ดร.ภิญโญ มีชำนะ
เรามักจะได้ยินว่ามีการพัฒนา SMR ที่โน่นที่นี่ว่าประสบความสำเร็จในระดับเชิงพาณิชย์ แต่พอศึกษาเข้าไปดูรายละเอียดกลับพบว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่โฆษณาเอาไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในโซเชียลมีเดียนั้นบางรายมีการโฆษณาเกินจริงทำให้คนทั่วไปสับสนว่าการพัฒนาเทคโนโลยี SMR แบบไหนที่ยังคงอยู่ในกระดาษ หรือแบบไหนที่โฆษณาเกินจริง ผู้เขียนเองติดตามข่าวความก้าวหน้าของเทคโนโลยี SMR ตอนแรกก็สับสนอยู่เหมือนกัน กระทั่งติดตามความก้าวหน้าที่มีการพัฒนาอย่างจริงจังพบว่า เทคโนโลยี SMR ที่ก้าวหน้าไปมากมีหลายขนาดหลายแบบที่มีศักยภาพสูงที่จะมีความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ เนื่องมาจากพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ และมีการสนับสนุนด้านกฎระเบียบ เงินทุนสนับสนุน หรือความร่วมมือจากทั้งจากทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน ซึ่งโมเดลบางส่วนที่มีแนวโน้มที่ดี ผู้เขียนได้คัดเลือกและเสนอความก้าวมา 5 แบบ อันได้แก่
1. NuScale Power Module ของสหรัฐอเมริกา
-
– ผู้พัฒนา: NuScale Power
– ข้อมูลจำเพาะ: 77 MWe ต่อ module ปรับขนาดได้ถึง 924 MWe ด้วย module 12 ตัว (12×77 MWe) เป็น Land-Based Water-Cooled SMR
– ความคืบหน้า: SMR ของ NuScale เป็นรุ่นแรกที่ได้รับการอนุมัติการออกแบบอย่างเต็มรูปแบบจากคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา (US Nuclear Regulatory Commission-NRC) ซึ่งโครงการนี้มีที่ตั้งในรัฐ Idaho คาดว่าน่าจะเป็นโรงงาน SMR แห่งแรกของสหรัฐฯ ที่จะดำเนินการได้ภายในปี 2030
– ข้อดี: โมดูล (module) ถูกสร้างขึ้นในโรงงาน ทำให้มีความยืดหยุ่น สร้างได้รวดเร็ว ทำให้ต้นทุนลดลง นอกจากนี้ยังได้รับการออกแบบมาเพื่อการผลิตไฟฟ้าและสามารถผลิตไฮโดรเจนได้อีกด้วย [1]
2. Rolls-Royce SMR ของสหราชอาณาจักร
-
– ผู้พัฒนา: Rolls-Royce SMR Ltd.
– ข้อมูลจำเพาะ: ประมาณ 470 เมกะวัตต์ต่อหน่วย เป็น Land-Based Water-Cooled SMR
– ความคืบหน้า: Rolls Royce ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ BNF Resources UK เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกในสหราชอาณาจักร โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวนเงินทุน 210 ล้านปอนด์ Rolls Royce และได้รับใบอนุญาตการออกแบบขั้นต้นจากสำนักงานพลังงานปรมาณู (ONR-Office for Nuclear Regulation) ของสหราชอาณาจักร สำหรับการออกแบบ SMR รุ่น “Rolls-Royce SMR” เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษมีเป้าหมายที่จะใช้ SMR สำหรับการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโรงไฟฟ้า SMR จำนวนมาก เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน Rolls Royce มองเห็นศักยภาพของ SMR ในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา การก่อสร้าง SMR เครื่องแรกอาจเริ่มต้นได้เร็วที่สุดในปี 2029
– ข้อดี: มีการออกแบบแบบแยกส่วนเน้นที่ประสิทธิภาพและความสะดวกในการก่อสร้าง ขนาดหน่วยมีขนาดใหญ่กว่า SMR หลายตัว ทำให้สามารถใช้แทนโรงไฟฟ้าแบบเดิมและรองรับเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าได้ดี [2]
3. SMART ของเกาหลีใต้
-
– ผู้พัฒนา: สถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูแห่งเกาหลี (KAERI หรือ KAERI (Korea Atomic Energy Research Institute)
– ข้อมูลจำเพาะ: 100 เมกะวัตต์ เป็น Land-Based Water-Cooled SMR
– ความคืบหน้า: SMART (System-integred Modular Advanced Reactor) เป็นหนึ่งในการออกแบบ SMR ขั้นสูงที่สุดในเอเชีย และเกาหลีใต้กำลังดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อส่งออกเทคโนโลยีนี้อย่างเอาจริงเอาจัง รวมถึงแผนความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียสำหรับการก่อสร้าง SMR
– ข้อดี: การออกแบบแบบบูรณาการพร้อมคุณสมบัติความปลอดภัยแบบ Passive Protection และความสามารถในการปรับขนาด module ให้เหมาะสำหรับทั้งการผลิตไฟฟ้าและการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด [3]
