ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(57)… หาบ้านให้หมาหลงทาง

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(57)… หาบ้านให้หมาหลงทาง

25 มกราคม 2025


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ที่หมู่บ้านของลุงหมีมีคนเลี้ยงหมากันแยะพอควร ทุกวันจะเห็นคนเดินจูงหมาตามฟุตบาทถนนท้้งรอบเช้าสายบ่ายและเย็น เจ้าของหมาพามาเดินเองบ้าง ม่ายงั้นก็เป็นพี่เลี้ยงหมาที่พาเดิน บ้านต่างๆมักจะดูแลหมาเป็นระเบียบดี ไม่มีหมาออกมาเดินเพ่นพ่าน เวลาลุงหมีเดินผ่านบ้านที่เลี้ยงหมานานๆทีจึงเห็นหมาวิ่งออกมาที่รั้วบ้านเพื่อไล่เห่า หากมีหมาจรจัดหลงเข้ามาในหมู่บ้าน ยามรักษาความปลอดภัยก็จะจับไปปล่อยตามวัดใกล้หมู่บ้าน

เมื่อสองเดือนมาแล้วมีเหตุการณ์หมาหลงทางเข้ามาในหมู่บ้านจนเป็นเรื่องให้เกิดกระบวนการช่วยกันหาบ้านให้หมาหลงทางขึ้น

ต้นเรื่องเกิดจากยามคนหนึ่งพบเห็นหมาไม่มีเจ้าของอยู่ด้วยเดินวนเวียนตามถนน ดูลักษณะเป็นหมามีคนเลี้ยงและมีปลอกคอ (ไม่ใช่ตระกูลหมาจรจัดหรือหมาวัด) จึงนำหมาตัวนี้มาที่สำนักงานหมู่บ้าน จากนั้นทีมเจ้าหน้าที่หมู่บ้านก็หาวิธีส่งหมากลับไปบ้านที่เลี้ยงมันอยู่

การช่วยเหลือหมาหาบ้านเริ่มด้วยทีมยามพาหมาขึ้นรถไปปล่อยให้เดินดมกลิ่นตามจุดต่างๆในหมู่บ้านเผื่อว่าหมาจะจำเส้นทางวิ่งกลับบ้านได้( ลุงหมีจะขยายประเด็นนี้ในตอนท้ายของบทความ) แต่ปรากฏว่าไม่เกิดผลอันใด ยามจึงพาหมากลับมาดูแลที่สำนักงานหมู่บ้านไว้ก่อน

ขั้นตอนต่อมา คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานก็ถ่ายรูปหมาต้วนี้โพสรูปและข้อความลงไปในไลน์กลุ่มสมาชิกหมู่บ้าน(ที่ใช้สื่อสารข้อความกันของผู้อาศัยในหมู่บ้าน) ถามว่ามีบ้านไหนเป็นเจ้าของหมาตัวนี้หรือเปล่า

ระหว่างรอคำตอบจากลูกบ้าน ทีมยามก็แยกย้ายกันนำรูปหมาไปสอบถามกลุ่มวินมอเตอร์ใกล้ๆทางเข้าหมู่บ้านทั้งสองทางว่ามีใครเคยเห็นหมาตัวนี้วิ่งผ่านมาบ้างไหม ก็ได้คำตอบว่ามีคนเพิ่งเห็นมันวิ่งตามถนนใกล้ทางเข้าทางหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้เอง ทำให้ทีมช่วยเหลือหมาสรุปได้ว่าเป็นหมาหลงมาจากบ้านอื่นตามแนวถนนนั้นเอง ดังนั้นทีมยามจึงช่วยกันนำประกาศหาเจ้าของหมาไปติดที่เสาไฟฟ้าตามแนวถนนนั้นเผื่อว่าเจ้าของหมาจะผ่านมาเห็นประกาศและมารับหมากลับไป

