ThaiPublica > สู่อาเซียน > AMRO ลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ASEAN+3 ปี 2568 มาที่ 4.2% ความตึงเครียดทางการค้ารุนแรงขึ้น

AMRO ลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ASEAN+3 ปี 2568 มาที่ 4.2% ความตึงเครียดทางการค้ารุนแรงขึ้น

22 มกราคม 2025


ที่มาภาพ:https://amro-asia.org/asean3-economies-to-sustain-growth-at-4.2-in-2025-despite-rising-headwinds-from-escalating-trade-tensions

AMRO คาดการณ์ในรายงานอัปเดตรายไตรมาสล่าสุดของแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Regional Economic Outlook:AREO) ว่า ภูมิภาคอาเซียน+3 จะเติบโต 4.2% ในปี 2568 ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและการเติบโตของการส่งออกคาดว่าจะหนุนการเติบโตของภูมิภาค ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น อาจทำให้อุปสงค์ภายนอกลดลง

ภูมิภาคอาเซียน+3 อยู่ในทิศทางที่จะเติบโต 4.2% ในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ที่ได้ประเมินไว้ในตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนหลายประเทศช่วยชดเชยการขยายตัวที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยในกลุ่มเศรษฐกิจบวก 3 (จีน(ฮ่องกง) จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในภูมิภาคเพิ่มขึ้นปานกลาง 1.7% โดยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดเนื่องจากราคาพลังงานและการขนส่งทั่วโลกอ่อนตัวลงในช่วงปลายปี 2567

การเติบโตคาดว่าจะต่อเนื่อง 4.2% ในปี 2568 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ 4.4% ในรายงานอัปเดต AREO เดือนตุลาคม 2567 เล็กน้อย การปรับลดลงสะท้อนให้เห็นถึงสมมติฐานพื้นฐานใหม่ที่ว่าสหรัฐฯ จะกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ผลกระทบของภาษีเหล่านี้คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศในกลุ่มบวก 3 ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะเติบโต 4.0% ในปี 2568 เศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยคาดการณ์ว่าภูมิภาคจะขยายตัว 4.8% ในปี 2568

“วงจรขาขึ้นของเทคโนโลยีทั่วโลกช่วยหนุนการส่งออกของอาเซียน+3 ในปี 2567 ให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยความอ่อนแอของการบริโภคภายในประเทศในบางส่วนของภูมิภาค” ดร. โฮ อี้ คอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ AMRO กล่าว “อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดอัตราภาษีของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น อาจทำให้อุปสงค์ภายนอกสำหรับภูมิภาคและส่วนอื่นๆ ของโลกลดลงในปีต่อๆ ไป”

แรงกดดันด้านราคาทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน+3 คาดว่าจะยังคงมีอยู่ อัตราเงินเฟ้อ ไม่รวม สปป. ลาว และเมียนมา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี 2568 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้นและการปรับด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งสูงขึ้นและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

แนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับอาเซียน+3 ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีส่วนในการเติบโตทั่วโลกมากกว่า 40% อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีนัยสำคัญ ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นและความคาดหวังต่อนโยบายการเงินของสหรัฐฯที่เปลี่ยนไป ตัวชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เช่น ตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะยืดเยื้อ และอัตราดอกเบี้ยจะสูงเป็นเวลานาน การปรับเปลี่ยนนโยบายโดยฝ่ายบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นและการลดภาษี อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และทำให้สภาวะทางการเงินระหว่างประเทศตึงตัวขึ้น

“ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง” ดร.คอร์ กล่าว “อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจทำให้เส้นทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และภูมิภาคห่างกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 มีความยุ่งยากมากขึ้น”