นับถอยหลังอีกไม่ถึง 30 ปี ที่โลกต้องบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 เพื่อรักษาสมดุลของโลก ผ่านการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม
ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย net zero ที่ช้ากว่าโลก นั่นคือปี 2065 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 ทำให้ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจกับนานาชาติ “รอไม่ได้” จึงจำเป็นต้องใช้เป้าหมายของโลกให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามต่อว่า “หากเป้าความยั่งยืนของภาคเอกชนนำหน้าประเทศไทย จะเป็นไปได้อย่างไรในทางปฏิบัติ”
“เครือเจริญโภคภัณฑ์” หนึ่งในภาคเอกชนของประเทศไทย ตอบคำถามดังกล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า โดย ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ย้ำให้เห็นถึง 2 ประเด็นสำคัญ คือ
-
หนึ่ง ความยั่งยืน และ net zero เป็นเป้าหมายระดับโลก ซึ่งเครือฯ จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้มงวด
สอง การตั้งเป้าหมายที่เร็วกว่าประเทศเป็น “ความท้าทาย” และอาจเป็นต้นแบบนำร่องให้องค์กรอื่นๆ มาร่วมกันบรรลุเป้าหมายให้เร็วขึ้น
“เครือเจริญโภคภัณฑ์มองมาตรฐานโลก ไม่ได้มองมาตรฐานประเทศ เราเป็นบริษัทระดับโลก เวลาทำอะไรต้องคิดถึงเส้นนั้นเป็นหลัก …คุณศุภชัย (ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์) มองว่าเป็นโอกาสในการสร้างภาวะความเป็นผู้นำเมื่อเจอความท้าทาย และเมื่อคนให้ความเชื่อมั่นกับองค์กร ยิ่งเป็นแรงกดดันว่า เราทำน้อยกว่าคนอื่นไม่ได้ อย่างน้อยต้องทำเท่ากับเป้าของประเทศ หรือมากกว่านั้น”
ส่วนวิธีการไปสู่เป้าหมายคือ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” โดย ดร.เนติธรอธิบายว่า ทั้งสองส่วนเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของแนวทางในการแก้ปัญหาและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น ขยายผลได้เร็วขึ้น และเกิดการมีส่วนร่วม
“ปัจจุบันทุกคนบริโภคเกินกำลังความสามารถที่โลกจะรับมือได้อยู่แล้ว ดังนั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีต้องตอบโจทย์ความท้าทายของโลกใน 3 ประเด็นหรือที่เครือเรียกว่า 3D คือ deglobalization, decarbonization และ digitalization ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างแท้จริง”
นวัตกรรม-เทคโนโลยีและการขยายผลช่วยธุรกิจและโลก
ดร.เนติธรแบ่งนวัตกรรมไว้ 2 หมวด หมวดแรกคือ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” เช่น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทั่งช่วยเหลือสังคม ตัวอย่างเช่น ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ giga data center นักลงทุนจะมีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขเรื่องการใช้แหล่งพลังงานสะอาด หรือเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก
ที่สำคัญคือ นวัตกรรมจะต้องนำมาผนวกกับธุรกิจได้ด้วย โดย ดร.เนติธรยกตัวอย่าง TrueMoney (ทรูมันนี่) ซึ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงกลไกทางการเงินได้ (unbanked) เพราะทรูมันนี่เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างระบบเครดิตให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดความเสี่ยงจากหนี้นอกระบบ ตอบโจทย์ทั้งเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจฐานราก และสังคม