4. TerraPower Natrium ของสหรัฐอเมริกา
-
– ผู้พัฒนา: TerraPower ร่วมกับ GE Hitachi Nuclear Energy
– ข้อมูลจำเพาะ: 345 MWe มีศักยภาพในการขยายขนาดได้ถึง 500 MWe เป็น Molten Salt SMR
– ความคืบหน้า: เครื่องปฏิกรณ์ Natrium ของ TerraPower ได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา (DOE-Dependent of Energy) และมีกำหนดจะสาธิตภายในปี 2028 ที่รัฐ Wyoming การออกแบบนี้ใช้ระบบกักเก็บพลังงานเกลือหลอมเหลว (Molten Salt) ทำให้สามารถปรับสมดุลแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยการกักเก็บพลังงานส่วนเกิน
– ข้อดี: มีการผสมผสานพลังงานนิวเคลียร์ขั้นสูงเข้ากับระบบกักเก็บพลังงาน ทำให้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างคงที่และต่อเนื่อง (มีเสถียรภาพ) เพื่อเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ที่คงที่และไม่ต่อเนื่อง (ไม่มีเสถียรภาพ) เครื่องปฏิกรณ์ของ TerraPower ได้รับความสนใจในฐานะโซลูชันที่มีศักยภาพในการลดคาร์บอนในการผลิตพลังงานในระดับใหญ่ [4]
5. ACP100 ของจีน (Linglong One)
-
– ผู้พัฒนา: China National Nuclear Corporation (CNNC)
– ข้อมูลจำเพาะ: 125 เมกะวัตต์ เป็น Land-Based Water-Cooled SMR
– ความคืบหน้า: ACP100 กลายเป็นโครงการ SMR บนบกที่เริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2021 บนเกาะไหหลำ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2026 SMR นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับระบบส่งไฟฟ้าและสามารถติดตั้งได้ทั่วประเทศจีนเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน
– ข้อดี: ออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นทั้งในสถานที่ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าและนอกระบบสายส่งไฟฟ้า รวมทั้งการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล และการทำความอบอุ่นในเขตพื้นที่หนาวเย็น ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของจีน
และ SMR อันดับที่ 5 หลังสุดนี่แหละเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ผู้เขียนได้รับเชิญจาก กฟผ. ให้ไปดูงานพลังงานระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคมที่ผ่านมา
สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแนวชายฝั่งของประเทศจำนวนที่มากขึ้นทุกปี เป็นเรื่องปกติ
บริษัท China National Nuclear Corporation (CNNC) กำลังก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็กเชิงพาณิชย์บนพื้นดิน (SMR) แห่งแรกของโลก ซึ่งก็คือ ACP100 (หรือเรียกอีกอย่างว่า Linglong One) ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฉางเจียงในมณฑลไหหลำ โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากใช้การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์น้ำแรงดันแบบแยกส่วนซึ่งปรับให้เหมาะกับการใช้งานต่างๆ ได้ รวมถึงการผลิตไฟฟ้า การให้ความร้อน การผลิตไอน้ำ และการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล
เครื่องปฏิกรณ์ ACP100 ซึ่งพัฒนาตั้งแต่ปี 2010 มีกำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อการจ่ายไฟให้กับครัวเรือนประมาณ 526,000 ครัวเรือน โครงการนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2021 และการติดตั้งโมดูลหลักแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2023 โมดูลหลักนี้ผสานรวมส่วนประกอบที่จำเป็นของเครื่องปฏิกรณ์ เช่น ถังแรงดัน เครื่องกำเนิดไอน้ำ และปั๊มหลัก ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญในการผลิตแบบแยกส่วนสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
การก่อสร้างได้ดำเนินตามกำหนดการ โดยมีจุดสำคัญต่างๆ รวมถึงการติดตั้งโดมกักเก็บด้านในและด้านนอก คาดว่าเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบภายในระยะเวลาก่อสร้าง 58 เดือนตามแผน ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนความพยายามของจีนในการเป็นผู้นำตลาด SMR ของโลก
