ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
หากจะว่าไปแล้ว อาชีพผู้ตรวจสอบภาครัฐ หรือ government auditor นั้น ถูกคาดหวังจากสังคมสูงมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน… ความคาดหวังนำไปสู่ “ความเชื่อมั่นสาธารณะ” หรือ public trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (external stakeholder) จากการทำหน้าที่ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดิน เกิดความมั่นใจในกระบวนการทำหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบที่มีทั้งมาตรฐานและคุณภาพ
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ตรวจสอบยังเป็น “มนุษย์ปุถุชน” สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ อารมณ์ความรู้สึก ทั้งฉันทาคติและอคติ… ด้วยเหตุนี้ องค์กรตรวจเงินแผ่นดินในระดับสากลจึงกำหนดเรื่อง code of ethics ไว้เป็นหลักการสำคัญของการตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า ISSAI 130 Code of Ethics
ในอดีตนั้น code of ethics อยู่ในลักษณะของการให้คำสัตย์สาบาน ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า oath taking ceremony ซึ่งปัจจุบันยังมีองค์กรตรวจเงินแผ่นดินหลายประเทศจัดพิธีนี้อยู่ เช่น อินเดีย ปากีสถาน หรือแม้แต่ภูฏาน
สำหรับการทำงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินไทยนั้น… ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งผู้ตรวจสอบในออดิตออฟฟิศ “ออฟฟิศหลวง” นั้นเรียกว่าอินสเปคเตอ (inspector) ยังไม่ได้เรียกว่าออดิเตอ (auditor)… สมัยนั้นยังผูกพันกับกรมพระคลังมหาสมบัติ
ยุคนั้น ใครก็ตามที่เข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของกรมพระคลังมหาสมบัติ จำเป็นต้องกล่าวปฏิญาณสาบานตนก่อนเข้าปฏิบัติงาน… ปรากฏตามเอกสารราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “คำสาบาลสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติ” ปี พ.ศ. 2433
เมื่อวิเคราะห์ถ้อยความที่ปรากฏในคำสาบานนั้น น่าสนใจว่าถ้อยคำต่างๆ ล้วนเป็นรากฐานของ code of ethics ของผู้ตรวจสอบในยุคปัจจุบัน
… พูดง่ายๆ คือ มีความเป็นสากลอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ
ผู้ตรวจสอบยุคโบราณต้องสาบานตนก่อนเข้ารับราชการงานพระคลังในสี่เรื่อง
… เริ่มจาก ข้อแรก “ข้าพเจ้าจะขอรับราชการโดยความสวามิภักดิ์เปนอย่างยิ่ง จะไม่ตั้งใจที่จะทำให้ผิดพระราชกำหนดกฎหมาย… โดยความรัก ความโกรธ ความกลัว แลความหลงโลภเจตนาเพื่อตนแลผู้อื่นเปนอันขาด” … คำสาบานข้อนี้สะท้อนการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ยึดมั่นในกฎหมาย ระเบียบและทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ
คำสาบานข้อสอง กล่าวถึงการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ดังถ้อยคำสาบานที่ว่า ” …ไม่คิดถ่ายเทยักยอก ฉ้อบังพระราชทรัพย์ ผลประโยชน์แผ่นดิน เพื่อตัวฤาเพื่อผู้อื่น จะไม่รับสินจ้างสินบนสินน้ำใจ บรรดาจะชักน้ำจิตรให้เชือนทำให้ราชการเสื่อมเสียไปเปนอันขาด”
