ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UNGCNT-UN ประกาศเจตนารมณ์ สร้างพันธมิตรพัฒนาคน 5.0 “SI Over AI” สู่เป้าหมาย ‘ยั่งยืนร่วมกัน’

UNGCNT-UN ประกาศเจตนารมณ์ สร้างพันธมิตรพัฒนาคน 5.0 “SI Over AI” สู่เป้าหมาย ‘ยั่งยืนร่วมกัน’

6 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT)ภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) จัดประชุมผู้นำภาคเอกชนประจำปี‘GCNT Forum 2023 : Partnership for Human Capital 5.0 –Towards Sustainable Intelligence ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ รวมพลังพันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืนประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิกสมาคมฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 เตรียมตั้ง Sustainable Intelligence Youth Club เพิ่มศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในปีค.ศ. 2024 ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานในงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

  • UNGCNT-UN ปั้นบุคลากรทักษะสูงรับเศรษฐกิจยุค 5.0 ชู Sustainable Intelligence สู่ความยั่งยืนปี 2030
  • เปิดประเด็น “พัฒนาคนยุค 5.0” จาก 6 เวที GCNT Forum 2023 สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน
  • ต่อเนื่องจากการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวร่วมกันของสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) ที่จะเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบุคลากร ยกระดับความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืนของบุคลากรอย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิกภายในปี ค.ศ. 2030 และจะพัฒนาศักยภาพบุคลากรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

    ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact) และผู้ช่วยบริหาร ประธานคณะผู้บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

    ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact) และผู้ช่วยบริหาร ประธานคณะผู้บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์ที่จะเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบุคลากร ยกระดับความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืนว่าเกิดจากการที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคม UNGCNT ได้เข้าร่วมประชุม SCG Summit เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่านับตั้งแต่เวทีสหประชาชาติริเริ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อภายในปี 2030 นั้น ขณะนี้ดำเนินการมาได้ 8 ปีแล้ว และเหลืออีก 7 ปีจะถึงปี 2030 แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่าสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้เพียง 12% ในขณะที่ภาคธุรกิจอีกจำนวนมากยังไม่สามารถนำพาองค์กรให้เดินไปสู่เป้าเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ได้

    “จากประเด็นดังกล่าว จึงทบทวนว่าปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จได้ พบว่าคือเรื่อง ‘คน’ แต่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องคนกันเท่าไหร่ เมื่อย้อนมาดูเรื่องการบริหารจัดการองค์กรเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ‘คน’ เป็นตัวขับเคลื่อนขององค์กร ตั้งแต่ระดับผู้นำ ดังนั้นเรื่องคนจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่งที่เราอาจจะยังมองไม่ครบถ้วนเท่าไหร่”

    ดร.เนติธรกล่าวว่า “ถ้าเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องมองภาพโดยรวมก่อนว่า ที่เราคิดว่าเราอยู่ในเศรษฐกิจยุค 4.0 แต่โดยข้อเท็จจริง เรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 ซึ่งในยุค 4.0 คือยุคข้อมูล เริ่มมีการประมวลผลมากมายมากขึ้น และนำไปสู่เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตอนนี้เรามีข้อมูลมากและเพียงพอ มีเทคโนโลยีดิจิทัลมารายล้อมชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการนำคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มาประมวลผล ช่วยคิดแทนเรา ช่วยทำงานแทนเรา แต่ในยุค 5.0 เป็นยุคที่ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นในทุกด้าน แต่ AI ขึ้นอยู่กับ ‘คน’ กล่าวคือคนที่ป้อนข้อมูลเข้าไป คนที่ใช้ คนที่กำกับดูแลทุกอย่าง ถ้าใช้ไม่ดีพอ ก็เป็นดาบสองคม

    ดังนั้น การใช้ประโยชน์ AI ในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจหรือสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติได้ ต้องย้อนกลับมาที่ ‘คน’ เพราะยุค 5.0 จะเป็นยุคที่ AI กับชีวิตประจำวันของคนจะผสมผสานกับแนบแน่นขึ้น ทุกอย่างจะเป็นสมาร์ท…สมาร์ทโฟน สมาร์ทอีวี ฯลฯ ‘คน’ จำเป็นต้องเรียนรู้กับการอยู่ด้วยกันกับ AI อย่างไร เทคโนโลยีจึงเข้ามาอยู่กับการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องของความยั่งยืน’

    เมื่อเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนผ่านเข้ายุค 5.0 ก็ต้องตอบโจทย์ว่า คนแบบไหนที่เหมาะกับยุค 5.0 ดร.เนติธรรบอกว่า ‘คน’ นอกเหนือจากทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี ต้องก้าวทันไปกับโลกใหม่ที่เข้ามาแล้ว ต้องมีจิตสำนึกด้านคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมด้วย และโดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องความยั่งยืนมีความใกล้ชิดกับเรื่องศีลธรรม จริยธรรม คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน การใช้ทรัพยากรอย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมพื้นฐาน ฉะนั้นจึงมองว่า ถ้าเรากำลังเข้าสู่ยุค 5.0 กำลังเข้าสู่ยุคที่ AI จะมีประโยชน์ เราก็ต้องสร้างคนให้เหมาะกับยุคต่อไป

