ThaiPublica > คอลัมน์ > “ไม่มีความมั่นคงของชาติ-เศรษฐกิจ-โลก หากไม่มีความมั่นคงทางภูมิอากาศ”: นายก U.K. กล่าวใน COP29

“ไม่มีความมั่นคงของชาติ-เศรษฐกิจ-โลก หากไม่มีความมั่นคงทางภูมิอากาศ”: นายก U.K. กล่าวใน COP29

20 พฤศจิกายน 2024


ประสาท มีแต้ม

มีสองเหตุผลที่ทำให้ผมต้องเขียนถึงเรื่องนี้ในวันนี้ หนึ่ง เพราะว่าในช่วง 11-22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP29) ซึ่งกำลังกระทบอย่างรุนแรงถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติ และ สอง ผมได้รับเชิญให้ไปเสนอความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รัฐบาลไทยกำลังยกร่างมาตั้งแต่ก่อนปี 2565 แต่ก็ยังไม่ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎรเสียที

ผมได้นำเสนอความเห็นต่อ กสม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศ๗ิกายน 2567 บทความนี้จึงขอสรุปและนำมาเสนอต่อสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันนะครับ สิ่งที่ผมนำเสนอมี 3 ประเด็นคือ (1) การตั้งคำถามใหญ่ๆ (2) ตัวอย่างกฎหมายที่ประสบผลสำเร็จ และ (3) ต้นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อนถูกลงมาก ดังนี้

หนึ่ง การตั้งคำถามใหญ่ๆ (Big Question)

ผมมี 3 คำถาม โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามแรกและตอบเองว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นอน เพราะในข้อที่ 3 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ) ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล” ปัญหาโลกร้อนเป็นต้นเหตุที่สำคัญของ “ความไม่มั่นคงแห่งบุคคล” ข้อมูลโดยองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกชี้ชัดว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีสาเหตุมาจากโลกร้อนนั้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและยากจน และร้อยละ 60 ของทรัพย์สินที่เสียหายก็อยู่ในประเทศยากจน ทั้ง ๆที่คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในสัดส่วนที่น้อยมากๆ

ประเทศไทยเราเองก็ถูกจัดให้มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากโลกร้อน/โลกเดือดสูงเป็นประมาณอันดับที่ 9 ของโลก จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศเราต้องมีกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว ไม่ใช่อืดมานานกว่า 3 ปีกว่าแล้ว

คำถามใหญ่ข้อที่สอง
ในร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (มาตรา 10) จะมีความเป็นอิสระ มีความคล่องตัวและจะสามารถทำงานให้ได้ตามวัตถุประสงค์จริงหรือ?

ผมตอบเองเลยว่า ผมไม่เชื่อ

คณะกรรมการชุดนี้มีประมาณ 32 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีปลัดกระทรวง 15 กระทรวง ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบปกติของระบบราชการไทยและเป็นปัญหามาช้านานแล้ว นอกจากความไม่เป็นอิสระที่ต้องทำตามคำสั่งของ “นาย” แล้ว ท่านเหล่านี้จะเอาเวลาที่ไหนไปประชุม ไปทำงาน

ระหว่าง “ความเป็นอิสระ” กับ “ความมีเวลา” ในการทำงาน ผมเห็นว่าประการแรกมีความสำคัญมากกว่า และสำคัญที่สุดด้วยหากรวมกับความรู้ความสามารถและจุดยืนอันเป็นที่ประจักษ์ของตัวกรรมการเองด้วย

ผมได้เสนอทางเลือกเรื่องที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ว่า ให้ศึกษาจากกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักร(U.K.) ที่ชื่อ “Climate Change Act 2008” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ตามเป้าหมาย(ผมจะขยายความในภายหลัง)

คณะกรรมการชุดนี้ (ของ U.K.) ถือว่าเป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาล ชื่อ Climate Change Committee (CCC) ประกอบด้วยกรรมการเพียง 5-8 คนเท่านั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำแนะนำต่อรัฐบาลในเรื่องการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำรายงานความก้าวหน้าประจำปีต่อรัฐสภา โดย CCC ชุดล่าสุดนี้มี 6 คน ในจำนวนนี้เป็นศาสตราจารย์ 4 คน

