ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ธุรกิจงานศพ (3) : พวงหรีดธุรกิจ 4 พันล้าน ! พลิกจากสร้างขยะ-รับกระแสโลกร้อน

ธุรกิจงานศพ (3) : พวงหรีดธุรกิจ 4 พันล้าน ! พลิกจากสร้างขยะ-รับกระแสโลกร้อน

3 ตุลาคม 2011


กองพวงหรีดกลายเป็นขยะ
กองพวงหรีดกลายเป็นขยะ

แม้ฝนจะโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย แต่ศาลาสวดพระอภิธรรมงานศพของ “ดุสิต นนทะนาคร” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนที่ 21 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ทั้งญาติสนิท มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานร่วมไว้อาลัยจนล้นออกมาด้านนอก

ด้วยความเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหลากหลายวงการ บริเวณโดยรอบศาลาอัดแน่นไปด้วยพวงหรีดตระการตานับพันชิ้น แม้พระจะเริ่มสวดพระอภิธรรมแล้ว พวงหรีดดอกไม้หลากสียังคงทะยอยส่งมาร่วมไว้อาลัยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อกลับไปที่งานในอีกหนึ่งวันถัดมา แปลกใจที่เห็นพวงหรีดบางตาลงไปมาก พวงหรีดนับพันชิ้นที่เห็นเมื่อวานอันตรธานไปจากศาลา โดยถูกขนย้ายออกไป และกลายเป็นกองขยะดอกไม้อยู่ท้ายวัด

เจ้าหน้าที่จากหอการค้าไทยรายหนึ่งซึ่งมาช่วยงานเล่าว่า มีผู้ส่งพวงหรีดมาร่วมแสดงไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก แต่พื้นที่ศาลามีจำกัด ไม่มีพื้นที่วางพวงหรีดได้เพียงพอ ในแต่ละวัน เจ้าภาพต้องเตรียมสถานที่ไว้รองรับพวงหรีดที่จะเข้ามาใหม่ โดยเอาพวงหรีดดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวไปทิ้ง แล้วนำเอาพวงหรีดใหม่แขวนแทน แม้ทางเจ้าภาพของดพวงหรีดแต่ให้บริจาคเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต้านคอรัปชั่นที่นายดุสิตได้ริเริ่มไว้ก็ตาม

พวงหรีดที่วางเรียงกันตามแนวรั้ว
พวงหรีดที่วางเรียงกันตามแนวรั้ว

“เพียงแค่คืนแรกของงานศพประธานหอการค้าไทยมีคนส่งพวงหรีดมาร่วมไว้อาลัยมากถึง 1,200 พวง” เจ้าหน้าที่คนเดิมให้ข้อมูล ไทยพับลิก้าลองคำนวณดู โดยคิดจากราคาพวงหรีดที่มีขายตามร้านค้าทั่วไปและทางเว็บไซต์ต่างๆ ประมาณพวงละ 1,000-3,000 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2-3.6 ล้านบาท

หลายคนอาจจะเสียดายเงินที่ต้องจ่ายให้กับพวงหรีดดอกไม้สดที่สวยได้เพียงชั่วคราว แต่มองอีกด้านนั่นหมายถึงเงินสะพัดในธุรกิจพวงหรีด

พวงหรีดบางส่วนสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ บางส่วนต้องปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติและบางส่วนยากต่อการทำลายทิ้ง หรือรีไซเคิลกลับมาใช้ได้ใหม่

ในแต่ละวันวัดดังๆ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการจัดงานศพจะมีพวงหรีดมากน้อยแค่ไหน 

งานวิจัยเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการตาย โดย ศิรินันท์ กิตติสุข และ วนิพพล มหาชา ระบุว่า วัดทั่วๆ ไปในกรุงเทพฯ มีร้านขายพวงหรีดอยู่หน้าวัดประมาณ 3 ร้าน รวมทั้งร้านที่ขายดอกไม้เป็นหลัก แต่มีบริการเสริมในการจัดดอกไม้เป็นพวงหรีดอีกประมาณ 2-3 ร้าน

หากนำจำนวนวัดที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร 449 วัด (จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนา) มาคำนวณจะได้จำนวนร้านดอกไม้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพวงหรีดและดอกไม้ที่ใช้ในงานศพประมาณ 2,694 ร้าน ธุรกิจพวงหรีดมีมูลค่าประมาณ 4.3 พันล้านบาท