“ทรูมันนี่ผูกเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกัน และทรูมันนี่จำเป็นต้องใช้ศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานสะอาด เครือฯ มีบริษัทที่จะป้อนพลังงานสะอาดเหล่านี้ให้เครือข่ายศูนย์ข้อมูลและกลุ่มธุรกิจของเรา”
เรื่องพลังงานสะอาดยังปรับใช้ในภาคค้าปลีกอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.เนติธรยังกล่าวถึงประเด็นพลังงานสะอาดว่า ทุกวันนี้การใช้พลังงานทางเลือกยังไม่เป็น net zero 100% เพราะทั้ง value chain ตั้งแต่การผลิตโซลาร์ กระบวนการผลิตต่างๆ การขุดเหมือง ฯลฯ ยังเป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อโลก
ในมิติเทคโนโลยี เครือฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “MorDee” (หมอดี) แอปพลิเคชันการดูแลสุขภาพอัจฉริยะโดย ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เป็นแพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพอัจฉริยะแบบครบวงจร ที่เชื่อมโยงการบริการด้านสุขภาพออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งสามารถค้นหาคำจากอาการที่ป่วย จากนั้นติดต่อกับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และรับคำปรึกษาแบบออนไลน์ แพลตฟอร์มมีแพทย์ชั้นนำกว่า 500 ราย ครอบคลุมกว่า 20 สาขาเฉพาะทาง นอกจากนี้ ยังสามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อลาป่วยจากนายจ้าง หรือแม้กระทั่งการสั่งยาให้จัดส่งถึงบ้าน ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
“True Health Corners เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และต้องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล โดยสามารถรับการตรวจ คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ปรึกษาออนไลน์กับแพทย์ และซื้อยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยายาลได้อีกทางหนึ่ง
แอปพลิเคชัน “ฟ.ฟาร์ม” (ForFarm) ช่วยแก้ปัญหาเผาป่าและฝุ่น PM2.5 ผ่านการตรวจสอบย้อนกลับ และเห็นข้อมูลกระบวนการของเกษตรกรว่ายั่งยืนหรือไม่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเพาะปลูก การแก้ปัญหาโรคแมลง การแจ้งเตือนการระบาด และให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ โดยข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 มีผู้ใช้แอป ฟ.ฟาร์มกว่า 4 หมื่นราย มีการตรวจพื้นที่แล้วกว่า 2 ล้านไร่
อีกตัวอย่างคือ “กุ้งเคี้ยว” โดย ดร.เนติธรเล่าว่า “เวลาให้อาหารกุ้ง ถ้าให้เยอะเกินอาหารจะกองและหมักหมม ทำให้บ่อล่ม ติดเชื้อ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าให้อาหารพอหรือไม่ เราเลยติดไมโครโฟนเล็กๆ ในบ่อ เพื่อฟังว่ากุ้งกำลังเคี้ยวอาหารหรือเปล่า ถ้าเคี้ยวแสดงว่ามีอาหาร ทำให้ต้องถ่ายน้ำลดสิ่งปฏิกูล ลดความเสี่ยงบ่อล่ม”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้ระบบอัตโนมัติ (automation) ในกระบวนการผลิตต่างๆ
“ท่านประธานอาวุโส (ธนินท์ เจียรวนนท์) ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตมาก โจทย์คือทำอย่างไรให้เร็ว สะอาด ปลอดภัย เราถึงเป็นระบบอัตโนมัติโดยส่วนใหญ่”
“โรงงานเลี้ยงไก่ไข่ที่จีน ผลิตไข่ไก่วันละ 3 ล้านฟอง มีไก่ 1 ล้านตัว แต่ใช้คนงานไม่ถึง 20 คน เพราะในอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร food safety เป็นเรื่องสำคัญ และถ้าไม่ใช้เทคโนโลยี มันตอบโจทย์ food security ของโลกไม่ได้ โรงงานที่เมืองจีนผลิตได้ 3 ล้านฟอง ตอบโจทย์ความต้องการไข่ที่ปักกิ่ง เพียง 4% เราต้องสร้างโรงแบบนี้โดยเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย และมาช่วยตอบโจทย์เรื่องสเกล เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของโลก”