การทำงานของ ACP100 SMR
ACP100 หรือ Linglong One เป็นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor – SMR) ที่ออกแบบมาให้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีของการทำความร้อนผ่านกระบวนการฟิชชัน (Nuclear Fission) ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง รายละเอียดของกระบวนการผลิตไฟฟ้าจาก ACP100 มีดังนี้:
1 เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้
-
-ACP100 ใช้เชื้อเพลิง ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นต่ำ (Low Enriched Uranium – LEU) ซึ่งมีความเข้มข้นของยูเรเนียม-235 ที่ประมาณ 4-5% ซึ่งเพียงพอที่จะรักษาปฏิกิริยาฟิชชันได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงาน
-ยูเรเนียมในแกนปฏิกรณ์จะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชัน ซึ่งเป็นกระบวนการแยกนิวเคลียสของยูเรเนียมให้กลายเป็นนิวเคลียสที่เล็กลงและปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมา
2 กระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีฟิชชัน
-
-ความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชันจะถูกส่งต่อไปยังสารหล่อเย็น ซึ่งใน ACP100 เลือกใช้น้ำแรงดันสูงเป็นสารหล่อเย็น ซึ่งช่วยให้ความร้อนไม่ระเหยและสามารถรักษาระดับความดันในเตาปฏิกรณ์ได้
-น้ำที่ได้รับความร้อนจากแกนเตาปฏิกรณ์จะถูกส่งไปยัง เครื่องกำเนิดไอน้ำ (Steam Generator) ซึ่งจะเปลี่ยนน้ำนี้ให้เป็นไอน้ำที่มีความดันและอุณหภูมิสูง
3 การผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไอน้ำและกังหันไอน้ำ
-
-ไอน้ำแรงดันสูงที่ได้จากเครื่องกำเนิดไอน้ำจะถูกส่งไปยังกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ซึ่งจะหมุนเพลาของกังหันและแปลงพลังงานความร้อนเป็นพลังงานกล
-กังหันจะขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Electric Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าและต่อเข้าสู่สายส่งไฟฟ้า (grid) เพื่อใช้ในการจ่ายไฟฟ้าไปยังผู้ใช้งาน
การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ก็จะคล้ายๆกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกโรงไฟฟ้าประเภทนี้ว่า Thermal Power Plant แต่ที่พิเศษต่างจากโรงไฟฟ้าเหล่านั้าก็คือจะต้องมีระบบป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปกติแล้วอายุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะยาวกว่า Thermal Power Plant ซึ่ง ACP100 หรือ Linglong One ได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานประมาณ 60 ปี ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก โดยการออกแบบและการสร้างโครงสร้างของ ACP100 คำนึงถึงความทนทานและการเสริมความปลอดภัยในระยะยาว นอกจากนี้ การบำรุงรักษาและการเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามรอบเวลาที่กำหนดยังช่วยยืดอายุการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อายุการใช้งานของ ACP100 นี้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กทั่วโลก ซึ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีที่สามารถรองรับการใช้งานระยะยาวและมีความปลอดภัยสูง
ระบบความปลอดภัยของ ACP100
ACP100 ได้รับการออกแบบให้มีความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากการผสมผสานของระบบความปลอดภัยหลายชั้น ได้แก่:
1 ระบบป้องกันเชิงรับ (Passive Safety Systems) ที่ทำงานร่วมกับระบบป้องกันเชิงรุก (Active Safety Systems)
ทั้งสองกลไกสำคัญที่ทำให้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ACP100 มีความปลอดภัย สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในกรณีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ [5] ซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้
