร้ายก็คือ แม้แต่การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติก็ยังอุดมไปด้วยผู้เข้าร่วมประชุมที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว ทั้งที่การประชุมนี้เน้นหนักเรื่องแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลร้ายต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งการใช้เครื่องบินส่วนตัวก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากเช่นกัน
สเตฟาน กอสลิ่ง ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยลินนีอัสในสวีเดน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องบินส่วนตัวของเหล่าเศรษฐี กล่าวว่าหลายคนอาจมองว่าผู้เข้าร่วมประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติคือเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักวิชาการ และองค์กรเอกชนเป็นส่วนใหญ่
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคปัจจุบันแออัดไปด้วยนักธุรกิจ เพราะดูเหมือนการประชุมนี้จะกลายเป็นแหล่งพบปะเจรจาของเหล่าผู้นำธุรกิจไปแล้ว ซึ่งรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจน้ำมันด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีโลกอีกใบที่หรูหราฟุ่มเฟือย เน้นความสะดวกสบายสูงสุด และไม่ใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแต่อย่างใด กอสลิ่งกล่าว
ทางฝ่ายผู้จัดการประชุมเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เพราะในเอกสารคู่มือการเดินทางสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 29 ที่เดินทางจากต่างประเทศนั้น ผู้จัดการประชุมยังระบุที่ตั้งของสนามบินสำหรับเครื่องบินส่วนตัวแห่งเอาไว้ด้วย
เดนิส ออแคลร์ แห่งโครงการรณรงค์เดินทางอย่างชาญฉลาด (Travel Smart Campaign) ให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 29 ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความปากว่าตาขยิบของผู้ร่วมประชุมที่เลือกใช้เครื่องบินส่วนตัว ในขณะที่อ้างว่ากำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ตราบเท่าที่เศรษฐีมีเงินยังไม่เลิกประพฤติตัวแบบรักความสะดวกสบายมากกว่าสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินส่วนตัวก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ
แต่ที่น่าเศร้าก็คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากสภาพอากาศที่เลวร้ายลงกลับเป็นกลุ่มคนยากจนซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด ขณะที่บรรดาเศรษฐีผู้ปล่อยก๊าซมากที่สุดกลับหลบเลี่ยงผลกระทบเหล่านั้นได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยศักยภาพด้านการเงินของตน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.newscientist.com/article/2455196-carbon-emissions-from-private-jets-have-exploded-in-recent-years/
https://www.bbc.com/news/articles/cx2lvq4el5vo
https://www.dailymail.co.uk/femail/article-14165387/celebrity-private-jet-miles-2024-leaderboard-taylor-swift.html
https://www.euronews.com/green/2024/11/15/did-people-have-to-fly-to-cop29-private-jet-use-soared-but-one-group-got-to-baku-overland
https://www.cbc.ca/news/science/private-aviation-co2-emissions-1.7375509