“ด้วยความที่เครือฯ มีธุรกิจหลากหลาย อยู่ในทุกส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่เราทำเหมือนโยนหินลงน้ำให้กระเพื่อม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อ องค์กรธุรกิจ คู่ค้า และผู้บริโภคอีกล้านรายที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของเราจะคือพาทุกคนไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน”
นวัตกรรมความคิด สอดแทรกองค์ความรู้ สู่จิตสำนึก
อีกนวัตกรรมที่สำคัญคือ “นวัตกรรมความคิด” โดย ดร.เนติธรอธิบายว่า นวัตกรรมความคิดเป็นเรื่องของการสร้างจิตสำนึกแห่งความยั่งยืนให้ทุกภาคส่วน แม้จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหน้าที่ที่เครือฯ ต้องสร้างองค์ความรู้ วิธีคิด และทัศนคติเรื่องความยั่งยืนให้สังคม
“นวัตกรรมทางความคิดและทัศนคติมีความสำคัญพอๆ กับเทคโนโลยี และจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษา ปี 2015 เรานำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ฝังในยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของเครือฯ แต่จะถ่ายทอดจิตสำนึกที่องค์กรมีไปสู่รุ่นลูกหลานได้อย่างไร”
ดร.เนติธรกล่าวต่อว่า เครือฯ มีค่านิยมองค์กรชื่อ “3 ประโยชน์” ซึ่งเป็นหลักการดำเนินธุรกิจของเครือเพื่อสอดแทรกความคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไป และเป็นแนวทางการลงทุนให้คิดถึงประโยชน์ของประเทศและชุมชนเป็นลำดับแรก จากนั้นค่อยคำนึงถึงผลประโยชน์องค์กร
“เราประกอบธุรกิจใน 21 ประเทศ แต่ละประเทศไม่ได้นับว่าเครือฯ เป็นบริษัทไทยไปลงทุน แต่เห็นเครือฯ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเขา เพราะเวลาเครือฯ เข้าไป เราเป็นพี่น้อง ญาติ คู่ค้าของเราก็เหมือนเป็นคู่ชีวิต เพราะจะมีความรับผิดชอบต่อกัน หลักการ 3 ประโยชน์ จะต้องตอบโจทย์จุดเจ็บปวดหรือ pain point ของสังคมด้านต่างๆ”
ดร.เนติธรย้ำว่า นวัตกรรมความคิดสามารถเป็นส่วนเดียวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้ เห็นได้จาก “ทรูมันนี่” ที่ไม่ใช่แค่นวัตกรรมทางการเงิน แต่ยังสร้างเครดิตให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงกลไกทางการเงินได้
“สิ่งที่ทรูมันนี่เข้าไปช่วยคือ คุณจ่ายบิลโทรศัพท์เป็นประจำทุกเดือนหรือเปล่า เป็นการสร้างเครดิตบูโรย่อยๆ หรือค่าน้ำค่าไฟ เพราะเขามีแต่โทรศัพท์มือถือ ถ้าเขาเป็นสมาชิกรายเดือนของทรูก็มีเครดิตเรตติง เป็นนวัตกรรมที่ดึงเขาออกมาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน”
หรือแอปพลิเคชัน “Mordee” ก็เป็นนวัตกรรมความคิดที่สามารถขยายผลต่อได้ทั้งเรื่องทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และสังคม
“แค่เปิดแอป มีหมอ 500 กว่าคนในเครือข่ายมีผู้ใช้แอปประมาณ 90,000–100,000 ราย ช่วยคนในต่างจังหวัด และต่างประเทศ เริ่มจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ไปประเทศแปลกๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาเขา อยากซื้อยาปฏิชีวนะ หรือครีมทาแก้คัน เราเปิดแอปหมอดี เขาก็จะเขียนยาเป็นภาษาอังกฤษให้ หรือคนไทยในต่างจังหวัดกว่าจะเดินทางจากเข้าโรงพยาบาลมันกินเวลาเป็นวัน แต่หมอดีช่วยลดความซับซ้อนของปัญหาได้”
ด้านการเกษตร เครือฯ มีโครงการ “ป่าปลอดเผา” ซึ่งนอกจากจะลดการเผาแล้ว ยังปรับวิธีคิดการทำเกษตร สร้างทัศนคติเรื่องความยั่งยืนให้ช่วยกันปลูกป่า อยู่ร่วมกับป่า และให้เรียนรู้ว่าจะต่อยอดทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างไร
