ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ครม.เก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ น้ำมัน 200 บาท/ตัน ยันไม่กระทบราคาหน้าปั๊ม – ผ่าน ร่าง กม.กำหนดเงินเดือนครูสังกัดกลาโหม

มติ ครม.เก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ น้ำมัน 200 บาท/ตัน ยันไม่กระทบราคาหน้าปั๊ม – ผ่าน ร่าง กม.กำหนดเงินเดือนครูสังกัดกลาโหม

21 มกราคม 2025


เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • มติ ครม.เก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ น้ำมัน – LPG 200 บาท/ตัน ยันไม่กระทบราคาขายปลีก
  • เพิ่มเงินเวนคืนที่ดิน – ลดค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่ ‘มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ’
  • ผ่าน ร่าง กม.กำหนดเงินเดือนครู-อาจารย์สังกัดกลาโหมใหม่
  • แก้ กม.ให้ ปชช.‘ฟ้องอาญา – ยื่นอุทธรณ์’ศาลทหารฯได้
  • ผ่านกฎกระทรวงกำหนด 3 กลุ่มโรค ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
  • มอบกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นเจ้าภาพ แก้ปมจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน
  • ปรับ มอก.ตู้น้ำร้อน-น้ำเย็น-แอร์บ้าน ใหม่
  • ออกป้ายทะเบียนรถโบราณ ‘พื้นดำ – ตัวอักษรขาว’
  • เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปประชุม World Economic Forum ปี 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

    ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม ได้มอบหมายให้ นายคารม พลพรกลาง และนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม.มีรายละเอียดดังนี้

    เพิ่มวงเงินเวนคืนที่ดิน – ลดค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่ ‘มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ’

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

    1. อนุมัติปรับกรอบวงเงินรวมของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ (โครงการฯ) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็น 29,763.57 ล้านบาท และ

    2. เห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินการด้วยวิธีปรองดอง จำนวน 197.37 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 39 (5) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินค่าทดแทนพื้นที่เวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในโครงการฯ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ต่อไป

    สาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้

    1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 อนุมัติในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ (โครงการฯ) ในกรอบวงเงิน 29,449.31 ล้านบาท ประกอบด้วย

      (1) ค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 56 ล้านบาท
      (2) ค่าก่อสร้าง วงเงิน 28,598.86 ล้านบาท และ
      (3) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการประกวดราคาและควบคุมงาน วงเงิน 794.45 ล้านบาท

    และ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายการค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างของโครงการฯ และอนุมัติรายการค่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มเติมอีก 2 รายการ [ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทบทวน จัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินการประกวดราคาโดยวิธีการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) และค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับแบบรายละเอียด อำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา] ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมของโครงการฯ เพิ่มเป็น 31,129.22 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของค่าเวนคืนที่ดินยังคงมีกรอบวงเงิน 56 ล้านบาท คงเดิม

    2. เมื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ รฟท. จะต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อก่อสร้างทางและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงขั้นตอนการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนพบว่า ค่าทดแทนดังกล่าวมีมูลค่าสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้ เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่บางส่วนที่ตกสำรวจ และไม่ได้มีการประมาณราคาค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ไว้ในขั้นตอนขออนุมัติกรอบวงเงินของโครงการฯ ส่งผลให้กรอบวงเงินค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น โดยที่ในส่วนของสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ ยังมีความไม่ชัดเจนในการปรับแบบก่อสร้าง เนื่องจากข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้โครงการฯ เกิดความล่าช้า และ รฟท. สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างได้โดยเร็ว กระทรวงคมนาคม (คค.) จึงขอเสนอปรับเพิ่มกรอบวงเงินเฉพาะในส่วนของค่าเวนคืนที่ดินของสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟอีกจำนวน 197.37 ล้านบาท ส่งผลให้กรอบวงเงินค่าเวนคืนของโครงการฯ เพิ่มขึ้นจากเติม 56 ล้านบาท เป็น 253.37 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ คค. จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายหลังต่อไป

    3. ที่ผ่านมา รฟท. ได้ลงนามตามสัญญาค่าก่อสร้าง เพื่อดำเนินโครงการฯ ไปแล้วบางส่วน ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำหรับเวนคืนที่ดินมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้วงเงินรวมโครงการฯ ในปัจจุบันแตกต่างไปจากที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ดังนั้น คค. จึงขอปรับกรอบวงเงินรวมของโครงการฯ ให้มีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้

