ThaiPublica > คนในข่าว > One Young World : “นันทิช-นวมลลิ์” 2 ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าพื้นที่เปลี่ยนโลก พลังคนรุ่นใหม่สร้างโลกยั่งยืน

One Young World : “นันทิช-นวมลลิ์” 2 ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าพื้นที่เปลี่ยนโลก พลังคนรุ่นใหม่สร้างโลกยั่งยืน

2 พฤศจิกายน 2024


เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ส่งผู้เข้าร่วมโครงการ One Young World ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) รวม 20 คน โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ตัวแทน คือ “นันทิช อัคนิวรรณ” (ปูน) จาก CP LAND และ “นวมลลิ์ เมธาทรงกิจ” (โบว์) จาก CP Axtra (Makro)

ท่ามกลางความท้าทายของโลก ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม “คนรุ่นใหม่” ถูกคาดหวังให้เป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ยั่งยืน

แต่การสร้างโลกที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไร้พื้นที่ที่เปิดกว้าง ไร้การลองผิดลองถูก หรือถูกปิดกั้นโอกาส

One Young World ถูกก่อตั้งในปี 2533 เป็นการประชุมระดับโลกสำหรับผู้นำเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี โดยเปิดโอกาสให้มีการปราศรัยต่อเครือข่ายเยาวชนที่มาจากทั่วโลกรวมถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการแบ่งปัน และพัฒนาความคิดในการแก้ปัญหาสำคัญระดับโลกที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) และบริษัทในเครือฯ เป็นองค์กรที่เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ จึงสนับสนุนตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีรวม 20 คนเข้าร่วมเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก One Young World 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 พร้อมกับแนวคิด ‘จุดประกายผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อโลกอัจฉริยะที่ยั่งยืน’ โดยเวทีนี้เป็นการรวมตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่จาก 196 ประเทศทั่วโลก มารวมกัน ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ตั้งแต่วันที่ 18 – 21 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายการสร้างความร่วมมือผ่านความท้าทายทั้ง 5 ประเด็นซึ่งเป็นธีมหลักของปี ได้แก่

1. Indigenous Voices เสียงของคนพื้นเมือง
2. The Climate and Ecological Crisis การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3. Artificial Intelligence ปัญญาประดิษฐ์
4. Health Equality ความเท่าเทียมทางสุขภาพ
5. Peace สันติภาพของโลก

รูปแบบของโครงการคือ ผู้สมัครจะต้องเลือกหนึ่งหัวข้อที่สนใจมาแลกเปลี่ยนกับคนที่เลือกหัวข้อเดียวกัน (group discussion) หลังจากนั้น มีการสัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อให้ทีมงานเห็นถึง “แพสชัน” ที่อยากจะแก้ปัญหา และเมื่อถึงวันงานจริง (18-21 กันยายน 2567) ภายในงานมีทั้งเวทีบรรยายจากแขกรับเชิญทั่วทุกมุมโลก มีการจัดกลุ่มเวิร์กชอป รวมถึงมีบูธของพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและประชาสังคม ซึ่งแสดงวิธีการแก้ปัญหา know-how กรณีศึกษาการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จ

บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ส่ง “ผู้นำแห่งอนาคต” เข้าร่วมโครงการดังกล่าวรวม 20 คน โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามีโอกาสพูดคุยกับ 2 ตัวแทน คือ “นันทิช อัคนิวรรณ” (ปูน) จาก CP LAND และ “นวมลลิ์ เมธาทรงกิจ” (โบว์) จาก CP Axtra (Makro) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทคนรุ่นใหม่ต่อสมการการพัฒนาของโลกเป็นอย่างไร และคนรุ่นใหม่จากประเทศไทยจะนำองค์ความรู้ วิธีการ หรือไอเดียต่างๆ มาเปลี่ยนแปลง หรือยกระดับองค์กรได้อย่างไรบ้าง

จุดเริ่มต้นที่ร่วมเป็นตัวแทน One Young World ทั้ง “ปูน” กับ “โบว์” เห็นตรงกันว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ ร่วมกันแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่านั้นคือ เสียงของคนรุ่นใหม่จากโครงการนี้ส่งไปถึงผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจจริงๆ

“ผมคิดว่า One Young World จะสามารถผลักดันหรือส่งเสริมทั้งแพสชัน ควบคู่ไปกับงานได้ หรืออาจทำให้ไอเดียเรื่องการอนุรักษ์ของผม ‘มีเสียงที่ดังขึ้น’ แม้เพื่อนๆ หรือคนในยุคสมัยใกล้เคียงกันมองว่าความคิดของเขาอาจยังไม่สามารถส่งต่อไปถึงผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจได้จริงๆ แต่ผมเห็นว่าโครงการนี้จะรวมผู้นำรุ่นใหม่เข้ามาแลกเปลี่ยนไอเดีย สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดูมีความเป็นไปได้มาก และไม่ส่งผลกระทบแค่ในบริษัทหรือประเทศ แต่ส่งผลทั่วโลก” ปูนกล่าว

“หัวหน้าพูดกับโบว์ว่า เป็นโครงการที่ดีมากๆ สามารถไปได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น มาปีนี้ ปีหน้ามาอีกไม่ได้แล้ว ถ้าพลาดโอกาสนี้มันน่าเสียดายมาก… จุดที่สนใจคือวิดีโอพีอาร์ของปีก่อน โบว์รู้สึกว่าผู้บรรยายพูดมาจากแรงบันดาลใจ เห็นถึงปัญหาและอยากจะแก้จริงๆ” โบว์เล่า

“นันทิช อัคนิวรรณ” (ปูน) จาก CP LAND

ห้องเรียนนอกตำรา “One Young World”

ปูนเล่าว่า ก่อนหน้านี้มองว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อนต้องเป็นเชิงปฏิบัติหรือกายภาพเท่านั้น เช่น ปลูกป่า แยกขยะ ฯลฯ แต่พอได้ร่วม One Young World และมีโอกาสเดินทางไปกับมูลนิธิที่ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งทำเรื่องความยั่งยืนและการอนุรักษ์ในพื้นที่ลุ่มน้แอมะซอน สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การนำวิทยาศาสตร์และศิลปะมาผสมผสานกันเป็นองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ปูนยกตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ป่า เช่น เครื่องดนตรี เครื่องประดับจากกระดูกสัตว์ ชามจากผลไม้เฉพาะถิ่น ข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงศิลปะต่างๆ เช่น ดนตรีและการแสดง

“งานประดิษฐ์จากสิ่งแวดล้อมทำให้คนผูกพันและอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผนวกความคิดเรื่องการอนุรักษ์เข้าไปกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่… ทั้งหมดไม่ใช่การบอกให้เขาต้องทำ หรือทำแล้วดีอย่างไร แต่ต้องเข้าไป ทำให้คนรู้สึกสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่สอนเชิงปฏิบัติอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากความอยากทำจริงๆ หรือทำแล้วจะได้อะไรกลับมา” ปูนกล่าว

นอกจากองค์ความรู้แล้ว ปูนยังเล่าถึงสิ่งที่ประทับใจเพิ่มเติมว่า โครงการให้ความสำคัญกับระบบการสร้างเครือข่าย ทำให้รู้จักผู้นำรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลก

“ก่อนเข้างานจะได้บัตรที่มีตัวเลข ซึ่งเลขทุกคนไม่เหมือนกัน หลังจากจบกิจกรรมในแต่ละวัน เราต้องไปตามร้านอาหารที่เขาสุ่มไว้ให้ ใครได้หมายเลขไหนก็ไปร้านนั้น เราไม่รู้เลยว่าวันนี้จะได้ไปกินข้าวเย็นกับใคร เหมือนเจอคนที่โดนสุ่มมาเหมือนกัน ต่างคนต่างแยกกับเพื่อน มีการคุยแลกเปลี่ยนข้ามหัวข้อ ข้ามเชื้อชาติ ข้ามวัฒนธรรม”

“คนไม่รู้จักกันที่ภาษาและวัฒนธรรมต่างกันมารวมตัวกัน แต่สามารถพูดคุยกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ มันเป็นสิ่งที่พิเศษมาก ไม่ใช่ว่าจะมีโอกาสแบบนี้ได้ง่ายๆ บางคนอาจสื่อสารไม่เก่ง แต่ก็หาวิธีการให้สื่อสารได้”

ปูนเสริมอีกว่า ระบบการสร้างเครือข่ายสุ่มให้ผู้ร่วมงานได้เดินทางไปตามจุดต่างๆ ของเมืองมอนทรีออล ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนและมุมมองต่างๆ เพราะต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