เป็นระบบที่ออกแบบให้ทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานหรือการควบคุมจากภายนอก ระบบนี้จะไม่พึ่งพาการทำงานของ ปั๊ม มอเตอร์ หรือแหล่งจ่ายไฟภายนอก แต่จะใช้หลักการทางธรรมชาติ เช่น การระบายความร้อนด้วยแรงโน้มถ่วงและการหมุนเวียนของน้ำที่ควบคุมอุณหภูมิของแกนปฏิกรณ์ เพื่อช่วยระบายความร้อนจากแกนปฏิกรณ์หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ทำให้สามารถป้องกันการละลายของแกนได้เมื่อเกิดปัญหา ตัวอย่างของระบบป้องเชิงรับ ใน ACP100 ได้แก่
-
-ระบบระบายความร้อนแบบธรรมชาติ (Natural Circulation Cooling) ระบบจะใช้หลักการของการพาความร้อนผ่านการหมุนเวียนของน้ำหรือก๊าซโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิของแกนปฏิกรณ์ได้โดยไม่ต้องใช้ปั๊ม หรือแหล่งพลังงานจากภายนอกเลย
-ถังกักเก็บความร้อน (Heat Sinks) ถังเก็บความร้อนจะดูดซับและระบายความร้อนส่วนเกินโดยการหมุนเวียนไปยังอากาศหรือแหล่งความเย็นอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้ปั๊ม หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอกเลยเช่นกัน
เป็นระบบที่ใช้อุปกรณ์กลไกและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการทำงานของปฏิกรณ์ โดยต้องใช้พลังงานไฟฟ้าหรือการควบคุมจากผู้ควบคุม ตัวอย่างเช่น
-
-ปั๊มน้ำแรงดันสูง (High-Pressure Injection Pumps) ซึ่งจะฉีดน้ำเข้ามาในระบบเพื่อทำให้แกนปฏิกรณ์เย็นลงในกรณีที่อุณหภูมิสูงเกินไป
-ระบบการทำงานอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉิน (Automatic Shutdown Systems) ซึ่งหากเกิดความผิดปกติ ระบบจะทำการปิดเครื่องปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ เช่น กรณีที่อุณหภูมิหรือความดันสูงเกินค่าที่กำหนด
ACP100 ได้รวมระบบป้องกันทั้งแบบเชิงรับและเชิงรุกเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน โดยระบบเชิงรับจะเป็นด่านแรกในการป้องกันความเสี่ยง และระบบเชิงรุกจะเข้ามาช่วยเพิ่มเติมในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว
2 การออกแบบคอนเทนเมนต์ (Containment) หลายชั้น
โครงสร้างการกักเก็บของเตาปฏิกรณ์ ACP100 ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยระดับสูงโดยใช้โครงสร้างป้องกันที่แข็งแรงและทนทานหลายชั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการรั่วไหลของรังสีในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยโครงสร้างนี้จะป้องกันการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีไปยังสภาพแวดล้อมภายนอก โครงสร้างประกอบด้วยหลายส่วน ดังนี้
-
-โดมกักเก็บเหล็ก (Steel Dome) โดมกักเก็บเหล็กด้านในช่วยรักษาความสมบูรณ์ของเครื่องปฏิกรณ์และเก็บส่วนประกอบสำคัญต่างๆ โครงสร้างนี้ได้รับการออกแบบให้ทนต่อแรงดันและอุณหภูมิสูงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ [6]
-โดมคอนกรีตชั้นนอก (Outer Dome) โดมคอนกรีตที่ให้การป้องกันเพิ่มเติม ทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นต่อแรงกระแทกภายนอกและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แผ่นดินไหวหรือสภาพอากาศที่เลวร้าย [7]
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ระบบแยกการกักเก็บจะทำงาน ระบบนี้จะปิดวาล์วและซีลทั้งหมดที่เชื่อมต่อเครื่องปฏิกรณ์กับสภาพแวดล้อมภายนอกโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการปล่อยสารกัมมันตรังสี ทั้งนี้ระบบจะทำงานควบคู่ไปกับระบบป้องกันแบบเชิงรับเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของโครงสร้างของอาคารกักเก็บเอาไว้ไม่ให้เสียหาย
โครงสร้างทั้งหมดจะมีการบูรณาการในออกแบบ ซึ่งระบบกักเก็บเป็นแบบ Modular หมายความว่ามีการผลิตสำเร็จรูปแล้วจึงนำไปประกอบในสถานที่ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างและการควบคุมคุณภาพของโครงสร้างให้มีความแข็งแรง
3 การตอบสนองอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉิน
ACP100 SMR มาพร้อมกับระบบป้องกันความปลอดภัยเชิงรุกเพื่อเสริมคุณสมบัติความปลอดภัยเชิงรับ ช่วยให้มีการป้องกันหลายชั้นในกรณีที่มีสภาวะผิดปกติ ระบบความปลอดภัยเชิงรุกประกอบด้วยส่วนประกอบทางกลไกและอัตโนมัติที่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานภายนอก ร่วมกับการแทรกแซงของผู้ปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหากระบบความปลอดภัยเชิงรุกมีความผิดปกติ หรือทำงานผิดพลาด ระบบก็สามารถหยุดทำงานเองได้เองโดยอัตโนมัติ ด้วยระบบความปลอดภัยเชิงรับ ซึ่งระบบสามารถระบายความร้อนของแกนปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะขาดแหล่งจ่ายไฟหรือพลังงานภายนอกก็ตาม ซึ่งข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญที่มากที่สุดในการออกแบบ SMR ทุกๆแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล [8] [9]
การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
ACP100 ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงจากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เช่น สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และการพัฒนาร่วมกับรัฐบาลจีน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานการออกแบบและการปฏิบัติงาน และที่สำคัญคือความปลอดภัยของ ACP100 เป็นผลมาจากการผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและระบบป้องกันที่ออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างอิสระโดยไม่พึ่งพาอุปกรณ์เสริมภายนอก ซึ่งนับว่าเป็นมาตรฐานใหม่ในด้านความปลอดภัยของ SMR [10]
จากการที่ผู้เขียนได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของ CNNC ว่า ACP100 SMR สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนเท่าไหร่ ได้รับคำตอบว่ายังไม่อาจจะสรุปได้เพราะ SMR เครื่องนี้จะเป็นต้นแบบที่ทาง CNNC หมายมั่นว่าถ้าได้ผลดีก็จะผลิตออกมาจำนวนมาก และจะทะยอยสร้างเพื่อติดตั้งเพื่อทดดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไปในประเทศจีนรวมถึงต่างประเทศ การสร้าง SMR ในลักษณะเป็น module ที่สร้างในโรงงานเพื่อนำไปประกอบและติดตั้งในสถานที่ที่ต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้า จะสามารถลดค่าก่อสร้างและติดตั้งได้มาก อย่างไรก็ตามราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่ถูกเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่
ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องที่ว่าทำไมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นอนาคตของโลก
อ้างอิง:
[1] https://www.nuscalepower.com/en/news
[2] https://www.rolls-royce-smr.com/press-room
[3] https://www.world-nuclear-news.org/articles/south-korean-smr-design-approved-by-regulator
[4] https://netzeronuclear.org/casestudies/natrium-reactor-and-energy-storage-capabilities#:~:text=The%20Natrium%20reactor%20and%20energy,salt%2Dbased%20energy%20storage%20system.
[5]https://en.wikipedia.org/wiki/Passive_nuclear_safety#:~:text=Traditional%20reactor%20safety%20systems%20are,relief%20valves%20to%20manage%20overpressure.
[6] https://news.cgtn.com/news/2023-08-10/China-installs-core-module-of-world-s-first-commercial-small-nuclear-reactor-1m9nIsfr77q/index.html
[7] https://www.world-nuclear-news.org/Articles/Outer-dome-installed-on-Chinese-small-modular-nucl
[8] https://gnssn.iaea.org/NSNI/SMRP/Shared%20Documents/TM%202%20-%205%20October%202017/Specific%20Design%20Consideration%20of%20ACP100%20for%20Application%20in%20the%20Middle%20East%20and%20North%20Africa%20Region.pdf
[9] https://nucleus.iaea.org/sites/smr/SMR_Platform_Meeting_Public_Assets/INT2023%20Workshops%202023-%20Technology%20Development%20and%20Applications%20of%20Small%20Modular%20Reactor%20for%20SMRs/Interregional%20Event%20on%20Technology%20Development%20and%20Applications%20of%20Small%20Modular%20Reactors/2_01_Construction%20ACP100.pdf
[10] https://nucleus-qa.iaea.org/sites/gsan/news/Pages/Signing-of-the-Agreement-for-the-IAEA-GRSR-for-the-ACP-100-Reactor-Design.aspx