คืนวันแรกที่ยังหาเจ้าของหมาไม่ได้ มีลูกบ้านหนุ่มโสดคนหนึ่งอาสามารับหมาตัวนี้ไปเลี้ยงดูตอนกลางคืนเป็นการชั่วคราว พอตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน เขาก็พาหมามาส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานดูแลต่อในตอนกลางวัน หนุ่มจิตใจดีคนนี้ดูแลหมาตัวนี้อยู่สองคืน ก็มีลูกบ้านคุณหมอใจดีโพสเข้ามาในไลน์กลุ่มแจ้งว่าหากการดูแลหมาตัวนี้ยืดเยื้อหลายวันจนเป็นภาระยุ่งยากต่อคนหลายคน คุณหมออาสาจะพาหมาไปฝากเลี้ยงที่โรงพยาบาลสัตว์ให้ การแสดงออกเหล่านี้แสดงถีงความเมตตาของคนในหมู่บ้านที่เต็มใจจะช่วยเหลือกัน

ในวันที่สามก็มีเจ้าของหมามารับหมากลับบ้านไป เครื่องพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของหมาตัวจริงก็คือ หมาแสดงออกว่าดีใจที่พบเจ้าของ วิ่งเข้าไปเลียแข้งเลียขา และเมื่อเจ้าของเปิดประตูรถ หมาก็กระโดดขึ้นรถแบบคุ้นเคย

จากการพูดคุยสอบถามเจ้าของหมาก็ได้ข้อเท็จจริงดังนี้

ประเด็นแรก เจ้าของหมารู้ข่าวได้อย่างไรว่าหมาที่หายไปอยู่ที่สำนักงานหมู่บ้านปัญญา คำตอบคือ มีลูกบ้านคนหนึ่งอยากช่วยกระจายข่าวหาเจ้าของหมา จึงนำประกาศตามหาเจ้าของไปโพสลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง แล้วมีคนโพสต่อกันไปจนถึงตัวเจ้าของหมาซึ่งอยู่ในหมู่บ้านอื่นห่างจากหมู่บ้านที่หมาหลงเข้ามาสองซอย

ประเด็นที่สองหมาพลัดหลงจากบ้านเจ้าของได้อย่างไร คำตอบคือ หมาตัวนี้คุณแม่ของเจ้าของผู้ชายเลี้ยงไว้ที่บ้านต่างจังหวัด แต่มักเข้ามาเยี่ยมลูกชายที่กรุงเทพอยู่เสมอโดยพาหมามาด้วย หมาจึงคุ้นกับลูกชายและรถของเขาเป็นอย่างดี วันที่้เกิดเรื่องหลงทางนั้น คุณแม่เดินออกมาปากซอยเพื่อซื้อของและมีหมาเดินตามมาด้วยโดยไม่ได้ใช้สายจูง ระหว่างนั้นลูกชายขับรถออกจากบ้านเพื่อไปทำงานพอดี พอหมาเห็นรถก็วิ่งตามรถแล้วหายตัวไปเลย คุณแม่รอเท่าไรหมาก็ไม่วิ่งกลับมา ตัวคุณแม่เสียใจมากจึงยังไม่กลับไปบ้านต่างจังหวัด เฝ้ารออยู่ที่บ้านลูกโดยมีความหวังว่าหมาจะจำทางกลับมาบ้านได้ ส่วนตัวหมานั้นคาดว่าคงวิ่งตามรถไปจนเหนื่อยแล้วไม่รู้ว่าจะกลับบ้านอย่างไร จึงเดินหาทางเรื่อยๆจนหลงเข้ามาในหมู่บ้านที่ลุงหมีอยู่

เรื่องนี้จบลงเรียบร้อยด้วยความเอาใจใส่ช่วยเหลือของหลายคนในหมู่บ้านของลุงหมีและพลังของการสื่อสารทางออนไลน์ที่ช่วยกระจายข่าวตามหาเจ้าของหมา