ขณะที่โบว์เล่าความประทับใจว่า One Young World จัดงานโดยคำนึงถึงความต้องการของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง (inclusive) เช่น การเตรียมอาหารที่หลากหลาย คำนึงถึงคนที่ไม่กินเนื้อหมูหรือเนื้อวัว มีห้องน้ำที่ทั้งเพศชายและหญิงสามารถเข้าด้วยกันได้ มีห้องให้นมบุตร รวมถึงมีห้องสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาด้วย

“เขาคิดจะทำให้โลกนี้มีความ inclusive และความเท่าเทียมกัน ถึงทุกคนจะเด็กมาก แต่มองเห็นปัญหาและประสบพบเจออะไรและรู้สึกอยากแก้ไข เป็นแรงบันดาลใจในการผลักดันสิ่งที่เรากำลังทำ” โบว์กล่าว

“วิธีคิด-เทคโนโลยี-เวลา” แต้มต่อแห่งอนาคต

เมื่อถามว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยเข้าไปอยู่ในสมการการพัฒนาของโลก ในฐานะคนรุ่นใหม่คนหนึ่งควรจะทำอย่างไร ซึ่งโบว์เห็นด้วยกับคำถามและเสริมว่า ปัจจุบันอาจยังไม่ถึงเวลา แต่ในอนาคตไปถึงจุดนั้นแน่นอน

“ถามว่า ณ ตอนนี้ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง…วันนี้อาจไม่มีผลกระทบมากมาก แต่หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เราจะเป็นคนที่สร้างผลกระทบกับสังคมได้มากในอนาคต เพราะถ้าเรามีความเชี่ยวชาญ ถึงจุดนั้นและแก้ปัญหาได้ มีอะไรที่สั่งสมมา เรียนรู้จากคนรุ่นก่อน ขณะเดียวกันก็พัฒนานวัตกรรมที่สามารถทำได้ มองวิธีแก้ปัญหาระยะยาวว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืนกับโลกมากที่สุด”

“ถ้าลงทุนกับคนรุ่นใหม่ เขาจะพัฒนาอะไรต่อไปอีกในอนาคต มันเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน เราทำเพื่เป้าหมายระยะยาว” โบว์กล่าว

โบว์กล่าวต่อว่า การให้พื้นที่ในการลงมือทำเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด แต่ถ้าไม่มีโอกาสหรือผู้ใหญ่ไม่เปิดพื้นที่ คนรุ่นใหม่จะไม่รู้ว่าเขาเดินมาถูกทางหรือไม่

อย่างไรก็ตาม โบว์กล่าวต่อว่า คนรุ่นใหม่อาจใจร้อนและความมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมักถูกต้อง ดังนั้น สิ่งที่อยากให้พึงระวังคือ การรับฟังจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะความผิดพลาดที่คนรุ่นใหม่สามารถเก็บไว้เป็นบทเรียน ไม่ใช่มองหาแต่สิ่งใหม่ๆ แต่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นเคยทำมาต่อยอดได้

ส่วนปูนกล่าวว่า ข้อได้เปรียบของคนรุ่นใหม่คือ “เวลา” เพราะหลังจากนี้มีอะไรให้ลองทำอีกมาก และไม่อยากให้คนรุ่นก่อนมองว่า อะไรที่ไม่สำเร็จในยุคเขาอาจไม่สำเร็จตลอดไป เพราะคนรุ่นใหม่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี หรือวิธีการที่แตกต่างจากเดิม

“สิ่งที่เขาทำไม่สำเร็จ มันอาจสำเร็จก็ได้ในรุ่นเรา เรายังมีเวลาให้ทดลองทำ อยากบอกว่าคนรุ่นก่อนว่า ‘ให้คนรุ่นใหม่ลองทำ’ ยังมีทักษะหรืออาชีพที่คนรุ่นก่อนไม่เคยจินตนาการถึง” ปูนกล่าว

“ไม่ได้บอกว่าคนรุ่นใหม่มีทักษะหรือความสามารถที่พิเศษกว่า แต่เขามีความกล้าลองวิธีการใหม่ๆ มากกว่าวิธีการเดิม การที่ทุกคนมารวมตัวกัน ทำให้เกิดกิจกรรมหรือผนึกกำลังความรู้ที่เราเป็นตัวประสาน เกิดวิธีการไปสู่เป้าหมายร่วมกัน” ปูนกล่าว