คำสาบานข้อสาม กล่าวถึงความเป็นมืออาชีพ และปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ดังที่ว่า “… สิ่งใดที่ข้าพเจ้าคิดเห็นเป็นความเจริญแก่ราชการพระคลัง จะชี้แจงแสดงให้สิ้นสติปัญญา สิ่งใดข้าพเจ้าคิดเห็นว่าจะเปนความเสียหายแก่ราชการพระคลัง จะทักท้วงร้องเรียนจนสุดกำลัง ไม่ปิดบังกีดขวางเพราะความรัก ความโกรธ ความกลัว แลความโลภหลงลโมภประโยชน์ตนแลผู้อื่นเปนอันขาด”
คำสาบานข้อสี่ ข้อสุดท้าย กล่าวถึงการพัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์ต่อราชการ ดังคำสาบานที่ว่า “ข้าพเจ้าจะขอรับราชการ โดยความอุสาหะอย่างยิ่ง … จะคิดให้ราชการเจริญยิ่งขึ้น แลจะไม่คิดทำลายล้างให้เสื่อมเสียซึ่งควรจะเจริญเพราะความรัก ความโกรธ ความโกรธ ความกลัว ความหลงโลภลโมภประโยชน์ เพื่อตนแลผู้อื่นเปนอันขาด”
น่าสนใจว่า เมื่อ “ถอดรหัสคำสาบาน” ข้างต้น สอดคล้องกับหลักการ code of ethics หลายเรื่องทั้งเรื่อง integrity เรื่อง independence and objectives เรื่อง competence รวมถึง professional behavior
อย่างไรก็ดี คำสาบานนั้นมักมาพร้อมกับคำอวยพรให้เจริญก้าวหน้าหากผู้สาบานทำตามคำสาบานอย่างเคร่งครัด… แต่หากผิดคำสาบานเมื่อไหร่ “คำสาปแช่ง” หรือ curse ตอนท้ายคำสาบานนี้นับว่า “น่าสะพรึง” เลยทีเดียว
คำสาปแช่งของ “คำสาบาลสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติ” ฉบับนี้บันทึกไว้ว่า หากผู้สาบานผิดคำสาบาน ขอให้….
เกิดฝีพิศม์ ฝีกาลขึ้นในทรวงอกแลลำคอข้าพเจ้า ให้ถึงอธิสารปะราภาศ สรรพพินาศพิบัติต่างๆ…นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น
ถ้ามิดังนั้น “ให้สายอสุนิบาต สายฟ้าฟาดราชสาตราวุธ ดาบองครักษ์จักรนารายณ์มาสังหารผลาญชีวิตข้าพเจ้าให้ตายภายใน ๓ วัน ๗ วัน”…เท่านี้ยังไม่สาแก่ใจ
ถ้าข้าพเจ้าตายจากมนุศยโลกยแล้ว จงลงไปบังเกิดใน “อะเวจีมหานรก” หมกอยู่ในไฟไหม้ไม่รู้ดับหมื่นกัลปแสนกัลปอนนตะชาติ
… เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงหน้าคนคิดถ้อยคำสาบานฉบับนี้จริง ๆ
… ยังไม่หนำใจกับคำสาปแช่ง มีต่อไปถึงชาติภพต่อไปว่า
“ถ้าข้าพเจ้าพ้นจากนรกแล้วจะมาบังเกิดเปนมนุศย พระพุทธเจ้าองค์ใด จะมาตรัสโปรดสัตว์ในภายภาคน่า อย่าให้โปรดข้าพเจ้าผู้หาความสัจทุจริตผิดด้วยไม่มีกระตัญญูได้จงทุก ๆ ชาติ”
หากวิเคราะห์คำสาปแช่งตอนท้ายคำสาบานนี้ จะเห็นว่าเป็น “กุศโลบาย” สำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งกลัวและเกรง เป็นแนวทางที่เรียกว่า stick approach ที่ใช้ลงทัณฑ์กันทางความรู้สึก ก่อนจะต้องไปรับโทษจริง
คำสาบานที่มีคำสาปแช่งยาวไปถึงชาติหน้า ภพใหม่ แม้กลับมาเป็นมนุษย์อีกรอบ ยังจะหาความเจริญไม่ได้นั้น เหตุผลหนึ่งที่คนโบราณทำไว้แบบนี้ เพื่อให้คนที่คิดจะกระทำผิด ได้ไตร่ตรองอีกหลายครั้งก่อนตัดสินใจทำผิดไป
… ซึ่งหากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้ว คำสาบานและคำสาปแช่งแบบนี้เป็นการ “เพิ่มต้นทุน” ให้คนที่คิดจะทำผิด เพราะหากประโยชน์ที่ได้จากการลงมือทำผิด น้อยกว่าโทษที่ได้รับแล้ว … คนคนนั้น หากเป็น rational man มีสติดีพอ จะไม่ลงมือทำ
เรื่องราวในอดีตยังมีมนต์ขลังและคลาสสิกอยู่เสมอ… ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าในตัวเอง แม้แต่คำสาบาน