สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
ในโลกยุคปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าพลังงานคือชีวิต ก่อนเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รัสเซียคือแหล่งพลังงานหลักของยุโรป หลังเกิดสงคราม ความขัดแย้งกับรัสเซียทำให้ยุโรปเริ่มเผชิญปัญหาพลังงานและตระหนักรู้อย่างฉับพลันว่าการมอบชีวิตไว้ในกำมือของรัสเซีย ดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก แผนการปรับเปลี่ยนระบบพลังงานให้มั่นคงและยืดหยุ่นกว่าเดิมจึงถือกำเนิดขึ้น
เพื่อพัฒนาระบบพลังงานที่หลากหลายและมีภูมิคุ้มกัน ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานเดียวเหมือนที่เคยเป็นมา สหภาพยุโรปจึงดำเนินการหลากหลายรูปแบบ มีทั้งการกระจายแหล่งนำเข้าพลังงาน เพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ทบทวนเรื่องการใช้พลังงานปรมาณู และอีกหลากหลายมาตรการ
แต่มาตรการหนึ่งที่โดดเด่นและท้าทายคือการหันไปฝากความหวังไว้กับพลังงานไฮโดรเจน โดยวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฮโดรเจนที่เชื่อมโยงทั่วทวีปยุโรป ซึ่งรวมแล้วจะมีความยาวท่อใน 21 ประเทศ มากถึง 39,700 กิโลเมตร ภายในปี 2040
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดคือการเดินท่อยาว 3,300 กิโลเมตร เพื่อขนส่งไฮโดรเจนมาจากประเทศแอลจีเรียซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2030

กระจายความเสี่ยง
ก่อนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยุโรปนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณมหาศาล ประเทศเล็กๆ ในยุโรปบางประเทศพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียแบบเต็มร้อย เช่น มาซิโดเนียเหนือ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และมอลโดวา ขณะที่ฟินแลนด์และลัตเวียพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากกว่า 90 %
เมื่อเล็งเห็นว่าการพึ่งพารัสเซียมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการใช้ชีวิตของพลเมืองได้ หากเกิดความไม่ลงรอยกัน ในเดือนพฤษภาคม 2022 สหภาพยุโรปจึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่มีชื่อว่า REPowerEU ซึ่งสื่อถึงการปรับโครงสร้างพลังงานของสหภาพยุโรปเสียใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย
แผนงาน REPowerEU กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ ได้แก่ การประหยัดพลังงาน การกระจายแหล่งพลังงาน และการผลิตพลังงานสะอาด
ในแง่ของการประหยัดพลังงาน ยุโรปรณรงค์การประหยัดพลังงานในอาคาร อุตสาหกรรม การขนส่ง และในครัวเรือนอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็เพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังน้ำ โดยให้การช่วยเหลือทั้งด้านนโยบายและการให้เงินอุดหนุน
ส่วนด้านการกระจายแหล่งพลังงานนั้น สหภาพยุโรปทุ่มเทให้อย่างเต็มที่ ทั้งเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสร้างความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ กาตาร์ นอร์เวย์ พร้อมกับขยายโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและท่อส่ง
ในเวลาเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ทบทวนนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งในด้านการพิจารณาต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดิม และการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่
แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะได้แก่ความมุ่งมั่นที่จะผลิตพลังงานสะอาดด้วยการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน โดยมีทั้งการวิจัยเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว การลงทุนในโครงสร้างการผลิต การจัดเก็บ และการขนส่ง
โยงใยทั่วยุโรป
สหภาพยุโรปเน้นใช้วิธีสนับสนุนด้านนโยบายและเงินทุนให้กับเอกชน ทั้งนี้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน 33 ราย ได้รวมตัวกันก่อตั้งโครงข่ายไฮโดรเจนยุโรป (European Hydrogen Backbone – EHB) ขึ้นมา