    เราจึงเรียกว่าเป็น Sustainable Intelligence-Based Society หรือ สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน คือ เป็นยุคที่คนใช้เทคโนโลยี AI อย่างชาญฉลาด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สร้างคุณให้กับสังคม นี่คือคุณลักษณะของคนในยุค “SI Over AI” คือ AI อย่างเดียวไม่พอ ต้อง SI ด้วย ซึ่ง SI คือคนที่เข้าไปบริหารจัดการหรือใช้เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์สูงสุด

    “แล้วเราจะสร้างคนลักษณะนี้อย่างไร ตอนนี้เรารู้คนต้องมีทักษะทางเทคโนโลยี พร้อมกับการมีคุณธรรม จริยธรรม ทีนี้จะทำอย่างไรที่จะสร้างคนแบบนี้ขึ้นมาได้ เราย้อนกลับมามองเรื่องต้นน้ำคือระบบการศึกษา กลางน้ำคือการฝึกอบรมโดยองค์กรธุรกิจในฐานะนายจ้าง เพราะบางครั้งต้นน้ำกับกลางน้ำไม่ได้ตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น ถ้าเราต้องการคนในลักษณะ SI Over AI ต้องเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษา การอบรมหลังระดับอุดมศึกษา ต้องสอดรับกัน ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายมี growth mindset ให้มีจิตใจสร้างสรรค์ ลงมือทำด้วยตัวเอง มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างรอบด้าน แล้วตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศด้วย”

    คนรุ่นปัจจุบันมักจะมองว่า AI หรือระบบอัตโนมัติ จะเข้ามาแทนที่ในโรงงาน ทำให้คนตกงาน ไม่มีงานทำ แต่ถ้าถามเด็กรุ่นใหม่ เขาสนใจว่าจะใช้ AI ได้อย่างไร อย่าง ChatGPT…ใช้ AI ในการเขียนรายงานอย่างไร จะใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างไร จากเดิมที่ต้องวิ่งไปห้องสมุด แทนที่จะเปลืองงบประมาณการสร้างห้องสมุด ก็ให้โน้ตบุ๊ก ให้แล็ปท็อปเขา ให้เขาค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตได้ หรืออยู่บ้านก็ค้นคว้าได้ ไม่ต้องวิ่งเข้าเมืองไปห้องสมุดสาธารณะ เพียงแต่ต้องมีการกำกับดูแล สิ่งเหล่านี้คือวิธีการเรียนการสอน การใช้ชีวิต ที่เอื้อให้เกิด SI ขึ้นได้จริง

    ดร.เนติธรกล่าวว่า เรื่องเหล่านี้สุดท้ายทุกคนต้องร่วมกันทำ ใครพร้อมก็เริ่มทำก่อน อย่างมูลนิธิ CONNEXT ED Foundation ของเครือซีพี ที่มีกว่า 5,000 โรงเรียน คือต้องเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งก่อน ขณะที่สมาชิก GCNT ในฐานะเจ้าของธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก ประเมินเบื้องต้นว่ามีพนักงาน 1 ล้านกว่าคนทั่วโลก มูลค่าการตลาดจำนวนมหาศาล หลายแห่งเป็นบริษัทจดทะเบียน มีซัพพลายเชนเป็นร้อยเป็นพันราย สามารถช่วยสนับสนุนรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลช่วยสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์ให้เด็กนักเรียนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้

    “ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างพันธมิตรอย่างเร่งด่วน เพื่อวางแผนการสร้าง ‘คน’ ยุค 5.0 ให้ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปในทิศทางดังกล่าว ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ตั้งเป้าร่วมกันอย่างชัดเจน อย่าง GCNT ที่มีสมาชิก 130 กว่าองค์กร จะมาร่วมกันคิดว่าจะร่วมมือกันอย่างไร เพราะถ้าทำแยกกัน องค์กรและคู่ค้าขององค์กรจะทำได้อย่างไร จึงเน้นการสร้างพันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 เพราะหน่วยใดหน่วยหนึ่งทำเองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืนได้”

    ดร.เนติธรกล่าวว่า ในการพัฒนาคน ‘SI Over AI’ ต้องมีการสร้างแรงจูงใจไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาคนว่า ‘คน’ ที่ผลิตออกไป ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจมากขึ้นหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนยาก แต่บางครั้งไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะมาก เพียงแต่เปลี่ยนวิธีคิด เพราะการพัฒนาคนแบบนี้เป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ใช่เริ่มตอนที่เขาเรียนจบแล้วค่อยคุยกัน แต่ต้องวางตั้งแต่ต้นในเรื่องการปลูกจิตสำนึก เพราะความยั่งยืนกับเรื่องคุณธรรมมีความใกล้ชิดแนบแน่นแบบแยกไม่ออก อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การบริโภคไม่เกินตัว หรือแม้แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งเหล่านี้ประมวลจากหลักคิดคุณธรรม จริยธรรมทั้งสิ้น

