ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > Sustainability > EXIM BANK เตือนแนะผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ เร่งปรับตัวหลังสหรัฐฯ ส่อกลับทิศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

EXIM BANK เตือนแนะผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ เร่งปรับตัวหลังสหรัฐฯ ส่อกลับทิศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

5 ธันวาคม 2024


EXIM BANK เตือนโลกเผชิญความท้าทายในการแก้ปัญหา Climate Change แนะผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ เร่งปรับตัวหลังสหรัฐฯ ส่อกลับทิศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้วเฉลี่ยราว 1.3-1.4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มขึ้นจนทะลุเป้าในอุดมคติที่ 1.5 องศาเซลเซียส และเป้าแห่งความหวังที่ 2 องศาเซลเซียส ภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สะท้อนว่า วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate Shock) ที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ได้จัดทำฉากทัศน์ของภาวะโลกร้อนในปี 2643 หรือในอีก 76 ปีข้างหน้าออกมา 3 ฉากทัศน์ แบ่งเป็น

1. กรณีดีเยี่ยม (Best-case Scenario) ที่ทุกประเทศให้คำมั่นในระยะยาวว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในกรณีนี้ UNEP คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.9 องศาเซลเซียส

2. กรณีฐาน (Median Scenario) ที่ทุกประเทศดำเนินการตามมาตรการและนโยบายลดโลกร้อนที่มีอยู่ในปัจจุบันไปเรื่อย ๆ ในกรณีนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นราว 2.6-2.8 องศาเซลเซียส

3. กรณีเลวร้าย (Worst-case Scenario) คือ ประเทศต่าง ๆ ไม่ดำเนินการในการลดโลกร้อน ในกรณีนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นสัญญาณเตือนว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจริงจังมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ขององค์การสหประชาชาติ (COP29) ซึ่งจัดขึ้นที่อาเซอร์ไบจาน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สรุปความท้าทายสำคัญในการแก้ปัญหา Climate Change โลกเอาไว้ 2 ปัจจัย

ประการแรกคือ การขาดเงินสนับสนุน เนื่องจากภายใต้การเจรจาเป้าหมายการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal : NCQG) เพื่อใช้ในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว องค์กรการเงินระหว่างประเทศ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จะต้องร่วมกันสนับสนุนเงินอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม การเจรจาเรื่องการจัดสรรเงินทุนดังกล่าวยังไม่คืบหน้า ทำให้การบรรลุเป้าหมายด้าน Climate Finance ของโลกต้องเผชิญกับท้าทาย

ประการต่อมาคือ การขาดความเชื่อมั่น สะท้อนจากการที่หลายประเทศยังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างมลพิษมากกว่ามุ่งลดมลพิษ เช่น จีนและอินเดีย ยังคงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายสีเขียวของสหรัฐฯ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้สูงที่การดำเนินนโยบายของทรัมป์ในสมัยที่ 2 หรือทรัมป์ 2.0 จะปล่อยคาร์บอนโดยไม่คำนึงถึงภาวะโลกร้อน เนื่องจากทรัมป์ไม่เชื่อว่าปัญหาภาวะโลกร้อนมีอยู่จริง ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ อาจถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เพื่อที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งอาจลดเงินสนับสนุนกองทุน Green Climate Fund ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานฟอสซิล เช่น เพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ มีความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยให้ชาวอเมริกันได้ใช้พลังงานราคาถูกลง โดยจะมีการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้สิทธิ์แก่เอกชนในการสำรวจขุดเจาะในพื้นที่สงวนของรัฐบาลกลาง และจะแก้ไขข้อบัญญัติในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การกลับทิศนโยบายสิ่งแวดล้อมของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมีนัยยะ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยมีสัดส่วนราว 12% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก หากปราศจากการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในการลดคาร์บอนจะส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับเป้าหมาย นอกจากนี้ การถอนตัวจากการลดคาร์บอนของสหรัฐฯ ยังอาจทำให้ความพยายามของประเทศอื่น ๆ ลดลง เนื่องจากมองไม่เห็นความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมอุณหภูมิของโลก

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้โลกต้องเร่งลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา Climate Change ให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ คงถึงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยต้องพึ่งพาตัวเองในการแก้ปัญหาโลกร้อนให้มากขึ้น โดยภาคส่วนที่สามารถมีส่วนแก้ปัญหาได้มากกว่าที่คิดคือ ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคมีส่วนถึงราว 60-70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมของโลก ดังนั้น การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการใช้และการบริโภคสินค้าและบริการ การบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไปจนถึงการเลือกสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีอิทธิพลในการผลักดันโลกสีเขียวได้คือ ภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Product & Marketing) และการตั้งเป้าลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutral และ Net Zero Target ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Amazon และ Walmart ที่ตั้งเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2583 ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญที่สามารถสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ ตั้งแต่การปรับองค์กรสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว การออกผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งเป้าลดคาร์บอนตลอด Supply Chain

“EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวรับมือและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจร โดยธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจากราว 38% ในปัจจุบันเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570 พร้อมวางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2570 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593” ดร.รักษ์ กล่าว