โดยโครงข่ายไฮโดรเจนยุโรปมีเป้าหมายที่จะสร้างโครงข่ายพื้นฐานสำหรับขนส่งไฮโดรเจนที่มีความยาวท่อรวมกัน 39,700 กิโลเมตร ใน 21 ประเทศ ภายในปี 2040 ทั้งนี้สองในสามของโครงข่ายจะเป็นการปรับปรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
โครงข่ายไฮโดรเจนยุโรปยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น สถานีบริการไฮโดรเจนและท่าเรือขนส่งไฮโดรเจน เพื่อรองรับการขนส่งและการจัดจำหน่ายไฮโดรเจนในอนาคต โดยมองว่าไฮโดรเจนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของยุโรป เนื่องจากช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สหภาพยุโรปจะกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องพลังงานไฮโดรเจนมาหลายปี แต่การผลิตไฮโดรเจนภายในสหภาพยุโรปก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเร่งรัดพัฒนาด้านไฮโดรเจนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น
โครงการเซาธ์ทู
โครงการเซาธ์ทู (The SoutH2 Corridor) อาจกล่าวได้ว่าเป็นความคืบหน้าแบบก้าวกระโดดของโครงข่ายไฮโดรเจนยุโรป โดยเป็นโครงการที่คณะกรรมาธิการยุโรประบุไว้ว่ามีสิทธิ์ได้รับการอนุญาตแบบเร่งด่วนและจะได้รับเงินทุนเป็นกรณีพิเศษ
โครงการนี้จะเดินท่อขนส่งไฮโดรเจนที่มีความยาวถึง 3,300 กิโลเมตรโดยมีจุดเริ่มต้นที่ชายฝั่งของประเทศแอลจีเรียไปยังเยอรมนี ผ่านอิตาลีและออสเตรีย เพื่อนำไฮโดรเจนต้นทุนต่ำจากแหล่งผลิตในแอฟริกาไปยังยุโรปปีละ 4 ล้านตัน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2030
การถือกำเนิดของโครงการเซาธ์ทูถือเป็นการช่วยรับประกันความอุ่นใจของประชาคมยุโรปได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ ไฮโดรเจนจากแอฟริกาเหนือจะมีสัดส่วนมากถึง 40 % ของเป้าหมายที่แผนยุทธศาสตร์ REPowerEU กำหนดไว้
แม้จะดูแล้วเหมือนเป็นระยะทางการเดินท่อขนส่งที่ยาวไกล แต่โครงการเซาธ์ทูเน้นใช้ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่เดิมมากกว่า 70 % และสร้างเพิ่มเติมเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น จึงสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมต้องนำเข้าจากที่ห่างไกล
ในปัจจุบัน ไฮโดรเจนส่วนใหญ่ที่ผลิตกันอยู่ทั่วโลกจะเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกกันว่าไฮโดรเจนสีเทา แม้จะมีราคาถูกกว่าแต่ก็ไม่ตอบโจทย์เรื่องแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของยุโรป
ขณะที่ไฮโดรเจนซึ่งผลิตจากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแต่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต จะเรียกกันว่าไฮโดรเจนสีเขียวและเป็นพลังงานสะอาดที่สหภาพยุโรปต้องการ
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของไฮโดรเจนสีเขียวอยู่ที่ความไม่สะดวกในการผลิตขึ้นในประเทศที่มีขนาดเล็กและประชากรหนาแน่นอย่างในสหภาพยุโรป เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องใช้พื้นที่กว้างขวางในการผลิต การเลือกนำเข้าไฮโดรเจนจากประเทศที่มีพลังงานหมุนเวียนเหลือเฟือและมีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างแอลจีเรีย จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
เมื่อพิจารณาแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในอนาคต เชื่อว่าความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ จะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และในที่สุด ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนก็จะถูกลงเรื่อยๆ เพราะการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ดังนั้น ความหวังของยุโรปที่จะสร้างโครงข่ายขนาดยักษ์เพื่อฝากอนาคตไว้กับพลังงานไฮโดรเจน จึงน่าจะกลายเป็นจริงได้ไม่ยากนัก
ข้อมูลอ้างอิง:
https://ehb.eu/
https://www.south2corridor.net/south2
https://www.ecoticias.com/en/energy-hydrogen-africa-south2-corridor/8822/
https://www.weforum.org/stories/2021/07/clean-energy-green-hydrogen/
https://www.offshore-energy.biz/hydrogen-europe-and-h2chile-strengthen-hydrogen-ties/