    ขณะเดียวกัน การสร้างบุคลากร SI มีความสำคัญ ต้องมีตัวชี้วัด มี KPI เพื่อแปลงแนวคิดออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น การตั้งเป้าหมายการฝึกอบรมนักเรียน นักศึกษา หรือจำนวนโรงเรียนกี่แห่ง ครูผู้สอนกี่คน เช่นตั้งเป้าหมายในแต่ละปีว่าต้องได้เท่าไหร่ 60%-70%-80% ให้มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ เสริมด้วยการทำรายงานว่าโรงงาน A จะอบรมพนักงาน 100% แต่ทำจริงได้ 80% ปีที่สองลดลงเหลือ 70% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 90% ระบบการรายงานจึงช่วยสร้างความโปร่งใส การเปรียบเทียบของตัวชี้วัด ช่วยกระตุ้นให้มีการวางแผนชัดเจนยิ่งขึ้น

    “หลักสำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ การวางแผน ตัวชี้วัด ที่ชัดเจน จะช่วยแปลงเรื่องนามธรรมให้วัดได้ เป้าหมายเหล่านี้ก็จะตีออกมาเป็นงบประมาณ เป็นผลดำเนินงาน สุดท้ายมีการรายงานสิ่งเหล่านี้ออกมา เพราะการจัดทำรายงานไม่ใช่เพียงการรวบรวมข้อมูล แต่ต้องจัดระบบในองค์กรด้วย แต่ละแผนกทำอะไร จัดเก็บข้อมูลไว้หรือไม่ แล้วจะรวมออกมาเป็นภาพขององค์กรอย่างไร”

    ดร.เนติธรกล่าวเสริมว่า “เราให้ความสำคัญกับรายงานความยั่งยืน แต่ 1. ต้องไม่ก่อให้เกิดภาระต่อองค์กรโดยไม่จำเป็น นำสิ่งที่องค์กรทำอยู่แล้วมารวบรวมเพื่อรายงานให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ใช้งบประมาณหรือต้นทุนในการจัดทำรายงานเหล่านี้ให้น้อยลงได้อย่างไร 2. ต้องมีแรงจูงใจให้ทำ การสนับสนุนให้มีการทำรายงานเป็นสิ่งที่ดี และมีคู่มือออกมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันต้องคิดต่อด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ภาระลดลง มีแรงจูงใจหรือไม่ ทำแล้วได้อะไร”

    พร้อมย้ำว่าสำหรับธุรกิจต้องมองว่า การทำรายงานไม่ใช่การประชาสัมพันธ์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการลงทุน เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ของพนักงาน ของคู่ค้า ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ออกมาให้โปร่งใสชัดเจน แม้ต้องใช้เวลาและงบประมาณ แต่ทำแล้วได้ประโยชน์กลับมา

    “การสร้างคน ต้องสร้างแรงจูงใจ อาทิ กับคู่ค้า ต้องสร้างทั้งซัพพลายเชน ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องยอมรับว่าคู่ค้ามีความสำคัญอย่างยิ่ง หลายรายรู้จักกันมาเป็นสิบปี พอมีกฎเกณฑ์ใหม่หรือกรอบใหม่ จะตัดไปเลยก็ไม่ได้ ทำไม่ได้ ถ้าต้องการให้คู่ค้าผ่านเกณฑ์ ก็ต้องช่วยเขาให้ผ่านการอบรม ให้ข้อมูล ทำให้ชีวิตเขาง่ายในการเป็นคู่ค้ากับเราในระยะยาว ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่ไปวางกฎเกณฑ์ หรือกดดันให้เขาต้องทำนั่นทำนี่ ถ้าเขาทำไม่ได้ ก็เสียทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าสามารถช่วยคู่ค้าได้ ให้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน ต้องมีการ upskill ต่างๆ ด้วย เช่น ช่วงแรกอาจมีบริษัทมาช่วยตรวจสอบข้อมูล ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยก่อน เพราะการรายงานต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ไม่อย่างนั้นจะไม่น่าเชื่อถือ ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนก็ต้องเป็นไปตามคู่มือการรายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งคู่มืออาจจะต้องออกแบบฟอร์มที่ใช้ได้ง่ายขึ้น เป็นภาระน้อยลง รวมทั้งมีแรงจูงใจด้านภาษีหรือไม่ เพื่อให้บริษัทที่มาลงทุนด้านนี้มากขึ้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นหรือไม่”

    นี่คือเจตนารมย์ในการปักหมุดสร้าง ‘คน’ เพื่อให้การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ต้องบรรลุตามเป้าหมายในปี 2030 มีความคืบหน้า เพราะเวลานี้ทั้งโลกทำได้เพียง 12% อีก 88% มีเวลาทำในอีก 7 ปีข้างหน้าให้เกิดขึ้น จะทำอย่างไร จึงต้องการความร่วมแรง เพราะทั้ง 17 ข้อ มีความท้าทายกันหมด มากน้อยต่างกัน และทุกประเทศเผชิญทั้ง 17 ข้อเหมือนกันหมด