    4. กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง

    เก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ น้ำมัน – LPG 200 บาท/ตัน ยันไม่กระทบราคาขายปลีก

    นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยกำหนดหลักเกณฑ์ สำหรับกลไกราคาคาร์บอน ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสนอ โดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้ เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่สร้างโอกาสให้รัฐบาล สามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของมาตรการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่อย่างใด

    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. สินค้าที่จะมีการกำหนดกลไกราคาคาร์บอนเป็นสินค้าในตอนที่ 1 สินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะประเภท ดังนี้

      1) ประเภทที่ 01.01 น้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงแก๊สโซฮอล์ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นต้น
      2) ประเภทที่ 01.03 น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน
      3) ประเภทที่ 01.04 น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น
      4) ประเภทที่ 01.05 น้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล B5 น้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซล B10 เป็นต้น
      5) ประเภทที่ 01.07 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ก๊าซโพรเพรน และก๊าซที่คล้ายกัน
      6) ประเภทที่ 01.12 น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกัน

    2. กำหนดราคาคาร์บอนของสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเบื้องต้นจะมีการกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า

    3. กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตดังกล่าว จะพิจารณาจากราคาคาร์บอนที่กำหนดคูณกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิด

    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) กระทรวงการคลังให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคขนส่ง และน้ำมันที่เป็นต้นทางของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งทั้งสองภาคส่วนดังกล่าว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด หรือ ประมาณร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

    ดังนั้น การกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมีขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนในสังคมให้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

    ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีส่วนช่วยทำให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างโอกาสให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้กลไกคาร์บอนภาคบังคับกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันต่อไป

    ดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. นี้ เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มีการคำนวณราคาคาร์บอนไว้เป็นส่วนหนึ่งในอัตราภาษีน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ กระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อม และการสร้างมาตรฐานสากลให้กับผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีการบังคับใช้มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในหลาย ๆ ประเทศ ได้เตรียมตัว และสามารถใช้ราคาคาร์บอนนี้ในกรณีที่จะมีการจัดเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาคาร์บอนจากสินค้าที่จะนำเข้าไปในประเทศนั้น ๆ ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มตระหนักถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการใช้กลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยยืนยันว่าการกำหนดราคาคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและค่าครองชีพของประชาชน

    นายคารม พลพรกลาง และนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    แก้ กม.ให้ ปชช.‘ฟ้องอาญา – ยื่นอุทธรณ์’ศาลทหารฯได้

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร ฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารฯ นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 บัญญัติให้ศาลทหารในเวลาปกติ อัยการทหาร หรือ ผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น (เช่น นายทหาร นักเรียนเตรียมทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร) ที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร แต่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น ไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารได้ด้วยตนเอง และกรณีศาลทหารในเวลาไม่ปกติ หรือ ศาลอาญาศึก อัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร และในกรณีการอุทธรณ์คำพิพากษา หรือ คำสั่งในคดีอาญาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึกไม่ว่ากรณีใด ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษา หรือ คำสั่งทั้งสิ้น

    กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า “เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยตนเอง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาทบทวนคำพิพากษาโดยศาลที่สูงกว่า จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ผู้เสียหายซึ่งมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร สามารถใช้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลทหารในเวลาปกติ และในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่ในกรณีศาลอาญาศึกจะเป็นอัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการให้อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งในคดีอาญาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติเฉพาะกรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งไม่อยู่ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงคราม ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับข้อบทที่ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

    ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

      1. กำหนดให้ยกเลิกศาลจังหวัดทหาร (เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารบกขึ้นใหม่ และยกเลิกเขตอำนาจศาลจังหวัดทหารทุกแห่งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารฯ)

      2. กำหนดให้ผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาในศาลทหารได้ (เดิมศาลทหารในเวลาปกติอัยการทหาร หรือ ผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น ที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร แต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารด้วยตนเอง และกรณีศาลทหารในเวลาไม่ปกติ หรือ ศาลอาญาศึก อัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร)

      3. กำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาลทหาร ในเวลาไม่ปกติ กรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งไม่อยู่ในเวลาที่มีการรบ หรือ สถานะสงครามโดยตรงต่อศาลทหารสูงสุดได้ (เดิมคำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึกไม่ว่ากรณีใด ห้ามไม่ให้อุทธรณ์ หรือ ฎีกาคำพิพากษา หรือ คำสั่งดังกล่าว) ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    ผ่านกฎกระทรวงกำหนด 3 กลุ่มโรค ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ เพื่อกำหนดเพิ่มลักษณะอาการของโรค จำนวน 3 กลุ่มโรค ได้แก่