“ตามหลักการเกษตรแล้ว ข้าวโพดบนที่ราบให้ผลผลิตดีกว่าบนเชิงเขา แต่ที่ที่ต้องเผาบนเชิงขาเพราะใช้รถไถกลบไม่ได้ เผาง่ายสุด… สิ่งที่เราทำคือบอกให้เขาลงจากเขามาปลูกข้าวโพดบนที่ราบ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าทดแทน ปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมกคาเดเมีย จากนั้น True Coffee รับซื้อเมล็ดกาแฟ ก็เป็นนวัตกรรมความคิด”
“สิ่งที่เราทำคือ ชวนให้เกษตรกรลงจากเขามาปลูกข้าวโพดบนที่ราบ และส่งเสริมให้ชุมชนบนพื้นที่สูงช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า โดยเน้นการปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมกคาเดเมีย จากนั้น True Coffee รับซื้อเมล็ดกาแฟ ก็เป็นนวัตกรรมความคิด”
ขณะเดียวกัน การส่งมอบความคิดเรื่องความยั่งยืนไปถึงคู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอีก็เป็นเรื่องท้าทาย โดย ดร.เนติธรเล่าถึงเอสเอ็มอีรายหนึ่งว่า
“คู่ค้า SME ที่ผลิตเกี๊ยวห่อไก่จ๊อ เป็นซัพพลายเออร์คนสำคัญ เราขาดเขาไม่ได้ เขามีพนักงานประมาณ 20 คน คำถามคือเราจะเอาความยั่งยืนไปขายเขาได้สักเท่าไร… เราบอกให้คู่ค้าตรวจสอบย้อนกลับ ตรวจแรงงาน ตรวจวัตถุดิบ สิทธิมนุษยชน คู่ค้าตอบมาคำเดียว ‘จะเอาฟองเต้าหู้เขาหรือเปล่า’ ถามต่อว่า ถ้าไก่จ๊อขึ้นราคา 2 บาท เพราะคู่ค้าเอาแรง เวลา ต้นทุนไปตรวจสอบไก่จ๊อ หรือเมล็ดถั่วเหลือง ราคาแพงขึ้นเรารับได้หรือเปล่า”
สร้างสังคม SI Over AI ผนึกพันธมิตร UNGCNT
ความท้าทายของเครือฯ คือการส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้อย่างแนบเนียนและต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ การดึงพันธมิตรและสร้างแนวร่วมจากทุกภาคส่วน ดังนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Network Compact Thailand หรือ UNGCNT) จึงผนึกกำลังกับ 27 องค์กรสมาชิก 8 หน่วยงานของสหประชาชาติ
ดร.เนติธรย้ำว่า หากเครือฯ ทำเพียงองค์กรเดียว “ไม่เพียงพอ” เพราะต่อให้เครือฯ มีพนักงานกว่า 500,000 คน 21 ประเทศทั่วโลก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ร่วมกันสื่อสารประเด็นและเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสังคม “SI Over AI” (sustainable intelligence-based)
“ปี 2015 คุณศุภชัยรับโจทย์มาจากสหประชาชาติเพื่อสร้างเครือข่ายในประเทศไทย สร้างเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย ตอบโจทย์ไม่ใช่แค่การสร้างความยั่งยืนในองค์กร แต่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ช่วยประเทศชาติและภูมิภาคได้อย่างไร วิธีแก้ปัญหา จะขยายผลหรือสเกลได้หรือเปล่า มีจิตวิญญาณความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่รับนวัตกรรมหรือคิดค้นเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียว การปรับใช้และการปลูกฝังก็สำคัญ ตั้งเป้าร่วมกันว่าภายในปี 2050 อย่างน้อยทุกองค์กรใน GCNT ต้องเป็น net zero เมื่อเห็นเป้าหมายเดียวกัน เห็นดาวเหนือดวงเดียวกัน เราสามารถเดินไปทิศทางเดียวกันได้”
ทั้งนี้ องค์กรสมาชิก UNGCNT ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบุคลากร ยกระดับความรู้ และทักษะเชิงเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืนของบุคลากร อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 135 องค์กรสมาชิก ภายในปี ค.ศ. 2030