รายงานการวิจัยยังระบุว่า พวงหรีดทั่วไปมี 3 ประเภท ได้แก่ พวงหรีดที่ทำจากดอกไม้สด พวงหรีดที่ทำจากดอกไม้แห้ง และพวงหรีดที่ใช้วัสดุผ้าขนหนูมาเป็นตัวหรีด ราคาพวงหรีดประเภทดอกไม้สดมีราคาประมาณ 500-3,000 บาท ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นพวงหรีดแบบดอกไม้ประดิษฐ์หรือดอกไม้แห้ง ราคา 500-1,500 บาท สำหรับพวงหรีดที่ทำด้วยวัสดุผ้าเป็นพวงหรีดที่มีผู้นิยมน้อยที่สุดและมีราคาต่ำที่สุด 300-1,500 บาท

พวงหรีดมีแบรนด์ คือพวงหรีดที่ผู้ไว้อาลัยสามารถนำโลโก้ หรือแบรนด์ของบริษัท หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้บริการ นำมาไว้บนป้ายพวงหรีดได้
พวงหรีดมีแบรนด์ คือพวงหรีดที่ผู้ไว้อาลัยสามารถนำโลโก้ หรือแบรนด์ของบริษัท หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้บริการ นำมาไว้บนป้ายพวงหรีดได้

จากวัฒนธรรมสู่ความเคยชิน

พวงหรีดได้กลายเป็นสัญลักษณ์ เรียกได้ว่าที่ไหนมีงานศพที่นั่นต้องมีพวงหรีด

หนึ่งในเจ้าของธุรกิจร้านดอกไม้ นางสาวดิศราพร อิศรากูร ณ อยุธยา ให้ข้อมูลว่า การสั่งพวงหรีดของลูกค้าในแต่ละครั้งมักมาพร้อมกับคำสั่งให้ทางร้านจัดดอกไม้ให้สวยกว่า ใหญ่กว่าพวงหรีดพวงอื่นๆ

พวงหรีดสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของผู้มอบกับผู้เสียชีวิต รวมไปถึงการแสดงสถานะทางสังคม หน้าที่การงานการเงินและเศรษฐกิจของผู้มอบ

การมอบพวงหรีดในงานศพนั้นได้กลายเป็นวัฒนธรรมหรือความเคยชินสำหรับสังคมไทย

จริงๆ แล้ว พวงหรีดในภาษาอังกฤษ คำว่า “Wreath” (รีธ)  ที่มีความหมายว่า พวงมาลา ซึ่งในสมัยก่อนย้อนไปถึงยุคเปอร์เซีย ความหมายของพวงหรีดคือ “a thing bound around” สิ่งที่ล้อมด้วยลักษณะวงกลม ซึ่งอาจจะคล้ายมงกุฎ (diadem)

ในสมัยกรีกโบราณมีการนำดอกไม้ไปเคารพศพผู้ตาย ประเทศไทยรับวัฒนธรรมการเคารพศพ โดยการส่งพวงหรีดหรือดอกไม้ ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ก่อนนี้พวงหรีดจะไม่สวยหรูหรือมีราคาเหมือนกับในปัจจุบัน มีเพียงก้านกิ่งไม้มาสานขัดกันเป็นวงกลม แล้วนำดอกไม้มาเสียบประดับ ถือว่าเรียบง่ายและเป็นการแสดงออกถึงความเคารพศพอย่างแท้จริง

ทางออกพวงหรีด-ขยะ

ปัจจุบัน การแข่งขันจากคู่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว รสนิยมของลูกค้า (เจ้าภาพ) ที่เปลี่ยนไป จนถึงแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และโลกร้อนที่สร้างกระแสแรงขึ้น กดดันให้ร้านพวงหรีดต้องปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมใหม่

พวงหรีดจึงมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น พวงหรีดดอกไม้ จันทน์ พวงหรีดต้นไม้ พวงหรีดต้นกล้วยไม้ พวงหรีดสังฆทาน พวงหรีดจักรยาน พวงหรีดนาฬิกา พวงหรีดหนังสือ พวงหรีดเครื่องใช้สำหรับนักเรียนหรือที่เรียกว่า “กล่องนาบุญ” และพวงหรีดที่เป็นของใช้ เช่น ช้อน จานชาม หม้อหุ่งข้าว กระติกน้ำร้อน พัดลม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีพวงหรีดร่วมบุญไทย-จีน โดยวัสดุที่ใช้ทำนั้นจะเป็นพวกแบงก์กงเต็ก ทองแท่ง ชุดชายหญิง เป็นต้น

ในบรรดาพวงหรีดรูปแบบใหม่ๆ บางอย่างก็มีให้พบเห็นบางแล้วตามงานศพต่างๆ แต่บางอย่างอาจไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนัก หรือไม่เคยเห็นเลย ความแปลกใหม่ของพวกหรีดนั้นไม่สำคัญเท่ากับผู้ได้รับสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ดี