ปูนเสริมว่า ผู้ใหญ่สามารถให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ได้โดยการเปิดพื้นที่ในองค์กรหรือบริษัท ตัวอย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีโครงการต่างๆ เช่น โครงการ True Next Gen โครงการเถ้าแก่น้อย หรือการส่งคนรุ่นใหม่ไปเข้าร่วม One Young World

“นวมลลิ์ เมธาทรงกิจ” (โบว์) จาก CP Axtra (Makro)

ชวน “คนรุ่นใหม่” จับมือไว้ (แก้ปัญหา) ไปด้วยกัน

ปูน เล่าการนำสิ่งที่ได้จาก One Young World มาปรับใช้กับองค์กรที่ทำงานอย่าง CP LAND ว่า เขามีความคิดจะนำ AI มาใช้ในทุกกระบวนการก่อสร้าง และทำให้เกิดความยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“One Young World เหมือนเป็นจุดเริ่มต้น ผมไม่อยากให้ไปแล้วกลับมาจบแค่นั้น… ปัญหาทั้งหมด ไม่ใช่ปัญหาที่ 1 คน กลุ่มคนหรือแม้แต่ธุรกิจสามารถแก้ได้ มันต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เอกชนหรือรัฐบาล แต่ต้องเป็นทุกคนร่วมมือร่วมใจ เกิดการตื่นรู้ในเรื่องนี้” ปูนกล่าว

“ถ้าตัวแทนแต่ละประเทศหรือภูมิภาคมารวมตัวกัน แล้วกลับไปในพื้นที่ของเขา กระจายออกไปจัดกิจกรรมขยายผล ยิ่งคนที่ไปมีจํานวนมากเท่าไร มันจะมี One Young World ของแต่ละจังหวัด พื้นที่ ภูมิภาค ‘ความอยากแก้ปัญหา’ จะกระจายต่อไปเหมือนรากกระจายออกเป็นรากฝอย และรากฝอยที่กระจายออกไปแต่ละประเทศก็จะกระจายออกไปเป็นรากฝอยออกไปเรื่อยๆ… ปัญหามันแก้ไม่ยากเหมือนที่เรากลัว และจะง่ายมากถ้าทุกคนร่วมมือกัน” ปูนกล่าว

เช่นเดียวกับโบว์ซึ่งมองว่า “ถ้าเราเป็นคนที่มองเห็นปัญหา และไม่อยากปล่อยปัญหาไปถึงคนรุ่นหลัง หรือทิ้งปัญหาให้เป็นภาระของคนรุ่นถัดไป One Young World คือเป็นโอกาสที่ดีมาก เป็นเน็ตเวิร์กที่หาไม่ได้จากที่ไหน มันคืองานที่รวมตัวคนจากทั่วโลกไว้ในสถานที่เดียว”

นอกจากนี้ โบว์กล่าวต่อว่า สองคำสำคัญที่ได้จาก One Young World คือ ‘sustainability’ และ ‘AI governance’ ซึ่งจะนำมาปรับใช้กับ CP Axtra (Makro) เพราะธุรกิจของแมคโครมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ หากนำทั้งสองเรื่องมาปรับใช้ด้วยจะเสริมประสิทธิภาพองค์กรมากขึ้น

“ทำอย่างไรให้ AI governance ถูกต้องตามธรรมาภิบาล นี่คือสิ่งที่เราควรพึงระวัง ตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเราเริ่มคิดแลนำไปใช้ภายในบริษัทได้ แล้วขยายไปภายในเครือ หรือเสนอรัฐบาลให้ใช้ระดับประเทศ… ถ้าเกิดเราเริ่มได้ ณ ตอนนี้ มันก็จะดีกับความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงบริษัทด้วย” โบว์ กล่าว

“ตั้งแต่วันแรกที่เราเป็นตัวแทนประเทศไทย อย่างน้อยเราได้ทําอะไรบางอย่างแล้ว มีการแชร์ข้อมูลออกไปในโซเชียลมีเดียว่าเราเห็นปัญหาอะไรในโลกนี้ และมีคนรุ่นใหม่กําลังจะแก้ไขปัญหาของโลกนี้” โบว์กล่าว