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับพันธมิตร ตั้งโครงการ SI SPHERE เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีทัศนคติและทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฉลาดใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน มุ่งหวังที่จะบ่มเพาะทักษะและเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในสังคมยุค 5.0 ในด้านเทคโนโลยีที่ควบคู่กับการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ” แซนด์บ็อกซ์สื่อสารความยั่งยืน
ดร.เนติธรกล่าวต่อว่า ปี 2567 เป็นปีแรกที่เครือฯ และสมาชิก GCNT เข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16–25 สิงหาคม 2567 เพื่อสื่อสารให้เห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยเปิดพื้นที่เรียนรู้ความยั่งยืน 1,000 ตารางเมตร ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้ ภายใต้แนวคิด SI : Sustainable Intelligence
“ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เน้นเรื่องเด็กและเยาวชน เรามางานนี้เพราะถ้าเขาเริ่มตอนโตแล้วจะช้าไป เราต้องเริ่มตั้งแต่ประถม”
ตัวอย่างที่เครือฯ นำผลงานมาจัดแสดงในงาน เช่น
นอกจากนี้ GCNT ยังปั้น SDGs Young Creator กว่า 100 ทีม จำนวนกว่า 500 คน สื่อสารคอนเทนต์ SDGs ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ในนิทรรศการ “THE GLOBE VENGERs”
“มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นแซนด์บ็อกซ์ให้ภาคธุรกิจหรือองค์กรอย่างเรา โดยเฉพาะสมาชิก GCNT ในการทดลองเอาองค์ความรู้ที่มีมาทดลองเล่าและถ่ายทอด และเมื่อทดลองเสร็จ เราอยากให้ 140 สมาชิกของสมาคมฯ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ กล่าวคือเอาองค์ความรู้เชิงธุรกิจด้านความยั่งยืนมาถ่ายทอดต่อได้”
“CPF มีฟาร์ม มีโรงงานผลิตอาหาร เช่น ฟาร์มกุ้งสุราษฎร์ธานี เขาต้องเลี้ยงระบบปิดแบบ zero waste แล้วชุมชนรอบข้างหรือน้องๆ ที่จะมาทำงานในอนาคตรู้ความสำคัญของฟาร์มระบบปิด-zero waste ไหม หรือถ้าฟาร์มกุ้งมีการละเมิดสิทธิแรงงาน จ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายและไม่มีการตรวจสอบ เขารู้ไหมว่ามีนัยสำคัญอย่างไร เราจึงเอาองค์ความรู้มาย่อย”
ดร.เนติธรขยายความว่า เยาวชนสามารถเยี่ยมชมฟาร์มสัตว์ เช่น กุ้ง หมู ปลา หรือโรงงานกลั่นปิโตรเคมีเพื่อส่งเสริมให้เด็กเป็นวิศวกรเคมี หรือกลุ่มการแพทย์และโรงพยาบาลก็สามารถสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนเติบโตเป็นบุคลากรที่ดีได้
เมื่อถามว่า เครือฯ ได้เรียนรู้อะไร ดร.เนติธรตอบว่า แซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ของเครือฯ จึงอยู่ในระหว่างเรียนรู้ ลองผิดลองถูกว่าเด็กสนใจหรือไม่สนใจอะไร และทีมงานต้องหาวิธีการสื่อสารที่ตรงจุดมากที่สุด และได้เรียนรู้ตัวอย่างของคนอื่นด้วย
“บางอย่างเด็กก็ไม่สนใจ หรืออันระบายสี เด็กก็ให้ความสนใจ เราก็คิดคอนเทนต์ไป ดังนั้น ต้องมีเทคนิคในการสื่อสาร”
นอกจากจุดประสงค์ที่มาเพื่อสื่อสารแล้ว ดร.เนติธรกล่าวต่อว่า การมาจัดแสดงผลงานยังสะท้อนว่า เครือฯ เป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ดร.เนติธรทิ้งท้ายว่า “เครือฯ และสมาชิก GCNT ช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้ประเทศและโลก ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และมี commitment เป็นผลงานที่ทำไว้ในแต่ละปี ดังนั้นปีต่อไปจะทำน้อยกว่าเดิมไม่ได้ ต้องทำให้ดีกว่าเดิมเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้นคือการบริหารอย่างสมดุลทั้งในมิติธุรกิจ ผลกำไร และความยั่งยืน”
ชมวิดีโอเราปรับโลกเปลี่ยน “นวัตกรรม-ความคิด-เทคโนโลยี” หัวใจบรรลุความยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์