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ลุงหมีนึกถึงหนังสือภาพเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านและซื้อเก็บไว้เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว( พศ. 2545) ซึ่งเขียนอย่างสนุกสนานว่าหมาทำตัวและคิดอย่างไร อันเป็นเรื่องที่คนรักหมาควรรู้ไว้ หลายประเด็นสอดคล้องกับเรื่องหมาหลงทางที่ลุงหมีเล่าไว้ข้างต้น

หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า ‘โตขึ้นผมอยากเป็นหมา’ ความคิดของหมาที่ลุงหมีขอถ่ายทอดให้ทราบคือ

1.หมามีแผนที่ของตัวเองเพื่อจดจำเส้นทางไปไหนมาไหนได้ถูก (รวมทั้งกลับบ้านถูก) ตัวอย่างในรูปแผนที่หมาที่จำได้ มักจะมีเส้นทางไปบ้านเพื่อนหมาตัวอื่น จำเสาไฟฟ้าที่สื่อข้อความสำคัญ จำกลิ่นของถนนสายต่างๆ จำจุดที่วิ่งไปเที่ยวบ่อยๆได้ ที่สำคัญคือ ต้องจำว่าบ้านแมวกับบ้านหมาตัวใหญ่อยู่ตรงไหน

หมาตัวที่หลงทางในเรื่องที่ลุงหมีเล่าให้ฟังมีพื้นเพเป็นหมาต่างจังหวัด ดังนั้นแผนที่ของบริเวณใกล้บ้านลูกชายเจ้าของจึงมีขนาดเล็กมาก เมื่อหมาวิ่งตามรถเจ้านายไปไกล จึงไม่มีแผนที่ให้กลับบ้านได้ถูก

2.หมามักมีเขตแดนของตัวเองและเขียนแผนที่ไว้ โดยเอาบ้านตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องกำหนดเขตแดนให้ชัดเจนโดยฉี่รดไว้ และต้องตรวจตราดูว่ามีหมาตัวอื่นมาบุกรุกเขตแดนหรือเปล่าโดยการดมกลิ่น มาตรการสำคัญที่ป้องกันหมาตัวอื่นได้ คือ พยายามฉี่รดเสาไฟฟ้าให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อแสดงว่าเราเป็นหมาตัวใหญ่มาก

กรณีของหมาหลงทางในบทความนี้ ที่ยามพาหมาตัวนั้นไปสำรวจที่ต่างๆในบริเวณหมู่บ้าน มันคงจะดมกลิ่นเขตแดนหมาได้ แต่ไม่ใช่เขตแดนของตัวเองจึงวิ่งต่อไปบ้านไม่ได้
(ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนจนทะเลาะกันไม่ใช่เรื่องเล็กระดับหมาๆนะครับ แต่สามารถเป็นปัญหาระดับชาติทีเดียว ดังเรื่องMOU 44 ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยไงล่ะ 555)

3.หมามักจะสื่อสารด้วยการส่งจดหมาย หมาจะเขียนจดหมายหรือตอบจดหมายเพื่อนเวลาออกไปเดินเล่นโดยยกขาข้างเดียวเขียน ข้อความจะฝากไว้ตามเสาไฟฟ้า ต้นหญ้า รั้วบ้านเพื่อให้เพื่อนจำนวนมากอ่านจดหมายได้ง่าย แม้จะเป็นจดหมายข้อความเดียว แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิทกันต้องอ่านหลายๆเที่ยว(ดมกลิ่นซ้ำๆ)

ลุงหมีเชื่อว่าหมาตัวหลงทางคงจะส่งจดหมายแจ้งข่าวมันหลงทางไว้หลายจุด และคงมีหมาตัวอื่นมาอ่านข้อความแล้ว แต่แจ้งข้อความต่อมายังทีมช่วยหมาหลงไม่ได้

ลุงหมีขอยกตัวอย่างเพียงสามข้อนะครับ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีข้อความอื่นๆให้อ่านไปยิ้มไปอีกมากเลย

ที่มา: หนังสือเรื่องโตขึ้นผมอยากเป็นหมา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ส.ส.ท. เยาวชน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี( ไทย- ญี่ปุ่น) พศ.2545