แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กลับคืนเวที รื้อระบบประกันสุขภาพ หลังแพทย์ลาออกต่อเนื่อง ชี้ระบบสาธารณสุขเดินมาถึงจุดต่ำสุดของโลก ประกาศหนุนทีมเพื่อแพทย์เข้าชิงแพทยสภา เพื่อแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทวงคืนชีวิตการทำงานแพทย์ระดับปฏิบัติ ไม่ให้ลาออก สร้างระบบสาธารณสุขที่สมดุล

“หมอทำงานหนัก ไม่มีความสุขในการทำงาน จนต้องลาออก” ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่ยังดูเหมือน ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะระบบสาธรณสุขมีปัญหาขาดความสมดุลทำให้แพทย์ต้องรับภาระหนักในการทำงาน
แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล” ซึ่งเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อาชีวเวชศาสตร์ หรือ โรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ติดตามการทำงานของระบบสาธารณสุข หลังเกิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในปี2545 มาอย่างต่อเนื่อง
“ 20 ปี สปสช.ถือว่าระบบสาธารณสุขไทยเดินมาถึงจุดต่ำสุด แม้จะมีคนบอกว่าผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ในมุมของเรากลับกัน แม้ว่าคนไข้เข้าถึงการรักษาแต่หมอไม่สามารถรักษาได้เพราะทำงานไม่ไหวก็เป็นปัญหา”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ อยากเห็นระบบสาธารณสุขมีความสมดุลระหว่างคนไข้และแพทย์ การทำงานอย่างมีความสุข ขณะที่ผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขระบบ ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลแพทย์อย่างแพทสภาไม่ได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้แพทย์ในระดับปฏิบัติหารือกัน และ ร่วมกันตั้งกลุ่มเพื่อแพทย์นำโดย นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ เพื่อเข้าไปชิงตำแหน่งบริหารแพทยสภา เพื่อเป็นเจ้าภาพในการเสนอพัฒนาปรับปรุงกฎหมายสาธารณสุขที่เป็นอุปสรรคในการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยให้แพทย์ออกมาใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567-14 มกราคม 2568
“ตอนนี้อายุมาก 68-69 ปีเข้าใจกลไกทะลุปรุโปร่ง แตกต่างจากในช่วงก่อตั้งสปสช. ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบสุขภาพมากนัก ดังนั้นจึงเห็นว่าก้าวแรกในการแก้ไขเรื่องนี้ คือการเข้าไปสู่กลไกที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบ และพัฒนาระบบแพทย์ก็คือแพทยสภา ซึ่งกฎหมายให้อำนาจสามารถเสนอแก้ไขปรับปรุงได้ทั้งระบบ”

แพทยสภา เจ้าภาพรื้อระบบหลักประกันสุขภาพ
แพทย์หญิงอรพรรณ์ ชี้ให้เห็นว่า อำนาจของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม มาตรา 7 (5) ที่กำหนดให้แพทยสภาให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ ในการเสนอปรับปรุงแก้ไขระบบหลักประกันสุขภาพได้ แต่ที่ผ่านมาแพทยสภา ไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มเพื่อแพทย์จึงจะเข้าไปรับเลือกตั้งเพื่อใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวเสนอแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
สำหรับข้อเสนอแก้ไขระบบหลักประกันสุขภาพ(กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)มี 3 ระดับประกอบด้วย1.การแก้ไขแบบเล็ก คือ การปรับสัดส่วนคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพ ซึ่งต้องไม่มีตัวแทนภาคประชาชน/เอ็นจีโอ เพราะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง เปลี่ยนให้มีผู้ปฏิบัติงานเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน เช่น ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ผู้แทนคลินิกชุมชน /โรงพยาบาลชุมชน เพราะผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้รู้ปัญหาที่แท้จริง
“ภาคประชาชน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าให้เป็นผู้แทนจากคนกลุ่มน้อย ไม่ต้องมีแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไปมาก ให้เน้นผู้ปฏิบัติงาน เพื่อจะได้ให้การบริการมีคุณภาพ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็ควรจะเปิดกว้าง โดยเอาผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆมาเป็นกรรมการ ไม่ใช่วนเวียนอยู่ที่แพทย์ในเครือข่ายแพทย์บางกลุ่ม”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ อธิบายเพิ่มว่า ที่ต้องแก้ไขกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนที่มีภาคประชาชนเอ็นจีโอ 5 คนเป็นกรรมการ ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2545 ผ่านมา20 ปี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมีรายชื่อเอ็นจีโอ 5 คนเป็นกรรมการอยู่เช่นเดิม จึงอยากให้แก้ไขและเปิดโอกาสให้บุคลากรทางแพทย์ที่ในระดับปฏิบัติเข้ามานั่งเป็นกรรมการทดแทน
ส่วนการแก้ไขประเด็นที่ 2.เป็นการแก้ไขในระดับที่ใหญ่ขึ้นมา คือ การย้ายสปสช. ไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นกองสาธารณสุข หรือ ยกระดับขึ้นมาเป็นกรมสปสช. มีหน้าที่ทำระเบียบการเงินการคลังของแผ่นดิน แต่ไม่ต้องคิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเอง เพราะการที่แยกหน่วยงานบริการ โรงพยาบาลที่เดิมขึ้นตรงต่อ กระทรวงสาธารณสุขทำให้มีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ
3.ข้อเสนอแก้ไขในระดับที่ใหญ่มากขึ้น คือ การใช้ พ.ร.บ.ประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าเสนอและประเมิน ซึ่งหากพบว่าการบริหารจัดการของ สปสช.เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินก็เสนอยุบหน่วยงานได้เลย
“การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพต้องมีเจ้าภาพ ซึ่งฝากความหวังให้นักการเมืองมีโอกาสน้อยมาก มันจะต้องมีคนจริงใจที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ ทำให้เราคิดว่าต้องตัดสินใจกลับมาทำงานที่แพทยสภา เพราะแพทยสภาสามารถใช้ มาตรา 7 (6 )ของ พรบ.วิชาชีพเวชกรรม เสนอให้แก้ไขได้ หรือเป็นเจ้าภาพในการติดตาม จึงรวมกันเป็นทีมเพื่อแพทย์สมัครเลือกตั้งกรรมการแพทย์สภา”

แพทย์หญิงอรพรรณ์บอกว่า โดยส่วนตัวหลังจากตัดสินใจกลับมากได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อรวมทีมทำงานก่อนจะตัดสินใจเข้ารับสมัครประมาณ2 สัปดาห์จะปิดรับสมัคร ได้เริ่มติดต่อแพทย์ที่ทำงานปฏิบัติทั่วประเทศ 200 คน เพราะทีมทำงานแพทยสภาในครั้งนี้เราต้องการเน้นแพทย์ภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ มีอาจารย์โรงเรียนแพทย์ 10 %
“ทีมแพทยสภาเก่าส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ทีมของเราเน้นแพทย์ปฏิบัติ เช่น แพทย์ผ่าตัด แพทย์ที่ทำงานหน้างาน และรู้ปัญหาจริง เข้ามาทำงานแพทยสภา เพราะแพทยสภาต้องเป็นเจ้าภาพในการใช้ มาตร 7 (6 )เสนอแก้กฎหมายต้องมีความจริงใจในการรับฟัง จึงต้องเอาผู้ปฏิบัติงานมามีส่วนร่วมด้วย”
นอกจากเสนอแก้กฎหมายระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว แพทย์หญิงอรพรรณยังเสนอแก้กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือ ก.พ. เปลี่ยนมาเป็นกฎหมายระเบียบบริหารราชการสาธารณสุขแบบเฉพาะเพื่อให้ดูแลแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขโดยเฉพาะ เนื่องจากลักษณะการทำงานมีความพิเศษแตกต่างจากการทำงานในอาชีพอื่นๆ ทำให้ต้องการบริหารแบบเฉพาะ โดยที่ผ่านมาประชาชนเคยเข้าชื่อ 1 แสนคน เสนอกฎหมายดังกล่าว และกำลังจะข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาฯถูกยุบไปจากการรัฐประหารในปี 2557
สำหรับหลักการกฎหมายระเบียบบริหารราชการสาธารณสุข คือ การบริหารราชการที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการบริหารราชการแบบ ก.พ. ซึ่งบริหารแบบเหมาโหล ขณะที่วิชาชีพของสาธารณสุขมีความจำเพาะสูง เพราะเป็นอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตคน จึงต้องออกแบบการบริหารที่ต่างออกไป เช่นเดียวกับ กฎหมายตุลาการ และ อัยการ
“เนื้อหาของกฎหมาย จะแก้ปัญหาได้หมด เพราะโครงสร้างการบริหารมีฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติ มีการกำหนดอัตรากำลัง กำหนดลักษณะงาน เช่น หากลักษณะงานเป็นแบบฉุกเฉินตลอด จะต้องมีรูปแบบการหยุดพักอย่างไร การกำหนดฐานเงินเดือน ซึ่งเรื่องรายได้ก็เป็นปัจจัยทำให้หมอลาออกไปทำงานด้าน เอไอ หรือ ไอที จำนวนมาก ซึ่งกฎหมายจะช่วยรักษาระบบสุขภาพให้ดีขึ้น ให้คนมีส่วนร่วม และคนทำงานมีความสุข”แพทย์หญิงอรพรรณ์ กล่าว
เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์รวมกลุ่มกันได้
แพทย์หญิงอรพรรณ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายและการออกกฎหมายเฉพาะวิชาชีพสาธารณสุขมีความสำคัญ เพราะระบบสาธารณสุข มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ หมอและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งต้องทำงานเป็นทีม และการบริหารระบบต้องมีความสมดุล ผู้ปฏิบัติต้องสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้
เช่น ระบบสาธารณสุขที่เกาหลีใต้ อังกฤษ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มทำงานเป็นทีม แต่ปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย คือการแบ่งแยกกันทำงาน เช่น หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์หรืออื่นๆ แตกออกมาเป็น 10 กว่าวิชาชีพ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการทำงานเป็นทีมและทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขรวมกลุ่มกันได้
การรวมกลุ่มของบุคลากรทางสาธารณสุขมีความจำเป็น เพราะระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากเปลี่ยนมาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ต้องแบ่งหน้าทีกันทำอย่างชัดเจน จนเกิดสมาคมวิชาชีพแตกออกไปจำนวนมาก เช่น สมาคมเภสัชกร/สมาคมพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะมีกฎอันเดียวกัน หรืออยู่ในร่มเดียวกัน เช่นในต่างประเทศเปิดให้มีสหภาพ หรือการรวมกลุ่มของบุคลากรสาธารณสุข เพียงแต่วิชาชีพที่แตกต่างกัน มีมาตรฐานในการกำกับการทำงานเฉพาะของตัวเอง เช่น เทคนิคการแพทย์ต้องทำอะไรบ้างให้ตามมาตรฐาน เภสัชต้องทำอะไรบ้าง แต่รวมกลุ่มกันในนามบุคลากรทางด้านสาธารณสุข
“กฎหมายต้องเปิดให้มีการรวมกลุ่ม ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้เปิดโอกาส ทำให้สภาพยาบาลต้องไปจดทะเบียนในรูปแบบUnion ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขามีกฎหมาย เพราะบุคลากรทางด้านสาธารณสุขไทย อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือ ก.พ.ซึ่งบอกว่ามีสภาพยาบาลอยู่แล้วไม่ต้องมีสหภาพ และมีแพทยสภาอยู่แล้ว ไม่ต้องมีสหภาพ
“แต่กฎหมายของแพทยสภาไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสวัสดิการของแพทย์ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีองค์กรที่ดูแลบุคลากรทางสาธารณสุข และไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลคนทำงาน ทำให้สภาพยาบาลต้องไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศ”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ บอกว่า ตัวระบบ คนทำงาน และระบบบริการ ต้องมีโครงสร้างที่จัดอย่างเป็นระบบสมดุลเพื่อบรรลุเป้าหมายคือสุขภาพที่ดีของประชาชนเพื่อคนไทยมีความสุขได้รับการดูแลที่ดีจริงๆ แล้วคนทำงานก็ต้องมีความสุขแต่ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกคนทำในหน้าที่ของตัวเองได้ดีและเป็นคนที่มีคุณภาพ ทำงานเป็นทีมเดียวกันอยู่ในมาตรฐานที่ดี
“ในต่างประเทศข้อกำหนดการทำงานร่วมกันเรียกว่า Health professional ซึ่งเป็นการรวมกันของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด เพราะเมื่อทำงานเป็นทีมก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องไปตั้งสภาวิชาชีพแยกกันแล้วมาขัดแย้งกันเอง ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า HealthTeam เพื่อมาช่วยดูคนไข้ร่วมกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ ย้ำว่า ระบบสาธารณสุขปัจจุบันทำให้เกิดการแยกงานกันทำ และถือเป็นจุดต่ำสุดของระบบที่แตกต่างจากในอดีต ซึ่งทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข ไม่ได้ทำแค่หน้าที่ตามวิชาชีพของตัวเอง ทำให้เราสามารถพัฒนาพัฒนาความรู้ และการดูแลผู้ป่วยไปพร้อมกันได้

ผู้ป่วยต้องตระหนักรู้สิทธิและหน้าที่
พร้อมชี้ว่าปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพที่ทำให้การบริการสุขภาพขาดความสมดุล บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก แพทย์หญิงอรพรรณ์ มองว่า มาจากผู้ป่วยด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยเองไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง เรียนรู้เรื่องสิทธิ แต่ขาดการตระหนักเรื่องหน้าที่ เพราะระบบปัจจุบันส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ทำให้มีผู้ป่วยมาใช้บริการฉุกเฉินมากขึ้น โดยที่บางครั้งไม่ได้มีอาการฉุกเฉินจริงจนทำให้แพทย์ต้องทำงานหนักมากขึ้น
“ในอดีตหมอและบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าเวรห้องฉุกเฉินทำงานกันได้ เพราะนานๆจะมีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา ใครอยู่เวรก็พอได้หลับบ้าง แต่ตอนนี้ไม่ได้เลย มีคนมาตลอดเวลาแล้ว เพราะบอกว่าฉุกเฉินเป็นสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งในอดีตประชาชนมีคุณภาพดี แต่เพราะเราส่งเสริมการให้ฟรีมาก ทำให้ประชาชนคิดแต่เรื่องสิทธิ ไม่คิดถึงหน้าที่ เพราะฉะนั้นก็จะวิ่งเข้ามาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ทั้งที่มันไม่ใช่กรณีฉุกเฉินหมอก็ต้องลุกขึ้นมาดูแลตอนกลางคืนมีเวลาพักผ่อนน้อย”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ อธิบายเพิ่มเติม ผู้ป่วยควรจะรู้หน้าที่ ดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนไปใช้สิทธิ์ของตัวเอง และดูลำดับความเร่งด่วน เพื่อให้ระบบมันอยู่ได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะทุกคนด่วนหมด
ซึ่งวิธีคิดที่เรียกว่า ผู้ป่วยเป็นนาย หมอเป็นบ่าว หมอทำไม่ถูกใจก็ฟ้องคดีผู้บริโภค เพื่อให้ได้เงินชดเชยตาม มาตรา41ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพ พอฟ้องเรียกเงินชดเชยได้แล้ว ก็มาฟ้องทางแพ่งถ้าคดีไม่หมดอายุความก็ไปฟ้องอาญา ซึ่งถือเป็นสูตรการฟ้องแพทย์
“การทำงานของแพทย์สมัยก่อนมันหนักจริงแต่มันไม่มีคนคอยฟ้อง แต่ตอนนี้ มีตาเป็นสับปะรดที่จะจัดการหมอ ทำให้หมอ ตัดสินใจลาออกเพื่อให้ชีวิตเขารอด และครอบครัวเขามีความสุข มีหมอบางคนเขารอดพ้นไปได้แล้ว เพราะลาออกไป แต่ก็มีหมอที่อยู่ในระบบอีกมากที่ต้องทำงานหนัก แม้จะมีคนบอกว่าสมัครมาเป็นหมอก็ต้องยอมงานหนัก แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันหนักแบบโคตรโคตรจริงๆ ทำให้หมอลาออกเป็นจำนวนมาก”
ระบบบริการสุขภาพมาถึงจุดต่ำสุด
แพทย์หญิงอรพรรณ์ บอกอีกว่า ไม่ต้องถามว่า 20 ปี ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดีหรือไม่ เพราะส่วนตัวแล้วเห็นว่าเราเดินมาถึงจุดต่ำสุด แม้จะบอกว่าผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ในมุมกลับกันเห็นว่าคนไข้เข้าถึงการรักษาแต่หมอไม่สามารถรักษาได้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน รวมทั้งการที่ สปสช. ส่งเงินให้โรงพยาบาลไม่เท่ากับต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดทุนจำนวนมาก อย่าง กรณีข่าวล่าสุดที่ตัวแทนผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้องกรณีสำนักงานสปสช. ไม่จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้คลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.ขาดสภาพคล่องและไม่สามารถจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
ส่วนการบริหารการเงินการคลังไม่มีประสิทธิภาพ และอาจผิดวัตถุประสงค์ อาทิไม่มีหน้าที่ทำวิจัยตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าให้งบประมาณวิจัยกับหน่วยงาน ไม่มีกี่หน่วยงาน และให้อยู่ประจำ 2-3 แห่งเท่านั้น โดยการให้ทุนวิจัยหรือการดำเนินการต่างๆ ได้ทำอย่างเป็นกระบวนการ มีโครงสร้าง แต่ละกิจกรรมมีการสั่งการและมีเป้าหมาย
แพทย์หญิงอรพรรณ์ บอกว่า “ถ้าระบบประกันสุขภาพดีจริง ต้องมีการประเมินโดยคนทำงานในระดับปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ถามแพทย์ พยาบาล และบุคลการทางการแพทย์อื่นๆ แม้สปสช.จะบอกว่าประเมินปีละครั้ง แม้จะมีความเห็นของผู้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติที่ควรเป็นผู้ประเมิน เพราะการประเมินต้องเกิดขึ้นจริงกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้างานจริงๆ”
ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานถึงสถานการณ์แพทย์ในปัจจุบันจำนวนแพทย์ทั้งหมดมีประมาณ 50,000-60,000 คน เป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน หรือคิดเป็น 48% แต่ภาระงานเราที่ดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพฯประมาณ 45 ล้านคน โดยแพทย์เฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งมาตรฐานโลกกำหนดให้ 3 ต่อ 1,000 คน
ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน
โดยสรุปภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน นอกจากนี้ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน รวมประมาณปีละ 655 คน
แพทย์หญิงอรพรรณ์ ย้ำว่า การแก้ไขระบบหลักประกันสุขาภาพต้องสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานของแพทย์ ป้องกันไม่ให้แพทย์ลาออก และผู้ป่วยที่มารับบริการต้องทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเข้ารับบริการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ทำงานอย่างมีความสุข