ในประเด็นที่มาของ CCC ผมได้เรียนต่อที่ประชุมว่า น่าจะเทียบกับที่มาของกรรมการ กสม. ซึ่งมาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา ซึ่งอาจจะยังมีปัญหาถึงการยอมรับที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ในเชิงหลักการแล้วมันควรจะเป็นเช่นนั้น

อ้อ ผมได้เพิ่มเติมถึงที่มาของคณะกรรมการในร่างกฎหมายของรัฐบาลไทย (มาตรา 10) ว่ามีผู้แทนของสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมธนาคาร แต่ไม่มีตัวแทนของสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2560 ผมมั่นใจว่า ผู้บริโภคควรจะมีบทบาทในเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าภาคธุรกิจทั้ง 3 องค์กร เรื่องนี้แม้จะเป็นประเด็นเล็กกว่าแต่ก็มีความสำคัญครับ

คำถามใหญ่ข้อที่สาม

ผมได้พูดถึง “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งเป็นกลไกที่ให้สิทธิกับคนกลุ่มหนึ่งสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงแม้แต่นิดเดียวว่าเกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลโดยมนุษย์) ได้มากกว่าระดับเกณฑ์ที่กำหนด โดยการจ่ายเงินให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซฯ ผมได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “คาร์บอนเครดิตไม่สามารถลดโลกร้อนได้” พร้อมกับให้ข้อมูลเพื่อขยายความว่า ปัจจุบัน (2023) ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันปีละ 4 หมื่นล้านตัน (ตัวเลขกลมๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย) ธรรมชาติบนบก(คือพืชทั้งหมด) สามารถดึงเอาไปใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ 1 หมื่นล้านตัน พืชในมหาสมุทรดึงไปอีก 1 หมื่นล้านตัน ที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านตัน ก็จะลอยขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศ และทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” แล้วกักความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้ โลกจึงร้อน จึงเสียสมดุล แล้วเกิดภัยพิบัติต่างๆนานา ดังที่เห็นกันอยู่

คุณจะเอาพื้นดินที่ไหนมาปลูกพืชเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านตันนี้ เราต้องใช้โลก(ที่ไม่มีคนอยู่) อีก 1 ใบจึงจะดูดซับได้หมด มันเป็นไปไม่ได้

เรื่องโลกร้อนไม่ใช่เรื่องปรัชญาที่ใช้เหตุผลอย่างกว้างๆ คร่าวๆ มาอธิบาย แต่มันคือคณิตศาสตร์เบื้องต้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและตรวจสอบได้จากองค์กรต่างๆ รวมทั้งของสหประชาชาติด้วย (ประโยคหลังสุดนี้ผมยังไม่ได้พูด แต่คิดไว้นานแล้ว)

ในร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลฉบับนี้มีคำว่า “คาร์บอนเครดิต” ถึง 41 ครั้ง รวม 9 มาตรา จากทั้งหมด 202 มาตรา เพื่อบัญญัติในสิ่งที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แปลกไหมครับ

สอง ตัวอย่างกฎหมายที่ประสบความสำเร็จ

นอกจาก 3 คำถามใหญ่ๆที่กล่าวแล้ว ผมยังได้เล่าถึงความสำเร็จของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งตอกย้ำกับหลักการเรื่องความมั่นคงที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ภาพข้างล่างนี้เป็นข้อความจากคำแถลงของ Sir Keir Rodney Starmer นายกรัฐมนตรีประเทศสหราชอาณาจักร ในเวที COP29

ตอนหนึ่งของคำแถลงซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล”

Sir Starmer จากพรรคแรงงานซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง กล่าวตอนหนึ่งว่า

จะไม่มีความมั่นคงของชาติ…
จะไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ…
จะไม่มีความมั่นคงของโลก…
หากปราศจากความมั่นคงทางภูมิอากาศ

ท่านผู้อ่านสามารถอ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.gov.uk/government/speeches/pm-remarks-at-cop29-12-november-2024

รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เคยประกาศการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซฯ (NDC) ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่ปี 2008 ก่อนมีข้อตกลงปารีสเสียอีก โดยล่าสุดว่าจะลดลง 78% เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี 1990 ภายในปี 2035 และจะสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 แต่รัฐบาลชุดใหม่นี้(โดยคำแนะนำของคณะ CCC) ได้ขอเพิ่มการลดลงจาก 78% เป็น 81% ภายในปี 2035 ตามข้อมูลในภาพถัดไปครับ

ไหน ๆ ได้พูดเรื่องบทบาทของประเทศสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยก็ขอเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศทั้งสองต่อเลย ดังในภาพล่างนี้ครับ

สาม ต้นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อนถูกลงมาก

เราถูกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลทำให้เราเชื่อว่า การทิ้งพลังงานฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้ต้นทุนค่าพลังงานของผู้บริโภคแพงขึ้นมาก เรื่องนี้ประเทศเจ้าภาพคือ อาเซอร์ไบจานก็ทำเอกสารประชาสัมพันธ์ว่าเช่นนั้น ซึ่งแพงกว่าผลงานของนักวิจัยกลุ่มอื่นถึงเกือบ 6 เท่าตัว

ผมได้เรียนต่อ กสม.ว่า ไม่เป็นความจริง โดยให้เหตุผลว่า เทคโนโลยีพลังงานฟอสซิลเป็นเทคโนโลยีที่เผาไหม้ภายในซึ่งมีมานานเกือบ 200 ปีมาแล้ว เราใช้พลังงานฟอสซิลไปต้มน้ำให้เดือด แล้วใช้แรงดันไอน้ำไปผลักให้ขดลวดทองแดงหมุนไปตัดกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า กว่าจะได้ไฟฟ้าออกมาต้องศูนย์เสียพลังงานไปกว่า 60% ไปกับการต้มน้ำให้เป็นไอ เป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนฐานของวิชาฟิสิกส์แบบดั้งเดิม (Classical Physics)

แต่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ไม่ต้องใช้น้ำ ไม่สูญเสียพลังงานเป็นความร้อน แต่ใช้แสงแดด(ของฟรี)มาปะทะกับผิวของแผ่นโซลาร์เซลล์ที่เป็นสารกึ่งตัวนำ (Semi Conductor) ก็จะเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าในทันที เป็นเทคโนโลยีบนพื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่(Modern Physics) ซึ่งส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์เกือบ 10 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลติดต่อกันมา

เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลงหลายสิบเท่าตัวในช่วงเวลา 10-20 กว่าปีมานี้เอง เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรศัพท์มือถือคือตัวอย่างที่เราเห็นกันอย่างชัดเจน รวมถึงแบตเตอรี่ซึ่งก็ได้รับรางวัลโนเบลด้วยเช่นกัน

ศาสตราจารย์ Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลเช่นเดียวกัน ก็ยืนยันเหมือนที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ดังภาพทางขวามือของภาพข้างล่าง การแก้ปัญหาโลกร้อนมีราคาถูก (โดยอ้างอิงจากรายงานของกรมพลังงาน สหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Revolution…Now : The Future Arrives for Five Clean Energy Technologies ดาวน์โหลดได้) และ “โคตรถูก” ตามลำดับ

ส่วนภาพทางซ้ายมือเป็นคำโฆษณาที่บิดเบือนความจริของประเทศเจ้าภาพครับ

สำหรับราคาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเทคโนโลยียุคใหม่จะถูกลงมาก ผมมีผลงานวิจัยของหน่วยงาน IRENA (ขององค์การสหประชาชาติ) และนักวิชาการที่เคยได้รับเชิญให้มาบรรยายในกรุงเทพมหานครด้วย ดูเอาเองนะครับว่ามันจะถูกลงแค่ไหน

ผมขอยืนยันว่า ผมได้นำเสนอต่อ กสม.ครบถ้วนตามนี้ ใน 3 ประเด็น และ 3 คำถามใหญ่ๆ และที่ผมได้นำคำแถลงของท่านนายกรัฐมนตรีประเทศสหราชอาณาจักรมาเป็นชื่อบทความก็เพราะว่า ผมก็อยากได้คำถามใหญ่ๆ ที่ทำให้คนเข้าใจและนำไปคิดต่อเช่นเดียวกัน ขอบพระคุณนะครับ