เพื่อให้เห็นภาพ ไทยพับลิก้าได้คัดเลือกตัวอย่างเว็บไซต์พวงหรีดที่มีรูปลักษณ์ต่างไปจากพวงหรีดดอกไม้ เช่น
พวงหรีดต้นไม้ (http://www.puang-reed.com/)
พวงหรีดหนังสือ (http://banjitsumpat.com/)
พวงหรีดสังฆทาน (http://www.thaitambon.com/)
พวงหรีดพัดลม (ReedDelivery.com) เป็นต้น

พวงหรีดหนังสือธรรมะและพวงหรีดพัดลมกำลังเป็นทางเลือกที่มาแรงในขณะนี้ แม้จะยังไม่สามารถแทนที่พวงหรีดดอกไม้ที่เป็นที่นิยมมากกว่าได้ก็ตาม

หากเปรียบเทียบราคาพวงหรีดดอกไม้สดกับพวงหรีดพัดลมจะพบว่า ราคาพวงหรีดดอกไม้สดนั้นมีราคาอยู่ที่ 800-3,000 บาท ในขณะที่พัดลมขนาดเล็กสุดมีราคาประมาณ 600 บาทจะเห็นได้ว่าราคาพวงหรีดดอกไม้สดหนึ่งพวงสามารถซื้อพัดลมขนาดเล็กได้ 1 ตัว ถ้านำไปซื้อพวงหรีดหนังสือธรรมะในราคาประมาณพวงล่ะ 1,250 บาทจะประกอบด้วยหนังสือขนาด 14.5 ซม.x 21 ซม. จำนวน 13 เล่ม การส่งมอบสิ่งของที่มีประโยชน์มาร่วมแสดงความอาลัย ถือได้ว่าร่วมทำบุญกับผู้ที่ล่วงลับ

กระแสโลกร้อน: วิถีธุรกิจ

ทุกวันนี้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากมาย หนึ่งในธุรกิจคือ ธุรกิจเกี่่ยวการให้บริการจัดส่งพวงหรีดที่มีการพัฒนาการส่งพวงหรีดจากดอกไม้สดเป็นพวงหรีดประเภท Re-use ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น พวงหรีดต้นไม้ พวงหรีดพัดลม พวงหรีดจักรยาน พวงหรีดนาฬิกา พวงหรีดหนังสือ เป็นต้น

พวงหรีดถือเป็นสิ่่งจำเป็นสำหรับงานศพ เพราะพวงหรีดสามารถใช้แทนความรู้สึกเสียใจ การให้เกียรติและไว้อาลัย ซึ่งบริษัทมิส ลิลลี่ ผู้นำด้านธุรกิจดอกไม้สดได้เคยประเมินธุรกิจดอกไม้สำหรับใช้ในการอวยพรในโอกาสต่างๆ ที่มีมูลค่าตลาดโดยรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนดอกไม้ประเภทพวงหรีดมีมูลค่าตลาดโดยรวมถึงกว่า 4,000 ล้านบาท

ร้านของ “ธนาพิสิษฐ์ เฉลยวิมาร” ได้เริ่มต้นธุรกิจนี้จากกระแสโลกร้อนด้วยเช่นกัน การเปิดร้านหรีดเดลิเวอร์รี่ ที่ทำการจัดส่งพวงหรีดต้นไม้ได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนผู้สนใจที่หันมาเลือกใช้บริการพวงหรีดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ปัจจุบัน มูลค่าของธุรกิจพวงหรีดดอกไม้สดสำหรับพวงหรีด Re-use มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 5-10 % คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-30 ล้านบาทต่อปี

สำหรับราคาพวงหรีดต้นไม้นั้นจะมีราคาตั้งแต่ 900-2,000 บาท ส่วนพวงหรีดพัดลมจะมีราคาตั้งแต่ 900-3,000 บาท ซึ่งในแต่ละเดือนทางร้านเองสามารถจัดส่งพวงหรีดต้นไม้ได้ประมาณ 50-100 ต้น และจัดส่งพวงหรีดพัดลมได้ประมาณ 150-250 ตัว

ในอนาคตธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่่องจากลูกค้าที่เคยเลือกใช้บริการพวงหรีดดอกไม้สดเป็นประจำได้หันมาเลือกใช้พวงหรีดต้นไม้หรือพวงหรีดพัดลมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ หรีดเดลิเวอร์รี่ยังเป็นสื่อกลางในการติดต่อประสานงานในการบริจาคพัดลมให้กับเจ้าภาพอีกด้วย ถ้าทางเจ้าภาพมีความประสงค์จะร่วมบริจาค ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