      1) กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง
      2) โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด และ
      3) โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดง ผิดปกติชนิด G-6-PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) กำหนดให้เป็นคนจำพวกที่
      2

    ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองเกินประจำ สามารถตรวจวินิจฉัย และกำหนดคนเป็นจำพวกได้ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กำหนด

    นายคารม กล่าวว่า จากการตรวจเลือกที่ผ่านมาได้ตรวจพบลักษณะอาการของกลุ่มโรค 3 โรคดังข้างต้น ซึ่งปรากฎตามร่างกาย หรือ ภายในร่างกายของบุคคลที่เป็นโรค และยังคงแสดงอาการของโรคทางร่างกายเห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ ซึ่งเป็นลักษณะอาการโรคของคนจำพวกที่ 2 แต่ปัจจุบันยังกำหนดให้เป็นคนจำพวกที่ 1 ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ดังนั้น กระทรวงกลาโหม (กห.) เห็นสมควรกำหนดให้คนที่มีอาการ 3 กลุ่มโรคดังกล่าว เป็นคนจำพวกที่ 2 ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการในกรณีที่มีคนจำพวกที่ 1 มีจำนวนเพียงพอกับยอดความต้องการทหารกองประจำการ เพื่อให้การตรวจเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการตรวจเลือกสามารถกำหนดคนเป็นจำพวกได้อย่างถูกต้อง และกองทัพได้กำลังพลที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจด้านความมั่นคง

    ขยายเวลาออก กม.ลูก ป้องกันการทำผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ – ใช้ความรุนแรงอีก 1 ปี

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 21 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568

    นายคารม กล่าวว่า พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับหลังวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป) ปัจจุบัน ยธ. มีกฎหมายลำดับรองในระดับกฎกระทรวง ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและยังไม่ใช้จำนวน 1 ฉบับ กล่าวคือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด พ.ศ. …. ที่ออกตามความในมาตรา 19 วรรคสองและมาตรา 21 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูทางการแพทย์ และมาตรการอื่น ๆ แก่ประชาชน ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดช้า โดยอาจเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ ยังมีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในเรื่องการพิจารณา ลดโทษ พักการลงโทษ หรือ ให้ประโยชน์อื่นใดอีกด้วย ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมาย ยธ. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองออกไป 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568

    เห็นชอบประกาศ สธ.กำหนดเพดานค่าใช้จ่าย – ขึ้นบัญชี อย.

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ (1) ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือ การตรวจสอบเครื่องสำอาง พ.ศ. …. (2) ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นขอในกระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ (1) ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการหรือการตรวจสอบเครื่องสำอาง พ.ศ. …. และ (2) ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นขอในกระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง พ.ศ. …. ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นการกำหนดอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการการวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือ การตรวจสอบเครื่องสำอาง และกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง เช่น การประเมินเอกสารทางวิชาการ และการตรวจสถานประกอบการ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาเครื่องสำอางเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งบัญญัติให้มีการออกประกาศฉบับใหม่แทนประกาศเดิมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพฯ โดยที่อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุด และอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดยังคงเป็นอัตราเดิม ตามประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าว และได้กำหนดให้อาจมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุด และอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดทุก 5 ปี หรือ เมื่อมีเหตุจำเป็น

    ทั้งนี้ อัตราตามที่กำหนดไว้ในร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวเป็นการกำหนดอัตราเพดานสูงสุดเท่านั้น ซึ่งอัตราค่าขึ้นบัญชี และอัตราค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บจริงจะมีการออกประกาศ เพื่อกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บอีกครั้งหนึ่งภายหลัง โดยเป็นอัตราที่ไม่เกินตามที่กำหนดไว้ร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการเครื่องสำอางได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กระทรวงสาธารณสุขควรสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบอย่างทั่วถึง และในการกำหนดอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด ควรถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 (เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ) เป็นต้น

    ผ่าน ร่าง กม.กำหนดเงินเดือนครู-อาจารย์สังกัดกลาโหมใหม่

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออก ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ โดยสาระสำคัญของเรื่อง มีดังนี้

    1. ปัจจุบันการกำหนดอัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน และการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมในแต่ละประเภท ได้แก่ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ ประเภทการสอนหรือวิจัย และประเภททั่วไปเทียบเคียงจากกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินเดือนและอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นการเฉพาะ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ที่กระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ตำแหน่งประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ ประเภทการสอนหรือวิจัย และประเภททั่วไป ได้รับเงินเดือนที่มีขั้นต่ำและขั้นสูง และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมอัตราเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง หรือ กฎหมายว่าด้วยการนั้น เพื่อให้การดำเนินการปรับอัตราเงินเดือน และอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมสอดคล้องกับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร ทั้งนี้ มีเพียงตำแหน่งประเภท การสอน หรือ วิจัยเท่านั้นที่ได้กำหนดให้ได้รับอัตราเงินเดือนต่ำและขั้นสูงที่แตกต่างไปจากข้าราชการพลเรือนสามัญ ดังนี้

    2. กระทรวงกลาโหมชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้ใช้กฎหมายของข้าราชการพลเรือนสามัญเทียบเคียง ประกอบกับการนำระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมมาใช้มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดจำนวนข้าราชการทหาร และเป็นการแก้ไขปัญหาความคับคั่งในแต่ละชั้นยศ และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงกลาโหมที่จะลดกำลังพลที่เป็นทหารลง ซึ่งได้กำหนดให้บรรจุทดแทนตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องให้ทหารปฏิบัติงานจึงไม่ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากนำงบประมาณในส่วนของทหารที่ลดลงมาใช้กับข้าราชการพลเรือนกลาโหมแทน

    3. กระทรวงกลาโหมได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและ กรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติ ในเรื่องนี้แล้ว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม และการให้ได้รับเงินเดือน พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ซึ่งร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของบุคคลที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม ให้เป็นไปตามประเภท สายงานและระดับที่กำหนดในกฎกระทรวง และกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว

    มอบกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นเจ้าภาพ แก้ปมจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เสนอ โดยจะพิจารณามอบหมาย 2 ส่วนหลัก ดังนี้

      1.1 ให้กรมกิจการผู้สูงอายุเป็นเจ้าภาพหลัก และให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินงานการจัดทำหน้าฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

      1.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ/สวัสดิการผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่าง ๆ โดยมีจำนวน 43 รายการ 23 หน่วยงาน (10 กระทรวง) สนับสนุนข้อมูลรายบุคคลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

    “การจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ และทุกหน่วยงานบูรณาการข้อมูลร่วมกันจะสามารถลดปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการดูแลลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเกิดประโยชน์ร่วมกัน” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

    ทั้งนี้ ในการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล (Data Sharing) ควรพิจารณาฐานข้อมูลที่จำเป็น และเป็นฐานข้อมูลที่มีความพร้อม โดยพิจารณาจากหน่วยงานและผู้รับผิดชอบข้อมูล (หน่วยงานราชการ) ในการรับและส่งข้อมูล โดยถือว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลที่มีบทบาทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

    โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ด้านความครบถ้วนของข้อมูล และประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นเหมาะสมในการจัดทำฐานข้อมูล

    ปรับ มอก.ตู้น้ำร้อน-น้ำเย็น-แอร์บ้านใหม่

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค เฉพาะด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้น้ำเย็นบริโภค เฉพาะด้านความปลอดภัยมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2461 – 2552 โดยเป็นการยกเลิกมาตรฐานเดิมและกำหนดมาตรฐานใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 24661 – 2565 เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหาย อันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศชาติ

    ทั้งนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค จะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงานต้องเป็นไป ตามมาตรฐาน พ.ศ. … ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2334 – 25553 โดยยกเลิกมาตรฐานเดิม และกำหนดมาตรฐานใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2334 – 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีการทำและการใช้งานภายในประเทศอย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานระหว่างประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ และลดพลังงานการใช้ไฟฟ้า

    ทั้งนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน จะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ผ่านกฎกระทรวง 4 ฉบับ ขยายเวลาจัดทำสำมะโนประชากรอีก 10 ปี

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติหลักการร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 รวมจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้ (1) ร่างกฎกระทรวงสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. … (2) ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างยอดขายรายไตรมาส พ.ศ. … (3) ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. … และ (4) ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในสถานประกอบการ พ.ศ. … ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติมีฐานะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับสถิติตามหลักวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำสำมะโน หรือ การสำรวจตัวอย่าง หรือ อำนวยการให้มีการสำรวจด้านต่างๆ ของประเทศ หากสำนักงานสถิติแห่งชาติจะดำเนินการจัดทำสำมะโน หรือ สำรวจตัวอย่างที่ประสงค์จะให้ประชาชนเป็นผู้ให้ข้อมูลนั้น มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 บัญญัติ ให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง

    ปัจจุบันกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำสำมะโน หรือ จัดทำการสำรวจตัวอย่าง ซึ่งมีผลใช้บังคับ 10 ปี นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จะครบกำหนดอายุ 10 ปี ในวันที่ 29 ธันวาคม 2568 รวม 4 ฉบับ ดศ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง จำนวน 4 ฉบับ เพื่อมาใช้บังคับแทนกฎกระทรวงเดิม โดยมีผลใช้บังคับ 10 ปี เพื่อให้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและขนาดของสถานประกอบ ประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าขายหรือรายรับจากการจำหน่ายสินค้า และบริการประเภทต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของสถานประกอบการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ภาครัฐ และภาคเอกชนนำข้อมูลไปใช้ในการวางนโยบาย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธุรกิจของประเทศ

    ออกทะเบียนรถโบราณ ‘พื้นดำ – ตัวอักษรขาว’

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถ และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่…) พ.ศ…. (กำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนตร์โบราณ (Classic Cars)) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขนาดลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์โบราณ (Classic Cars) เพื่อให้การควบคุมกำกับดูแลการจดทะเบียนรถยนต์โบราณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) เนื่องจากปัจจุบันกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถ และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2554 มิได้กำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์โบราณ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการควบคุมกำกับดูแลการจดทะเบียนรถยนต์โบราณ (Classic Cars) และส่งผลกระทบต่อมาตรการส่งเสริมงานศิลปะ ทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม และรถยนต์โบราณ ไม่เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

    โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้มีการเพิ่ม บทนิยามคําว่า รถยนต์โบราณ (Classic Cars) รวมถึง การกำหนดขนาดและลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ให้มีขนาดและลักษณะเช่นเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล เว้นแต่บรรทัดที่หนึ่งประกอบด้วยตัวอักษร ประจำหมวดหนึ่งตัว หมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก และกำหนดให้พื้นแผ่นป้ายใช้สีดำสะท้อนแสง ตัวอักษรประจำหมวด หมายเลขทะเบียน ตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดที่จดทะเบียน และขอบแผ่นป้ายใช้สีขาว

    ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องในหลักการ โดย กระทรวงการคลัง (กค.) ขอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในส่วนของบทนิยาม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่าการนำรถยนต์โบราณมาใช้ในกิจกรรมเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งเสริมนโยบายการสร้าง soft power หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรมอบหมายให้ กค. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพิจารณาศึกษารายละเอียดของมาตรการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. เพื่อให้การพิจารณากฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม

    กำหนดชายฝั่งทะเล ‘เพชรบุรี -ประจวบฯ’ เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ…. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างประกาศฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ 2561 ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาบังคับใช้ในวันที่ 29 มิถุนายน 2568 เพื่อปรับปรุงเป็นฉบับใหม่ โดยกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย

    โดยร่างประกาศดังกล่าวนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับประกาศฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญ เช่น ปรับปรุงการกำหนดพื้นที่ ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กำหนดกลไกการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

    ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องในหลักการ โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

    แต่งตั้งรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ – สนทช.

    นายคารม กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติการแต่งตั้งข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วนงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.
    2. นางภาวิณา อัศวมณีกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สศช. ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอแต่งตั้ง นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอแต่งตั้ง นางสาวณภัสนันท์ อรินทคุณวงษ์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

    5. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 472/2567 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 472/2567 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2567 (เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 314/2567 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567) ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง โดยสลน. รายงานว่า

    นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 472/2567 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2567

    1. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)

      1.1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 1.3.5 “1.3.5 คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค”
      1.2 ให้ยกเลิกข้อ 1.5 [ที่มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค]

    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ)

      2.1 ให้ยกเลิกข้อ 2.4.1 [ที่มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะฯ) ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค] 2.2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2.6.7 “2.6.7 กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค”

    3. รองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย ชุณหวชิร) ให้ยกเลิกข้อ 5.1.1 [ที่มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัยฯ) ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ]

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 21 มกราคม 2568 เพิ่มเติม