จิตเกษม พรประพันธ์

โครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตและตลาดรถยนต์โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์รวมไปถึง SME ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในซัพพลายเชนของเครื่องยนต์สันดาป (ICE) เพื่อจำหน่ายในประเทศและตลาดส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง จากผลกระทบของพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งและการทะลักเข้ามาของรถไฟฟ้า (EV) การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานไทยอย่างมาก
ในบทความนี้จะกล่าวถึงทิศทางการจ้างงาน รายได้ และค่าจ้างของพี่น้องแรงงานในภาคการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนฯ ของไทย ซึ่งมีแนวโน้มไม่สดใสนักในปี 2568 หลังจากการปิดยอดการผลิตรถยนต์และจำหน่ายของไทยปี 2567 ลดลงมาก และไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเหมือนเดิม
การทยอยลดการจ้างงานจากการลดกำลังการผลิตและปิดโรงงานมีต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรมีนโยบายเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าวนี้ ในระยะสั้นจึงต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกจัดสรรงานที่ใกล้เคียงทดแทน และ upskill และ reskill สำหรับแรงงานอุตสาหกรรมนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถรองรับการปรับเปลี่ยนงาน EV หรือย้ายไปยังอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตสาขาอื่นๆ เพื่อพยุงรายได้ให้พอสำหรับกับการใช้จ่ายในครอบครัว สำหรับในระยะยาวจำเป็นต้องทบทวนวางกลไกการประเมินผลนโยบาย (policy evaluation) และกระบวนการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศที่สามารถสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจ
สภาอุตสาหกรรมฯ และผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์ ให้ข้อมูลกับโครงการ Business Laison Program (BLP) สำรวจภาวะเศรษฐกิจภาคกลางและตะวันออกกับแบงก์ชาติเมื่อปลายปีก่อนว่า สถานการณ์ยอดการผลิตรถยนต์ปี 2567 เพื่อขายในประเทศและตลาดส่งออก คาดการณ์ว่าอยู่ที่จำนวน 1.48 ล้านคัน ลดลงจาก 1.8 ล้านคันในปีก่อนหรือลดลง 17.8% ส่งผลให้ซัพพลายเชนของการผลิตชิ้นส่วนฯ ลดลงเช่นกัน โดยดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์เดือน ธ.ค. 2567 ลดลง 20.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งกำลังการผลิต (capacity utilization) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากเฉลี่ย 71% ในช่วง 2564-2566 เหลือเพียง 55% ในปี 2567 จากที่เคย ซึ่งภาคกลางและตะวันออกมีโรงงานประกอบรถยนต์และผู้ประกอบการ SME ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กระจายตัวอยู่มาก คงไม่แปลกใจที่มีข่าวการปิดสายการผลิตของบางยี่ห้อและการปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯ เราจึงเห็นการจ้างงานที่ลดลง ส่วนที่ยังทำธุรกิจอยู่ก็เดินการผลิต 2-3 วันต่อสัปดาห์ ต่างจากยุครุ่งเรืองที่ผลิตกัน 6 วันต่อสัปดาห์ วันละ 3 กะ มีเงินโอที ตอนนี้คงไม่ต้องพูดถึงรายได้จากโอที และการเข้างานแบบกะอีกแล้ว
สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association) ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันมีแรงงานรวมประมาณ 4.5 แสนคน ใกล้เคียงกับข้อมูล Labor Force Survey ของสำนักงานสถิติฯ ซึ่งพบว่าตัวเลขการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนลดลงกว่า 4 หมื่นคนในปี 2567 หรือลดลงราว 10% จากปีก่อน เทียบกับการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมที่ทรงตัวปีก่อน สำหรับรายได้ของพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ก็ลดลงจากปีก่อนกว่า 10% เช่นกัน หากมาดูในฝั่งของผู้ประกอบอาชีพอิสระ (self-employed) ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนก็ลดลงไปราว 1,300 ราย จากปี 2566 ที่อยู่ประมาณ 4,900 ราย หดตัวกว่าปีก่อนถึง 30% สอดคล้องกับข้อมูลการปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2565-2567 ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ แปดริ้ว ชลบุรี ระยอง อยุธยา ราชบุรี และนครปฐม

คาดว่าในปี 2568 สถานการณ์การจ้างงานและรายได้แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง จากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังมีความท้าทายต่อเนื่องจากปี 2567
กระทรวงแรงงานตระหนักถึงปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ โดยประกาศนโยบายปี 2568 ที่กำหนดให้มีการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของสภาพเศรษฐกิจและสังคม เน้นความสำคัญของการ upskill และ reskill และการเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานในอนาคต เช่น ร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยี EV รวมถึงการสร้างโอกาสการประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามดูผลงานทางปฏิบัติในการทำงานจริงจังของผู้เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยแก้ปัญหาทั้งในเชิงปริมาณที่สามารถจัดหาและจัดสรรแรงงานให้คนมีงานทำ และในเชิงคุณภาพในการเพิ่มศักยภาพด้านทักษะวิชาชีพของแรงงานในระดับบุคคล
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างโอกาสประกอบอาชีพอิสระในท้องถิ่นรองรับในอนาคตหากมีคนตกงาน เช่น โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งช่างไฟฟ้า” ที่ริเริ่มร่วมกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว บทความนี้เห็นด้วยและขอเป็นแรงเชียร์ โดยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมักจะมีทักษะเชิงช่างทั้งช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถช่วยด้านการซ่อมบำรุงด้านเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตร และระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ หรือหากคิดไปไกลถึงการพัฒนาระบบโซลาร์ชาร์จเจอร์รองรับ EV สองล้อไฟฟ้า และโดรนเกษตรพ่นยา ในท้องถิ่น ก็เป็นช่องทางที่จะรองรับคนตกงานกลับบ้านและเป็นการพัฒนาท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กันกับการดูแลลดคาร์บอนและเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดได้อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่รวดเร็วนี้ หากมองในมิติด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับกลายเป็นความเสี่ยงจากการกระจุกตัว (concentration) ที่เราปล่อยให้เติบโตจนได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเข้ามาของเทคโนโลยี EV และส่งผลต่อด้านการจ้างงานและรายได้แรงงานในอุตสาหกรรมนี้และธุรกิจต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เช่น โลจิสติกส์ส่งคนส่งของ ดีลเลอร์ขายรถ เต็นท์รถมือสอง อุปกรณ์ตกแต่ง/อะไหล่รถ และซ่อมรถ เป็นต้น รวมถึงขณะนี้ ก็เห็นผลกระทบไปอุตสาหกรรมพลาสติกและเม็ดพลาสติกบ้างแล้ว
บทเรียนจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์และผลกระทบต่อการจ้างงานไทย ทำให้ตระหนักว่าการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุนของไทย ที่เป็นลักษณะ indicative planning ที่ทางการวางเป็นแนวทางและเอกชนนำไปขับเคลื่อนตามนโยบาย (policy execution) โดยรัฐมีมาตรการสนับสนุนแรงจูงใจต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินช่วยเหลือ และเงินอุดหนุน รวมถึงพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เอื้อให้เกิดตลาดในประเทศและการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทางนโยบาย (policy process) คือ ควรเพิ่มการประเมินผลทางนโยบาย (policy evaluation) ที่ไม่ใช่เฉพาะการบรรลุเป้าในทางตัวเลขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ไม่ได้เชื่อมโยงปัจจัยด้านต่างๆ ของหน่วยงานอื่นแบบองค์รวม (holistic) ทุกกระทรวงร่วมกับภาคเอกชน จึงต้องมีการวิเคราะห์ติดตามและประเมินความสำเร็จ/ข้อจำกัด ทบทวนความเหมาะสมของนโยบายหลังจากนำออกใช้เป็นระยะๆ และพิจารณาผลกระทบร่วมกับการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงพลวัตของปัจจัยภายนอกจากเมกะเทรนด์ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม ต้องชั่งน้ำหนักผลลัพธ์เชิงบวกและความท้าทายต่างๆ ในลักษณะมองไปข้างหน้า และต้องมีกลไกที่สามารถทบทวนปรับรูปแบบมาตรการทั้งเพิ่มแรงจูงใจและลดแรงจูงใจได้รวดเร็วพอที่จะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่จะทำให้การผลิต การจ้างงาน และการตลาด ขาดหรือเกินสมดุล จนกระทบต่อทั้งภาวะและโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ผู้เขียนขอขอบคุณผู้สนับสนุนข้อมูล
1. คุณธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย
2. คุณสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3. คุณปริญดา สุลีสถิร และคุณดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย