ThaiPublica > คอลัมน์ > 2 คำถาม ถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

2 คำถาม ถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

7 ธันวาคม 2017


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ก่อนจะถามหาคำตอบจากประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอเล่าเรื่องความเป็นมาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่มีสโลแกนว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”

การก่อตั้งระบบ 30 บาท

ในปี 2545 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้สนับสนุนให้ ส.ส.เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับรอง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ผลพวงจากกฎหมายฉบับนี้ ก่อให้เกิดกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลอนุมัติจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากรของประชาชนเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคิดตามอัตราเหมาจ่ายรายหัวประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์ในระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม เป็นจำนวนประชาชน 47 ล้านคน (ตัวเลขกลมๆ)

แนวคิดเริ่มต้นของโครงการนี้ รัฐบาลจะให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบคนละ 100 บาทต่อเดือนคิดเป็น 1,200 บาทต่อปีและรัฐบาลจ่ายจากภาษีอีกในอัตรา 1,200 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นงบประมาณรายหัว 2,400 บาทต่อคนต่อปี

แต่พอข่าวออกมาว่าจะให้ประชาชนจ่ายเงินล่วงหน้าคนละ 1,200 บาทเพื่อประกันสุขภาพ ประชาชนบางส่วน (ที่ไม่เข้าใจการประกันสุขภาพ) ก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบ

นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือนายทักษิณ ชินวัตร จึงตามใจประชาชน โดยการไม่ให้ประชาชนร่วมจ่าย

ฉะนั้น งบประมาณสำหรับระบบ 30 บาท ก็ถูกหักลงเหลือครึ่งเดียว คือเหลือเพียง 1,200 บาทต่อหัว (ต่อคน) ต่อปี แต่ในขณะนั้น ประเทศไทยยังต้องใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF อยู่ รัฐบาลก็เลยยกเลิกงบประมาณที่เคยส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด โดยถือว่างบประมาณทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุขนั้นรวมอยู่ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 1,200 บาทต่อคน ในจำนวนประชาชน 47 ล้านคนเศษ

นั่นคือในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณเงินเดือนทั้งหมดของข้าราชการและลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุข ถูกรวมไว้ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน 47 ล้านคน

จึงเห็นได้ว่างบประมาณรายหัวที่กลุ่มแพทย์ผู้เสนอและวางแผนตามโครงการนี้ (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท) นอกจากจะถูกตัดเหลือเพียงครึ่งเดียวแล้ว งบประมาณค่าใช้จ่ายทุกด้านของกระทรวงสาธารณสุขก็ถูกเหมารวมไว้ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 1,200 บาทต่อคนต่อปี รวมทั้งเงินเดือนทั้งหมดของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขด้วย

แต่งบประมาณที่เริ่มต้นเพียง 1,200 บาทต่อหัว (ประชาชน) ต่อปีนี้ ใน 3 ปีแรกคือปี 2546, 2547 และ 2548 งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยต้องนำเงินคงคลัง (เงินบำรุง) ของโรงพยาบาลมาใช้เพิ่มเติมจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับจาก สปสช. และในปี พ.ศ. 2546-2548 โรงพยาบาลยังมีรายได้จากการเรียกเก็บเงินในการไปใช้บริการสาธารณสุขจากผู้ป่วยครั้งละ 30 บาท

แต่ในปี 2550 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (แกนนำชมรมแพทย์ชนบท) ได้ประกาศยกเลิกการร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาทจากผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้เงินหายไปจากการไม่เก็บ 30 บาทนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท (คิดว่าประชาชนไปใช้บริการปีละ 100 ล้านครั้ง) หรือในปัจจุบัน ประชาชนไปใช้บริการ 200 ล้านครั้งต่อปี ก็จะขาดรายได้ในระบบอีก 6,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่างบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 3 ปีแรกเป็นงบประมาณขาดดุล โรงพยาบาลต้องเอาเงินคงคลังของแต่ละแห่งออกมาใช้รักษาผู้ป่วยเพิ่มจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจัดสรรมาให้

แต่ต่อมาโรงพยาบาลใช้เงินบำรุงหมดคลัง (หรือที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา เคยกล่าวว่าโรงพยาบาลทำบัญชีไม่เป็น มีแต่เก็บเงินและนับเงินในเก๊ะ) ไปแล้ว รัฐบาลจึงต้องตั้งงบประมาณรายหัวให้มากขึ้นอีกอย่างมากมายมหาศาล จนในปัจจุบันนี้ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับใช้ในการรักษาประชาชนนี้ เพิ่มขึ้นเป็น

  • ปี 2558 ได้รับ 2,895.09 บาทต่อหัวประชากร
  • ปี 2559 ได้รับ 3,028.94 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 4.62
  • ปี 2560 ได้รับ 3,109.87 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.67
  • ปี 2561 ที่จะถึงนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับ 3,197.32 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.81

จะเห็นได้ว่า จากปี พ.ศ. 2546-2561 รวม 15 ปีนั้น งบประมาณสำหรับรักษาผู้ป่วยบัตรทองเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลที่ต้องรับภาระงานในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง

แต่เมื่อดูรายงานของกระทรวงสาธารณสุขว่าสถานภาพทางการเงินของโรงพยาบาลที่รักรักษาผู้ป่วยบัตรทองเป็นอย่างไร? จะพบข่าวเผยแพร่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขยอมรับว่าโรงพยาบาลรัฐ 18 แห่งถังแตก และโรงพยาบาลรัฐอีกหลายแห่งก็ขาดสภาพคล่อง

ปรากฏการณ์ในปัจจุบันที่เราได้รับรู้ทั่วกันก็คือ คุณอาทิห์วรา คงมาลัย (ตูน) และคณะ ได้วิ่งรณรงค์เพื่อหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ นัยว่าเพื่อช่วยให้กำลังใจแก่หมอและพยาบาลทั่วประเทศ และเราก็ได้เห็นว่า การวิ่งของคุณตูน ได้ปลุกกระแสมวลชนพลเมืองให้รับรู้ปัญหาการขาดงบประมาณของโรงพยาบาลทั่วประเทศ

แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล่ะ ทำอะไรอยู่? กำลังแก้ปัญหาการขาดเงินงบประมาณในการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้ใต้บังคับบัญชาของท่านหรือไม่?

ถ้ารัฐมนตรีไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จเด็ดขาดอย่างไร ก็ขอบอกว่า ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหางบประมาณที่ถูก สปสช.ซึ่งทำหน้าที่นายหน้าซื้อบริการรักษาพยาบาลแทนประชาชน หักหัวคิว(ค่าบริหารจัดการ)เอาเงินไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ และไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า และเกิดความเสียหายแก่คุณภาพการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ประธานกรรมการและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงาน (สปสช.) ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ (มาตรา 19)

ในขณะที่สังคมมีคำถามเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวจากหน่วยตรวจสอบของรัฐบาล เช่น คตง. สตง. รวมไปถึงการโยกย้ายอดีตเลขาธิการ สปสช. ออกจากตำแหน่งตาม ม.44 นั้น ประธานและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สอบสวนหรือยังว่ามีความผิดหรือไม่/อย่างไร?

ทั้งนี้คำสั่งที่ 19/2558 นี้ได้อ้างว่าหน่วยตรวจสอบได้รายงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติมตามข้อ 5 ของประกาศคำสั่งที่ 16/2558 โดยมีมูลกรณีเป็นเรื่องกล่าวหาว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบทำให้เสียหายแก่ราชการหรือประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งการตรวจสอบยังไม่อาจชี้มูลความผิด แต่ คสช. ให้ระงับการปฏิบัติงานไว้ก่อน

จึงมีคำถามถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 คำถาม คือ

1. ผลการสอบสวนอดีตเลขาธิการ สปสช. ที่ถูกระงับการปฏิบัติงานนั้น ในที่สุดแล้วผลการสอบสวนเป็นอย่างไร ทางประธานและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบหรือติดตามการตรวจสอบนี้ว่าได้ผลสรุปแล้วหรือไม่/อย่างไร?

2. ยังมีกระแสข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 ภาคแล้ว ขอถามความคืบหน้าว่าการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วแค่ไหน/อย่างไร? เพื่อแก้ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุน และเพื่อแก้ปัญหาการขาดเงิน/เครื่องมือแพทย์/บุคลากร ในการจัดบริการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