ThaiPublica > เกาะกระแส > วินัยทางการคลังสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อในเมียนมาเพียงใด?

วินัยทางการคลังสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อในเมียนมาเพียงใด?

20 สิงหาคม 2017


เขียนโดย ชัยพัฒน์ พูนพัฒน์พิบูลย์ และเปาโล เฮอร์นานโด

บทความ “วินัยทางการคลังสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อในเมียนมาเพียงใด?” แปลจาก “Curbing inflation in Myanmar – fiscal discipline must continue” ตีพิมพ์ใน www.mmtimes.com วันที่ 16 สิงหาคม 2560

ที่มาภาพ: http://www.mmtimes.com/index.php/opinion/27290-curbing-inflation-in-myanmar-fiscal-discipline-must-continue.html

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมักมีธนาคารกลางเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเงินเฟ้อ แต่แทบทุกประเทศที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคการคลังจำเป็นต้องมีบทบาทดูแลเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน

เมียนมาก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในระยะตั้งต้นของการพัฒนา ที่ตลาดการเงินยังไม่พัฒนาเพียงพอจะเอื้อให้รัฐบาลระดมทุนได้โดยตรงจากภาคเอกชน อีกทั้งในอดีตก่อนเปิดประเทศ รัฐบาลก็ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องกู้เงินจากธนาคารกลางเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของอาเซียน +3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office หรือ AMRO) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด 2 อันดับแรกที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของเมียนมาอยู่ที่ร้อยละ 16 ในช่วงปี 2010-2015 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาค คือ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการกู้ยืมเงินโดยตรงจากธนาคารกลางเพื่อชดเชยขาดดุลของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีงบประมาณ 2015-2016 การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ของ GDP เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักลดลง ในขณะที่รายจ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลพยายามรัดเข็มขัดในรายจ่ายที่ไม่จำเป็นแล้วก็ตาม

รัฐบาลเมียนมาตระหนักถึงผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อจากการชดเชยการขาดดุลด้วยวิธีนี้ จึงพยายามออกตั๋วเงินคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลมากขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องด้วยการเปิดให้มีตลาดซื้อขายตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2016 และพยายามเพิ่มผลตอบแทนให้ภาคเอกชนที่มาลงทุนในตราสารเหล่านี้ โดยให้ตลาดสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยของตั๋วเงินคลังได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้าร่วมในการประมูลหลักทรัพย์รัฐบาล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้าลดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลผ่านธนาคารกลางเมียนมาไม่เกินร้อยละ 40 ของการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2016/17 แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะเป็นช่วงแรกของการพัฒนาตลาด การระดมเงินจากภาคเอกชนด้วยวิธีการข้างต้นจึงต่ำกว่าเป้าหมาย

ที่น่ากังวลคือ ในระยะต่อไป การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ขณะที่รัฐบาลกำหนดกรอบการขาดดุลงบประมาณต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อ GDP ตามแผนระยะปานกลาง เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นบททดสอบความมุ่งมั่นของรัฐบาลเมียนมาในการลดรายจ่าย สร้างรายได้ เพื่อให้การขาดดุลการคลังเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้

AMRO แนะว่า รัฐบาลเมียนมาสามารถลดการพึ่งพิงเงินกู้จากธนาคารกลางได้ หากสามารถบริหารจัดการในสองด้านที่สำคัญดังนี้

ด้านแรก จากการที่หนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลสามารถที่จะวางแผนอย่างเป็นระบบในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) ที่ดอกเบี้ยต่ำ โดยกำหนดให้การกู้ยืมเงินนี้เข้าไปอยู่ในกรอบการวางแผนทางการคลัง

ด้านที่สอง รัฐบาลควรปรับปรุงการวางแผนงบประมาณและการจัดการเงินสด เพราะจะช่วยให้รัฐบาลสามารถควบคุมเงินสดส่วนเกิน และปรับสมดุลให้กับงบประมาณได้ดีขึ้น

ในระยะปานกลางถึงระยะยาว การมีวินัยในการกู้เงินของภาครัฐเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคุมเงินเฟ้อ ดังนั้น ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเงินเฟ้อต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องต้องดำเนินการการปฏิรูปด้านการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และการขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ และจัดสรรงบประมาณไปสู่โครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ทั้งเรื่องการสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ในอนาคต อันจะทำให้การขาดดุลการคลังลดลงไปสู่เป้าหมายได้

AMRO ยกตัวอย่างกรณีกัมพูชาที่ปฏิรูปภาคการคลังโดยการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศและยอมให้กู้เงินสำหรับการลงทุนเท่านั้น แต่จะไม่ยอมให้กู้เงินมาเพื่อใช้ในรายจ่ายประจำ (เช่น จ่ายเงินเดือนค่าจ้างต่างๆ) เพราะเป็นรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

การปฏิรูปภาคการคลังและการรักษาวินัยทางการคลังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีความก้าวหน้าได้โดยมีอัตราเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสมในระยะยาว ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาพยายามอย่างมากในการรัดเข็มขัดเมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า วินัยการคลังเช่นนี้จำเป็นต้องยึดมั่นไว้ต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว บทเรียนจากหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนชี้ว่า การเก็บกระสุนไว้ในช่วงเริ่มต้นแม้จะยากลำบาก แต่จะเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว